Wednesday 1 August 2018 | 0 comments | By: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติวัฒน์ วัชญากาญจน์

แผนบริหารการสอนประจำบทที่ 1 ประวัติและวิวัฒนาการของการพลศึกษา




[พิมพ์คำอ้างอิงจากเอกสารหรือข้อมูลสรุปของประเด็นที่น่าสนใจ คุณสามารถวางกล่องข้อความไว้ที่ใดก็ได้ในเอกสาร ให้ใช้แท็บ เครื่องมือการวาด เพื่อเปลี่ยนการจัดรูปแบบของกล่องข้อความคำอ้างอิงที่ดึงมา]
 
แผนบริหารการสอนประจำบทที่ 1
ประวัติและวิวัฒนาการของการพลศึกษา

เนื้อหา
           1. ความหมายของพลศึกษา
           2. ความมุ่งหมายของพลศึกษา
           3. ความเป็นมาของการพลศึกษา
           4. วิวัฒนาการพลศึกษาในสมัยโบราณ
                                                      
จุดประสงค์การเรียนรู้
           1. อธิบายความหมายของพลศึกษาได้
           2. อธิบายความมุ่งหมายของพลศึกษาได้
           3. อธิบายความเป็นมาของการพลศึกษาได้
           4. อธิบายวิวัฒนาการของพลศึกษาในสมัยโบราณได้                        

วิธีสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
           1. บรรยายประกอบสื่อ  PowerPoint  เกี่ยวกับเนื้อหาที่กำหนด
     2. แบ่งกลุ่มผู้เรียนศึกษาความหมาย ความมุ่งหมาย ความเป็นมาและวิวัฒนาการของ
การพลศึกษาในสมัยโบราณแล้วนำเสนอหน้าชั้นเรียน
           3. อภิปราย ซักถาม แสดงความคิดเห็นและร่วมกันสรุปบทเรียน
           4. ทำแบบฝึกหัดท้ายแผนบริหารการสอนประจำบท
           5. แนะนำเอกสารประกอบการสอนรายวิชา ตำราและแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมอื่นๆ

สื่อการเรียนการสอน
          1. เอกสารประกอบการสอนวิชาปรัชญาและหลักการพลศึกษา 
          2. Power Point เนื้อหาที่สอน
          3. เอกสาร ตำรา หนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติ ปรัชญาและหลักการพลศึกษา 
          4. แบบฝึกหัดท้ายแผนบริหารการสอนประจำบท
          5. ข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ
การวัดและประเมินผล
           1. ด้านคุณธรรมจริยธรรม
                  1.1 แบบประเมินพฤติกรรมตนเองด้านคุณธรรมจริยธรรม (สำหรับผู้เรียน)
                  1.2 แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านคุณธรรมจริยธรรม (สำหรับผู้สอน)
           2. ด้านความรู้
                   - คะแนนจากแบบทดสอบท้ายแผนบริหารการสอนประจำบท
           3. ด้านทักษะทางปัญญา
                   - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะทางปัญญา (การทำงานรายบุคคล)
           4. ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
                   - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ (การทำงานกลุ่ม)                  
           5. ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
                  - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
           6. ด้านการจัดการเรียนรู้
                 - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะการจัดการเรียนรู้

  
บทที่ 1
ประวัติและวิวัฒนาการของการพลศึกษา

           พลศึกษาเป็น “ศาสตร์” แขนงหนึ่งที่อยู่บนรากฐานทางวิทยาศาสตร์และมีความเกี่ยวข้องกับศาสตร์แขนงอื่นๆ อีกหลายแขนง พลศึกษา มาจากคำว่าพละและศึกษาพละ แปลว่า กำลัง ส่วนคำว่า ศึกษา แปลว่า การเล่าเรียน เมื่อนำคำทั้งสองคำนี้มารวมกันเป็นคำสมาส สระลดรูปรวมเป็นพลศึกษาแปลตามรูปศัพท์ว่า การศึกษาเล่าเรียนในการบำรุงร่างกายโดยการออกกำลังกาย 
              พลศึกษา (Physical Education) เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ได้รับการถ่ายทอดมานานจากคนตะวันตกที่เน้นร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าจิตใจที่มีความแข็งแรง ความเร็ว ความอ่อนตัว ความคล่องแคล่ว ความทนทานและระบบไหลเวียนโลหิต จนมีหลักการที่พูดกันว่า “A Sound Mind In A Sound Body” หรือ “จิตใจที่แจ่มใสย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์” แต่ในความเป็นจริงคนตะวันออกพูดถึงคำว่าพลศึกษามานานในรูปแบบทาง จิตใจ นั่นคือ พละ 5 ธรรมที่เป็นพลัง มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา แต่ไม่ได้รับการตอบรับมากนัก จนมีหลักการที่ว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าวจึงเห็นได้ว่าพลศึกษาต้องเกี่ยวโยงทั้งสองด้าน คือ ร่างกายและจิตใจ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้และทั้งคู่ต้องทำงานไปพร้อมๆ กันและที่สำคัญต้องบังคับร่างกายให้ได้ตามที่ต้องการและควบคุมจิตใจตนเองให้นิ่ง

1. ความหมายของพลศึกษา   
           จากการศึกษาค้นคว้าวิชาพลศึกษาในสมัยแรกมีชื่อว่า ยิมนาสติก (Gymnastic) ซึ่งหมายถึงการออกกำลังเพื่อให้มีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ อันจะทำให้เกิดความแข็งแรงมีพละและกำลัง นอกจากนี้ยังหมายถึงการออกกำลังกายเพื่อให้ทรวดทรงสง่างามเป็นนักรบอีกด้วย การออกกำลังกายถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งในการศึกษาของระบบโรงเรียน วิชาการออกกำลังกายจึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Physical Education ความหมายของพลศึกษาจึงถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในทางที่กว้างขึ้นและครอบคลุมลักษณะพื้นฐานของมนุษย์ด้านต่างๆมากขึ้น นักการศึกษาและนักพลศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของวิชาพลศึกษาไว้ในลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้
           พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (2556: 817) ให้ความหมายไว้ว่า พลศึกษา หมายถึง การศึกษาที่จะนำไปสู่ความเจริญงอกงามและพัฒนาการทางร่างกาย
           จิรกรณ์ ศิริประเสริฐ (2543: 22) ได้ให้ความหมายไว้ว่า พลศึกษา หมายถึงกระบวนการศึกษาอย่างหนึ่งที่สนับสนุนให้ผู้เรียนมีความเจริญงอกงามและมีพัฒนาการหลายด้านพร้อมๆ กัน ได้แก่ ด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม อารมณ์และจิตใจ โดยใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายที่เลือกสรรแล้วเป็นสื่อในการเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีส่วนร่วมหรือปฏิบัติโดยตรงด้วยตนเองเท่านั้นจึงจะเกิดผล
           วรศักดิ์ เพียรชอบ (2527: 2) ได้ให้ความหมายไว้ว่า พลศึกษา หมายถึงการศึกษาแขนงหนึ่งซึ่งมีวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายเช่นเดียวกับการศึกษาแขนงอื่นๆ คือ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม จะต่างจากวิชาอื่นตรงที่วิธีการและสิ่งที่นำมาใช้ คือพลศึกษาใช้กิจกรรมการออกกำลังหรือการเล่นกีฬาเป็นสื่อในการเรียนโดยใช้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมพลศึกษาให้มากที่สุด
           จรินทร์ ธานีรัตน์ (2528: 1) กล่าวว่า การพลศึกษา คือ การศึกษาแขนงหนึ่งที่ใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกาย (ที่ใช้กล้ามเนื้อใหญ่) เป็นสื่อกลางเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย (รูปร่าง) ทางจิตใจ ทางอารมณ์ ทางสังคมและพัฒนาการทางด้านคุณธรรมตลอดจนการเป็นพลเมืองดี          
           สุวิมล ตั้งสัจพจน์ (2553: 2) ได้กล่าวถึง พลศึกษาเริ่มขึ้นสมัยกรีกโบราณ ชาวเอเธนส์และ
สปาตาร์ เป็นกลุ่มคนที่สนใจต่อการออกกำลังกายมาก เขาเรียกกิจกรรมการเรียนการสอนและการ
ปฏิบัติในสถานกายบริหารซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพลศึกษาที่ขณะในยุคสมัยนั้น เรียกว่า “ยิมนาสติก”
(Gymnastics) ต่อมาในศตวรรษที่ 17 ความสนใจการออกกำลังกายมาเน้นที่การพัฒนาร่างกายมากขึ้นทำให้คำว่า “Gymnastics” เปลี่ยนมาเป็น “Physical Activity” ซึ่งหมายรวมถึงกิจกรรมทางร่างกาย 
           ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ (2530: 28)  ได้ให้ความหมายไว้ว่า พลศึกษา หมายถึงศาสตร์ที่มีความสำคัญที่ควรแก่การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านร่างกายและการทำงานของร่างกาย           
           Anderson (1989: 3) ให้ความหมายไว้ว่า พลศึกษา (Physical Education) เป็นวิชาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาซึ่งมุ่งหมายให้เกิดการเรียนรู้เชิงทักษะพิสัย (Psychomotor Learning)
           Jenny (1961: 5) ได้ให้ความหมายไว้ว่า พลศึกษา หมายถึงการศึกษาที่แตกต่างจากการศึกษาสาขาวิชาอื่น เป็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาบุคคลโดยใช้กิจกรรมทางกายที่ได้เลือกสรรแล้วมาสอนให้ผู้เรียนได้พัฒนาไปในด้านต่างๆ พร้อมๆ กัน
           Bookwalter; & Zwaag (1968: 4) ได้ให้ความหมายไว้ว่า พลศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางการศึกษา พลศึกษาไม่ได้มุ่งที่วัตถุประสงค์เฉพาะอย่างแต่มีวัตถุประสงค์โดยทั่วๆ ไปเช่นเดียวกับการเรียนวิชาอื่นๆ
           Bucher (1964: 31) ได้ให้ความหมายไว้ว่า พลศึกษา หมายถึงส่วนที่สำคัญของกระบวนการทางการศึกษา มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาด้ายร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม โดยใช้กิจกรรมทางพลศึกษาที่เลือกสรรแล้วเป็นเครื่องมือ
           Kirchner (1983: 9) ได้ให้ความหมายในแง่ของการพลศึกษาสำหรับเด็กไว้ว่า พลศึกษา หมายถึงเครื่องมือพิเศษโดยใช้การเคลื่อนไหวเพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงออกด้านความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตัวของตัวเอง        
           William (1930: 279)  ได้ให้ความหมายไว้ว่า พลศึกษา คือกิจกรรมทางกายที่ได้เลือกสรรแล้ว และเมื่อประกอบจะได้รับผลตามมา คำว่ากิจกรรมทางกายที่เลือกสรรแล้วต้องเป็นความต้องการของจิตใจและร่างกาย โดยประกอบด้วยกิจกรรมที่พัฒนาด้านสรีระการเจริญเติบโต ทักษะการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ ความสนใจ ทัศนคติและนิสัย ส่วนผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การนันทนาการ ความรับผิดชอบและในที่สุดจะรวมเป็นสุขศึกษาและพลศึกษา
           Nixon (1985: 12) กล่าวว่า พลศึกษาหมายถึง การศึกษาแขนงหนึ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนา เกี่ยวกับการ เคลื่อนไหวและการพักผ่อน ซึ่งเป็นผลให้บุคคลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและเกิดความรับผิดชอบสูงขึ้น นอกจากนี้พลศึกษายังทำให้คนได้ออกกำลังกาย ได้ฝึกร่างกายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ทางด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม อารมณ์และวัฒนธรรม
           สรุปได้ว่า พลศึกษา หมายถึงกระบวนการศึกษาที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความเจริญงอกงามและมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาและจิตใจโดยใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวที่เลือกสรรแล้วเป็นสื่อในการเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีส่วนร่วมหรือปฏิบัติโดยตรงด้วยตนเองเพื่อพัฒนาบุคคลให้ถึงพร้อมในทุกด้าน

