Thursday 25 October 2018 | 0 comments | By: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติวัฒน์ วัชญากาญจน์

แผนบริหารการสอนประจำบทที่ 5 แนวคิดที่มีอิทธิพลทางพลศึกษา


แผนบริหารการสอนประจำบทที่ 5
แนวคิดที่มีอิทธิพลทางพลศึกษา
เนื้อหา
         1. สภาพสังคมปัจจุบัน
         2. แนวคิดที่มีอิทธิพลทางพลศึกษา
         3. พลศึกษากับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
         4. คุณลักษณะครูผู้สอนวิชาพลศึกษา

จุดประสงค์การเรียนรู้
         1. อธิบายสภาพสังคมปัจจุบันได้
         2. บอกแนวคิดที่มีอิทธิพลทางพลศึกษาได้
         3. อธิบายพลศึกษากับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพได้
         4. บอกคุณลักษณะผู้สอนพลศึกษาได้ 
 
วิธีสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
          1. บรรยายประกอบสื่อ  PowerPoint  เกี่ยวกับเนื้อหาที่กำหนด
          2. แบ่งกลุ่มผู้เรียนศึกษาแนวคิดที่มีอิทธิพลทางพลศึกษา พลศึกษากับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและคุณลักษณะผู้สอนพลศึกษา
          3. สรุปแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อการพลศึกษา พลศึกษากับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
          4. อภิปรายและสรุปคุณลักษณะผู้สอนพลศึกษา
          5. อภิปราย ซักถาม แสดงความคิดเห็นและร่วมกันสรุปบทเรียน
          6. ทำแบบฝึกหัดท้ายแผนบริหารการการสอนประจำบท
          7. แนะนำเอกสารประกอบการสอนรายวิชา ตำราและแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมอื่นๆ
 
สื่อการเรียนการสอน
          1. เอกสารประกอบการสอนวิชาปรัชญาและหลักการพลศึกษา 
          2. PowerPoint เนื้อหาที่สอน
          3. เอกสาร ตำรา หนังสือที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดที่มีอิทธิพลทางพลศึกษา พลศึกษากับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและคุณลักษณะผู้สอนพลศึกษา
          4. แบบฝึกหัดท้ายแผนบริหารการสอนประจำบท
          5. ข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ
การวัดและประเมินผล
         1. ด้านคุณธรรมจริยธรรม
                1.1 แบบประเมินพฤติกรรมตนเองด้านคุณธรรมจริยธรรม (สำหรับผู้เรียน)
                1.2 แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านคุณธรรมจริยธรรม (สำหรับผู้สอน)
         2. ด้านความรู้
                 - คะแนนจากแบบทดสอบท้ายแผนบริหารการสอนประจำบท
         3. ด้านทักษะทางปัญญา
                 - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะทางปัญญา (การทำงานรายบุคคล)
         4. ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
                 - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ (การทำงานกลุ่ม)                  
         5. ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
                 - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
         6. ด้านการจัดการเรียนรู้
                 - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะการจัดการเรียนรู้
 

 

บทที่ 5
แนวคิดที่มีอิทธิพลทางพลศึกษา

            แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (.. 2560-2564) ให้ความสำคัญกับสุขศึกษาและพลศึกษาดังจะเห็นได้จากการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ในประเด็นยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่นการพัฒนากีฬาและการออกกำลังกายขั้นพื้นฐาน โดยมีวัตถุประสงค์ให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจ มีเจตคติที่ดี มีคุณธรรมจริยธรรม มีระเบียบวินัยและมีน้ำใจนักกีฬาจากการเข้าร่วมเล่นกีฬา การออกกำลังกายทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีคุณธรรม จริยธรรมมีระเบียบวินัยและมีน้ำใจนักกีฬา ครูผู้สอนนำหลักทางวิชาการด้านสุขศึกษา พลศึกษา มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานสูงขึ้น โดยมีแนวโน้มในการผลักดันจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับสากล ระดับอาเซียนตลอดจนประเทศไทยให้มีการเพิ่มชั่วโมงการสอนสุขศึกษาพลศึกษาให้เพิ่มมากขึ้น ในการศึกษาระดับต่างๆ มีการเพิ่มสมรรถนะครูพลศึกษา สุขศึกษาให้มีความสามารถในการสอนสูงขึ้น ในระดับโรงเรียนมีการจัดโครงการทางด้านสุขศึกษา พลศึกษา เช่น การจัดการแข่งขันกีฬาภายในหรือการจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างโรงเรียน ตลอดจนกิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพเพิ่มมากขึ้นโดยมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนทางด้านงบประมาณเพื่อให้สุขภาพของคนในท้องถิ่นดีขึ้น ทิศทางในการพัฒนาทางด้านสุขศึกษา พลศึกษาเพื่อมวลชน มีการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้ออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ ให้สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิต มีการขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการและกิจกรรมกีฬา (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. 2554: 10) เพื่อส่งเสริมสุขภาพ สมรรถภาพ จริยธรรมความสามัคคีและความมีวินัยของคนในชาติโดยมีมาตรการเผยแพร่ความรู้ทางด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างจริงจัง มีการจัดทำสื่อนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องทางด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับเพศ วัยและสภาพร่างกาย มีการจัดกิจกรรมกีฬาและการออกกำลังกายสำหรับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเหมาะสมและทั่วถึง โดยมีหน่วยงานทั้งทางภาครัฐและเอกชนได้ร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการและจัดกิจกรรมการออกกำลังกาย ทุกกลุ่มได้ออกกำลังกายตามความสนใจเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละอย่างน้อย 30 นาที มีการส่งเสริมการจัดกิจกรรม จัดระบบกลไกและการบริหารจัดการการออกกำลังกายสำหรับมวลชนทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอเป็นประจำเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพและสมรรถภาพ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนในการสร้างสถานที่ออกกำลังและเล่นกีฬาประจำในลักษณะชุมชนระดับท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน พัฒนาและดูแล มีการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับบุคคลทั่วไป ผู้พิการและผู้สูงอายุในการใช้สถานที่ออกกำลังกายอย่างทั่วถึง จัดให้มีผู้นำและเจ้าหน้าที่ ที่มีความรู้ทางด้านสุขศึกษาและพลศึกษาเพื่อเป็นผู้นำในการออกกำลังกาย มีการอบรมและพัฒนาให้กับผู้นำในระดับโรงเรียนและชุมชนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มีการจัดศูนย์กีฬาตำบลทุกตำบลเพื่อเป็นศูนย์บริการทางด้านการกีฬาและการออกกำลังกายแก่ชุมชน รวมทั้งอุปกรณ์กีฬาต่างๆเพื่อบริการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง จากแนวโน้มดังกล่าวข้างต้นทิศทางทางด้านสุขศึกษาและพลศึกษา เป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศให้มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญและมีการส่งเสริมต่อวิชาชีพสุขศึกษาและพลศึกษา ในระดับต่างๆ อย่างจริงจัง อย่างทั่วถึงและยั่งยืน

 1. สภาพสังคมปัจจุบัน 
           การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การดำเนินชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยความเร่งรีบ มีการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น การใช้ลิฟต์แทนการใช้บันได การใช้รถจักรยานยนต์แทนการขี่จักรยาน การใช้เครื่องมือต่างๆ แทนการใช้แรงงานคน เช่น การซักผ้าและล้างจานด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งมีมากขึ้นทำให้คนมีการเคลื่อนไหวและออกกำลังกายน้อยลง ส่งผลให้สมรรถภาพและสุขภาพของคนในปัจจุบันลดต่ำลง ภูมิต้านทานลดลงและมีการเจ็บป่วยมากขึ้น การออกกำลังกายเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยดำรงไว้ซึ่งสุขภาพที่ดี คือ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานดีขึ้น จิตใจสดชื่นทำให้นอนหลับสนิทและหลับนานช่วยลดความเครียดและชะลอการแก่ก่อนวัย ดังที่สนธยา สีละมาด (2547:20) กล่าวว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจใหญ่ขึ้น แรงในการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเพิ่มขึ้น ปริมาตรเลือดที่หัวใจบีบตัวแต่ละครั้งเพิ่มขึ้น อัตราชีพจรลดต่ำลง การทำงานของระบบหัวใจไหลเวียนเลือดดีขึ้น การมีสุขภาพที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนา เพราะหากมนุษย์ได้เรียนรู้วิธีการหลักการต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเสมอ อาทิ เช่น การมีความรู้ เจตคติ ทัศนคติและการปฏิบัติถูกต้องในการออกกำลังกาย ตามหลักวิชาการสุขศึกษาและพลศึกษา ซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถดูแลสุขภาพของตนเองจะทำให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพ ดังนั้นสุขศึกษาและพลศึกษาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์ทุกคน สุขศึกษาและพลศึกษาเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่เป็นการศึกษาด้านสุขภาพที่มีเป้าหมายเพื่อการดำรงชีวิต การสร้างเสริมสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคล ครอบครัวและชุมชนให้ยั่งยืน สุขศึกษา มุ่งเน้นพัฒนาพฤติกรรมด้านความรู้ เจตคติ คุณธรรม ค่านิยมและการปฏิบัติเกี่ยวกับสุขภาพควบคู่ไปด้วยกัน สุขภาพหรือสุขภาวะ หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคมและทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ สุขภาพหรือสุขภาวะจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวโยงกับทุกมิติของชีวิต ซึ่งทุกคนควรจะได้เรียนรู้เรื่องสุขภาพ เพื่อจะได้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีเจตคติ คุณธรรมและค่านิยมที่เหมาะสม รวมทั้งมีทักษะปฏิบัติด้านสุขภาพจนเป็นกิจนิสัย อันจะส่งผลให้สังคมโดยรวมมีคุณภาพ พลศึกษามุ่งเน้นให้ผู้เรียนใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การเล่นเกมและกีฬาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโดยรวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา รวมทั้งสมรรถภาพเพื่อสุขภาพและกีฬา พลศึกษาเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ที่อยู่บนรากฐานทางวิทยาศาสตร์และมีความเกี่ยวข้องกับศาสตร์แขนงอื่นๆ อีกหลายแขนงซึ่งพลศึกษาในสมัยโบราณยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนแต่จะแฝงอยู่ในการดำรงชีวิต ในสมัยอดีตกาลมนุษย์ต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด เช่น การหาอาหาร การต่อสู้สัตว์ร้ายและภัยธรรมชาติตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยไม่รู้สึกตัว ดังนั้น มนุษย์จึงต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเพื่อช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและสังคม จนมีคำกล่าวว่าผู้ให้กำเนิดชีวิต คือการเคลื่อนไหวจากคำว่า พลศึกษา ในสมัยกรีกโบราณเรียกว่า ยิมนาสติก (Gymnastics) และใช้ชื่อนี้เรียกแทนกิจกรรมทุกชนิดที่ใช้สอนปฏิบัติในสถานที่ประกอบกิจกรรมกายบริหาร (Palacestra) ต่อมาในศตวรรษที่ 17 นักการศึกษายุโรปใช้ชื่อกิจกรรมลักษณะนี้ว่า กิจกรรมการเคลื่อนไหว (Motor Activity Programs) ศตวรรษที่ 18-19 การศึกษายุคนี้เน้นไปทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงการฝึกให้มีความสมบูรณ์ทางด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยวิธีการฝึกอบรม คำว่า Gymnastics จึงเปลี่ยนไปเป็น Physical culture การพลศึกษาสมัยนี้เป็นการฝึกให้ร่างกายมีทรวดทรง สวยงามและร่างกายสมส่วน มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ต่อมาภายหลังการศึกษามีแนวโน้มที่เป็นผู้เรียนได้ใช้มือในการประกอบกิจกรรมมากขึ้น เช่น การปั้น การแกะสลัก การฝีมือต่างๆ การศึกษาสมัยนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มของการศึกษาและได้หันมาใช้เครื่องมือประกอบการฝึกมากขึ้น คำว่าพลศึกษาในสมัยนี้จึงเรียกว่ากายบริหาร” (Physical Training) การพลศึกษาในช่วงเวลานี้มุ่งที่จะฝึกให้มีร่างกายแข็งแรงเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ใหญ่โตเป็นส่วนใหญ่ พลศึกษาเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ได้รับการถ่ายทอดมานานจากคนตะวันตกที่เน้นร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าจิตใจ มีความแข็งแรง ความเร็ว ความอ่อนตัว ความคล่องแคล่ว ความทนทานและระบบไหลเวียนโลหิต จนเกิดหลักการหรือคติพจน์ที่พูดกันมาจนถึงปัจจุบันในวิชาชีพพลศึกษาว่า
 