2. ความมุ่งหมายของวิชาพลศึกษา         
           นักการศึกษาหลายแขนงไดมองเห็นความสําคัญของพลศึกษาที่มีต่อชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่หรือแม้แต่วัยชราก็ตาม ถ้าหากได้ส่งเสริมให้มีกิจกรรมพลศึกษาอย่างเหมาะสมทุกช่วงวัยต่างๆ ดังกล่าวจะช่วยให้การพัฒนาทางการเคลื่อนไหวและพัฒนาการด้านอื่นๆ จะดีไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมให้เด็กได้รับกิจกรรมทางพลศึกษาอย่างเหมาะสม จะทําให้เด็กมีร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดี พัฒนาการต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ในสิ่งที่จะเป็นตรงกันข้าม คือ บุคคลที่ผ่านวัยผู้ใหญ่ไปแล้วแต่ยังได้รับกิจกรรมทางพลศึกษาอย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของร่างกายลงได้ดี
           กิจกรรมพลศึกษาส่วนใหญ่จะส่งเสริมการพัฒนาการทางด้านร่างกาย กิจกรรมทางกายและบุคลิกของมนุษย์จะเป็นเครื่องกำหนดค่านิยมและสุนทรียภาพระบบโรงเรียน กิจกรรมโดยส่วนรวมของพลศึกษามีส่วนเข้าเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากซึ่งทุกคนต้องยอมรับว่าความเป็นเอกของร่างกายและจิตใจเป็นความต้องการเหนือสิ่งอื่นใด กิจกรรมพลศึกษาเป็นสื่อกลางของกิจกรรมทางกายเพื่อจะนำบุคคลให้บรรลุถึงจุดสูงสุดของความต้องการในสังคมและตัวเอง การกำหนดจุดมุ่งหมายของพลศึกษา จะต้องให้แสดงถึงเนื้อหาพลศึกษา โปรแกรมพลศึกษา ผู้นำทางด้านวิชาพลศึกษาได้กำหนดความมุ่งหมายไว้ดังต่อไปนี้
           Thomson (1971: 42) ได้ตั้งวัตถุประสงค์ของพลศึกษาไว้ 4 ประการ ในอันจะทำให้เกิดความเหมาะสมของความสามารถเฉพาะบุคคลเพื่อการมีชีวิตอยู่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต คือ                          
               1. ทางด้านร่างกาย คือ ประสิทธิภาพของร่างกายโดยส่วนรวม ได้แก่ การทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อสัมพันธ์กัน การมีนิสัยแห่งความปลอดภัยอยู่เสมอ การช่วยตัวเองและผู้อื่น ป้องกันอุบัติเหตุ การมีสุขนิสัยและทรวดทรงดี
               2. ทางด้านจิตใจ คือ การมีความรู้ความเข้าใจในกฎ กติกาและคุณค่าของกิจกรรมทางด้านพลศึกษา การรู้จักใช้เวลาว่างในทางที่เป็นประโยชน์ การใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการให้ความร่วมมือกับคนอื่น
               3. ทางด้านอารมณ์ คือ การมีความอดทน อดกลั้นและระงับความรู้สึก แสดงออกถึงการมีน้ำใจนักกีฬา รู้จักแพ้ ชนะและการให้อภัย
               4. ทางด้านสังคม คือความเสียสละ ต้องการประสบผลสำเร็จในกิจกรรมใหม่และทราบความต้องการของคนอื่น
           Nixon (1985: 52) ได้ตั้งจุดประสงค์ของวิชาพลศึกษาไว้ 5 ประการ คือ
               1. เพื่อพัฒนาความเข้าใจความซาบซึ้งในพื้นฐานการเคลื่อนไหว ซึ่งได้แก่พัฒนาความเข้าใจโดยผ่านประสบการณ์การเคลื่อนไหวและซาบซึ้งในความสวยงามของการเคลื่อนไหว
               2. เพื่อพัฒนาความแข็งแรงอดทน ระบบกล้ามเนื้อและระบบการไหลเวียนเลือด ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีสมรรถภาพสูง เช่น ความอ่อนตัว การทรงตัว ความคล่องตัว พลังและความเร็ว นอกจากนี้ยังเป็นความรู้สึกที่จะทำให้คนมีความต้องการที่จะสร้างสมรรถภาพทางกาย
               3. เพื่อพัฒนาการเคลื่อนไหวให้ถึงระดับที่ต้องการเพราะโครงสร้างของวิชาพลศึกษาจะช่วยให้รู้จักเลือกฝึกกิจกรรมที่สามารถทำได้หรืออาจเป็นทักษะเฉพาะของกีฬาแต่ละประเภท
               4. เพื่อพัฒนาทักษะอันเป็นความรู้และทัศนคติในการพักผ่อนให้เกิดความสนุกสนาน และการเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจในช่วงชีวิต
               5. เพื่อพัฒนาการยอมรับในสังคมและการเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสบายใจและมั่นใจ
            Barrow (1967: 56) ได้จุดมุ่งหมายของพลศึกษาไว้ 7 ประการคือ
               1. เพื่อพัฒนาและรักษาอวัยวะของร่างกายให้มีประสิทธิภาพ
               2. เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดความคล่องตัว การทรงตัว ทักษะและความมีสุขภาพสมบูรณ์
               3. เพื่อให้เป็นความรู้พื้นฐานและกฎกติกาของกิจกรรมพลศึกษา
               4. เพื่อพัฒนาทัศนคติข้อเท็จจริงพื้นฐานของสุขภาพ อันเป็นแนวทางในการปรับปรุงลักษณะนิสัยส่วนตัว
               5. เพื่อสำรวจความบกพร่องในท่าทางของร่างกาย
               6. เพื่อปรับปรุงทางด้านคุณธรรมทางสังคม เพื่อการเป็นผู้นำ มีความกล้าหาญ มีวินัย ไว้ใจคน ควบคุมตนเองและมีน้ำใจ
               7. เพื่อพัฒนาความซาบซึ้งทางด้านวัฒนธรรม
           Waltmer (1976: 42) ได้ตั้งจุดมุ่งหมายของพลศึกษาไว้ 5 ประการคือ
               1. เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในทักษะการเคลื่อนไหว อันจะทำให้สามารถออกกำลังกายและนำกิจกรรมเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
               2. เพื่อพัฒนาค่านิยมในการออกกำลังกายตามความสนใจ อันเป็นทางให้แต่ละคนจะทำได้สำเร็จและเป้าหมายในชีวิต
               3. เพื่อปรับปรุงการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
               4. เพื่อให้เข้าใจอย่างกว้างขวางในรูปแบบของพฤติกรรมการกีฬา
               5. เพื่อพัฒนาระบบต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น             
            นอกจากนี้แล้วการเรียนการสอน การเล่น การฝึกหรือการประกอบกิจกรรมพลศึกษาชนิด ต่างๆ ยังมีจุดมุ่งหมายหลายระดับในอันจะให้ผู้ที่ประกอบกิจกรรมพลศึกษาเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต
            William (1964: 56) ได้แบ่งจุดมุ่งหมายของวิชาพลศึกษาไว้ 4 ขั้นดังนี้
                ขึ้น 1 ขั้นเกิดผลทันที ซึ่งแยกได้ 4 ด้าน คือ
                        1.1 การมีสมรรถภาพทางกาย ได้แก่การควบคุมน้ำหนักตัวให้ปรกติ การมีทรวดทรงที่สง่างาม มีร่างกายแข็งแรงอดทนและมีระบบประสาทที่ดี
                        1.2 การมีนิสัยและทักษะทางการกีฬา ได้แก่ ความสามารถในการเล่นกีฬาเบื้องต้น มีทักษะทางการกีฬาดีและรักษาการออกกำลังกายเป็นประจำวัน
                        1.3 การมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องกีฬา ได้แก่ มีความรู้ในการเล่นและชั้นเชิงการกีฬา รู้ถึงสมรรถภาพและประสิทธิภาพของร่างกายตนเองอย่างดีมีสุขนิสัยที่ดี รู้ในเรื่องกฎ กติกาและข้อบังคับของการกีฬา
                        1.4 การมีน้ำใจเป็นนักกีฬา ได้แก่ การควบคุมอารมณ์ตนเองได้มีความสุขต่อเพื่อน ซื่อสัตย์ รักความยุติธรรม เคารพในกฎกติกา เห็นใจผู้อ่อนแอและมีคุณธรรม
                ขั้นที่ 2 ขั้นการพัฒนา ในขั้นนี้เป็นผลมาจากประกอบกิจกรรมพลศึกษาในขั้นที่ 1 เพราะเมื่อประกอบกิจกรรมพลศึกษาแล้วจะทำให้บุคคลได้พัฒนาอีก 4 ด้าน คือ
                        2.1 ด้านร่างกาย เช่น มีน้ำหนักปกติ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                         2.2 ด้านประสาท เช่น ความสามารถของประสาทและกล้ามเนื้อสัมพันธ์กัน
                         2.3 ด้านสติปัญญา เช่น ความฉลาดรอบคอบและซื่อสัตย์
                         2.4 ด้านอารมณ์ เช่น ความมีอารมณ์แจ่มใสและรู้จักผ่อนคลายที่ถูกต้อง
                 ขั้นที่ 3 ขั้นความคาดหวังในสังคม ซึ่งประกอบด้วย
                         3.1 มีสุขภาพดี
                         3.2 ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์
                         3.3 มีความประพฤติที่เหมาะสม
                ขั้นที่ 4 ขั้นแห่งปรัชญาพลศึกษา นั่นคือการพัฒนาให้บุคคลถึงพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม รู้จักปรับตัวด้วยกิจกรรมทางกาย ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งสู่ด้าน “นันทนาการ” 
          จึงสรุป จุดมุ่งหมายของวิชาพลศึกษาได้ 6 ประการ คือ
               1. เพื่อส่งเสริมความเจริญเติบโตและพัฒนาการทางด้านร่างกายที่สำคัญ เช่น ความแข็งแรง ความอดทน ความอดกลั้น ความมีจรรยาและความมีน้ำใจนักกีฬา
               2. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางด้านสังคมในด้านความสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น ความร่วมมือ การแข่งขัน ความเอาใจใส่ซึ่งเป็นฐานคุณค่าของแต่ละคน
               3. เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาด้านอารมณ์ เช่น ความมั่นคง การผ่อนคลายความพอใจที่ได้แสดงออกด้วยตนเอง ความเชื่อมั่น ความสมดุลและอิสรภาพ
               4. เพื่อปรุงแต่งสุขภาพ การเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการเพื่อให้ชีวิตสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
              5. เพื่อปรับปรุงสุขภาพในการดำเนินชีวิต เช่น สุขนิสัย แนวคิดในการกำจัดสิ่งไม่มีประโยชน์ การรักษาการเจ็บป่วย การป้องกันไม่ให้สุขภาพเสื่อมโทรม
              6. เพื่อให้สามารถจัดการชีวิตของตนเองได้เหมาะสมในเรื่อง การงาน การเล่น การออกกำลังกาย การพักผ่อนและการผ่อนคลายกับกิจกรรมนันทนาการได้ประจำวัน

        วัตถุประสงคของพลศึกษา มีดังนี้        
            1. พัฒนาความเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย
                1.1 พัฒนาระบบกล้ามเนื้อให้มีขนาดโตขึ้นมีความแข็งแรงมากขึ้น
                1.2 พัฒนาระบบกระแสโลหิต ทําให้ลดการสะสมของกรดแลคติก ซึ่งทําให้เกิดการเหน็ดเหนื่อยช้าลง  
                1.3 พัฒนาระบบเส้นโลหิต ทําให้เส้นโลหิตมีความยืดหยุ่นตัวดี
                1.4 พัฒนาระบบหัวใจ ทําให้หัวใจมีขนาดโตขึ้น มีความแข็งแรงมากขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจต่ำลง
                1.5 พัฒนาระบบความดันโลหิต ทําให้ความดันโลหิตปกติ (120/80 มิลลิเมตรปรอท)                     
                1.6 พัฒนาระบบหายใจ ทําให้ปอดแข็งแรงและอัตราการหายใจต่ำลง
                1.7 พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างระบบประสาทกับกล้ามเนื้อและทําให้เกิดทักษะ
                1.8 พัฒนาระบบย่อยอาหารและระบบขับถายให้มีการทํางานอย่างมีประสิทธิภาพ
            2. พัฒนาความเจริญทางด้านจิตใจ เสริมสร้างความมีน้ำใจนักกีฬา เช่น ความอดทน ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ความยุติธรรมและความเมตตากรุณา  
            3. พัฒนาการทางด้านอารมณ์ เสริมสร้างสมาธิ การควบคุมอารมณ์ ความสดชื่นและความสนุกสนาน
            4. พัฒนาการทางด้านสังคม เสริมสร้างการทํางานร่วมกัน (Team Work) การเป็นผู้นําผู้ตามที่ดีและการปรับตัวเข้ากับสังคม
            5. พัฒนาการด้านสติปัญญา เสริมสร้างความคิดริเริ่ม การตัดสินใจการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและฝึกไหวพริบปฏิภาณ

        ขอบข่ายของกิจกรรมพลศึกษา
            กิจกรรมพลศึกษาต้องเป็นกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาระบบอวัยวะของเด็กที่มีมาตั้งแต่เกิด เช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดด ขว้าง ปา ห้อยโหน เป็นต้น ให้มีการเจริญพัฒนาการอย่างถูกต้อง สมส่วน ด้วยเหตุนี้กิจกรรมพลศึกษาจึงประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้
               1. เกม (Game) เป็นกิจกรรมการเล่นอย่างง่ายๆ ไม่มีกฎกติกามากนัก มีจุดมุ่งหมายเพื่อคลายความเครียดและช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายได้ตามสมควร เกมบางประเภทสามารถนํามาใช้กับผู้ใหญ่ได้อย่างสนุกสนาน
               2. กิจกรรมกีฬา (Sport) เป็นกิจกรรมใหญ่ที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย กิจกรรมกีฬาแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ได้ 2 ประเภท ได้แก่
                     2.1 กีฬาในร่ม (Indoor Sport) ได้แก่ ประเภทกีฬาที่ไม่เน้นการเคลื่อนไหวทางด้านของร่างกายอย่างหนักแต่จะเน้นเรื่องความสนุกสนานและมักจะนิยมเล่นภายในอาคารหรือโรงยิม ดังเช่น เทเบิลเทนนิสและยิมนาสติก เป็นต้น
                     2.2 กีฬากลางแจ้ง (Outdoor Sport) ได้แก่ประเภทกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่หนักและมักจะเล่นภายนอกอาคารเช่น ฟุตบอล ขี่ม้า พายเรือและวิ่ง เป็นต้น
               3. กิจกรรมเข้าจังหวะ (Rhythmic Activity) ได้แก่กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายโดยใช้ เสียงเพลงหรือดนตรีเป็นส่วนประกอบ
               4. กิจกรรมทดสอบสมรรถภาพทางกาย (Body Conditioning) เป็นกิจกรรมที่กระทําเพื่อรักษาหรือเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง เช่น การดึงข้อ ดันพื้นและลุก-นั่ง เป็นต้น
               5. กิจกรรมนอกเมือง (Outdoor Activity) เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไปกระทําตามภูมิประเทศที่น่าสนใจ เช่น การปีนเขา เดินทางไกล ทัศนาจรและค่ายพักแรม
               6. กิจกรรมแก้ไขความพิการ (Adaptive Activity) เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายโดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาความพิการทางร่างกาย ควรจัดกิจกรรมนอกเวลาเรียนปกติ             

3. ความเป็นมาของพลศึกษา
          ความเป็นมาของคําว่า พลศึกษา ในสมัยกรีกโบราณเรียกว่า ยิมนาสติก (Gymnastics) และใช้ชื่อนี้เรียกแทนกิจกรรมทุกชนิดที่ใช้สอนปฏิบัติในสถานที่ประกอบกิจกรรมกายบริหาร (Palacestra)
ต่อมาในศตวรรษที่ 17 นักการศึกษายุโรปใช้ชื่อกิจกรรมลักษณะนี้ว่า กิจกรรมการเคลื่อนไหว (Motor Activity Programs) ศตวรรษที่ 18-19 การศึกษายุคนี้เน้นไปทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงการฝึกให้มีความสมบูรณ์ทางด้านร่างกายและจิตใจด้วยวิธีการฝึกอบรม คําว่า ยิมนาสติก จึงเปลี่ยนไปเป็นคำว่า วัฒนธรรมทางกาย (Physical Culture) การพลศึกษาสมัยนี้เป็นการฝึกให้ร่างกายมีทรวดทรง สวยงามและร่างกายสมส่วน ผู้ที่ได้รับการศึกษาอย่างสมบูรณ์จะต้องมีองค์ประกอบความสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ต่อมาภายหลังการศึกษามีแนวโน้มที่จะให้ผู้เรียนได้ใช้มือในการประกอบกิจกรรมมากขึ้น เช่น การปั้น การแกะสลักและการฝีมือต่างๆ การศึกษาสมัยนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มของการศึกษาและได้หันมาใช้เครื่องมือประกอบการฝึกมากขึ้นและการฝึกได้กระทํากันอย่างแพร่หลาย คําว่าพลศึกษาในสมัยนี้จึงเรียกว่า กายบริหาร” (Physical Training) กิจกรรมการพลศึกษาในช่วงเวลานี้มุ่งที่จะฝากให้มีร่างกายแข็งแรง เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ใหญ่โตเป็นส่วนใหญ่ (www.mwit.ac.th/pat/content/physical%20%education.pdf. 2559: Online)
          ศตวรรษที่ 20 แนวความคิดทางด้านการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปอย่างกว้างขวางและนักการศึกษาต่างมองเห็นความสําคัญของการพลศึกษาและถือว่าการพลศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการให้การศึกษาซึ่งจะขาดเสียมิได้ ผู้ที่ได้รับการศึกษาที่สมบูรณ์จะต้องได้รับการศึกษาครบทั้ง 4 ด้าน คือ                             
             1. พุทธิศึกษา (Head) เป็นการศึกษาทางด้านวิชาความรู้แขนงต่างๆ เช่น การคิดเลข การอ่าน และการเขียน เป็นต้น
             2. จริยศึกษา (Heard) เป็นการให้การอบรมกล่อมเกลาทางด้านจิตใจ เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ
             3. พลศึกษา (Health) เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความแข็งแรงทางด้านร่างกาย เช่น การเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้และการฝึกระเบียบแถวของนักรบ
             4. หัตถศึกษา (Hand) เป็นการศึกษาที่ฝึกให้เป็นผู้มีทักษะการใช้มือประดิษฐ์ สร้างสรรค์ งานช่างต่างๆ เช่น การปั้น แกะสลักและการวาดเขียน เป็นต้น
          นักการศึกษาคนสําคัญได้เห็นความจําเป็นและความสําคัญของการให้การศึกษาที่สมบูรณ์ จึงจะต้องให้การพลศึกษาควบคู่กันไปด้วย เช่น John Lock, John Dewey, Rousseau เป็นต้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วิชาพลศึกษาจึงได้ถูกจัดเข้าไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนจนถึงปัจจุบัน
          วิชาพลศึกษาในสมัยต่างๆ มีลักษณะแตกต่างกันซึ่งแล้วแต่ความต้องการของสังคมและความจำเป็นของสังคมในยุคสมัยนั้น บางครั้งการประกอบกิจกรรมพลศึกษาเพื่อการมีชีวิตอยู่ เช่นคนโบราณมีการออกกำลังกายแบบต่างๆ เพื่อหาอาหารและเพื่อหนีภัย บางครั้งก็การประกอบกิจกรรมทางพลศึกษาเพื่อการผ่อนคลายและทำให้สุขภาพสมบูรณ์และสง่างาม แต่อย่างไรก็ตามจากการศึกษาค้นคว้าวิชาพลศึกษา มีการวิวัฒนาการ ดังนี้ (ธวัชชัย สุหร่าย. 2529: 2-4)
               1. จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์  ในยุคโบราณการออกกำลังกายมีจุดมุ่งหมายเพื่อการดำรงชีวิตทั้งสิ้น เช่น การล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร การต่อสู้และการหนีภัย เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม ความมั่นคงของกลุ่มเป็นเรื่องราวที่ต้องกระทำ ผู้นำกลุ่มที่เห็นความสำคัญจึงพยายามสะสมกำลังโดยให้มีจำนวนมากและฝึกกิจกรรมการต่อสู้ออกกำลังกาย การพลศึกษาในยุคโบราณตามหลักฐานส่วนใหญ่จะพบที่กองทหารซึ่งถือเป็นกองกำลังรักษารัฐ เมื่อบ้านเมืองสงบสุขมนุษย์จะใช้กิจกรรมพลศึกษาเหล่านี้เป็นกิจกรรมการแข่งขัน ดังจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์กรีกโบราณ มีประเพณีบูชาเทพเจ้าซีอุสและการแข่งขันกีฬา ซึ่งเรียกว่า เทศกาลโอลิมปิก (Olympic Festival) การแข่งขันประกอบด้วย มวยปล้ำ กระโดดไกล วิ่งเร็ว ขว้างจักร และพุ่งแหลน ซึ่งพอจะมองเห็นได้ว่า
พลศึกษาในสมัยโบราณมีไว้เพื่อการดำรงชีวิตทั้งสิ้น ดังภาพ 1.1




                              ภาพ 1.1 ประเพณีบูชาเทพเจ้าซีอุส (Zeus) ของชาวกรีกโบราณ

greek-religion. 2559. Online)
            ความเป็นอยู่ของคนเริ่มเจริญขึ้นคือในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม คนพยายามประดิษฐ์เครื่องมือการทำงานแทนคนได้ เช่น รถยนต์ ปืน โทรศัพท์และอื่นๆ ความจำเป็นในการออกกำลังกายในแต่ละวันเริ่มลดลง แต่มีบางพวกที่เห็นความสำคัญของออกกำลังกายเพราะว่าธรรมชาติของคนต้องการออกกำลังกายแต่ไม่ได้ทำเพราะไม่มีเวลา กลัวเหนื่อย ขี้เกียจ เป็นต้น คนกลุ่มนี้จึงประดิษฐ์อุปกรณ์และกิจกรรมขึ้นมาเป็นเครื่องกระตุ้นให้คนอยากออกกำลังกาย เช่น กีฬาและอุปกรณ์การกีฬาประเภทต่างๆ ได้แก่ เทนนิส วอลเลย์บอล เนตบอล แม้แต่กีฬาฮัสปาตัน (Haspaton) ของอังกฤษก็ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็นชอกเกอร์ (Soccer) และพัฒนามาเป็นฟุตบอล (Football) ในปัจจุบันกีฬาเหล่านี้แพร่หลายสู่ชนกลุ่มต่างๆ มากมาย มีการเล่นอยู่ทั่วไปแต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้แต่การเล่นเฉยๆ ได้มีการก่อตั้งสโมสรและสมาคมการกีฬาอย่างมากมาย และมีการจัดการแข่งขันเป็นประจำ กิจกรรมพลศึกษาในสมัยใหม่จึงมุ่งที่การแข่งขันเป็นส่วนใหญ่ ความคืบหน้าของวิชาพลศึกษายังไม่หยุดยั้งในวงการแพทย์และสุขภาพ มีความเชื่อแน่นอนว่าการออกกำลังกายจะเป็นทางเดียวที่ทำให้สุขภาพสมบูรณ์อยู่เสมอ ในสมัยปัจจุบันการออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพดีจึงถูกยกขึ้นมา และมีทีท่าว่าจุดประสงค์นี้จะได้รับการยอมรับจากสังคมทั่วโลกมากกว่าการออกกำลังกายเพื่อการแข่งขันด้วย
               2. จากเหตุแห่งความต้องการแสดงออกทางธรรมชาติของมนุษย์เมื่ออยู่ร่วมกันก็หาทางแสดงออก เช่น การพูดคุย การหัวเราะ และการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ตลอดจนมีการแข่งขันกันกีฬาเป็นสิ่งที่ท้าทายมนุษย์ให้อยากแข่งขัน ฉะนั้นกิจกรรมพลศึกษาทุกชนิดจึงส่งเสริมให้มนุษย์แสดงออกด้วยการแข่งขัน เพื่อการผ่อนคลาย และหาผู้ชนะเลิศจากกิจกรรมการแข่งขัน ดังเช่น ในยุคสมัยปัจจุบัน
           กิจกรรมทางพลศึกษามีความเป็นมาพร้อมกับการเกิดของมนุษย์โดยเฉพาะในเรื่องของพลศึกษาในชีวิตและความต้องการเบื้องต้นของคน ในปัจจุบันการพลศึกษาได้กาวหน้าไปมากในด้านเทคนิค และวิชาการ ถือเป็นความสำคัญอย่างหนึ่งในอันที่จะทำให้มนุษย์มีสุขภาพรางกายที่สมบูรณ์ สามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพและวิชาพลศึกษาก็จัดอยู่ในระบบการศึกษาในปัจจุบัน

4. วิวัฒนาการพลศึกษาในสมัยโบราณ
            คนในสังคมสมัยโบราณนั้น ไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพลศึกษาเช่นเดียวกับคนในสมัยนี้ การพลศึกษาในสมัยนั้นไม่ได้จัดให้เป็นระเบียบแบบแผนดังเช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากคนในสมัยโบราณไม่ได้จัดเวลาเป็นพิเศษในแต่ละวันเพื่อกิจกรรมพลศึกษา กลับตรงข้ามการพลศึกษาเป็นกิจวัตรประจำวันของการมีชีวิตอยู่ ร่างกายแข็งแรง มีสมรรถภาพดี ถือเป็นของธรรมดาสามัญสำหรับคนในสมัยโบราณ จากประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าคนมีความจำเป็นที่จะต้องออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น การออกกำลังกายเพื่อหาอาหาร เพื่อสนองความต้องการของตนเอง ความต้องการที่จะต่อสู้กับข้าศึกและอื่นๆ
           ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ และอารยธรรม เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการจัดการพลศึกษาขึ้น ทั้งนี้เพราะว่าในสมัยปัจจุบันมีเครื่องผ่อนแรง ทำให้ไม่ได้ออกกำลังกายเหมือนในสมัยโบราณ จึงอาจจะเป็นแนวทางในการที่จะทำให้สามารถเข้าใจประวัติของการพลศึกษาได้เป็นอย่างดีในการที่จะศึกษาประวัติการพลศึกษาของประเทศต่าง ๆ ที่มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน ดังต่อไปนี้

       พลศึกษาในประเทศจีน
            จีนสมัยโบราณเน้นหนักความเจริญทางสมองมาก โดยจะเห็นได้จากจีนพยายามส่งเสริมการเป็นบัณฑิต (จอหงวน) คือจะให้เด็กเรียนหนังสือจนมีความสามารถดีแล้วจะให้เดินทางเข้ามาสอบเข้ารับราชการในเมืองหลวง แต่ยังมีหลักฐานให้เห็นว่าจีนสมัยโบราณมีการออกกำลังกายในรูปแบบกังฟู ซึ่งเป็นศิลปะการออกกำลังกายเพื่อให้เกิดสุขภาพดี มีการฝึกหัดด้วยท่ามือเปล่ามากมายหลายท่านอกจากนี้กิจกรรมกายกรรมประเภททดสอบสมรรถภาพของตนเองและกิจกรรมการห้อยโหน จีนก็มีสถานที่สำหรับการฝึกฝนของชนพื้นเมือง นอกจากนี้การพลศึกษาของจีนจะอยู่ในกองทัพเพื่อฝึกความแข็งแกร่งไว้ป้องกันข้าศึกศัตรู เช่น ขี่ม้า ฟันดาบ ยิงธนู และเกมกีฬาทางน้ำ เป็นต้น
             ประเทศจีนในสมัยโบราณมีนโยบายที่จะปิดประเทศ ไม่มองเห็นความสำคัญที่จะต้องติดต่อกับประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่าภูมิประเทศของจีนสามารถที่จะอำนวยหรือปกป้องการรุกรานของข้าศึกศัตรูจากภายนอกได้เป็นอย่างดี เช่น มีภูเขาหิมาลัย และในภายหลังเมื่อภูเขาเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันข้าศึกศัตรูได้ ประเทศจีนก็ได้สร้างกำแพงเมืองจีนขึ้นและกำแพงเมืองจีนได้ล้าสมัยไป จีนก็ออกกฎหมายห้ามบุคคลภายนอกเข้าประเทศ เมื่อประเทศจีนแยกตนออกโดดเดี่ยวในลักษณะนี้การพลศึกษาจึงไม่มีบทบาทสำคัญ ในสังคมเมืองจีนนั้นคนจีนไม่กลัวข้าศึกจะไปรุกราน จึงไม่ต้องเตรียมทหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องฝึกให้ประชาชนที่มีร่างกายแข็งแรงเพื่อเอาไว้ป้องกันประเทศและยิ่งกว่านั้นการสอนของจีนในสมัยโบราณนั้นก็เกี่ยวกับการท่องจำคำสอนของขงจื๊อและการเคารพกราบไหว้บรรพบุรุษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาและชีวิตของคนจีนทุกคนถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตและชีวิตการเป็นอยู่แบบโบราณ กิจกรรมซึ่งส่งเสริมให้คนออกกำลังกายและมีการแสดงออกอย่างเสรีถือเป็นสิ่งต้องห้ามในระบบของจีน ด้วยเหตุเหล่านี้ ประกอบกับการที่จีนรู้สึกมีความปลอดภัยจากข้าศึกศัตรูที่จะไปรุกราน ได้ทำให้จีนไม่ได้คำนึงถึงการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงเช่นประเทศอื่นๆ 
             แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าจีนจะเน้นทางด้านความเจริญของสมองและจากอิทธิพลของศาสนา และชีวิตความเป็นอยู่อย่างสงบเงียบและโดดเดี่ยวพอมีหลักฐานยืนยันได้ว่าได้มีชาวจีนมีส่วนร่วมในกิจกรรมพลศึกษาบ้าง เช่นในครอบครัวที่ร่ำรวยก็ให้ลูกหลานได้เรียนเกี่ยวกับดนตรี การร้องรำ และการยิงธนู นอกจากนี้ก็มีมวยปล้ำ ยูโด มวย ฟุตบอล โปโล ซักเย่อ เกมส์ที่เล่นในน้ำ การตีลูกขนไก่ และการเล่นว่าว เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวจีนมีความเห็นว่าโรคบางชนิดมีสาเหตุมาจากการไม่ออกกำลังกาย ด้วยเหตุนี้ระบบยิมนาสติกแบบกังฟูได้มีขึ้น และฝึกเป็นต้นมา มียิมนาสติกเพื่อกายภาพบำบัด ซึ่งมีไว้สำหรับที่จะออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี นอกจากนั้นก็มีความเชื่อว่า การเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมีสาเหตุมาจากการอุดตันของอวัยวะภายใน ถ้ามีการออกกำลังกายโดยการคุกเข่า งอตัว การนอน การยืนพร้อมหายใจให้ถูกต้อง การเจ็บไข้ก็จะหายไป