A SOUND MIND IN A SOUND BODY
 “จิตใจที่แจ่มใสย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์”

           จึงเห็นได้ว่าพลศึกษาต้องเกี่ยวโยงทั้งสองด้านคือ ร่างกายและจิตใจ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้และต้องทำงานไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นร่างกายและจิตใจจะต้องมีการเสริมสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยสุขภาพกาย หมายถึงสภาวะของร่างกายที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง เจริญเติบโตอย่างปกติ ระบบต่างๆ ของร่างกายสามารถทำงานได้เป็นปกติและมีประสิทธิภาพ ร่างกายมีความต้านทานโรคได้ดีปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและทุพพลภาพ สุขภาพจิต หมายถึงสภาวะของจิตใจที่มีความสดชื่น แจ่มใส สามารถควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงเป็นปกติ ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ เผชิญกับปัญหาต่างๆ ได้ดี ปราศจากความขัดแย้งและความสับสนภายในจิตใจความสำคัญของพลศึกษาที่มีต่อชีวิตของมนุษย์ทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่หรือแม้แต่วัยชรา ถ้าหากได้ส่งเสริมให้มีกิจกรรมพลศึกษาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้การพัฒนาทางการเคลื่อนไหวและพัฒนาการด้านอื่นๆ จะดีไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมให้เด็กได้รับกิจกรรมทางพลศึกษาอย่างเหมาะสมจะทำให้เด็กมีร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรงมีสุขภาพจิตที่ดี พัฒนาการต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามบุคคลที่ผ่านวัยผู้ใหญ่ไปแล้วแต่ยังได้รับกิจกรรมทางพลศึกษาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องจะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของร่างกายลงได้ดี ทิศทางและแนวโน้มทางด้านสุขศึกษาและพลศึกษาในอนาคตนั้นจะสามารถพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตได้มากน้อยเพียงใดนั้นส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อและค่านิยมของคนในประเทศด้วย การที่จะทำให้คนในประเทศหันมาสนใจกีฬาและการออกกำลังกายนั้น ขั้นแรกควรเริ่มจากการสร้างค่านิยมให้ประชาชนคิดว่าการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ควรจะมีการปลูกฝังค่านิยมให้กับสังคมไทยโดยให้มีมุมมองความคิดที่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย มุ่งสร้างความสำคัญของกีฬาและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้ประชาชนได้เล็งเห็นว่าการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญนำไปสู่การพัฒนาประเทศสถานการณ์ปัจจุบันสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมสุขภาพเพื่อให้ประชากรในประเทศมีสุขภาวะที่ดีมีร่างกายที่แข็งแรงและเป็นประชากรที่มีคุณภาพยิ่งไปกว่านั้นเมื่อประชากรมีคุณภาพก็จะส่งผลดีต่อภาครัฐนั่นก็คือการลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย

         

2. แนวคิดที่มีอิทธิพลทางพลศึกษา
        2.1 แนวคิดด้านสังคม

              ปัจจุบันพลศึกษาเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมมากขึ้น เราจะสังเกตได้จากการที่คนในสังคมออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาในสวนสาธารณะ ทำให้มีการพบปะของคนเกิดเป็นสังคมกลุ่มหนึ่งขึ้นมา เกิดการแลกเปลี่ยนทัศนะคติของคนกลุ่มหนึ่งที่มีความสนใจในสิ่งที่เหมือนกัน จากกระแสเศรษฐกิจของโลกซึ่งมีตัวชี้วัดชัดเจนว่าการใช้จ่ายสูงสุดของคนบนโลกนี้ คือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสอง ได้แก่ การศึกษา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการกีฬาเพื่อพัฒนาบุคลากร วิจัย สร้างเสริมการออกกำลังกายของประชาชนทุกระดับ สร้างระเบียบวินัย  ตามคำกล่าวที่ว่า กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติซึ่งการพัฒนาประเทศในทุกระดับนั้นควรสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560–2564 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม พัฒนาประเทศสู่ความสมดุลความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งการเจริญเติบโตทางการพลศึกษาและกีฬาอย่างรวดเร็วในระยะที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความต้องการบุคลากรทางการกีฬามากขึ้น เช่น ครูผู้สอนวิชาพลศึกษา นักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสินกีฬา ผู้บริหารการกีฬา นักกฎหมายการกีฬา สื่อสารมวลชนทางการกีฬา นักการตลาดด้านการกีฬา เทคโนโลยี นวัตกรรม วิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมทางการกีฬา ซึ่งมีความขาดแคลนทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติและระดับนานาชาติ ทำให้มีความจำเป็นต้องมีสถาบันระดับอุดมศึกษาที่สามารถให้ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการผลิตบุคลากรและการพัฒนาศักยภาพทางด้านกีฬาของประเทศให้มีมาตรฐานในระดับสากลอย่างเป็นระบบซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในประเทศอย่างทั่วถึง

             กีฬาเป็นส่วนสำคัญในกิจกรรมทางสังคมและเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรบุคคลากรของประเทศ สามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนด้านสาธารณสุข กีฬาสามารถทำให้สังคมอยู่อย่างมีความสุข ประชาชนมีความสามารถและมีความพร้อมที่จะเผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จึงมีความจำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพของบุคคลในประเทศให้มีความรู้และทักษะ ปลูกฝังค่านิยม สรรสร้างสังคมคุณภาพซึ่งเป็นการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต การพัฒนาการกีฬาจะเป็นหนทางสำคัญประการหนึ่งในการปฏิรูปประเทศเพราะมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้การพัฒนาการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศยังเป็นการยกระดับเกียรติภูมิของประเทศเพื่อสร้างความภาคภูมิใจร่วมกันของคนในชาติอันเป็นผลดีต่อการพัฒนาความมั่นคงของประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อวางรากฐานในการสร้างความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจให้แก่ประชาชน มีรายงานการวิจัยจากกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าคนไทยมีขนาดร่างกายเล็กลงและยังมีปัญหาด้านสุขภาพ การเรียนรู้ คุณธรรม และจริยธรรม ตลอดจนปัญหายาเสพติด การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่ระดับนักเรียน เยาวชน ประชาชน ผู้สูงอายุ คนพิการและคนกลุ่มพิเศษ นอกจากนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้แต่ละภูมิภาค สังคมไทยเข้าสู่ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมากขึ้น ความคิดเห็นที่แตกต่างของคนในสังคมส่งผลต่อความขัดแย้งทางความคิด

             รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะพัฒนาประชาชนให้มีความแข็งแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีนำไปสู่การสร้างสังคมที่ดี เสริมสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง กีฬายังเป็นกลไกสำคัญในการสร้างชื่อเสียงและดำรงเกียรติและศักดิ์ศรีในเวทีสากล นำไปสู่เกียรติภูมิของชาติและความภาคภูมิใจร่วมกันของคนในชาติ กีฬาถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศและเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความมั่นคงทางสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับนานาชาติ กีฬามีความสัมพันธ์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม สร้างความเข็มแข็งในการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มีจิตสำนึกในการดำรงชีวิตที่มีคุณธรรม มีวินัยและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ สำนึกในการเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่นอันเป็นพื้นฐานที่ดีและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคม การสร้างความร่วมมือ ความรู้ ความเข้าใจ ความเป็นธรรมและความตระหนักเกี่ยวกับความแตกต่างของศักยภาพประชาชน การรักษาความสมดุลระหว่างค่านิยม วัฒนธรรมรากฐานและกระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ การกีฬายังเป็นความภาคภูมิใจของคนทุกชาติ ทุกศาสนา สร้างความสุขใจให้กับคนในชาติ กีฬายังสร้างคนให้เป็นคนที่มีคุณภาพ มีความเข้มแข็งของจิตใจ มีความเคารพซึ่งกันและกัน รู้รักสามัคคี รู้จักให้อภัยและมีน้ำใจนักกีฬา (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ. 2559: 1-4)

        2.2 แนวคิดด้านเศรษฐกิจ

                การเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมโดยมุ่งเน้นเพื่อยกระดับการดำรงชีพของประเทศให้สูงขึ้น ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่แท้จริงต่อบุคคล (Per Capital Real Income) ในระยะเวลาที่ยาวนานพอเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเสมอภาค เกิดมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนโดยส่วนรวมที่ดีขึ้นกว่าเดิม สินค้าในปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงจึงต้องมีการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ เพื่อเพิ่มยอดขายให้บริษัทตนเองได้กำไรสูงสุด หนึ่งในนั้นคือการเป็นผู้สนับสนุนหลักให้ทีมนักกีฬาที่มีความสามารถสูงและเป็นที่นิยมในสนามแข่งขันเพราะเชื่อว่าทีมที่ตนเลือกสนับสนุนจะสามารถสร้างชื่อเสียงและสามารถสร้างประโยชน์ในการโฆษณาเพื่อเป็นแรงจูงใจให้บริโภคสินค้าและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจมีสภาพคล่องมีการหมุนเวียนที่ดี นอกจากนี้ยังมีผู้สนับสนุนในสนามการแข่งขันต่างๆ และในรายการถ่ายทอดสดในโทรทัศน์ซึ่งมีผู้ชมจำนวนมาก

            จึงสรุปสาระสำคัญจากรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม เรื่อง การส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬา (2559: 6) พอสรุปได้ ดังนี้
                1. แผนการปฏิรูป แผนการปฏิรูปด้านบริหารจัดการการกีฬา เรื่อง การส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬา
                    1.1 ความสำคัญของปัญหา
                            การส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬาคือ ประเด็นที่สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาโดยใช้แนวคิดจากกรอบความเห็นร่วมปฏิรูปประเทศไทยด้านอื่นๆ ของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติที่จัดตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ และจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ จนสามารถสรุปได้ว่า ภาครัฐควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการกีฬาของไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติและได้บรรจุเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬาไว้ในวาระปฏิรูปที่ 19 การกีฬา ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการกีฬา ทั้งนี้ ได้รับความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ทั้งยังได้บรรจุไว้ในแผนการปฏิรูปโดยบรรจุเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬาและได้รับความเห็นชอบจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 โดยมีรายละเอียดการปฏิรูปการกีฬา ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการกีฬามีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในเรื่องการผลิต การสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการกีฬา นักกีฬาและภาคธุรกิจต่างๆ อาทิ สโมสรกีฬา ลิขสิทธิ์และสิทธิประโยชน์ ผู้ผลิต จำหน่าย นำเข้าและส่งออก สถานบริการออกกำลังกาย ฝึกซ้อมและสอนกีฬา ซึ่งองคาพยพทั้งหมดจะมีการเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ในภาพรวมคือปริมาณเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบการเงินการคลังของประเทศ นำมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยมีรายละเอียดการเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมการกีฬา ในปัจจุบันสามารถกำหนดกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาของไทยได้ 12 กลุ่ม จัดเป็นกลุ่มธุรกิจ (Cluster) 5 กลุ่ม มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยในภาพรวมพบว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการกีฬาทั่วโลกมากกว่า 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการกีฬาใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก มูลค่าการตลาดมากกว่าปีละ 210,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาก็ได้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมประเภทอื่น เนื่องจากประชาชนทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและการมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการกีฬาในปัจจุบันพบว่ามูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการกีฬาและนันทนาการมีอัตราการเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก กล่าวคือรายได้จากกีฬาเพื่อการอาชีพ (Professional Sports Revenue) และรายได้จากกีฬาเพื่อความบันเทิงและนันทนาการ (Recreational Sports Revenue) จึงแสดงให้เห็นว่าประชากรในโลกทุกภูมิภาคมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนอง โดยมีความตระหนักในเรื่องสุขภาวะและให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศที่มีการพัฒนาในระดับต้นของโลกมีความพยายามอย่างมากที่พัฒนาและสร้างความได้เปรียบในด้านต่างๆ ของการกีฬาเพื่อแสวงประโยชน์ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการกีฬาไปในเวลาเดียวกัน จึงกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศสามารถพัฒนาได้จากอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาหรือการกีฬาสร้างเศรษฐกิจของชาตินั่นเอง
             ในระดับภูมิภาคเอเชียพบว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการกีฬาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและได้มีการประกาศนโยบายในแผนพัฒนาการกีฬาด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมไปพร้อมกันด้วยกลยุทธ์การใช้แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาภายในประเทศให้เป็นกลไกทางเศรษฐกิจและลดความแตกต่างด้านคุณภาพชีวิตระหว่างเมืองและภูมิภาค ในส่วนของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการใช้การกีฬาผลักดันอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยได้เริ่มต้นจากการเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ ในปี ค.ศ.1986 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พบว่ามูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการกีฬาและนันทนาการมีอัตราการเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดุลการค้า (Trade Balance) ของอุปกรณ์กีฬามีอัตราเกินดุล เจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปีประมาณร้อยละ 1.2 และได้พัฒนาเป็นผู้ผลิตและส่งออกอุปกรณ์กีฬาที่มีความแข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตในระดับนานาชาติอันเนื่องมาจากการส่งเสริมการสร้างตราสินค้า (Brand) ให้แพร่หลายสู่ตลาดสากล อุตสาหกรรมการกีฬาของประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวโน้มเชิงบวกของการกีฬาในภาพรวมของโลก ซึ่งจากรายงานของสำนักงานทางเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ พบว่า มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปี ประมาณร้อยละ 5.6 ในขณะที่อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เฉลี่ยต่อปีประมาณร้อยละ 2.8 จึงเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมการกีฬาในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเป็น 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศแต่มีการคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ลดลงเหลือประมาณร้อยละ 3.4 ภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ตัวเลขของผลประกอบการด้านอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2557 มียอดผลประกอบการรวมสูงสุด ประมาณ 73,033 ล้านบาท คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านบริหารจัดการการกีฬา. 2559: 27) มีความตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงความสำคัญของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาว่าเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศให้บังเกิดความยั่งยืน ประกอบกับแนวความคิดของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2559 มุ่งประสงค์ให้เกิดความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ประชารัฐ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคธุรกิจทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งจะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไปสู่เป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560–2564) ที่กำหนดให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาอย่างครบวงจร โดยมีแนวทางการพัฒนารวม 2 แนวทาง กล่าวคือ ส่งเสริมการสร้างรายได้จากการกีฬาและปรับโครงสร้างการบริหารจัดการด้านการกีฬา จึงกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา คือ ธุรกิจคลื่นลูกใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะพัฒนาไปสู่การเป็นธุรกิจระดับต้นของโลก จึงเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาของไทยให้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ภาครัฐพึงจะต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อความมั่งคั่งของประเทศ การสร้างนวัตกรรมที่เป็นแนวทางพื้นฐานในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยในเบื้องต้น สามารถสรุปปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมการกีฬาว่าการที่ธุรกิจกีฬาไทยไม่สามารถพัฒนาสู่สากลได้อย่างเต็มรูปแบบเพราะขาดการสนับสนุนเท่าที่ควร แม้ว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องก็ตาม โดยสามารถสรุปปัญหาได้รวม 7 ประเด็น ดังนี้
                  1.1.1 อุปกรณ์กีฬาที่ใช้ในการฝึกซ้อมและแข่งขันส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการการผลิตของไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่สามารถพัฒนาระบบการผลิตให้ก้าวเข้าสู่มาตรฐานสากล
                 1.1.2 กิจการที่ประกอบธุรกิจของกลุ่มค้าปลีก/ค้าส่งและผู้นำเข้า/ส่งออกอุปกรณ์กีฬา ยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้เจริญเติบโตอย่างเต็มรูปแบบเพื่อการขยายงานและขยายจุดขายให้สามารถรองรับกลุ่มลูกค้า
                 1.1.3 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีเงินลงทุนและอัตราการจ้างงานต่ำ ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนและไม่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคาร (SMEs Bank)
                1.1.4อุตสาหกรรมการกีฬาในกีฬาบางชนิดขาดการส่งเสริมในเรื่องการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) และกระบวนการรับรองผลิตภัณฑ์จากสหพันธ์กีฬานานาชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ลิขสิทธิ์การผลิตของประเทศไทย อาทิ เสื้อผ้า รองเท้าและอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น
               1.1.5 อุตสาหกรรมการกีฬาของไทยยังขาดตราสินค้า (Brand) ในนามของประเทศไทย จึงทำให้การพัฒนาตลาดและอุตสาหกรรมการกีฬาไม่สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดแข่งขันในระดับสากล
               1.1.6 อุตสาหกรรมการกีฬาของไทยยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ที่จะเข้ามาพัฒนาและขับเคลื่อนระบบให้มีคุณภาพและรองรับการขยายตัวในอนาคต
               1.1.7 ในระยะเวลาประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจด้านการกีฬาต่างประเทศขนาดใหญ่ได้เคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่าอัตราค่าแรงงานของไทยอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้าน คณะรัฐบาลมีแนวคิดที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์ประชารัฐและนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อความมั่งคั่งของประเทศ ด้วยการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศร่วมกับรัฐบาล โดยมุ่งเน้นในการสนับสนุนและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจการกีฬาของประเทศมีศักยภาพในการประกอบการด้วยการสร้างและพัฒนาบรรยากาศทางการลงทุน การส่งเสริมธุรกรรมการกีฬาทั้งปวงให้เอื้ออำนวยต่อการประกอบการของนักลงทุนและภาคเอกชน โดยภาครัฐจะเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนและส่งเสริม ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ของชาติ คือ มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

                    1.2 กรอบแนวความคิด
                             คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการกีฬา พิจารณาว่าสิ่งที่ภาครัฐควรให้การส่งเสริมและสิ่งที่ภาคธุรกิจมีความประสงค์จะได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสำรวจข้อมูลเชิงลึกเพื่อรับทราบความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาแล้วจึงจะนำข้อมูลที่ได้รับไปสังเคราะห์และประมวลผล เพื่อวางแผนการประสานงานกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับกำหนดมาตรการให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาต่อไป

                     1.3 วัตถุประสงค์
                           1.3.1 เพื่อศึกษาปัญหาและข้อขัดข้องในการประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
                           1.3.2 เพื่อศึกษารับทราบความต้องการในเชิงลึกของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
                           1.3.3 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลปัญหา ข้อขัดข้องและความต้องการในเชิงลึกของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาเพื่อประกอบการกำหนดแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬา
                          1.3.4 เพื่อสร้างเครือข่ายของการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
                           1.3.5 เพื่อประสานงานส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุน ส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาให้สอดรับกับสภาพปัญหา และความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ

                  1.4 รูปแบบและแนวทางการดำเนินงานพิจารณาการส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬา
                   1.4.1 จัดทำแนวทางการสำรวจความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาในลักษณะการวิจัยด้วยวิธีการสนทนากลุ่ม (Focus Group) และสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถาม (Questionnaire) โดยจะทำงานร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานทางการวิจัย สถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการ ประกอบด้วย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หน่วยงานของภาครัฐที่มีบทบาทในด้านเศรษฐกิจ สถาบันการศึกษาของภาครัฐที่เปิดการเรียนการสอนด้านการกีฬา หน่วยงานและองค์กรภาคเอกชนที่เป็นแกนนำของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
                  1.4.2 ดำเนินการสังเคราะห์ความต้องการของผู้ประกอบการที่ได้รับจากการสำรวจความต้องการเพื่อกำหนดเป็นกลุ่มงานตามเรื่องที่ขอรับการสนับสนุน ส่งเสริมและการสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและภาคเอกชน
                 1.4.3 ประสานงานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการประกอบการทางการกีฬา อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
                 1.4.4 กำหนดมาตรการที่ภาครัฐให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
                 1.4.5 การกำกับดูแลการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
              2. สรุปผลแนวทางการปฏิรูปเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬา
                  คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการกีฬา ได้ดำเนินกระบวนการตามวิธีการปฏิรูปซึ่งมีรายละเอียดโดยมีการเชื่อมโยงขั้นตอนและรายละเอียดของกระบวนการ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
                  2.1 สำรวจความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาโดยจัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ เรื่อง การกำหนดแนวทางให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
                  2.2 สังเคราะห์ข้อมูลและพิจารณาแนวทางการขอรับการสนับสนุนและส่งเสริม ด้วยการวิเคราะห์ปัญหาที่ค้นพบจากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่สอดคล้องกับปัญหาที่ศึกษาในเบื้องต้นตามที่แบ่งออกเป็น 5 ประเด็น คือ การขาดแคลนบุคลากร ขาดการส่งเสริมการลงทุนการพิจารณาภาษีเงินได้ การกำหนดพิกัดศุลกากรและความต้องการให้ภาครัฐให้โอกาส จึงได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการกำหนดเป็น 2 มาตรการ คือ มาตรการหลัก : การสร้างเศรษฐกิจของประเทศและมาตรการเสริม คือ การสร้างปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจการกีฬา
        2.3 แนวคิดด้านการเมือง
              ประชาชนทุกคนอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบอบการเมืองการปกครองแบบใดแบบหนึ่งด้วยกันทั้งสิ้น เช่น ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ประชาชนก็จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลเผด็จการตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพก็ไม่สามารถที่จะเรียกร้องหรือแสดงปฏิกิริยาคัดค้านได้ เพราะอาจจะถูกรัฐบาลเผด็จการใช้อำนาจรัฐกดขี่ รังแก หรือประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ก็จะมีสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ คุ้มครองไว้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

              แนวนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา

               คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรมจริยธรรมและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีความตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงความสำคัญของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาว่าเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศให้บังเกิดความยั่งยืน จึงได้ทำการศึกษาแนวนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกีฬา สรุปได้ดังนี้

                2.3.1 ยุทธศาสตร์ประชารัฐ ซึ่งเป็นแนวความคิดของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2559 ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งประสงค์ให้เกิดความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ประชารัฐ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน โดยจะสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคธุรกิจทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในอันที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไปสู่เป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ 4 เสาหลัก ประกอบด้วย

                        1) การมีธรรมาภิบาล
                        2) การสร้างนวัตกรรมและผลิตภาพ (Productivity and Innovation)
                        3) ยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์
                        4) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อความมั่งคั่งของประเทศ
               2.3.2 ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อสร้างรายได้สูงให้แก่ประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งการอุตสาหกรรมการกีฬาเป็นการดำเนินกิจกรรมในกลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์
              2.3.3 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ได้มีการกำหนดให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาอย่างครบวงจร โดยมีแนวทางการพัฒนา รวม 2 แนวทาง กล่าวคือ
                        แนวทางที่หนึ่ง : ส่งเสริมการสร้างรายได้จากการกีฬา เนื่องจากกีฬาถือเป็นหลักพื้นฐานของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีผลต่อการสร้างวินัย จิตสำนึก ความสามัคคี และน้ำใจนักกีฬา รวมทั้งสร้างคุณค่าและคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ จากกิจกรรมและธุรกิจบริการที่เกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมกีฬา ดังนั้น จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการกีฬาให้ครอบคลุมทุกมิติและครบวงจรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการกีฬา ทั้งการผลิตและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์การกีฬา ธุรกิจเพื่อการบริการ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร อาหารเสริมและเครื่องดื่ม ธุรกิจกิจกรรมการแข่งขันต่างๆ ธุรกิจประกันภัย การเดินทางและการขนส่ง รวมถึง สถาบันพัฒนาการกีฬาอาชีพทุกระดับเพื่อให้อุตสาหกรรมการกีฬาสามารถสร้างโอกาส สร้างงานและรายได้ รวมถึงสร้างอาชีพให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดย
                           1) ส่งเสริมกิจกรรมการกีฬาเพื่อสร้างรายได้ รวมทั้งสนับสนุนการจัดมหกรรมการกีฬานานาชาติ การเป็นเจ้าภาพงานกีฬาระดับโลก และการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านการกีฬา เวชศาสตร์การกีฬาและวิทยาศาสตร์การกีฬา
                           2) ส่งเสริมธุรกิจและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา ทั้งในอุตสาหกรรมกีฬาและธุรกิจบริการที่เชื่อมโยงกับการกีฬา อาทิ ธุรกิจอุปกรณ์กีฬา ธุรกิจสถานที่การแข่งขันกีฬา และธุรกิจการฝึกสอนนักกีฬา
                          3) ส่งเสริมกิจกรรมด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์เพื่อการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนให้มีความตระหนักถึงความสำคัญของการกีฬาและกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการกีฬาและนันทนาการมากขึ้น
                       แนวทางที่สอง : ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการด้านการกีฬา เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการกีฬาของประเทศ จึงควรปรับโครงสร้างการบริหารจัดการด้านการกีฬาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ ดังนี้
                         1) จัดตั้งกลไกการบริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการระดับชาติเพื่อทำหน้าที่จัดทำและขับเคลื่อนนโยบายด้านการกีฬาของประเทศ
                          2) ส่งเสริมการดำเนินการของภาครัฐและเอกชนในการยกระดับอุตสาหกรรมการกีฬา
                         3) จัดตั้งสถาบันเฉพาะทางด้านการกีฬาเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการกีฬาหรือวิทยาศาสตร์การกีฬาของภูมิภาค นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้มีแผนงานส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมการกีฬาบนฐานความรู้ความคิดสร้างสรรค์ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการกีฬาให้ดำเนินการวิจัยและพัฒนา และนำนวัตกรรม มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการกีฬา ทั้งในรูปแบบของการผลิตสินค้าและการให้บริการด้านการกีฬา ประกอบกับปัจจุบันอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาได้มีพัฒนาการเป็นอย่างมากนับตั้งแต่การผลิตจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาและชุดกีฬา การจัดกิจกรรมการกีฬา การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการทางการกีฬา สถานที่บริหารร่างกาย โภชนาการทางการกีฬา และอื่น ๆ ในขณะเดียวกันกับที่ประเทศชั้นนำทางการกีฬาของโลกถือว่า อุตสาหกรรมการกีฬา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาคือธุรกิจคลื่นลูกใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะพัฒนาไปสู่การเป็นธุรกิจระดับต้นของโลก นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าธุรกิจข้ามชาติหลายธุรกิจที่หันเหความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย จึงเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาของไทยให้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ภาครัฐพึงจะต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อความมั่งคั่งของประเทศตามยุทธศาสตร์ประชารัฐ ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมและผลิตภาพ (Productivity) ที่เป็นแนวทางพื้นฐานในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน 
    
3. พลศึกษากับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
         ปัจจุบันประชากรในประเทศเริ่มให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากในแต่ละปี กระทรวงสาธารณสุขพบว่าอัตราการเจ็บป่วยของประชากรในประเทศเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้สูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษารวมถึงรัฐบาลต้องนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์และยารักษาโรคที่ไม่มีในประเทศ ทำให้เงินในประเทศไหลออกนอกประเทศเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงได้จัดกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมสุขภาพและการออกกำลังกายเพื่อประชาชนได้ใส่ใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น เช่น กิจกรรมปั่นจักยาน นอกจากกิจกรรมที่รัฐบาลมีการจัดทำในประเทศ รัฐบาลยังมีการติดต่อระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมความสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกับต่างประเทศ ดังนั้นกีฬาจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ดี ดังนั้น พลศึกษา จึงมีความจำเป็นต่อมนุษย์ในสังคมปัจจุบันและอนาคตด้านต่าง ๆ ดังนี้
            3.1 พลศึกษาในเชิงร่างกาย คือ การทำให้ร่างกายมีพลังที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย
                  3.1.1 ความแข็งแรง เช่น สามารถยกสิ่งของหนักได้
                  3.1.2 ความเร็ว เช่น การวิ่งระยะสั้น 50 เมตร ในเวลาที่กำหนด
                  3.1.3 ความอ่อนตัว เช่น การก้มตัว เข่าตึง ไปหยิบของบนพื้นได้
                  3.1.4 ความคล่องแคล่ว เช่น การโยกลำตัวหลบหลีกสิ่งกีดขวาง
                  3.1.5 ความทนทาน เช่น การเดินเร็วหรือวิ่งระยะทางไกลเป็นเวลานาน
                  3.1.6 ระบบไหลเวียนโลหิต เช่น การมีเหงื่อออกจากร่างกายและการเต้นของชีพจรตามเกณฑ์ที่กำหนด
            3.2 พลศึกษาในเชิงจิตใจ คือ พละ 5 แปลว่า ธรรมอันเป็นกำลังที่สถิตย์ในจิตใจคน มีพลังเป็นนามธรรม ประกอบด้วย
                   3.2.1 ศรัทธา คือ ความเชื่อ เชื่อว่าจิตของคนมีพลังแฝงทุกขณะ
                   3.2.2 วิริยะ คือ ความเพียร ถ้าคนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจฝึกฝน ฝึกซ้อมก็จะสำเร็จได้
                   3.2.3 สติ คือ ความระลึกได้ การรู้ตัวทุกขณะว่ากำลังเคลื่อนไหว
                   3.2.4 สมาธิ คือ ความตั้งจิตมั่น การนำจิตไปจดจ่อกับการเคลื่อนไหวในขณะนั้น
                   3.2.5 ปัญญา คือ ความรู้ชัดแจ้ง น้อมนำความคิด วิธีคิดว่าขณะที่เคลื่อนไหวต้องแก้ปัญหาขณะนั้นและคิดคาดการณ์ล่วงหน้าเสมอ
            3.3 พลศึกษาในเชิงการศึกษา เป็นส่วนขององค์ 4 ของการศึกษา ดังนี้
                   3.3.1 พุทธิศึกษา คือ การพัฒนาด้านสติปัญญา
                   3.3.2 จริยศึกษา คือ การพัฒนาด้านคุณธรรม 
                   3.3.3 หัตถศึกษา คือ การพัฒนาทักษะ 
                   3.3.4 พลศึกษา คือ การพัฒนาด้านสุขภาพกายและใจ
            3.4 พลศึกษาในเชิงความยอดเยี่ยม
                    พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (2556: 941) ให้ความหมายไว้ว่า ยอดเยี่ยม หมายถึง ดีที่สุด เลิศที่สุด ดังนั้นส่วนหนึ่งจากชื่อหัวข้อเรื่องคือ พลศึกษาเป็นคำที่ยอดเยี่ยม คำว่า ยอดเยี่ยมซึ่งเป็นนามธรรมอันทรงคุณค่าแขนงหนึ่งที่ไม่มีการเปรียบเทียบกับแขนงอื่น
                    พลศึกษา หมายถึง การศึกษาที่จะนำไปสู่ความเจริญงอกงามและพัฒนาการทางร่างกาย จากคำแปลนี้ นักวิชาการทางพลศึกษาทั้งต่างประเทศและในประเทศต่างให้คำจำกัดความของพลศึกษาด้วยอรรถรสทางภาษาหลายรูปแบบ แต่เมื่อมีการให้คำจำกัดความกันแล้วจึงมีความหมายที่คล้ายคลึงกัน เข้าใจกันว่าพลศึกษาเป็นอย่างไร คืออะไร หมายถึงอะไร เพียงแต่นักวิชาการทางพลศึกษาบางคนอาจมีรายละเอียดในการใช้คำ ทั้งหมดทั้งมวลอ่านแล้วเข้าใจและให้ความหมายไปในทิศทางเดียวกัน 
                  พลศึกษา คือ ศาสตร์และศิลป์ในการเรียนรู้ร่างกายและจิตใจ พลศึกษาเป็นชื่อสาระการเรียนรู้แขนงหนึ่งที่บังคับเรียนตามหลักสูตร เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายและจิตใจอย่างถูกวิธี หรือหากจะเพิ่มรายละเอียดมากขึ้น ขอขยายความว่า พลศึกษา หมายถึง สาระการเรียนรู้แขนงหนึ่งที่ว่าด้วยการเรียนรู้เรื่องการเคลื่อนไหวที่ต้องบังคับร่างกายและควบคุมจิตใจเพื่อก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกาย และใช้กีฬาเป็นสื่อในการเรียนรู้ แล้วถามต่อว่าเรียนพลศึกษาไปทำไม ก็จะต้องมีการสร้างวิธีคิดให้กับผู้เรียนเช่นกันว่าทุกเรื่องที่เรียนรู้มีเป้าหมายปลายทางทั้งสิ้น ดังนั้นการเรียนพลศึกษาก็เพื่อให้ร่างกายและจิตใจมีการเคลื่อนไหวที่ถูกวิธีและถูกต้อง จนก่อให้เกิดความแข็งแรงในร่างกายและความแข็งแกร่งในจิตใจ เมื่อเคลื่อนไหวสม่ำเสมอจะมีสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจที่ดีต่อไป จากนัยสำคัญของพลศึกษาในแง่ของความหมายต่างๆ นั้นย่อมแสดงถึงคุณค่าอันมหาศาลของคำๆ นี้ และเมื่อจะถอดรหัสใจความของเนื้อในที่มีหลายคำที่ทรงคุณค่าและสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ ศิลป์ การเคลื่อนไหว บังคับร่างกาย ควบคุมจิตใจ ถูกวิธี มีประสิทธิภาพ ออกกำลังกาย กีฬาเป็นสื่อ ความแข็งแรงในร่างกาย ความแข็งแกร่งในจิตใจและสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ ยิ่งทำให้เห็นว่าคำนามคำหนึ่งที่ชื่อว่า พลศึกษานั้น ทำไมจึงเป็นสาระการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมได้ แต่จะให้แนวคิด ข้อคิดและวิธีคิดอีกแง่มุมหนึ่งที่นักวิชาการทางพลศึกษาหลายคนมองข้ามไป กล่าวคือ จากการที่การศึกษาส่วนใหญ่เรียนรู้มาจากองค์ความรู้จากตะวันตกเป็นหลัก ซึ่งก็คือ ความรู้ทางโลกทำให้องค์ความรู้ทางตะวันออกอีกแง่มุมหนึ่งถูกลืมเลือนไปหรือให้ความสำคัญน้อยกว่า ซึ่งก็คือ ความรู้ทางธรรมนั่นคือ วิธีคิดทางธรรม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมอยู่ตลอดเวลาและอยู่ใกล้ตัวของคนมากที่สุด ในอดีตชาวพลศึกษาหลายคนเคยได้รับการปลูกฝังจากครูบาอาจารย์และรุ่นพี่ ให้พูดคำว่า พลศึกษา ให้เต็มคำ ไม่ใช่พูดว่า พละซึ่งความคิดขณะนั้นจะหมายถึงว่าใช้เฉพาะกำลัง ไม่เป็นการสื่อถึงการใช้ความรู้ทางสมองมากนักหรือไม่เป็นแนววิชาการแต่เกรงว่าคนอื่นจะเข้าใจผิดว่าชาวพลศึกษาใช้แต่กำลังมากกว่าใช้สมอง เมื่อวันเวลาผ่านไป ประสบการณ์และการเรียนรู้มากขึ้น จึงเริ่มเข้าใจว่า พูดคำว่า พละก็ได้ แถมมีนัยสำคัญทางธรรมะประกอบอยู่เสมอ ให้ระลึกเสมอว่า พลศึกษาเป็นเรื่องที่มีความรู้ทางโลกและทางธรรมอยู่รวมกันและอยู่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอดเวลา
              พลศึกษาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่ผสมผสานความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรมในเรื่องต่างๆ ดังนี้
                  1. การใช้เรี่ยวแรงอย่างชาญฉลาด เป็นศาสตร์ของความรู้ทางโลก
                  2. การใช้การเคลื่อนไหวอย่างหลักแหลม เป็นศาสตร์ของความรู้ทางโลก
                  3. การใช้สมองอย่างปราดเปรื่อง เป็นศาสตร์ของความรู้ทางโลก
                  4. การใช้จิตอย่างแยบยล เป็นศิลป์ของความรู้ทางธรรม
               จึงเห็นได้ว่า พลศึกษาเป็นคำที่ยอดเยี่ยมในตัวตนของมันเอง เป็นภาษาไทยคำหนึ่งที่มีคุณค่าอยู่ในชื่อของคำนี้ ไม่สมควรไปเปรียบเทียบกับคำในวิชาชีพอื่นซึ่งก็มีคุณค่าเฉกเช่นกัน เป็นคำที่ประกอบด้วยความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรมอยู่ในคำเดียวกัน ส่วนการได้รับการสรรเสริญหรือการได้รับความเสื่อมเสียของคำนี้นั้น มาจากน้ำมือและการกระทำของคนที่นำพลศึกษาไปใช้ว่าเข้าใจ เข้าถึงและลึกซึ้งกับคำว่า พลศึกษาหรือไม่อย่างไร เพราะพลศึกษาเป็นเนื้อหาและกิจกรรมที่เกี่ยวโยงนำมาเกี่ยวข้องกับร่างกายและจิตใจของคน จะเรียกว่าพลศึกษาอยู่ในร่างกายและจิตใจของทุกคน ทุกขณะและทุกเวลา ดังนั้นพลศึกษาจึงเป็นคำที่ยอดเยี่ยมอย่างเยี่ยมยอดจริงๆ
            3.5 พลศึกษาในเชิงความยิ่งใหญ่
                  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (2556: 952) ให้ความหมายไว้ว่า ยิ่งใหญ่ หมายถึง มีอำนาจมาก คงไม่เป็นการยกย่องและเยินยอจนเกินเลยว่า พลศึกษานั้นยิ่งใหญ่มีสติปัญญาความสามารถสูง เพราะเหตุและปัจจัยหลายอย่างที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องและใช้พลศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน ทำให้คนที่ออกกำลังกายมีสุขภาพ มีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่แข็งแกร่ง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ดังแนวทางพุทธศาสนาที่ว่า การสะสมบุญกุศลหรือการสะสมสิ่งดีๆ แก่ชีวิต ย่อมนำความสุขและความเจริญมาให้ผู้นั้นเสมอเป็นความจริงที่ปรากฏมาร่วม 2500 กว่าปีแล้ว 
                   จากคำแปลของคำว่า ยิ่งใหญ่ทำให้เห็นว่าพลศึกษามี 2 ส่วนที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ คือ (1) พลังอำนาจ บ่งบอกทางร่างกาย-จิตใจ และ (2) พลังสติปัญญาความสามารถสูง บ่งบอกทางสมอง ดังขอขยายความออกเป็น ดังนี้
                      1. ความยิ่งใหญ่และเกรียงไกรของพลศึกษาแห่งพลังอำนาจที่บ่งชี้ทางพลังกาย คือ คนใดที่ได้ใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวที่มีมากมายหลายหลากของพลศึกษาในเชิงร่างกาย ย่อมเกิดผลดังนี้