          พลศึกษาในประเทศอินเดีย
             ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมและอารยธรรมมาอย่างยาวนาน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือและเคร่งในศาสนาฮินดู ซึ่งเชื่อถือว่าวิญญาณจะเวียนว่ายตายเกิดหลายๆ ครั้งจนถึงจุดสูงสุดในชีวิตคือ ชั้นพรหม การปฏิบัติของฮินดูจึงจะเว้นจากการบำรุงร่างกาย หลีกเลี่ยงจากการเสพโลกีย์สุข จึงเห็นได้ว่าชาวอินเดียจะไม่มีกิจกรรมพลศึกษาในวัฒนธรรมเลยแต่ยังพอมีหลักฐานการออกกำลังกายประเภทกำหนดลมหายใจที่เรียกว่า โยคะ ซึ่งนิยมกันมาก เป็นการฝึกท่ามือเปล่า มีการเคลื่อนไหวของร่างกายแต่จะเป็นการกำหนดการเกร็งของกล้ามเนื้อซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า การออกกำลังกายแบบอยู่กับที่ (Isometric) นอกจากนี้อินเดียก็เป็นประเทศหนึ่งที่จะต้องป้องกันการรุกรานจากศัตรูในแคว้นต่างๆ ในอินเดียการฝึกทหารให้มีความพร้อมของร่างกาย กองทัพของแคว้นต่างๆ ในอินเดียก็ถือว่าสำคัญ เช่น การขี่ม้า ขี่ช้าง ฟันดาบ มวยปล้ำ ยืดหยุ่น เป็นต้น
            อินเดียในสมัยโบราณมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับจีน คือ ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างเคร่งต่อศาสนา ศาสนาฮินดูเน้นให้เห็นความจริงที่ว่า วิญญาณจะเวียนว่ายตายเกิดหลายๆ ครั้งก่อนที่จะไปถึงพระพรหมซึ่งเป็นจุดสูงสุดของชีวิต ผู้ที่ต้องการความบริสุทธิ์ก็พยายามละเว้นความต้องการของจิตใจ ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า กิจกรรมเกี่ยวกับการออกกำลังกายเกือบจะไม่มีในวัฒนธรรมอินเดียเลย แต่อย่างไรก็ยังมีหลักฐานพอจะยืนยันได้ว่าอินเดียมีกิจกรรมออกำลังกายเหมือนกัน เช่นการขว้างลูกบอล การยืดหยุ่น การแข่งรถ การขี่ม้าและช้าง การฟันดาบ มวย และโยคะ ซึ่งก็คือการออกกำลังกายและกำหนดลมหายใจ จะต้องได้รับการสอบจากผู้ที่มีความชำนาญได้รับการเรียนรู้อย่างดีแล้ว สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้

          พลศึกษาในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกเฉียงใต้
            กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ประเทศอียิปต์ อัลจีเรีย บาบิโลเนีย ซีเรีย ปาเลสไตน์และเปอร์เซีย ประเทศเหล่านี้มีความเชื่อเรื่องการดำรงชีวิตด้วยการมีพลานามัยที่สมบูรณ์ โดยได้นำเอากิจกรรมพลศึกษาที่เป็นประโยชน์มาใช้ในวงการทหารจึงทำให้กองทัพของประเทศเหล่านี้เข้มแข็งและมีอำนาจ เด็กๆ ของชาติเหล่านี้เมื่อมีอายุ 6 ขวบจะได้รับการฝึกพลศึกษาให้มีร่างกายที่เข้มแข็งปราดเปรียว การฝึกจะเน้นในเรื่องการออกกำลังกายต่างๆ เช่น ขี่ม้า ยิงธนู การป้องกันตัวและฟันดาบ เป็นต้น เปอร์เซีย เป็นประเทศตัวอย่างในการใช้กิจกรรมพลศึกษาเข้าสู่วงการทหาร โดยสมัย 529 ปีก่อน ค.. กษัตริย์ไซปรัสได้รวบรวมเอาจักรวรรดิเปอร์เซียศูนย์กลางของวัฒนธรรม ซึ่งเรียกว่า ประเทศยุโรปตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นอาณานิคม
            อารยธรรมของประเทศยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติความเป็นมาของพลศึกษา แม้ว่าการศึกษาในประเทศจีนและอินเดียจะมุ่งหนักไปในเรื่องของศาสนาและด้านจิตใจก็ตาม บรรดาประเทศเหล่านี้ก็มิได้ลุ่มหลงไปตามความดึงดันของสังคมและจารีตประเพณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของจีนและอียิปต์ พวกเขามีความต้องการที่จะดำรงชีวิตด้วยการมีพาลามัยที่สมบูรณ์ และเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายนี้ เขาจึงได้นำเอากิจกรรมด้านพลศึกษาให้เป็นประโยชน์ โดยเริ่มนำมาใช้ในวงการทหารก่อนเพราะกิจกรรมทางพลศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้กองทัพมีความเข้มแข็งและทรงไว้ด้วยอำนาจ โดยเหตุนี้การพลศึกษาจึงได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว บรรดาเยาวชนอียิปต์จะได้รับการอบรมเป็นพิเศษในเรื่องการออกกำลังกายขณะเยาว์วัย เด็กผู้ชายจะได้รับการฝึกสอนให้รู้จักใช้อาวุธยุทธภัณฑ์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เมื่อร่างกายแข็งแรงจะก่อให้เกิดความอดทน กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการฝึกหัดเดินแถว การวิ่ง การกระโดด การบิดตัว นอกจากนี้ยังมีการฝึกกีฬาห้อยโหนและเปิดโอกาสได้รับความสนุกสนานจากการล่าสัตว์และตกปลา
            ประเทศอียิปต์และกลุ่มประเทศที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำไทกรีสและยูเฟรตีส ประชาชนในทุกชนชั้นมีความสนใจในกิจกรรมพลศึกษาเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในชนชั้นสูงแม้จะไม่ค่อยมีเวลาก็ตาม แต่ก็พยายามปลีกเวลามาเพื่อกิจกรรมพลศึกษาด้วย
            สรุปแล้วชนชั้นสูงใช้เวลาให้หมดไปกับกิจกรรมพลศึกษา ซึ่งได้แก่การออกกำลังกาย ขี่ม้า และยิงธนู เช่นเดียวกับการศึกษาหาความรู้ทางด้านวิชาการ เปอร์เซียเป็นตัวอย่างอันดีในการสร้างจักรวรรดิด้วยกำลังทหารเพราะกองทัพอันเกรียงไกรของเปอร์เซียซึ่งประกอบด้วยทหารที่มีสุขภาพสมบูรณ์ ทำให้ความฝันของชาวเปอร์เซียเป็นจริงในการรวมรวมจักรวรรดิเปอร์เชียในรัฐสมัยของ
พระเจ้าไซปรัส ปกครองประเทศเมื่อ 592 ปีก่อน ค.. เนื่องจากการมีศีลธรรมและทหารมีความเข้มแข็ง จึงแสดงให้เห็นว่าการพลศึกษาได้ทำให้รวบรวมอาณาจักรสำเร็จ กิจกรรมพลศึกษาในสมัยก่อนมุ่งที่จะนำไปสร้างกำลังทหารอำนาจและกำลังอาวุธ ในสมัยก่อนไม่ได้ทำเพื่อความแข็งแรง เพื่อจะได้ดำรงชีวิตอยู่อย่างผาสุก แต่รัฐบาลกลับใช้กิจกรรมพลศึกษาเพื่อสร้างอำนาจ ดังนั้นจึงเป็นการผิดความมุ่งหมายของพลศึกษาซึ่งมุ่งให้คนมีร่างกายแข็งแรงเพื่อที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างสันติสุข (ฟอง เกิดแก้ว. 2520: 6)


        พลศึกษาในประเทศกรีก
            ประเทศกรีกเห็นความสำคัญของวิชาพลศึกษาอย่างมากเพราะเชื่อว่าการออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพดี การพลศึกษาจะทำให้คนเกิดความกล้าหาญ มีระเบียบวินัย ร่างกายแข็งแรง การฝึกจะเน้นความยุติธรรม ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬาและความกล้าหาญ
            การปกครองของประเทศกรีกในสมัยนั้นประกอบด้วยรัฐเล็กๆ มากมายแต่กรีกมีอธิปไตยเป็นของตนเอง ดังนั้นประเทศกรีกจึงเกิดสงครามอยู่เสมอ การพลศึกษาก็มีส่วนให้กองทัพของแต่ละรัฐเข้มแข็ง ดังตัวอย่างของรัฐต่อไปนี้
            รัฐสปาร์ต้า (Sparta) รัฐนี้จัดกำลังพลได้เข้มแข็งโดยอาศัยกิจกรรมพลศึกษา มีนโยบายว่าพลเมืองทุกคนที่อยู่ในรัฐต้องเป็นผู้รับใช้รัฐ จะถูกเรียกร้องให้ต่อสู้กับฝ่ายข้าศึก พลเมืองหญิงมีหน้าที่เหมือนพลเมืองชาย หญิงเมื่ออายุ 7 ขวบจะต้องถูกฝึกให้ออกกำลังกายที่หนักเพื่อการต่อสู้และเป็นแม่ที่สมบูรณ์แข็งแรง เด็กทารกที่คลอดออกมาถ้ามีร่างกายที่อ่อนแอจะถูกนำไปทิ้งให้ตาย ถ้าเป็นทารกที่แข็งแรงจะมีพิธีการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากกองทหาร เด็กชายเมื่อมีอายุย่างเข้า 7 ขวบจะถูกเรียกให้เข้ารับการฝึกในโรงทหารของรัฐเพื่อให้รู้จักความอดทนกับการอยู่ในระบบของสังคมซึ่งจะต้องพบกับการควบคุมระเบียบวินัยอย่างเข้มงวด ส่วนของการฝึกได้แก่ การออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น กีฬามวยปล้ำ กระโดดรั้ว ขว้างจักร เดินแถว ขี่ม้า และล่าสัตว์ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้กองกำลังทหารของรัฐสปาร์ต้า มีกำลังทัพที่เข้มแข็งเกรียงไกร
            รัฐเอเธนนา (Athena) เป็นรัฐที่อยู่ทางตะวันออกของกรีก เป็นรัฐที่มีอุดมคติขัดแย้งกับรัฐสปาร์ตาร์ ที่มีประชาธิปไตยและเสรีภาพที่เฟื่องฟูที่สุด ดังนั้นจึงมีผลต่อการพลศึกษา ที่นี่เป็นรัฐที่ไม่มีการบังคับขู่เข็นและไม่มีกำหนดระเบียบเข้มงวด ประชาชนพลเมืองต่างสดชื่นซึ่งแสดงออกถึงประชาธิปไตยอย่างแท้จริง พลศึกษามีความสำคัญในการบริหารกิจการบ้านเมือง การออกกำลังกายของเด็กๆ จะมีขึ้นในสถานที่ออกกำลังกายที่เรียกว่าพาเลเอสตรา (Palaestra) สถานที่นี้มีที่เล่นกิจกรรมพลศึกษาต่างๆ ผู้ดูแลก็มีหน้าที่คล้ายๆ กับครูพลศึกษา บุคคลนี้เป็นผู้เดียวที่สร้างความคิดในตัวเด็กๆ ให้เห็นว่าความสมบูรณ์ทำให้จิตใจดีอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดีแม้ว่าความมุ่งหมายของสถานที่ทางพลศึกษาจะสร้างไว้เพื่อศึกษาเบื้องต้นสำหรับการออกกำลังกายก็ตามก็ได้พยายามให้สถานที่แห่งนี้มีความพัฒนาทางด้านจิตใจและความรู้ด้วย
            ชาวกรีกโบราณมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานของกีฬาโอลิมปิกการจัดพิธีการต่างๆ ของชาวกรีกจะเน้นหนักในเรื่องการบูชาเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่ชาวกรีกเชื่อถือ กิจกรรมเหล่านี้ประกอบด้วยการแข่งขันความสามารถต่างๆ ทางร่างกาย เทศกาลโอลิมปิกจัดขึ้นที่เทือกเขาโอลิมปัส (Olympus Mountain) เพื่อบูชาเทพเจ้าซีอุส (Zeus) ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดในจำพวกเทพเจ้าทั้งหลาย