                           1.1 ความแข็งแรง (Strength) เช่น มือสามารถยกของหนักได้จากที่ไม่เคยยกได้มาก่อน เป็นต้น
                           1.2 ความเร็ว (Speed) เช่น วิ่งได้เร็วและเร่งได้มากขึ้นอย่างไม่เหนื่อย เป็นต้น
                           1.3 ความอ่อนตัว (Flexibility) เช่น สามารถก้มตัวหยิบของบนพื้นได้อย่างสบาย ไม่ปวดเมื่อย เป็นต้น
                           1.4 ความคล่องแคล่ว (Agility) เช่น สามารถโยกลำตัวหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้รวดเร็ว เป็นต้น
                           1.5 ความทนทาน (Endurance) เช่น เดินหรือวิ่งได้นานขึ้นและไม่เมื่อยล้า เป็นต้น
                           1.6 ระบบไหลเวียนโลหิต (Circular–Respiratory Fitness) เช่น มีเหงื่อออกจากร่างกายมากขึ้น ทำให้รู้สึกสดชื่น เป็นต้น
            กฎแห่งการใช้และไม่ใช้ (Law of Use and Disuse) ของชอง ลามาร์ก (Jean Lamarck. http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/150charles-darwin/Less3_1_1.html.2559: ออนไลน์) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่วางรากฐานทฤษฎีวิวัฒนาการ คืออวัยวะส่วนใดของร่างกายที่ใช้บ่อย ย่อมมีการพัฒนาเจริญเติบโตอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเสมือนกับทางพลศึกษาคือ กล้ามเนื้อมัดใดของร่างกายที่ใช้บ่อยจะก่อให้เกิดความแข็งแรง ในทำนองตรงกันข้าม กล้ามเนื้อมัดใดที่ร่างกายไม่ได้ใช้ย่อมอ่อนแอ หากนำพลังอำนาจมากล่าวถึงในเชิงจิตใจ
                      2. ความยิ่งใหญ่และเกรียงไกรของพลศึกษาแห่งพลังสติปัญญาความสามารถสูงที่บ่งชี้ทางพลังสมองของคน ในการศึกษาเล่าเรียนศาสตร์และศิลป์ทางพลศึกษา ที่แตกแขนงออกไปหลายแขนง ดังนี้
                          2.1 วิทยาศาสตร์การกีฬา (Sport Science) เป็นการศึกษาและเรียนรู้จากการสังเกต ค้นคว้า ทดลองและวิจัยในเรื่องที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเคลื่อนไหว เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่แข็งแรงและจิตใจที่แข็งแกร่ง
                          2.2 กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา (Anatomy and Physiology) เป็นการศึกษาและเรียนรู้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท ของร่างกาย เพื่อให้การเคลื่อนไหวถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ
                          2.3 จิตวิทยาการกีฬา (Sport Psychology) เป็นการศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรม อารมณ์ บุคลิกของคน เพื่อทำให้มีสภาวะจิตใจที่เข้มแข็งและมั่นคงในกิจกรรมการเคลื่อนไหว
                          2.4 ชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) เป็นการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับแรง ขนาดของวัตถุที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การเคลื่อนไหวมีประสิทธิผล
                          2.5 เวชศาสตร์การกีฬา (Sports Medicine) เป็นการศึกษาและเรียนรู้การป้องกัน รักษา กายภาพบำบัดและวินิจฉัยเรื่องการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหว เพื่อให้ร่างกายและจิตใจคืนสภาพสู่ภาวะปกติ
                            2.6 โภชนศาสตร์การกีฬา (Nutrition of Sport Science)  เป็นการศึกษาและเรียนรู้เรื่องอาหารที่นำมาใช้กับร่างกาย เพื่อให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหวและมีพลังงานในการทำงานอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง
                     องค์ความรู้ดังกล่าวข้างต้นอาจมีการแตกแขนงเพื่อเพิ่มสาระเนื้อหาให้มากและเจาะลึกในรายละเอียดได้ จะเห็นได้กีฬานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งและหรือส่วนย่อยของพลศึกษาเท่านั้น แต่กีฬาสามารถสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับคนที่มีความสามารถในเชิงกีฬา สร้างชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ความยิ่งใหญ่จากการเล่นกีฬา คนยังคงมองข้ามข้อตกลง ข้อบังคับ กฎกติกาที่เป็นความรู้ทางธรรม มุ่งเน้นจริยธรรม จรรยามรรยาทที่แอบแฝงปลูกฝังคนให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬาควบคู่ไปกับความเก่งกาจทางทักษะกลไก
                       จึงเห็นว่าความยิ่งใหญ่ของพลศึกษามีพลานุภาพและเสริมส่งภูมิปัญญาในองค์ความรู้ที่หลากหลายมากมายอย่างไม่จบสิ้น พลศึกษาเปรียบเสมือนเป็นพื้นฐานในการแตกแขนงความรู้เหล่านี้เพื่อดำเนินการจัดการเป็นสาขาวิชาหนึ่งหรืออาจเป็นภาควิชาหนึ่งหรือคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยก็ได้ ตราบใดองค์ความรู้ที่เรียนรู้เกี่ยวข้องและถ่ายโยงสู่ร่างกายและจิตใจของคน ตราบนั้นพลศึกษายังคงดำรงอยู่ในเลือดเนื้อเชื้อไขและจิตใจของคนตลอดไป
          3.6 พลศึกษาในเชิงความก้าวหน้า
                  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (2556: 120) ให้ความหมายไว้ว่า ก้าวหน้า หมายถึง เปลี่ยนแปลงของเดิมให้ดีขึ้นตามลำดับ เจริญวัฒนาเร็วกว่าปรกติ เพราะพลศึกษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคน เมื่อวิวัฒนาการความคิดในการสร้างสรรค์ของคนไม่หยุดนิ่ง ศึกษาหาความรู้ ค้นคว้าและวิจัยมาตลอด นำการเคลื่อนไหวของคนมาประยุกต์ ปรับเปลี่ยน ปรับปรุงและส่งเสริมให้เป็นเกม กีฬา การออกกำลังกาย ทำให้การก้าวไปของพลศึกษาเป็นไปอย่างมีระบบขั้นตอนและเน้นการแข่งขันเพื่อพัฒนา คิดค้น วิจัย ให้การแข่งขันไปสู่เป้าหมายสูงสุดอย่างไม่สิ้นสุด การก้าวหน้าของพลศึกษาเน้นกิจกรรมทางกีฬา จัดในรูปแบบการเล่นกีฬานานาชนิด การแข่งขันกีฬานานาชาติเพื่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งในแถบเอเชียจะเห็นขั้นตอนการแข่งขันกีฬาจากประเทศกลุ่มเล็กไปสู่ประเทศกลุ่มใหญ่ อย่างเช่นประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกีฬาซีเกมส์ (Southeast Asian Games or Sea Games) ขยายเป็นกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games) คือกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย จากนั้นนำไปสู่การแข่งขันทั่วโลก คือ กีฬาโอลิมปิก (Olympic Games) ชี้ให้เห็นว่ามีการวิวัฒนาการในรูปแบบกีฬาแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ มาหลายครั้งหลายคราอย่างต่อเนื่อง
                จากแนวคิดและเป็นความจริงเสมอของพุทธศาสนาที่ว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกใบนี้ที่ประกอบขึ้นด้วยสิ่งเดียวหรืออยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ต้องประกอบขึ้นจากสิ่งหลายสิ่งมารวมกันดังความจริงที่ใกล้ตัวที่สุดคือร่างกายของคน มีองค์ประกอบมากมายที่ประกอบและรวมตัวกันเป็นร่างกายและพยายามพัฒนาการไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เฉกเช่น การจัดการแข่งขันกีฬาในระดับต่างๆ ไม่ว่าระดับประเทศ ระหว่างประเทศและทุกประเทศทั่วโลก ที่ต้องประกอบด้วย
                   1. สถานที่ มีการออกแบบสนามแข่งขัน ใช้วัสดุก่อสร้างที่คงทน เป็นการบูรณาการหลายศาสตร์เพื่อความเกรียงไกรและความทันสมัย
                   2. วัสดุอุปกรณ์กีฬา มีการคิดประดิษฐ์ ออกแบบอุปกรณ์กีฬาให้ทนทาน เบาและลดแรงเสียดทานอย่างไม่น่าเชื่อ
                  3. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า วงจรทางคอมพิวเตอร์เพื่อมาควบคุมการทำงานในการจับเวลา การคำนวณหาค่าคะแนนและความสะดวกสบายในการทำงาน
                  4. ระบบบริหารงาน มีการวางแผนการดำเนินงานตั้งแต่ก่อนจัดการแข่งขันหลายปี จนกระทั่งถึงวันแข่งขันและจบการแข่งขัน ซึ่งต้องประสานงานกับฝ่ายต่างๆ อย่างมีระบบ
                  5. งบประมาณ มีการคิดคำนวณ หารายได้จากส่วนของราชการและเอกชนมาสนับสนุนการจัดการแข่งขันให้เพียงพอ
                  6. หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องขอความร่วมมือในการสนับสนุน ส่งเสริมทั้งบุคลากรและสิ่งของเครื่องใช้
                  7. ความร่วมมือของนานาประเทศ ที่ต้องปรึกษาหารือ ให้การจัดการแข่งขันมีความถูกต้องตามกฎระเบียบและรับรู้ข้อตกลงในเรื่องต่างๆ ที่ต้องมีการพัฒนา ค้นคิดและวิจัย เพื่อให้การจัดการแข่งขันมีคุณภาพและประสิทธิภาพ
                นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาจากหลักสูตรแขนงต่างๆ ที่ได้จากวิทยาศาสตร์การกีฬาควบคู่กันไปกับส่วนต่างๆ ข้างต้น สู่จุดหมายปลายทางที่วางไว้ ดังที่ปรากฏได้ว่า นักกีฬาสามารถทำลายสถิติในกีฬากรีฑา ว่ายน้ำหรือมียุทธวิธีการเล่นกีฬาฟุตบอลอย่างมีระบบแบบแผนสูงขึ้น มีพลังในการเสิร์ฟลูกเทนนิสที่รวดเร็วและรุนแรง มีพลังกายและพลังจิตในลีลายิมนาสติกที่ไม่คิดว่าคนจะทำได้เช่นนั้น เป็นต้น ดังนั้นความก้าวหน้าของพลศึกษา จึงไม่หยุดนิ่งเพราะความก้าวหน้านั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นคนที่ต้องการพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดของชีวิตอยู่เสมอ นี่เป็นเพียงผลพลอยได้จากการใช้ กีฬาเป็นสื่อสู่สมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ สู่ความสามารถเชิงกลไกของคนและความมีคุณธรรมที่ควรยกย่อง นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าของพลศึกษาที่ให้คุณค่าและความสำคัญตลอดมาจากอดีตสู่ปัจจุบันคือ ออกกำลังกายแล้วแตกแขนงรูปแบบต่างๆ ให้มีรสนิยมหลากหลายเป็น แอโรบิคดานซ์ เครื่องมือยกน้ำหนัก จนกลายเป็นธุรกิจทางกีฬาได้อย่างมหาศาล

4. คุณลักษณะครูผู้สอนวิชาพลศึกษา
          ในยุคสังคมโลกปัจจุบันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติและทุกองคาพยพอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้าน ซึ่งทางด้านการพลศึกษาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องพัฒนาให้ทันและก้าวล้ำไปกับการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับครูผู้สอนวิชาพลศึกษา ที่จะต้องปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้สามารถถ่ายทอดและเรียนรู้ร่วมกันกับผู้เรียนในยุคที่สังคมไทยเข้าสู่เครือข่ายโลกาภิวัตน์ 4.0 ดังนี้
            4.1 พลศึกษา (Physical Education) เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ได้รับการถ่ายทอดมานานจากคนตะวันตก ที่เน้นร่างกายควบคู่กับจิตใจ มีความแข็งแรง ความเร็ว ความอ่อนตัว ความ คล่องแคล่ว ความทนทานและระบบไหลเวียนโลหิต ความหมายของครู ครูคือใคร คำว่า ครูมีความหมายลึกซึ้งและกว้างขวางมาก แต่ถ้าดูจากรากศัพท์ ภาษาบาลีว่า ครูหรือ ภาษาสันสกฤตว่า คุรุนั้น มีความหมายว่า ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ควรได้รับการเคารพได้มีผู้ให้ความหมายของคำว่า ครูไว้ หลายอย่าง เช่น ครูคือ ผู้ทำหน้าที่สอนและให้ความรู้แก่ศิษย์เพื่อให้ศิษย์เกิดความรู้ ความก้าวหน้าในสาขาวิชานั้น ๆ ครูหมายถึง ผู้อบรม สั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ ครูพลศึกษาหมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ทางด้านพลศึกษาที่เกี่ยวข้องสองด้าน คือ ร่างกายและจิตใจ ประกอบด้วยสรีรวิทยาการออกกำลังกาย วิทยาศาสตร์การกีฬา จิตวิทยาการกีฬา สังคมวิทยาการกีฬา ชีวกลศาสตร์และกีฬาเวชศาสตร์ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง มีพลานามัยสมบูรณ์และมีจิตใจที่เบิกบาน รักการออกกำลังกายและเล่นกีฬา รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีระเบียบในตนเอง รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย มีน้ำใจเป็นนักกีฬาเพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ
            4.2 หลักการสอนพลศึกษา การสอนพลศึกษานั้นมีความมุ่งหมายเฉพาะที่สามารถเห็นได้เด่นชัด คือ
                   4.2.1 เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถภาพและสุขภาพของร่างกายดีขึ้น รวมทั้งการรักษาไว้ซึ่งสุขภาพ           
                        4.2.2 เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในกิจกรรมทางด้านพลศึกษาและสามารถนำทักษะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากวิชาพลศึกษาจะอาศัยกิจกรรมต่าง ๆ ทางกายเป็นสื่อ จึงจำเป็นจะต้องสร้างทักษะ เพื่อจะได้นำทักษะอันเป็นพื้นฐานของกิจกรรมไปใช้                   4.2.3 เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจในคุณค่าของวิชาพลศึกษา ประโยชน์ของกิจกรรมประเภทต่าง ๆ
                     4.2.4. เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะต่าง ๆ ประจำตัว คุณลักษณะดังกล่าวนี้ครอบคลุมไปทุก ๆ ด้าน ซึ่งเชื่อว่ากิจกรรมทางพลศึกษาจะมีส่วนช่วยและส่งเสริมได้
                    4.2.5 เพื่อให้ผู้เรียนมีสุขนิสัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม โดยทั่วไปแล้วถือว่าวิชาพลศึกษาเป็นวิชาสุขศึกษาภาคปฏิบัติ เพราะในการเรียนวิชาพลศึกษาต้องอาศัยการปฏิบัติเป็น หลัก ฉะนั้นการสอนวิชาพลศึกษาจึงต้องเน้นในเรื่องสุขนิสัยด้วย            
            4.3 ข้อแนะนำในการสอนวิชาพลศึกษา
                 วิชาพลศึกษาในการศึกษาแผนใหม่ถือว่ามีส่วนช่วยในการพัฒนาผู้เรียนในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพและสมรรถภาพของร่างกายได้เป็นอย่างดียิ่ง การจัดการบริหารกิจกรรมพลศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพของร่างกายของผู้เรียนแต่ละคนเป็นการส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายที่ดีเมื่อผู้เรียนเริ่มมีการพัฒนาทางด้านความแข็งแรง ความอดทนและทักษะแล้วก็จะมีโอกาสมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่หนักๆ และสูงๆ ต่อไปอีก ความหนักและความยากของกิจกรรมควรเพิ่มขึ้นตามลำดับและความเหมาะสม ผู้เรียนแต่ละคนต้องการความหนักเบาของกิจกรรมแตกต่างกัน สิ่งที่ผู้เรียนหวังจะได้รับในระหว่างมีส่วนร่วมอาจจะแตกต่างกัน เช่น คนหนึ่งอาจมีส่วนร่วมเพื่อผลทางสุขภาพ อีกคนหนึ่งอาจมีส่วนร่วมเพื่อความสนุกสนาน หรืออีกคนหนึ่งต้องการทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กันก็ได้ ผลที่จะได้รับจากการสอนพลศึกษาไม่ใช่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติหรือโดยบังเอิญ การสอนวิชาพลศึกษาก็เช่นเดียวกับวิชาอื่นๆ คือจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในตัวผู้เรียน มีความรักต่อผู้เรียนและควรมีการเตรียมบทเรียนตามความเหมาะสมกับผู้เรียนไว้ล่วงหน้า ผู้เรียนที่อยู่ในชั้นเดียวกันจะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านวุฒิภาวะ (Maturity) ความสามารถและความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้จากการสอนวิชาพลศึกษาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญๆ ดังกล่าวแล้วนี้ด้วย ผู้เรียนทุกคนจะมีการพัฒนาที่ดีที่สุดและมีความสุขในชีวิตมากที่สุดก็ต่อเมื่อได้มีความพอใจสบายใจใน ประสบการณ์ในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมพลศึกษา ควรจัดกิจกรรมให้เพศชายและหญิงมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเดียวกันด้วยกันเป็นบางครั้ง บางครั้งผู้เรียนอาจจะต้องการทราบในความสามารถของตนเองในกิจกรรมต่างๆ โดยอยากทราบว่าเท่าที่เรียนมาตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง มีการพัฒนาหรือไม่ สำหรับผู้เรียนทุกๆ คนจะได้รับประโยชน์จากวิชาพลศึกษาทั้งนั้น แต่กิจกรรมต่างๆ สำหรับผู้เรียนแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ผู้เรียนส่วนใหญ่อาจจะสามารถมีส่วนร่วมได้ทุกกิจกรรม แต่บางคนอาจจะต้องการเฉพาะกิจกรรมที่ง่ายๆ และเบาๆ ถ้าติดตามสังเกตผู้เรียนแต่ละคนเป็นประจำโดยสม่ำเสมอ จะทำให้เราสามารถทราบข้อบกพร่องและความต้องการช่วยเหลือ ผู้เรียนอาจจะต้องการรู้ เข้าใจและมีทักษะเบื้องต้นง่ายๆ เช่น การเดิน วิ่ง กระโดด รับ ส่งลูกที่ถูกต้องและควรเน้นให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน สนุกสนานกับเนื้อหาและกิจกรรม สอนให้ผู้เรียนเข้าใจสิ่งที่ได้อธิบายพร้อม ๆ กับการสาธิตให้เห็นชัด แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ ให้คนเก่งช่วยแนะนำ เชื่อแน่ว่าผู้เรียนจะปฏิบัติตามที่สอนได้               
                การสอนพลศึกษามีผลต่อสุขภาพของผู้เรียน คือ รู้จักการรับประทานอาหาร รู้จักการ ออกกำลังกายและรู้จักการพักผ่อนที่เพียงพอ ส่วนสถานที่ในการสอนพลศึกษาควรจัดทั้งในร่มและกลางแจ้ง ห้องเรียนและห้องทดลองปฏิบัติการของวิชาพลศึกษาต้องมีอุปกรณ์การสอน เช่น ลูกบอล เบาะและวัสดุครุภัณฑ์อื่นๆ นอกจากนั้น ปากกา สมุด หนังสือและสื่อสำหรับการสอนวิชาพลศึกษาล้วนมีความจำเป็นและสำคัญต่อการสอนพลศึกษาเช่นเดียวกับการสอนวิชาอื่นๆ ส่วนเวลาสำหรับการเตรียมการสอนและตารางสอนควรยืดหยุ่นได้พอสมควร ชั้นที่ไม่มีนักเรียนมากเกินไปและชั่วโมงสอนของครูไม่มากเกินไป เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและจำเป็นที่จะทำให้การเรียนได้ผลดี โปรแกรมการสอนพลศึกษาจะต้องวางตามลำดับจากง่ายไปยากหรือสอนให้มีความคืบหน้า ด้วยเหตุที่พลศึกษาเป็นสาระการเรียนรู้ที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ การสอนพลศึกษาจึงควรสอนให้สนุก สอนให้ผู้เรียนมีความสุข มีความเพลิดเพลินในกิจกรรม พยายามบอกให้ผู้เรียนฝึกทำ ต้องย้ำให้นำไปฝึกคิดและรู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์ การเรียนการสอนพลศึกษาโดยเน้นทักษะทางด้านกีฬาเพียงอย่างเดียวหรือการสอนให้ผู้เรียนปฏิบัติตามกฎ กติกา การสอนเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้บรรลุตามจุดหมายของการศึกษาได้ ดังนั้นในกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครูจึงควรมุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถด้านคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดแบบมีวิจารณญาณ คุณธรรมจริยธรรม อีกทั้งยังควรจัดกิจกรรมส่งเสริมเพื่อพัฒนาไปสู่ผลการเรียนที่ดีขึ้น สำหรับการที่ครูจะไปทำหน้าที่ด้านการสอนหรือเป็นผู้นำทางพลศึกษาและกีฬาในภาพลักษณ์ใหม่ ซึ่งในอนาคตจะมีการจัดตั้งสภาวิชาชีพการพลศึกษารองรับเพื่อควบคุมคุณภาพและมีมาตรฐานเพราะพลศึกษาเป็นพื้นฐานชีวิตของคน ทุกคนจำเป็นที่จะต้องอาศัยครูพลศึกษาเพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ด้านการเล่นกีฬา การออกกำลังกายอย่างถูกต้องและมีประโยชน์ นั่นคือความแข็งแรง จิตใจดี มีความเฉลียวฉลาด ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า แพทย์รักษา พลศึกษาป้องกันและบำบัดโดยหวังว่าผู้เรียนจะรักการออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพ มีทักษะการเล่นกีฬาที่ตนเองชอบ อย่างน้อย 1 ชนิดและชมหรือเชียร์กีฬาด้วยความเข้าใจในกฎ กติกา มารยาทได้ดี โดยมีความเข้าใจว่า กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ และรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย มีวินัย มีน้ำใจและอดทน สามารถยอมรับคำว่าแพ้และพอใจในชัยชนะ ดังทัศนคติที่ว่า แพ้อย่างเท่ห์ ชนะอย่างสง่างามทั้งนี้ ครูพลศึกษาในภาพลักษณ์ใหม่จะต้องศึกษาที่มาของคำว่า “PHYSICAL” ซึ่งสามารถอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญที่ถือเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้ที่จะทำหน้าที่ ดังกล่าว ตามที่จะได้นำเสนอดังต่อไปนี้