        คุณสมบัติของผู้เข้าแข่งขัน มีดังนี้
            1. ต้องมีการฝึกมาแล้วเป็นเวลา 10 เดือน
            2. ต้องไม่เป็นทาส
            3. ร่างกายเหมาะสมและมีความประพฤติเรียบร้อย
            4. ไม่เคยเป็นอาชญากรมาก่อน
            5. ต้องแข่งขันตามกติกาการเล่น
        กีฬาที่เข้าแข่งขันได้แก่ เดิน พุ่งแหลน ขว้างจักร มวยปล้ำ กระโดดสูง กระโดดไกล ทุ่มน้ำหนัก มวยและแข่งม้า ผู้ชนะจะได้มงกุฎที่ทำมาจากใบมะกอกและได้รับเกียรติอย่างสูงคือได้เป็นบุคคลพิเศษในรัฐนั้น ๆ เทศกาลโอลิมปิก กำเนิดขึ้นเมื่อ 776 ก่อนคริตส์ศักราช มีการแข่งขันทุกๆ 4 ปี จนกระทั่งถูกล้มเลิกไปเมื่อ ค.ศ. 393 โดยรัฐโรมัน (ธวัชชัย สุหร่าย. 2529: 7-8)
        ประเทศกรีกในสมัยโบราณเป็นประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรื่องทางพลศึกษามาก ชาวกรีกได้พยายามต่อสู้ต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกต่างๆ เพื่อปรับปรุงร่างกายให้สมบูรณ์และอนามัยดีอยู่เสมอ จุดประสงค์อันแรงกล้านี้มีอยู่ตลอดในชีวิตของเขาซึ่งมีอิทธิพลต่อระบบการศึกษาและการปกครองเช่นเดียวกับการแกะสลัก การเขียนภาพ การละเล่นต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีในงานเฉลิมฉลอง ไม่มีชาติใดในประวัติศาสตร์ที่จะยกย่องเทิดทูนการพลศึกษาไว้เป็นอย่างดีเหมือนกับชาวกรีกโบราณ
        ในราว 3,000 ปีก่อน ค.. ได้มีหลักฐานที่แสดงว่าการพลศึกษาได้เป็นที่นิยมอย่างมากในวัฒนธรรมของชาวครีแทน (Cretan) จากการสืบค้นที่เมืองมายซีเน (Mycenae) และทางอารยธรรมของชาวเอเจียน (Aegean) ซึ่งได้ขุดค้นพบจากสิ่งที่ฝังอยู่ใต้ดินเป็นภาชนะ เครื่องปั้นดินเผาและจากวัสดุอื่นๆ สำหรับการล่าสัตว์นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นที่รู้จักกันดีในยุคนี้ มีปรากฏอยู่ในข้อเขียนของนักประพันธ์ซึ่งบรรยายอารยธรรมอันเก่าแก่ของถิ่นโบราณ  
         ในประเทศกรีก การพลศึกษาเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาในวัยเด็ก การพลศึกษาและดนตรีได้เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นส่วนสำคัญของการศึกษามากที่สุดจะทำให้มีการพัฒนาในตัวของเด็ก การดนตรีส่งเสริมเด็กให้มีความฉลาด การพลศึกษาก็เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายและเป็นที่เชื่อถือกันว่าพลศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความกล้าหาญ รู้จักระเบียบวินัยและมีร่างกายแข็งแรง มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักประโยชน์ที่ได้รับจากการออกกำลังกายเป็นต้นว่า การวิ่ง มวยปล้ำ การกระโดด การเต้นรำ เป็นความอุดมสมบูรณ์และพลานามัยร่างกาย เป็นการพัฒนาตนเองที่นำไปสู่ร่างกายที่สง่างาม ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์และเหตุผลหลายประการที่ต่างกันออกไป ประเทศกรีกประกอบด้วยรัฐเล็กๆ อย่างมากมาย แต่ละรัฐย่อมมีประชาธิปไตยเป็นของตนเอง เมื่อเกิดสงครามการพลศึกษามีส่วนสนับสนุนกิจกรรมอยู่เบื้องหลังและย่อมมีอิทธิพลต่อการปกครองประเทศ                      
          ตามปกติเด็กจะเริ่มมาฝึกออกกำลังกายในโรงพลศึกษาตั้งแต่อายุ 14-16 ปี ในสถานที่นี้จะฝึกกีฬาและออกกำลังกายเพื่อให้มีความชำนาญในแต่ละอย่าง ทั้งนี้ในการสอนของผู้ที่มีความชำนาญในด้านกีฬานั้นๆ การฝึกนอกจากจะฝึกกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่องจากโรงเรียนแล้วยังเพิ่มกีฬาต่างๆ อีก เช่น การขี่ม้า การล่าสัตว์ ส่วนอื่นๆ ก็จะสอนการออกกำลังกายทั่วไปและนักพลศึกษาจะสอนและฝึกให้ชำนาญ กิจกรรมทางรัฐพิธีต่างๆ ถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรีกและถือว่ามีส่วนสำคัญในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจนถึงปัจจุบัน ที่มีการแข่งขันในประเทศต่างๆ ทุกๆ 4 ปี รัฐพิธีนี้จัดให้มีทุกหนทุกแห่งทั่วประเทศกรีก แต่สำคัญที่สุดมี 4 พิธี คือ
             1. พิธีสำคัญและมีชื่อสียงที่สุดคือโอลิมปิก เฟสติวัล (Olympic Festival) จัดขึ้นในบริเวณเขาโอลิมปัส (Olympus Mountain) เพื่อเป็นเกียรติแก่เทพเจ้าซีอุส (Zeus) ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดในเทพเจ้าทั้งหลาย
             2. พิธีไพเนีย เฟสติวัล (Pytnia Festival) จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เทพเจ้าอะพอลโล (Apollo) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งแสงสว่างและความจริง จัดขึ้นบริเวณเมืองเดลฟาย (Delphi) ซึ่งอยู่ตอนเหนือของอ่าวโครินท์ (Corinth Gulf)
             3. พิธีเนเมีย เฟสติวัล (Nemea Festival) จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เทพเจ้าซีอุส (Zeus) จัดขึ้นในบริเวณตำบลอาร์โกลิส (Argolis  Sub District)
              4. พิธีอิสท์เมียน เฟสติวัล (Isthmian Festival) จัดเป็นเกียรติแก่เทพเจ้าโพซิดอน (Pocidon) ซึ่งเป็นเทพเจ้าทางทะเลและจัดขึ้นในคาบสมุทรโครินท์ (Corinth Peninsula)  
          การจัดการแข่งขันกีฬาถือเป็นสิ่งสำคัญในพิธีการเหล่านี้ ประชาชนจากเมืองต่างๆ ของกรีกจะมาชมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก การแข่งขันโอลิมปิก เฟสติวัล มีสถานที่ที่บรรจุคนได้ 4 หมื่นคน ในระหว่างที่มีการแข่งขันกีฬา รัฐต่างๆ ของกรีกจะหยุดทำการรบกันทั้งนี้เพราะมีความเชื่อว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามหรือขัดขืนต่อการสงบศึกอันนี้ เหตุร้ายต่างๆ จะเกิดขึ้นกับประชาชน และประเทศชาติ  ทั้งนี้ก็เพราะมีความเชื่อต่อๆ กันมาว่าจะไม่เป็นที่พอพระทัยแก่เทพเจ้าทั้งหลาย บางครั้งการพักการทำศึกสงคราม เช่น ในระหว่างศตวรรษที่ 5 มีการสงบศึกเป็นเวลานานถึง 3 เดือน
          ก่อนที่จะทำการแข่งขัน นักกีฬาพร้อมทั้งบิดา พี่น้อง และผู้ฝึกสอนจะต้องปฏิญาณตนว่าจะไม่ใช้เล่ห์เหลี่ยมในทางที่ผิดเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ เมื่อได้ลงชื่อเพื่อทำการแข่งขันแล้วบุคคลผู้นั้นจะต้องทำการแข่งขัน แม้ว่าร่างกายจะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ก็ตาม กีฬาที่ทำการแข่งขันมีการเดิน พุ่งแหลน ขว้างจักร มวยปล้ำ กระโดดสูง ขว้างไกล ทุ่มลูกน้ำหนัก มวยและแข่งม้า ผู้ชนะกีฬาแต่ละอย่างนี้จะไม่ได้รับสิ่งของที่มีค่าเป็นรางวัล หากแต่ว่าจะได้ช่อดอกไม้ซึ่งทำด้วยใบและกิ่งมะกอกเป็นรางวัลแทน แต่อย่างไรก็ดีผู้ที่ชนะจะเป็นผู้ที่นับหน้าถือตาและได้รับเกียรติอย่างสูง จะได้สิทธิ์พิเศษหลายๆ อย่างจากภายในรัฐของเขา ถือว่ารางวัลนี้มีเกียรติมากที่สุด ดังภาพ 1.2






ภาพ 1.2 การแข่งขันกีฬาของชาวกรีกในเทศกาลโอลิมปิกโบราณ
            greek-religion. 2559. Online)

            การพลศึกษาของกรีกโบราณถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าภูมิใจในอาชีพการพลศึกษามาก อุดมคติอันสูงส่งทั้งหลายได้เริ่มต้นขึ้นในระยะสมัยนี้และควรจะถือเป็นหลักในการจัดพลศึกษาต่อไป บุคคลสำคัญๆ ที่เป็นนักปราชญ์ในประวัติศาสตร์ยุคโบราณ เช่น Socrates,Plato, Aristotle, Hippocrates and Galen ได้มีความเห็นในคุณประโยชน์ของการจัดการแข่งขันกีฬาเป็นอย่างดี จุดประสงค์ของการพลศึกษากรีกอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการพลศึกษาเพื่อนันทนาการและเพื่อความสวยงามทางด้านร่างกาย พลศึกษายังใช้เพื่อการบำบัด (Physical Therapy) อีกด้วย จุดเริ่มต้นอันนี้ก็เนื่องมาจากการขยายขอบเขตความรู้ทางการแพทย์ซึ่งกรีกได้มีในสมัยนั้น ทั้งนี้ก็เพราะว่าทางการแพทย์มีความเห็นว่าการที่บุคคลมีการกินอยู่ดีและไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ออกกำลังกายจะเป็นบ่อเกิดแห่งความอ่อนแอทางด้านสุขภาพ ฉะนั้นในสมัยนี้จึงได้จัดให้มีการปรับกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของบุคคลขึ้น โดยการจัดอาหารและการออกกำลังกายให้พอเหมาะกันเป็นการรักษาสุขภาพได้เป็นอย่างดี
            การใช้พลศึกษาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นี้เริ่มตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 5 ในสมัยกษัตริย์
Herodikos มาแล้วและคุณค่าของการออกกำลังกายนี้ได้เป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์ชาวกรีกในสมัยต่อมา ที่สำคัญๆ และมีชื่อเสียง คือ
            Galen ได้กล่าวว่า พลศึกษาถือเป็นสุขศาสตร์อย่างหนึ่งที่จะช่วยในวงการแพทย์”  
            Hippocrates กล่าวว่า หลักของการใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายอยู่เสมอทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีและมีการพัฒนาด้านร่ายกายขึ้นแต่ถ้าหากส่วนนั้นไม่ได้ใช้หรือไม่ได้ออกกำลังกายก็จะเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บหรือสุขภาพไม่ดี’’ เขายังชี้ให้เห็นว่าออกกำลังกายบางอย่างก็เป็นไปอย่างเบาๆ ตามธรรมชาติและการออกกำลังกายบางอย่างก็เป็นไปอย่างหนัก ฉะนั้นบุคคลต้องออกกำลังกายตามสมรรถภาพของตัวเองและเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในปีหนึ่งๆ Hippocrates ได้แบ่งฤดูออกเป็น 4 ฤดูและได้แนะนำจำพวกอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับฤดูนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ฤดูหนาว ควรรับประทานอาหารแต่พอควรและออกกำลังกายในกิจกรรมต่างๆ  เช่น การเดิน การวิ่งและมวยปล้ำ 
                Socrates เห็นว่าการพลศึกษาและการออกกำลังกายถือเป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีและมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติสุข เขาชี้ให้เห็นว่าแม้แต่การทำงานที่เกี่ยวกับความคิดโดยไม่ต้องใช้กำลังทางด้านร่างกายเลยหรือใช้แต่น้อยก็ตาม ถ้าหากว่าสุขภาพไม่ดีแล้วก็จะเป็นบ่อเกิดแห่งความผิดพลาดอย่างร้ายแรงหรือทำงานนั้นไม่สำเร็จรุล่วงไปได้ด้วยดี   
                Plato เป็นลูกศิษย์ของ Socrates เป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นและเห็นจริงตาม Socrates
Plato ได้ทำประโยชน์ให้แก่การศึกษาอย่างมาก เขาเห็นว่าการพลศึกษานั้นมีความสำคัญทั้งผู้หญิง และผู้ชาย ทั้งยังเห็นว่าพลศึกษาและดนตรีเป็นส่วนสำคัญในการศึกษา
                Aristotle เป็นลูกศิษย์ของ Plato และเป็นอาจารย์ของพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) มีความเชื่อว่าร่างกายและจิตใจมีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สภาพการทำงานและสุขภาพของร่างกายมีผลบังคับโดยตรงต่อสมรรถภาพการทำงานของจิตใจและเห็นว่าคนทุกคนควรจะออกกำลังกายด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การวิ่ง การกระโดด การขว้างและการเต้นรำ ด้วยท่าต่างๆ จนกระทั่งอายุถึง 14 หรือ 15 ปี หลังจากนั้นค่อยออกกำลังกายที่หนักๆ ต่อไป เขาเห็นว่าการออกกำลังที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็เปรียบเหมือนกับการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำมากหรือน้อยเกินไปนั่นเอง คืออาจจะทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ทั้งสองทาง ฉะนั้นแต่ละคนจึงควรออกกำลังกายตามสภาพของร่างกายของตัวเองเพื่อให้สุขภาพดีและมีชีวิตอยู่ตามปกติสุข (ฟอง เกิดแก้ว. 2520: 7-10)