                  คำศัพท์คำว่า “PHYSICAL” เมื่อแยกออกเป็นพยัญชนะ จะมีความหมาย ดังนี้

                      P = Personality
                      H = Healthy
                      Y = Yes
                      S = Smart
                       I = Idol
                      C = Co-operation
                      A = Agility
                      L = Life Long Learning                

                P = Personality หมายถึง บุคลิกภาพเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของบุคคลที่บ่งบอกความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่ว่าเป็นการแสดงออกของพฤติกรรม การปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม การติดต่อ สัมพันธ์กับผู้อื่น ปฏิกิริยาในการเกิดอารมณ์และลักษณะนิสัย เห็นได้ทั้งภายในและภายนอกทั้ง ความคิด ความรู้สึกและการประพฤติปฏิบัติ การตัดสินใจ มีความมั่นคง เชื่อมั่น เที่ยงตรง ยุติธรรม มีวินัย รักษาจรรยาบรรณในวิชาชีพ จากความหมายดังกล่าวเมื่อนำมาวิเคราะห์ให้สัมพันธ์กับตัวตนของครูพลศึกษา บุคลิกภาพจึงมีอิทธิพลต่อการทำหน้าที่ของครูพลศึกษาในทุกด้าน เป็นลักษณะส่วนรวมของบุคคลทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดผลดีต่อการทำหน้าที่ครูผู้สอนสามารถทำให้ผู้บริหาร เพื่อนครู เกิดการยอมรับ ผู้เรียนพอใจ มีความสุข ได้รับคำชื่นชม สนุกสนานและเพลิดเพลินต่อการเรียนการสอนในชั่วโมงพลศึกษา ด้วยบุคลิกภาพที่มีจิตใจคึกคัก ร่างกายที่คล่องแคล่ว อารมณ์ ครื้นเครงและเคร่งครัดด้วยระเบียบวินัย รักษา จรรยาบรรณวิชาชีพครูพลศึกษาได้ดี
               H = Healthy หมายถึง สุขภาวะความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ เป็นภาวะที่มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย คือ ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง คล่องแคล่ว มีกำลัง ไม่เจ็บป่วย มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดี ไม่ดื่ม ไม่กิน ไม่เที่ยว เฉพาะที่จะทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ครูพลศึกษาจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นของตนในการดำรงชีวิต การทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจร่าเริงแจ่มใส มีความพอใจ มีความสมหวัง ในตนเองและผู้อื่น ผู้ที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นไปด้วยดีมีคุณภาพ ถึงเวลาแล้วที่ครูพลศึกษาจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะสุขภาพกาย สุขภาพจิต คือ ตัวตนของเราที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดและก็จะอยู่กับเราต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งตาย โดยเฉพาะการทำหน้าที่หรือปฏิบัติงานตามภารกิจ เป็นวิถีชีวิต สำคัญต่อการดำรงชีวิต การทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจมีความสุขย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาและใฝ่หา ผู้ที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ประจำวันไม่ว่าจะเป็นงานในด้านใด ๆ จะส่งผลให้มีประสิทธิภาพ ถ้าครูพลศึกษารู้สึกว่าตนเองสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดีก็คงจะมีความพร้อมในการลงทำหน้าที่การเป็นครูอย่างมีความสุข ไม่วิตกกังวลใด ๆ ติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนได้ใกล้ชิด ชัดเจน แน่ใจ เชื่อมั่นและมั่นคง แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าสุขภาพกายและสุขภาพจิตไม่ดี ผิดปกติหรือไม่สมบูรณ์ ตัวเราจะเกิดความทุกข์ เกิดความไม่มั่นคง  ไม่แน่ใจ ไม่ทันเหตุการณ์และไม่มีความเชื่อมั่น จึงมองเห็นว่าครูพลศึกษาจะต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษา สมรรถภาพทางกายให้ดี รู้จักบำรุงรักษาส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต ให้ถือว่าเป็นวิถีชีวิตของทุก ๆ คน มีคำแนะนำทางการแพทย์ว่า คนเราจะมีสุขภาพดีต้องประกอบด้วย 5 อ คือ
                     อาหาร ควรเป็นอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย กินแล้วให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่มีโทษหรือพิษภัยหรือมีผลข้างเคียงให้เกิดโรคภัยภายหลัง
                     อากาศ ที่ใช้หายใจเข้าออก ต้องเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ ปราศจากมลพิษใดๆ เพราะหัวใจของคนต้องการอากาศเข้าไปเพื่อสูบฉีดโลหิต ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานตลอดเวลา อากาศบริสุทธิ์ทำให้รู้สึกสดชื่นและมีความสุข
                    อารมณ์ ผู้ที่มีอารมณ์แจ่มใส ร่าเริง จะมีความสุขกว่าคนที่มีอารมณ์ขุ่นมัว หงุดหงิด ฉุนเฉียว นอกจากนั้นแล้วยังมีผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายอีกด้วย
                    อุจจาระ คือ กากอาหารหรือของเสียที่ร่างกายย่อยแล้วนำส่วนที่ดีไปใช้หลังจากนั้นก็จะขับถ่ายออกมา หากตกค้างอยู่ในร่างกายนานเกินไปจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ คนที่มีระบบขับถ่ายที่ดีจะมีหน้าตาสดใส มีน้ำมีนวล
                   ออกกำลังกาย เพื่อเป็นการบริหารอวัยวะทั้งภายในและภายนอก ทำให้ได้รับการเคลื่อนไหว ช่วยให้เกิดการเสริมสร้างส่วนที่ขาดหรือลดส่วนที่เกิน ช่วยในการทำงานของหัวใจและปอด คนที่ไม่ออกกำลังกายจะเป็นคนอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทาน เจ็บป่วย เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย                  

                ดังนั้น นักพลศึกษาหรือครูพลศึกษาจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นของตนในการดำรงชีวิต การทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจมีความสุข  ความพอใจ  ความสมหวังทั้งตนเองและผู้อื่น ผู้ที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีจะปฏิบัติหน้าที่ประจำวันไม่ว่าเป็นการสอน การแนะนำผู้อื่นรวมทั้งการทำงานให้เป็นไปด้วยดีมีประสิทธิภาพ การที่ตนเองรู้สึกว่าสุขภาพกายดีสุขภาพจิตดี เราก็จะมีความสุขแต่ในทางตรงข้ามถ้าสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราผิดปกติหรือไม่สมบูรณ์เราก็จะมีความทุกข์ ดังนั้นจึงต้องรู้จักบำรุงรักษา ส่งเสริม สุขภาพกาย สุขภาพจิตให้เป็นวิถีชีวิตของทุกๆ คน การรู้จักดูแลสุขภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้ชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุขสมบูรณ์และมีคุณภาพที่ดี
              Y = Yes หมายถึง การตอบรับ การยอมรับ ว่าใช่ ถูกต้อง หรือการเห็นคล้อยตาม การไม่ปฏิเสธ นักสร้างแรงจูงใจการทำงานได้กล่าวถึงความสำเร็จ ของคำว่า “YES” โดยมีข้อแนะนำให้ได้เห็นถึงพลังของคำสั้น ๆ นี้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพต่อการลงทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย คำว่า “YES” มีอะไรดีๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เรามีความพร้อม ให้มีจิตใจสู้กล้าและทำได้สบายมาก เรื่องเล็กไม่ยาก มองลบเป็นบวก “YES” เป็นคำที่ทรงพลังต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดและชีวิต การเปล่งเสียงออกมาว่า “YES” หรือ ใช่” “เราทำได้เท่านี้ก็จะรู้สึกถึงพลังของความมั่นใจ มีอานุภาพ มีความกล้าหาญ ขจัดความหวาดกลัว สามารถขับทัศนคติด้านบวก (+) ออกมาได้มากมาย ดังนั้น ภาพในอนาคตของครูพลศึกษาควรต้องศึกษาและสร้างแรงจูงใจของตัวเองอย่าเป็นคนที่กลัว ไม่กล้า ทำไม่ได้ มันยาก ไม่ไหว คนอื่นดีกว่า การที่เราปฏิเสธบ่อย ๆ ซึ่งนานเข้ามันก็จะทำให้เราลังเลใจ ไม่แน่ใจ กลัวและไม่กล้า สารพัด จงสำรวจตัวเอง ลงมือทำตามฝัน แล้ว “YES…ฉันทำได้” “YES…ฉันจะทำ” “YES…ฉันต้องทำได้เสริมพลังให้เราเติมฝันเป็นครูที่ดีจนทำให้ผู้บริหาร เพื่อนครู เกิดการยอมรับในความสามารถ เมื่อเราทำหน้าที่สอนก็จะได้รับเสียงตอบรับจากผู้เรียน พูดคำว่า “YES” บ่อย ๆ เพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ กับตัวเรา แล้วเราจะมีชีวิตชีวามากขึ้น ลองทำดู คำว่า “YES” มีองค์ประกอบดังนี้
                    Y = Yare คือ พร้อม เตรียมพร้อม
                    E = Ease คือ ความสะดวก ความสบาย ความไร้วิตก
                    S = Sane คือ มีเหตุผล มีสติ มั่นคง
             S = Smart ความหมายของคำว่า Smart คือ โก้ เก๋ สวย สดใส เก่ง เร็ว แรง คล่องแคล่ว ฉลาด หลักแหลม เนี๊ยบ น่ามองและนำสมัย จึงเป็นที่มาของคำชมบุคคลที่ลักษณะเช่นนี้ว่าเป็น คนสมาร์ทเราจึงสามารถนำเอาคำ ว่า สมาร์ท มาใช้กับตัวตนของครูพลศึกษา ในภาพอนาคตที่ต้องมีปฏิภาณ ไหวพริบ นำมาประยุกต์ใช้ในการสอนพลศึกษา Smart มีองค์ประกอบดังนี้
                   S = Service Mind คือ การมีจิตใจพร้อม ให้การบริการ
                   M = Mastery คือ การทำงานอย่างมืออาชีพ (ครูพลศึกษาอาชีพ)                     
                   A = Accountability คือ ครูพลศึกษาต้องเป็นบุคคลที่มีการปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้าง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ที่จะได้รับ มีความยุติธรรมสูงสุด มี เกียรติยศ ตรวจสอบได้                
                    R = Relationship คือ มีน้ำใจ เปิดใจ ใจกว้าง เป็นพี่น้อง เป็นเพื่อร่วมงานที่ดีต่อกัน                         
                   T = Teamwork คือ การทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือกัน เข้าใจกัน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วม ชื่นชม ยินดี