       การพลศึกษายุคโรมัน
            โรมันเป็นชาติที่มีกำลังทหารเข้มแข็งมาก พลเมืองของชาวโรมันทุกคนต้องเป็นทหารตั้งแต่อายุ 17-60 ปี ซึ่งถือว่าชาวโรมันทุกคนมีชีวิตเพื่อการเป็นทหาร ร่างกายของชาวโรมันมีสุขภาพดีอยู่เสมอโดยได้รับการฝึกออกกำลังกายอย่างเข้มแข็ง เช่น การเดินแถว การกระโดด การวิ่ง การว่ายน้ำ การพุ่งแหลน และขว้างจักร ต่อมาชาวโรมันได้ครอบครองกรีก กิจกรรมพลศึกษาในกรีกก็ถูกเผยแพร่แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปเพราะชาวโรมันชอบเกมการแข่งขันกีฬาที่โหดร้าย ป่าเถื่อนและรุนแรงจนถึงเสียชีวิต (ธวัชชัย สุหร่าย. 2529: 9)
            ในระหว่างที่ชาวเฮเลนได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในคาบสมุทรกรีกเมื่อประมาณ 200 ปี ก่อน ค.ศ. อยู่นั้นก็ได้มีชนเผ่าอินโดยูโรเปียนได้อพยพเข้าไปอยู่ในส่วนต่างๆ ของอิตาลี เผ่าที่รู้จักกันดีในหมู่เกาะนี้ก็คือเผ่าที่เรียกว่า ลาติน ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่แถบลุ่มแม่น้ำไทเบอร์ (Tiber River Basin) สถานที่แห่งนี้เองต่อมาได้มีชื่อเรียกว่า โรม ภายใต้ผู้นำที่มีความสามารถ เข้มแข็งและทหารที่มีระเบียบวินัยอย่างดี ทำให้โรมสามารถแผ่อิทธิพลไปที่ดินแดนใกล้ภาคพื้นทะเลเมดิเตอเรเนียนและทั่วไปในยุโรป ความสำเร็จของสงครามอันนี้ทำให้มีอิทธิพลต่ออุดมคติของชาวโรมันทั้งหลาย ชาวโรมันกลายเป็นผู้นำที่สนใจในทางวัตถุมากกว่ามีความสนใจทางด้านอารยธรรมอื่นๆ แม้ว่าสมัยนี้จะเต็มไปด้วยอารยธรรมและวัฒนธรรมของชาวเฮเลนแล้วก็ตาม ความร่ำรวยจากการสร้างแต่วัตถุของชาวโรมันถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบุคคลทั้งหลายซึ่งทำให้เกิดการทุจริต การใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายและเหตุอื่นๆ อีก 
            ด้านที่เกี่ยวกับพลศึกษานั้นชาวโรมันเชื่อว่ามีส่วนดีเฉพาะทางด้านสุขภาพและการทหารเท่านั้น มิได้มองเห็นคุณค่าของการพลศึกษาในทางสนุกสนานหรือนันทนาการเลย ระหว่างที่โรมเป็นประเทศที่เข้มแข็งและเป็นมหาอำนาจในสมัยนั้น พลเมืองต้องเป็นทหารทุกคน ดังนั้นประวัติศาสตร์ของโรมันในสมัยนี้จึงถือว่าชีวิตการทหารเป็นสิ่งสำคัญที่สุดจึงได้จัดให้มีการฝึกในกิจกรรมการออกกำลังกายต่างๆ เพื่อทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีที่สุดเสมอและพร้อมที่จะรับใช้ชาติทุกโอกาสที่มีการเรียกระดมพล ทหารทุกคนจะต้องมีการฝึกอย่างเข้มแข็งกวดขันในกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินแถว การกระโดด การวิ่ง การว่ายน้ำ การพุ่งแหลนและการขว้างจักร แต่ในตอนท้ายของสมัยโรมันการออกกำลังกายต่างๆ ดังกล่าวไม่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวโรมันทั่วๆ ไปทั้งนี้เพราะเริ่มมีการจ้างคนให้เป็นทหารแทนกันขึ้น
           ภายหลังจากที่โรมันได้ชัยชนะแก่กรีก ชาวโรมันก็ได้การพลศึกษาแบบกรีกมาเผยแพร่เหมือนกันแต่ไม่ได้รับเกียรติและการต้อนรับจากบุคคลทั่วไปนัก ทั้งนี้ชาวโรมันไม่เห็นด้วยกับการแข่งขันหรือการฝึกหัดให้ร่างกายมีสัดส่วนสวยงาม ชาวโรมันชอบการแข่งที่อันตรายและเต็มไปด้วยความรุนแรง อยากเป็นผู้ดูมากกว่าผู้แข่งขัน ในขณะเดียวกันก็ไม่ชอบผู้แข่งขันที่ทำการแข่งขันในลักษณะที่เปลือยกาย จนท้ายที่สุดชาวโรมันหันมาสนใจกีฬาอาชีพมากกว่ากีฬาสมัครเล่น สิ่งที่แสดงให้ชาวโรมันไม่ชอบการพลศึกษาแบบกรีกหลายอย่างเช่น Cicts เห็นว่าการออกกำลังกายแบบกรีกไม่หนักพอที่จะสร้างความอดทนและเป็นวิธีการพลศึกษาที่เหลวไหล Scopio ไม่เห็นด้วยที่จะต้องไปออกกำลังกายใน Palaestra ส่วน Horace เห็นว่าระบบการพลศึกษาแบบกรีกไม่หนักพอที่จะสร้างความอดทนและความเข้มข้นสำหรับระบบทหาร นั่นก็แสดงให้เห็นว่าบุคคลสำคัญๆ ของโรมันมีความเห็นขัดแย้งกับพลศึกษาของกรีก
            การจัดการแข่งขันกีฬาต่างๆ ในโรมันก็ไม่ได้เป็นไปตามอุดมคติของการกีฬาอันสูงส่งดังเช่นชาวกรีกในสมัยโบราณ ชาวโรมันต้องการความตื่นเต้นถึงเลือดตกยางออกเพื่อให้เกิดความหวาดเสียวของผู้ดู เช่น การแข่งรถศึก การให้มนุษย์ต่อสู้กันเองจนกระทั่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต เหล่านี้เป็นต้น  รางวัลหรือรายได้ของผู้ที่เข้าแข่งขันบางครั้งก็ได้รับรางวัลที่เป็นเงินทองและสิ่งของมีค่าต่างๆ
             Therema and Campus Martius เป็นสถานที่ที่ออกกำลังกายในกรุงโรม มีลักษณะคล้ายคลึงกับยิมเนเซียม (Gymnasium) ของกรีก คือ Therema เป็นสถานที่อาบน้ำสาธารณะและในขณะเดียวกันก็มีสถานที่สำหรับออกกำลังกายด้วย ส่วน Campus Martius เป็นสถานที่ออกกำลังกายที่อยู่แถวชานเมืองหรืออยู่นอกเมืองออกไป การออกกำลังส่วนมากเป็นไปเพื่อความสนุกสนานหรือการนันทนาการ (ฟอง เกิดแก้ว. 2520: 13-14)
            
       การพลศึกษายุคฟื้นฟู
            พลศึกษาตั้งแต่ ค.ศ. 394 เป็นต้นมาได้เสื่อมโทรมมาตลอดระยะเวลาประมาณ 1,000 ปี จนถึงศตวรรษที่ 14 – 16 วิทยาศาสตร์เข้าสู่ชีวิตคนและบุคคลมีความเห็นว่าร่างกายและจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การทำงานของจิตใจและร่างกายจะต้องดำเนินไปพร้อมกัน กิจกรรมพลศึกษาเริ่มมีความสำคัญในโรงเรียน
             Pictro Verjerino (1349–1428) เห็นว่ากิจกรรมพลศึกษามีส่วนช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์และมีจิตใจมั่นคง ถือว่าเป็นกิจกรรมนันทนาการทั้งร่างกายและจิตใจ
             John Locke (1632–1704) เห็นว่าการให้การพลศึกษาแก่มนุษย์ควรให้ 3 อย่างคือ จริยศึกษา พุทธิศึกษาและพลศึกษา
             Jean-Jacques Rousseau (1712–1778) เห็นว่าพลศึกษาช่วยให้เด็กเจริญเติบโตโดยเฉพาะกิจกรรมกลางแจ้ง เด็กยิ่งอ่อนแอยิ่งต้องการกิจกรรมพลศึกษาอย่างมาก เด็กที่แข็งแรงก็ต้องการกิจกรรมพลศึกษาเพื่อป้องกันความเสื่อมโทรมของร่างกายและจิตใจ (ธวัชชัย สุหร่าย. 2529: 10)

       การพลศึกษาในยุคมืด (Dark Ages)
            การล่มสะลายของอาณาจักรโรมันในสมัยประมาณ ค.. 476 นั้นในทางประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นยุคมืด (Dark Ages) ในสมัยนี้ถือได้ว่าเป็นยุคตกต่ำของอาณาจักรโรมันซึ่งพ่ายแพ้แก่เผ่าติวตัน สาเหตุการล่มจมและพังพินาศของอาณาจักรโรมันนี้นักประวัติศาสตร์ได้มีความเห็นว่าเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการแต่ที่สำคัญที่สุดก็คือความเสื่อมโทรมทางด้านร่างกายและจิตใจของประชาชนพลเมืองชาวโรมัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโรมันในระยะหลังๆ ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้อสุรุ่ยสุร่าย การไม่มีระเบียบวินัย การเป็นอยู่ของประชาชนเต็มไปด้วยความสะดวกสบาย ไม่ได้คำนึงถึงความเสื่อมโทรมของร่างกาย จิตใจและศีลธรรมจรรยา เห็นผิดเป็นชอบ ไม่เอาการเอางาน นำตัวไปสู่อบายมุขต่างๆ เมื่อความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นไปเช่นนี้เศรษฐกิจของบ้านเมืองจึงตกต่ำ การอดอยากก็เกิดขึ้นและอีกทั้งรัฐบาลเต็มไปด้วยการทุจริตและประพฤติมิชอบจึงไม่สามารถจะแก้วิกฤติต่างๆ อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นได้ ท้ายที่สุดความพินาศก็บังเกิดขึ้นแก่อาณาจักรโรมัน โดยได้พ่ายแพ้แก่ชนเผ่าติวตันซึ่งเป็นชนเผ่าที่ใช้ชีวิตตามป่าและภูเขาซึ่งมีความเข้มแข็งกว่าชาวโรมันหลายเท่า การที่อาณาจักรโรมันพ่ายแพ้แก่ชนเผ่าติวตันระยะนี้ถือเป็นจุดตกต่ำในทางวรรณคดีทำให้การเรียนรู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในสมัยนี้ได้น้อย วัฒนธรรมต่างๆ ถูกทอดทิ้งและสลักหักพัง ชนแต่ละเผ่าก็แบ่งแยกกันเป็นพวกๆ โดยมีหัวหน้าของตนที่มีความสามารถเป็นผู้ปกครองที่พอจะเป็นที่พึ่งได้
            ชาวติวตันเป็นเผ่าที่มีชีวิตอยู่ง่ายๆ ตามป่าเขา ชีวิตส่วนใหญ่เต็มไปด้วยการออกป่าล่าสัตว์ เลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ ประกอบกับมีกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬาหรืออกกำลังกายอย่างหนักๆ การมีชีวิตอยู่ในลักษณะเช่นนี้เป็นผลทำให้ชาวติวตันได้เป็นเผ่าที่มีความเข้มแข็ง ทรหดอดทน ประกอบกับในขณะนั้นประชาชนในโรมันกำลังมีชีวิตการเป็นอยู่อย่างเหลวแหลกทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จึงเป็นเหตุให้ชาวโรมันพ่ายแพ้แก่ชาวติวตันอย่างง่ายดาย
            แม้ว่าการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาจะได้รับการส่งเสริมจากชนเผ่าติวตันในสมัยยุคมืดนี้เป็นอย่างดี ก็ยังมีลัทธิที่คนมีความเชื่อถือสองลัทธิที่ทำให้พลศึกษาของสมัยนี้ไม่เจริญเท่าที่ควร คือ
                1. ลัทธิแอสเซสติซิซึม (Assesticism Doctrine) เป็นลัทธิศาสนาที่มีความเชื่อว่าร่างกายและจิตใจแยกกันและมีความเชื่อที่ว่าการมีชีวิตอยู่นั้นก็คือการเตรียมสำหรับชีวิตในภายหน้า เห็นว่ากิจกรรมการออกกำลังกายเป็นสิ่งโง่เขลา ร่างกายเป็นเพียงวัตถุที่มีความชั่วร้ายที่ควรจะได้รับความทรมานให้เจ็บปวดแทนที่จะทำให้แข็งแรงจึงมีการทรมานด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใส่เสื้อผ้าด้วยของหยาบๆ เดินบนกองไฟ นั่งบนหนาม ล่ามขาด้วยโซ่ เหล่านี้เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ในปี ค.. 393 จักรพรรดิ์ธีโอโดซีอุส (Theodosius. A. D. 346-395) แห่งโรมันจึงสั่งให้เลิกล้มการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งเป็นประเพณีของชาวกรีกเคยได้แข่งขันมาแต่ดั้งเดิมเสีย ด้วยความเชื่อถืออันนี้จึงได้ทำให้โบสถ์หรือวิหารสำหรับบุคคลพวกนี้ได้แยกตนออกจากสิ่งชั่วร้ายและโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง            ระยะต่อมาโรงเรียนก็ได้มีขึ้นจากลัทธินี้ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าพลศึกษาจะไม่มีบทบาทในโรงเรียนเหล่านี้เลย แม้แต่มหาวิทยาลัยในสมัยนี้ก็ตามยังมีความเห็นว่าการพลศึกษาไม่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เรียน
                2. ลัทธิสกอลลาสติซิซึม (Schollasticism Doctrine) เชื่อว่าการเรียนการศึกษา ก็คือการท่องจำเนื้อหาวิชาต่างๆ ถ้าคนใดสามารถท่องจำเนื้อหาได้ก็เป็นคนฉลาด รอบรู้และมีโอกาสที่จะทำให้การดำรงชีวิตและประกอบอาชีพการงานอยู่ได้โดยปกติสุข เขาทอดทิ้งร่างกายโดยถือว่าไม่เป็นสิ่งจำเป็นหรือสำคัญ ความรู้สึกเช่นนี้ก็มีอยู่ในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในสมัยยุคกลาง (Middle Ages) (ฟอง เกิดแก้ว. 2520: 14-16)
       