              I = Idol  คือ สิ่งที่ได้รับความชื่นชมหรือคลั่ง ไคล้อย่างมาก ครูพลศึกษายุคใหม่ ต้องทำตัวเป็น Idol เพื่อก้าวสู่ยุคความเป็นสากล ต้องแสวงหากลยุทธ์กลวิธีปฏิบัติในการถ่ายทอดความรู้ความสามารถเชิงปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบ รวมทั้งแสดงออกชัดเจนด้านคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติที่เป็นแบบอย่างของ คำว่า ครูพลศึกษาที่ดีให้จงได้ Idol มีองค์ประกอบดังนี้
                     I  = Idea คือ ความคิดเห็น ความ นึกคิด
                    D  = Develop คือ พัฒนา ทำให้ก้าวหน้า 
                    O  = Open คือ เปิด เปิดรับ เปิดกว้าง     
                L  = Leadership คือ ภาวะความเป็นผู้นำ
                 หากมีต้นแบบที่ดีคนเราก็จะประสบความสำเร็จได้ง่าย ที่กล่าวแบบนี้ไม่ได้ หมายความว่าให้ทำตามแนวคิดของคนอื่นเสมอไป บางทีเราต้องมีแรงบันดาลใจและแรงบันดาลใจของแต่ละคนมาจากใคร? มาจากที่ไหนบ้าง? คนที่ถือเป็น คนดลใจและบอกว่า “You’re my idol” แปลว่า คือคนดลใจคนทุกคนล้วนมี“The Idol” หรือ พระเอก หรือ ฮีโร่ ส่วนตัว และคนส่วนใหญ่มักจะยึดเป็นตัวแบบและเดินไปสู่เป้าหมายด้วยการเลียนแบบ “The Idol” โดยหวังว่าจะประสบความสำเร็จในรูปแบบและเส้นทางเดียวกัน ทุกวันนี้เห็นได้ชัดจากรายการทาง โทรทัศน์ เช่น รายการ AF หรือ The Star ที่มีวัยรุ่นที่อยากวิ่งตามความฝันเพื่อคว้าดาวมาสมัครมากมาย อาจจะเนื่องด้วยมีคนอยากประสบความสำเร็จแบบ Idol ของตนเอง แต่ใช่ว่าจะไม่มีคนประสบความสำเร็จแบบนั้น ที่สำคัญก็คือการมีตัวแบบ มีแรงบันดาลใจเป็นสิ่งดีแต่อย่าเลียนแบบทุกอย่าง หากไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา เราอาจเลียนแบบใครได้บ้างบางเวลา แต่เราไม่อาจเลียนแบบใครได้ตลอดชีวิต ในวงการพลศึกษาและกีฬานั้นมีบุคคล ต้นแบบที่เป็นแรงบันดาลใจ พอจะยกเป็นตัวอย่าง ให้เห็นเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนมีดังนี้ วงการกีฬาระดับโลกถ้าเอ่ยชื่อบุคคลเหล่านี้ คงไม่มีใครปฏิเสธถึงความเป็น Idol หรือต้นแบบฮีโร่ของผู้ที่ชื่นชอบในวงการฟุตบอล เช่น Lionel Messi นักฟุตบอลทีมชาติอาร์เจนตินา ที่สร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม รวมถึง Cristiano Ronaldo ชาวโปรตุเกส และอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ด้านวงการเทนนิสโลกที่ทำผลงานได้โดดเด่น คือ Rafael Nadal ที่ครองมือวางอันดับหนึ่งในยุคปัจจุบัน  รวมทั้ง Roger Federer ชาวสวิสเซอร์แลนด์ และภราดร ศรีชาพันธ์ อดีตมือวางอันดับ 9 ของโลกชาวไทย ส่วนวงการกอล์ฟก็คงหนีไม่พ้น Tiger Woods นักกอล์ฟลูกครึ่งสายเลือดไทย ก็นับได้ว่าเป็นต้นแบบ หรือ Idol ของเยาวชนทั้งโลก แม้กระทั้งธงชัย ใจดีของประเทศไทย ที่เยาวชนไทยก็อยากยึดเป็นต้นแบบเช่นเดียวกัน ดังนั้น นักพลศึกษาหรือครูพลศึกษายุคใหม่ที่ก้าวเข้าสู่ยุคความเป็นสากล จึงต้องแสวงหากลยุทธ์กลวิธีการฝึกทักษะปฏิบัติในการถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญเชิงวิชาการรวมทั้งการแสดงออกทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษาตลอดจนนักกีฬาให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธาในความรู้ความสามารถของตนให้เป็นที่ยอมรับและยึดถือเป็นแบบอย่างต่อไป         
            C = Co-operation หมายถึง ความร่วมมือ สามัคคีในหน้าที่ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น การร่วมมือปฏิบัติงานให้สอดคล้องทั้งเวลาและกิจกรรมที่จะต้องทำให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างสมานฉันท์และประสิทธิภาพ ไม่ขัดแย้งกันหรือเหลื่อมล้ำกัน ความสำเร็จของการประสานงานขึ้น อยู่กับบทบาทและความสามารถของบุคคลที่เป็นหัวหน้าทีมและผู้ร่วมงาน ฉะนั้น ครูพลศึกษาจะต้องมีความสามารถในการสร้างความร่วมมือภายในหมู่คณะ กลุ่ม สมาชิก สมาคม องค์กรและทีมงาน รวมทั้งการสร้างทีมงาน (Team Work) ให้มาก ๆ มีความสุภาพ อ่อนน้อม ถ่อมตน ความจริงใจ ความอดทน อดกลั้น ความยิ้มแย้ม แจ่มใส ในการติดต่อกับบุคคลอื่น เพื่อขอความร่วมมือ ไม่ก้าวก่ายใน หน้าที่ มีความเข้าใจตรงกัน ประสานงานกันเป็นอย่างดี สร้างจิตสำนึกในการรับผิดชอบร่วมกัน รวมถึงเข้าใจข้อเท็จจริงและปัญหาของหน่วยงานอื่นในอันที่จะนำไปสู่การกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และสู่ แนวทางการปรับปรุงงานต่อไป               A = Agility หมายถึง ความคล่องตัวของสมรรถภาพทางกายของมนุษย์ที่สามารถจะบังคับควบคุมในการเปลี่ยนทิศทางของการเคลื่อนที่ได้ด้วยความรวดเร็วและแน่นอน ความคล่องตัวมีผลต่อประสิทธิภาพของการปฏิบัติหน้าที่ของครูพลศึกษาโดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่ต้องอธิบาย สาธิตในสนาม ตลอดจนความคล่องแคล่วว่องไวในการทำงาน การเปลี่ยนทิศทางหรือการเปลี่ยนตำแหน่งของร่างกายที่ต้องอาศัยความเร็วและถูกต้อง เช่น ออกวิ่งได้เร็วและหยุดได้เร็ว ดังนั้น ครูพลศึกษาต้องมีความคล่องตัว ควรหมั่นฝึกฝนเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายให้มีความคล่องแคล่วว่องไว เพื่อทำหน้าที่ในการสอนพลศึกษาได้อย่างสมบูรณ์ มีสมรรถภาพทางกายที่ดี
             L = Life Long Learning  หมายถึง การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ทักษะและเจตคติ ตั้งแต่เกิดจนตายจากบุคคลหรือสถาบันใด ๆ โดยสามารถจะเรียนรู้ด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างมีระบบ หรือไม่มีระบบ โดยตั้งใจหรือโดยบังเอิญ ทั้งนี้ สามารถทำให้บุคคลนั้นเกิดการพัฒนาตนเองโดยมี ลักษณะเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ หมายถึง มีนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่เรียน มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความกระตือรือร้น สนใจแสวงหาความรู้อยู่เสมอ มุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและสามารถนำความรู้ ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ความรู้อาจทำได้หลายวิธี เช่น อาศัยหลักการเรียนรู้โดยยึดหลัก 3 กดังนี้ 
                1.กูรู้คือ ความรู้ทักษะและประสบการณ์เฉพาะทางที่เป็นความเชี่ยวชาญในตนเอง                       
                 2. กูรูคือ ศึกษา เรียนรู้ จากผู้รู้ ซักถามข้อมูลจากผู้รู้ รวมทั้งสามารถจับใจความ สำคัญเพื่อแยกแยะและเลือกสาระข้อมูลที่ได้มาอย่างดี มีเหตุผล
                  3. กูเกิ้ลคือ ศึกษา ค้นคว้า หาความรู้โดยผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เว็บไซด์ ค้นหาข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ที่เราอยากรู้ทางอินเตอร์เน็ต ทักษะพื้นฐานสำคัญต่อการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วย 
                         3.1  มีทักษะการฟัง ทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการคิดและการพูด                          3.2 ทักษะการถาม ทำให้เกิดประบวนการคิด การเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ เนื่องจากคำถามที่ดี ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ตั้งแต่ระดับการจำ ไปจนถึงระดับวิเคราะห์และประเมินค่า
                         3.3 ทักษะการอ่าน ทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งนอกจากจะเป็นทักษะการอ่านข้อความ จะรวมถึงการอ่านสถิติข้อมูลเชิงคณิตศาสตร์ต่างๆ ด้วย
                         3.4 ทักษะการคิด ทำให้บุคคลมองการณ์ไกล สามารถควบคุมการกระทำของตนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์การคิดอย่างมีเหตุผลและมีวิจารณญาณ มีผลต่อการเรียนรู้การตัดสินใจและการแสดงพฤติกรรม
                         3.5 ทักษะการเขียน เป็นความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ความคิด ทัศนคติและความรู้สึกออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเข้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อวงการศึกษา (การหาความรู้) เนื่องจากบันทึกเหตุการณ์ข้อมูล ความจริง ใช้เป็นหลักฐานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป
                         3.6 ทักษะการปฏิบัติ เป็นการลงมือกระทำจริงอย่างมีระบบ เพื่อค้นหาความจริง และสามารถสรุปผลอย่างมีเหตุผลได้ด้วยตนเองเพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหา
             ถึงเวลาแล้วที่ครูพลศึกษาจะต้องหมั่นสร้าง ตนเองให้มีทักษะทางวิชาชีพที่สำคัญต่อการเป็นครูพลศึกษายุคใหม่ให้สามารถเรียนรู้ รับรู้ข้อมูล ต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองเป็นคนที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ ไม่หยุดนิ่งและก้าวทันการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ตามพลวัตที่เป็นอยู่ให้มีคุณค่าทางวิชาชีพพลศึกษา ถ้าครูพลศึกษาได้ศึกษาและเรียนรู้ ทำความเข้าใจในคุณลักษณะที่พึงประสงค์ดังคำว่า “PHYSICAL” ที่กล่าวมาข้างต้น แล้วนำไปฝึกฝน ประพฤติปฏิบัติให้เกิดเป็นพฤติกรรม ลักษณะ นิสัยต่ออาชีพพลศึกษาโดยทำตัวให้มีบุคลิกภาพเป็นที่ยอมรับ มีร่างกายแข็งแรงไม่ปฏิเสธงาน มองดูดีเป็นแบบอย่างได้มีการทำงานเป็นทีมด้วยความคล่องตัวและเรียนรู้อยู่ตลอดชีวิตก็จะทำให้ตัวเองมี มาตรฐาน มีคุณภาพ สามารถแสดงบทบาทหน้าที่ของการเป็นครูผู้สอนพลศึกษาที่ดีในภาพอนาคต ข้างหน้าเพื่อก้าวสู่ความเป็นบริบทสากล พัฒนาตัวเองเข้าสู่มาตรฐาน ประกันคุณภาพ รอรับการ ประเมินเพื่อพัฒนาส่งเสริมสู่ความเป็นครูพลศึกษามืออาชีพที่ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของกระแส โลกที่ไร้พรมแดนไปอีกนานเท่านาน (ปรีชา เผือกขวัญดี. 2553: 1-5)
              สรุป
            1. แนวคิดทางสังคม กีฬาเป็นส่วนสำคัญในกิจกรรมทางสังคมและเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรบุคคลากรของประเทศ สามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนด้านสุขภาพ
             2. แนวคิดทางเศรษฐกิจ การเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมโดยมุ่งเน้นเพื่อยกระดับการดำรงชีพของประเทศให้สูงขึ้น ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่แท้จริงต่อบุคคล (Per Capital Real Income)
             3. แนวคิดทางการเมือง ความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ประชารัฐ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน โดยจะสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคธุรกิจทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในอันที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไปสู่เป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพคน
แบบทดสอบท้ายแผนบริหารการสอนประจำบทที่ 5
คำสั่ง จงอธิบายมาให้เข้าใจ
         ข้อ 1 จงอธิบายแนวคิดที่มีอิทธิพลทางพลศึกษา
       ข้อ 2 จงอธิบายและยกตัวอย่างพลศึกษากับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

         เอกสารอ้างอิง 

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.  (2554).  รายงานผลการดำเนินการประจำปี พุทธศักราช 2553.

             กรุงเทพฯ: กลุ่มงานยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวง.
ปรีชา  เผือกขวัญดี.  (2554).  Physical กับครูพลศึกษา.  วารสารวิชาการสถาบันการพลศึกษา.
             3(2): 193.
ราชบัณฑิตยสถาน.  (2556).  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554.  พิมพ์ครั้งที่ 2.

             กรุงเทพฯ:  นานมีบุคสพับลิเคชั่นส.         

สนธยา  สีละมาด.  (2547).  หลักการฝึกกีฬาสำหรับผู้ฝึกสอนกีฬา.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
             แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ.  (2559).  รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูป

             ประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม เรื่อง “การ

             บูรณาการสถาบันการพลศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ (National Sport  

             University : NSU)” พร้อมร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.  

            .... . กรุงเทพฯ: สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่

             สำนักงานเลขาธิการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ. 



 
               .  (2559).  รายงานสรุป วาระการปฏิรูปที่ 19 แผนปฏิรูปการกีฬา .  กรุงเทพฯ: สำนัก
              กรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ 
              สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ. 
               .  (2559).  รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ
             วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม เรื่อง “การส่งเสริมอุตสาหกรรมการ
             กีฬา (Sports Industry Promotion).”  กรุงเทพฯ: สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงาน
              เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป
              ประเทศ. 
สภาพการพลศึกษาปัจจุบัน.  (2559).  สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2559,  จาก
            http://www.mwit.ac.th/~pat/content/physical%20%20education.pdf.           
Jean  Lamarck.  (2559).  สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2559,  จาก