        การพลศึกษาในยุคศักดินา
            ผลอันเนื่องมาจากความแตกแยกของผู้ปกครองในระหว่างยุคมืดนั้นทำให้เกิดลัทธิศักดินาสวามิภักดิ์ขึ้นเพราะถึงแม้ว่าพระจ้าชาร์เลอมัง (Charlemogne) ได้สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิและได้ปกครองบ้านเมืองอย่างเป็นปกติสุขอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 800 จักรวรรดิของพระองค์ก็แบ่งแยกและเกือบล่มสลายไปในทันที สำหรับใน 2-3 ศตวรรษต่อมาก็ขาดผู้นำที่มีความสามารถหรือเป็นจุดศูนย์รวมได้ ระเบียบทางสังคมใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่ายุคของลัทธิศักดินาสวามิภักดิ์อันยืดเยื้ออยู่ระหว่างศตวรรษที่ 9 ถึงศตวรรษที่ 14 ประเภทของผู้ปกครอง (Type of Government) ระบบทางด้านกฎหมาย (Judical System) ความสัมพันธ์กับมวลชน (Human Relations) ยุทธวิธีทางสงคราม การเป็นเจ้าของที่ดิน การอุตสาหกรรมและชีวิตในสังคม ล้วนแล้วแต่ถูกกระทบกระเทือนจากการปฎิบัติในลัทธิศักดินาสวามิภักดิ์ทั้งสิ้น
            สมัยศักดินาสวามิภักดิ์เกิดขึ้นมาก็เพราะมนุษย์มีความต้องการในเรื่องการคุ้มครองแต่เนื่องจากขาดกษัตริย์และรัฐบาลที่เข้มแข็งซึ่งจะให้ความคุ้มกันได้ ประชาชนจึงหันไปจงรักภักดีต่อขุนนางหรือคนอื่นที่เป็นชนชั้นสูงที่มีที่ดินครอบครองมากมาย อาจจะกล่าวได้ว่าลัทธิศักดินาสวามิภักดิ์นี้เป็นระบอบการครอบครองที่ดินซึ่งมีรากฐานมาจากความจงรักภักดี (Allegiance) และการส่งส่วยให้กับขุนนางหรือลอร์ด (Lord) ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ลอร์ดจะแบ่งที่ดินออกเป็นส่วนๆ ให้กับพวกข้าทาสซึ่งผลที่ได้รับตอบแทนก็คือความจงรักภักดีและความผูกพันอันแท้จริง อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ของพลเมืองเป็นชนชั้นกรรมาชีพและประชาชนผู้เช่าที่ดินทำกินแต่ได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อย พวกเขาผูกมัดอยู่กับผืนแผ่นดินจากทาสไปสู่ทาส
             ในสมัยลัทธิศักดินาสวามิภักดิ์นี้มีกิจกรรมอยู่สองอย่างที่เปิดให้แก่บรรดาบุตรและธิดาของขุนนางเลือกเข้าร่วม คือ การเข้าเรียนในโบสถ์เพื่อจะได้เป็นสมาชิกของคณะสงฆ์หรือเข้าสถานที่ฝึกหัดขี่ม้าเพื่อเป็นอัศวิน (Knight) ถ้าหากต้องการหรือชอบทางวัดหรือโบสถ์ พวกเขาก็จะต้องศึกษาในเรื่องศาสนาและเข้ามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเด็กชอบการขี่ม้ามากกว่าเข้าโบสถ์
            การฝึกฝนที่เด็กจะต้องมีความเชี่ยวชาญก่อนเป็นอัศวินนั้นยาวนานและทรหดมาก การฝึกฝนทางด้านพลศึกษามีบทบาทสำคัญมากในสมัยนี้ เมื่อเด็กอายุ 7 ขวบมักจะถูกส่งเข้าไปอยู่ในปราสาทของขุนนางผู้ใดผู้หนึ่งเพื่อฝึกฝนอบรมและเพื่อเตรียมตัวสำหรับเป็นอัศวิน ในตอนแรกนี้จะเรียกว่า มหาดเล็ก (Page) ผู้แนะนำหรือครูก็มักจะเป็นผู้หญิงคนหนึ่งในปราสาทของท่านลอร์ดนั้นเอง ในระหว่างที่มีชีวิตเป็นมหาดเล็กนี้เด็กจะได้เรียนมารยาทในราชสำนัก คอยเฝ้าโต๊ะ วิ่งธุรกิจ ช่วยทำภารกิจในบ้านเรือน ส่วนเวลาที่เหลือก็ทุ่มเทไปกับกิจกรรมด้านพลศึกษาต่างๆ ซึ่งจะช่วยเป็นประโยชน์ต่อการเข้าเป็นอัศวินและทำให้เขาแข็งแกร่ง อดทนต่อชีวิตลำบากในภายภาคหน้า เขาจะได้ฝึกหัดเรื่องการชกมวย วิ่ง ฟันดาบ กระโดดและว่ายน้ำ เมื่ออายุได้ 14 ปี เด็กนั้นจะกลายเป็นผู้ติดตามอัศวิน (Squire) จะมีหน้าที่เก็บรักษาอาวุธของอัศวินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย เอาใจใส่ดูแลม้า ช่วยสวมเสื้อเกราะและรักษาบาดแผลของอัศวิน ตลอดจนเป็นยามเฝ้านักโทษให้อัศวิน ในระหว่างที่เป็นผู้ติดตามอัศวินนี้จะได้รับการฝึกฝนด้านพลศึกษาหนักขึ้นโดยมักจะถูกให้เป็นผู้ร่วมในกีฬาที่ต้องใช้ความอดทน เช่น การล่าสัตว์ การไต่กำแพง การยิงธนู การวิ่ง การใช้กระบี่ การขี่ม้าและการปีนป่าย เมื่ออายุ 21 ปี ถ้าหากพิสูจน์ตัวเองได้ว่ามีความเหมาะสมแล้วเขาก็จะได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวิน พิธีการที่จะต้องผ่านเพื่อความเป็นอัศวินนั้นจะมีคุณค่าและควรแก่การจดจำอย่างยิ่ง ผู้ที่คาดหมายว่าจะได้เป็นอัศวินนั้นต้องอาบน้ำเพื่อความบริสุทธิ์ แต่งตัวด้วยสีขาวทั้งหมดและใช้เวลากลางคืนทั้งหมดอยู่ในความสงบและสวดมนต์  ตอนรุ่งเช้าลอร์ดจะเป็นคนเอากระบี่แตะบนบ่า พิธีการอันนี้รู้จักกันในชื่อ แอคโคเลด (Accolade) ซึ่งถือว่าเป็นการยอมรับรู้ว่าเป็นอัศวินแล้ว
             การประลอง (Jousts) และการแข่งขัน (Tournament) เป็นกิจกรรมพิเศษอย่างหนึ่งซึ่งอัศวินทุกคนต้องประสบในชีวิต กิจกรรมพิเศษนี้จะให้ทั้งความบันเทิงและเป็นการฝึกเพื่อการสงครามอีกด้วย สำหรับการต่อสู้นั้นอัศวินทั้งคู่จะพยายามที่จะทำให้คู่ต่อสู้ตกจากหลังม้าด้วยการแทงด้วยหอกและโดยอาศัยความชำนาญการขับขี่ม้า ส่วนในการแข่งขันนั้นอัศวินทั้งหลายจะถูกกำหนดให้การแสดงออกถึงความชำนาญและความเป็นชายชาตรีซึ่งตนเองได้รับในช่วงเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา อัศวินจะเข้าแถวเป็นสองทีมหันหน้าเผชิญกันและเมื่อได้รับสัญญาณก็ต้องพยายามทำให้ทีมตรงข้ามตกจากหลังม้า การต่อสู้นี้จะดำเนินไปจนกว่าจะประกาศให้ทีมใดทีมหนึ่งเป็นผู้ชนะ อัศวินหลายคนจะแต่งตัวด้วยการหุ้มเสื้อเกราะและพันคอด้วยผ้าสีเขียวซึ่งภรรยาของตนได้มอบไว้ เขาจะพยายามสุดความสามารถที่จะใช้พละกำลังและนำความชำนาญมาใช้เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติของตน ในระหว่างการแข่งขันนี้มักจะมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นกับบรรดาผู้แข่งขันเสมอและในระหว่างการแข่งขันนี้เองที่อัศวินได้มีโอกาสที่จะได้แสดงความกล้าหาญ นำความชำนาญ ความอดทน ความแข็งแกร่งและความอดกลั้นเด็ดเดี่ยวของตนให้เป็นที่ประจักษ์
          การพลศึกษามีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมที่จะเป็นอัศวิน แต่อย่างไรก็ตามเป้าหมายของการพลศึกษาเพื่อการรักษาและเอาตัวรอดแห่งตนเท่านั้น (Self-Preservation) ชาวกรีกไม่มีความมุ่งหมายอื่นใดที่จะมีค่ายิ่งไปกว่ามุ่งหวังเฉพาะการพัฒนาบุคคล (Individual  Development) (ฟอง เกิดแก้ว. 2520: 16-18)

       การพลศึกษาในยุคฟื้นฟูวิทยาการ (Renaissance)
            สมัยนี้เป็นสมัยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงจากสมัยกลาง คือระหว่างศตวรรษที่ 14 และ 16 มาเป็นสมัยใหม่ เป็นสมัยที่มีวิทยาการต่างๆ เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษาและความเชื่อในคุณค่าของตัวบุคคล เห็นว่าร่างกายและจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกกันไม่ได้  การศึกษาที่ดีนั้นจะต้องมีการพัฒนาทั้งทางด้านจิตใจและร่างกายไปพร้อมๆ กัน
            เพื่อเป็นแนวทางที่จะทราบบทบาทของการพลศึกษาในสมัยฟื้นฟูวิทยาการนี้ ขอนำปรัชญาของนักปราชญ์ที่มีชื่อบางคนมากล่าวพอสังเขปดังต่อไปนี้
                Vittorino Da Feltra (1378 - 1446) เกิดที่เมืองเฟลตรา (Feltra)  ในแถบเทือกเขาแอลป์ (Alp Mountain) เป็นนักการศึกษาตามลัทธิมนุษยธรรม (Humanism) เห็นความสำคัญในเอกัตภาพ (Individuality) ของบุคคล มีคุณสมบัติอันเป็นแบบอย่างของครูที่ดี มีความคิดคล้ายๆ กับชาวเอเธนส์ คือเห็นว่าร่างกายและจิตใจเป็นของคู่กัน นักเรียนทุกคนควรจะได้เล่นกีฬาเพื่อออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน Vittorino เป็นบุคคลแรกที่ให้มีการเรียนเพื่อการพัฒนาทั้งด้านร่างกายและจิตใจพร้อมๆ กัน ได้จัดกิจกรรมการออกกำลังกายเข้าใว้ในหลักสูตรของโรงเรียน กิจกรรมที่จัดให้มีในขณะนั้น เช่น การเต้นรำ การขี่ม้า การฟันดาบ การว่ายน้ำ การวิ่ง การกระโดด การยิงธนูและการล่าสัตว์ เป็นต้น สำหรับการพลศึกษา Vittorino เห็นว่ามีความสำคัญต่อสุขภาพของร่างกายมากเพราะจะทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงและอดทน สามารถทำงานอย่างอื่นๆ ได้ผลดียิ่งขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาเห็นว่าการเดินทางไกลแล้วนำอาหารไปรับประทานด้วยเป็นวิธีการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง บางทีเขาเองก็เดินทางไกลไปพักแรมกับนักเรียนทุกครั้ง ถ้าตัวเองไม่ล้มเจ็บป่วยแม้กระทั่งแก่แล้วก็ยังไม่หยุด
           วิธีการของ Vittorino นั้นมีดังนี้
              1. สอนวิชาต่างๆ สลับกันไป ไม่สอนวิชาใดวิชาหนึ่งซ้ำอยู่ตลอดวันหรือนานๆ
          2.พยายามทำให้ส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น อวัยวะประสาท สมอง กล้ามเนื้อและความรู้สึกเจริญพร้อมๆ กัน
              3. เห็นว่าความเจริญของจิตใจต้องพึ่งพาอาศัยความสมบูรณ์ของร่างกาย
              4. ลำดับการสอนตามความคิดและนิสัยของผู้เรียน คือ ลำดับตามหลักแห่งตรรกวิทยา
              5. เห็นสิ่งแวดล้อมและเครื่องอุปกรณ์การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ พยายามเลือกเฟ้นให้ได้ดีจริงๆ
              6. สังเกตจิตใจ ความสามารถและความสนใจของเด็กว่าจะเจริญในทางใด
           Pietro Vergerio (1349-1428) ได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งและได้ย้ำว่าการพลศึกษาเป็นส่วนที่จำเป็นและสำคัญในการให้การศึกษาของบุคคล การพลศึกษาเป็นวิธีการที่ส่งเสริมให้ร่างกายมีความแข็งแรง สุขภาพสมบูรณ์ มีจิตใจมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพลศึกษาถือเป็นนันทนาการสำหรับร่างกายและจิตใจ
           Pope Pius II (1405-1464) เชื่อว่า การพลศึกษาจะช่วยให้ทรวดทรงสง่างาม มีสุขภาพสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยให้การเรียนวิชาอื่นๆ ดีขึ้นด้วย
           Sir Thomas Elyot (1490-1546) เป็นนักการศึกษาชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “The Book of the Governer” ขึ้นในปี ค.. 1444  ในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (Henry VIII) ท่านผู้นี้มีความเห็นว่า ตำแหน่งเจ้าเมือง (Governer) นั้นเป็นตำแหน่งสำคัญ ผู้รับตำแหน่งควรเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมหรือศึกษาเล่าเรียนแล้วเป็นอย่างดี การที่เขียนหนังสือเล่นนี้ขึ้นก็เพื่อประโยนช์ในการศึกษาของเยาวชน ท่านผู้นี้มีความเห็นในการศึกษาเกี่ยวกับเด็กว่า นอกจากจะให้เด็กเรียนตรรกวิทยา วิชาพูด ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์และปรัชญาของอริสโตเติลและเพลโต จะต้องให้เรียนทางด้านพลศึกษาด้วย การพลศึกษามีความจำเป็นแก่การศึกษาอย่างยิ่ง กิจกรรมพลศึกษา เช่น ว่ายน้ำ มวยปล้ำ วิ่ง ขี่ม้า ล่าสัตว์และการใช้อาวุธควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา การเต้นรำนั้นเห็นว่าสำคัญมากเพราะนอกจากเป็นการพักผ่อนหย่อนใจได้แล้วการเคลื่อนไหวตามจังหวะต่างๆ ยังเป็นเครื่องฝึกหัดให้เด็กฉลาดขึ้นได้ด้วย การยิงธนูนั้นเป็นการออกกำลังกายอันสูงสุดหาสิ่งเสมอเหมือนไม่ได้เพราะเป็นกีฬาที่เป็นลักษณะวิธีรบแบบอังกฤษโดยแท้
            Martin Luther (1483-1546) เป็นนักปฎิรูปทางศาสนา เป็นผู้นำในการแบ่งศาสนาคริสต์ต้องแยกออกเป็น 2 นิกาย คือ นิกายโรมันคาธอลิก และนิกายโปรแตสแตนส์ เห็นว่ารัฐบาลบังคับให้ประชาชนเป็นทหารได้ก็ควรที่จะบังคับให้เรียนได้เพราะการขาดการศึกษาทำให้เป็นอันตรายแก่บ้านเมืองได้มาก การบำรุงบ้านเมืองทางอื่นยังทำได้เพราะเหตุใดจึงจะไม่ยอมลงทุนเพื่อตั้งโรงเรียนและจ้างครู เขาไม่มีความเชื่อในลักธิแอสเซสตึซึซึม การพลศึกษาควรจะเข้ามาแทนที่ลัทธินี้และกิจกรรมมอบายมุขต่างๆ เช่น การพนัน เป็นต้น
            Roger Asham (151-1568) เห็นว่าการกีฬาเป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี เขาชอบเล่นกีฬาเป็นประจำและสม่ำเสมอ
            John Milton (1608-1674) นักประพันธ์ชาวอังกฤษได้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะทางด้านการพลศึกษาในหนังสือ “Tractate an Education” ว่าการพลศึกษาเป็นสื่อในการพัฒนาทางร่ายงกายและทางด้านการทหาร
            John Locke (1632-1704) เป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของอังกฤษคนหนึ่ง เป็นผู้ที่สนใจในการศึกษามาก ได้เขียนหนังสือเล่นหนึ่งเป็นทำนองเรียงความ เรียกว่า เรียงความเกี่ยวด้วยเรื่องความเข้าใจของมนุษย์ (Essay Concerning Human Understanding) ต่อมาได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า “ความคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับการศึกษา” (Some Thought Concerning Education) เป็นหนังสือที่มีบทบาทต่อปรัชญาการจัดการศึกษาของอังกฤษในสมัยนั้นมาก มีความเห็นว่าการศึกษาของมนุษย์ควรจัดให้มี 3 อย่าง คือ
              1. จริยศึกษา ฝึกฝนให้มีจรรยาเพื่อสร้างนิสัยอันดีให้นิยมความสัตย์จริง รู้จักอดทน มีความอดกลั้น อบรมให้มนุษย์รู้จักคิดตั้งแต่เด็กว่า ความดีสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด (ความดีตามความเห็นของ John Locke ก็คือความสามารถในการใช้เหตุผลเป็นเครื่องมือนำไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่ปล่อยไปตามอารมณ์ชอบแห่งตน)
                2. พุทธิศึกษา ฝึกฝนให้มีความฉลาดเฉียบแหลม ควรเรียนวิชาต่างๆ คือ อ่าน เขียน ฝรั่งเศส ลาติน ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ เรขาคณิต ประวัติศาสตร์ ธรรมศึกษา เต้นรำ  ฟันดาบ ขี่ม้าและหัตถกรรม
           3. พลศึกษา เพื่อฝึกฝนร่างกายให้มีสุขภาพดี แข็งแรง สามารถประกอบกิจและปฏิบัติตามคำสั่งของสมองได้
            ในหนังสือ ความคิดเห็นบางประการอันเกี่ยวกับการศึกษา” John Locke มีความเชื่อว่าจิตใจที่แจ่มใสย่อมอยู่ในเรือนร่างที่สมบูรณ์นั้นเป็นเครื่องแสดงถึงความสุขอย่างยอดเยี่ยมในโลกนี้ วิธีฝึกฝนให้มีอนามัยดีนั้น คือ ให้อยู่กลางแจ้งมากๆ ออกกำลังกาย นอนและรับประทานอาหารให้เพียงพอ ไม่ดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ เครื่องแต่งกายอย่าให้แข็ง คับหรือหนาจนเกินไป
            Michel de Montaigne (1533-1592) เป็นนักการศึกษาและนักเขียนชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงอีกผู้หนึ่ง มีความเห็นว่าการพลศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายและจิตใจเพราะร่างกาย และจิตใจเป็นของที่แยกออกจากกันไม่ได้ การให้การศึกษาที่ดีจะต้องให้การศึกษาทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ
            Jean Jacques Rousseau (1712-1778) เป็นบุคคลที่ปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญคนหนึ่งของฝรั่งเศส ความคิดเห็นทางการศึกษาชิ้นสุดท้ายของ Rousseau นั้น คือ หนังสือเรื่อง “EmileRousseau ถูกเนรเทศและถึงแก่ความตายอย่างเปล่าเปลี่ยวและยากจนข้นแค้น เมื่อ ค.ศ. 1778 ก็เพราะหนังสือเล่มนี้ ปัญหาสำคัญที่ Rousseau ยกขึ้นในหนังสือก็คือ ทำอย่างไรทารกจึงจะได้รับความช่วยเหลือชั้นต้นให้ยังคงเป็นทารก ครั้นเมื่อโตเป็นเด็กก็ให้เป็นเด็กและให้โตไปตามธรรมชาติ เขามุ่งหวังที่จะให้โตเป็นผู้ใหญ่เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาเห็นว่าการศึกษาจะอนุโลมตามระดับของธรรมชาติ ต้องให้เป็นไปตามธรรมชาติของบุคคลและเห็นว่าทุกอย่างที่ธรรมชาติสร้างขึ้นนั้นดีแล้ว แต่คนเอามาใช้ผิดก็เลยเสียไป นิสัยที่ดีของคนคือความไม่มีอะไรเป็นนิสัยเลย Rousseau กล่าวว่า ยศศักดิ์ ฐานะและอาชีพในโลกนี้ไม่เป็นสิ่งที่แน่นอน วิชาชีพที่ Rousseau ใคร่จะสอนคือ วิชาการมีชีวิต เห็นว่าชีวิตในสังคมในปัจจุบันไม่ดี ควรจะหลีกเลี่ยงให้ไกลที่สุดจึงจะมีความสุข
        สำหรับทางด้านการพลศึกษานั้น Rousseau เห็นว่าเป็นการช่วยให้เด็กได้เจริญเติบโตตามธรรมชาติดียิ่งขึ้น และควรให้เด็กอยู่ในที่กลางแจ้ง เล่นกีฬาเพื่อออกกำลังกาย ถ้าร่างกายอ่อนแอยิ่งต้องการมากเพราะร่างกายไม่สมประกอบย่อมนำมาซึ่งความคิดอันเลวทราม แต่ถึงแม้ร่างกายแข็งแรงอยู่แล้วก็ต้องมีการพลศึกษาเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันความเหลวไหลทางใจต่างๆ ต้องพยามยามทำให้เด็กมีความรู้สึกรักตัวเองและทำตนเองสมบูรณ์ทั้งกายและใจ

        สรุป
            พลศึกษา หมายถึงกระบวนการศึกษาที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความเจริญงอกงามและมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาและจิตใจโดยใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวที่เลือกสรรแล้วเป็นสื่อในการเรียนรู้ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีส่วนร่วมหรือปฏิบัติโดยตรงด้วยตนเองเพื่อพัฒนาบุคคลให้ถึงพร้อมในทุกด้าน
            มนุษย์ทุกคนมีความจำเป็นต้องออกกำลังกายเพราะการออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ เช่น การเต้นของหัวใจ การไหลเวียนเลือด ตลอดจนการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายทุกอย่างจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาวะภายใน นอกจากนี้กิจกรรมที่มีการออกกำลังกายภายนอกก็มีความจำเป็นมากเช่นเดียวกันตั้งแต่เกิดจนถึงตาย เช่น การยกแขน ยกขา คลาน วิ่งและกระโดด เมื่อมนุษย์เข้าร่วมและดำรงชีวิตอยู่ในสังคม การออกกำลังกายก็มีส่วนช่วยเช่นเดียวกัน เช่น การกระโดดโลดเต้น รื่นเริงสังสรรค์ การต่อสู้กันระหว่างเผ่า การหนีภัยจากสัตว์ร้ายและการล่าสัตว์เป็นอาหาร จะเห็นว่าการออกกำลังกายก็คือกิจกรรมพลศึกษานั่นเอง พลศึกษาจึงมีมาพร้อมกับมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ในปัจจุบันพลศึกษามีการเจริญก้าวหน้ามาก เป็นสิ่งที่นำไปส่งเสริมการพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคมเพื่อการมีชีวิตที่เป็นสุข พลศึกษาจึงถูกพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มนุษย์ในสังคมได้รู้จักการออกกำลังกายในรูปแบบที่มีคุณประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน
            ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้วเราจะเห็นว่าพลศึกษามีความเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของคนทุกชาติ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมหรืออีกนัยหนึ่งกิจกรรมการออกกำลังกายเป็นผลอันเนื่องมาจากความจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน บางทีการออกกำลังกายเป็นผลอันเนื่องมาจากความจำเป็นในการที่จะดิ้นรนทำมาหากินเพื่อการมีชีวิตอยู่และบางครั้งก็ออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์และมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขที่สุด ยิ่งกว่านั้นจะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของการพลศึกษาจะถูกเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยเรื่อยมาตั้งแต่ต้นจนถึงกระทั่งปัจจุบันนี้ พลศึกษาต้องการที่จะเสริมสร้างให้บุคคลได้มีการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคมเพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างสุขสมบูรณ์มาตลอดระยะเวลาอันยาวนานทุกยุคทุกสมัยนั่นเอง

 เอกสารอ้างอิง

จรินทร์  ธานีรัตน์.  (2528).  นันทนาการชุมชน.  กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.  
จิรกรณ์  ศิริประเสริฐ.  (2543).  ทักษะและเทคนิคการสอนพลศึกษาใน                   ระดับประถมศึกษา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์     
         มหาวิทยาลัย.
ความหมาย ความสำคัญและความเป็นมาของพลศึกษา.  (2559).  สืบค้นเมื่อ  
           20 เมษายน 2559,           
ธวัชชัย  สุหร่าย.  (2529).  ประวัติพลศึกษา.  สุรินทร์: สหวิทยาลัยอีสานใต้.
ฟอง  เกิดแก้ว.  (2520).  ประวัติพลศึกษา.  กรุงเทพฯ: วัฒนาพานิช.
วรศักดิ์  เพียรชอบ.  (2527).  หลักและวิธีสอนวิชาพลศึกษา.  พิมพ์ครั้งที่ 2.              กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพาณิช.
ราชบัณฑิตยสถาน.  (2556).  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 
           พ.ศ. 2554.  พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: นานมีบุคสพับลิเคชั่นส.          
ศักดิ์ชาย  ทัพสุวรรณ.  (2530).  ความหมายของคำว่าพลศึกษากับแนวคิดใหม่ 
           ของการเรียนการสอน. วารสารสุขศึกษา พลศึกษา สันทนาการ.               13(2): 2-31; พฤษภาคม.
สุวิมล  ตั้งสัจจพจน์.  (2553).  นันทนาการและการใช้เวลาว่าง. กรุงเทพฯ:               จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เสถียร  สภาพงศ์.  (2526).  พลศึกษา สุขศึกษา และสันทนาการ”. วารสาร                สุขศึกษา พลศึกษา และสันทนาการ. (2) ; พฤษภาคม.
Ancient  Greek religion.  (2559).  Statue of Zeus at Olympia.              Retrieved April 20, 2016, From https://www.shorthistory.org/ancient-civilizations/ancient-greece/ancient-greek-religion.
Anderson, D.  (1989).  The Discipline and the Profession. Foundations of Canadian Physical Education, Recreation, and Sports Studies.  Dubuque, IA: Wm. C. Brown.
Bucher C. A.  (1964).  Foundations of physical education.  4th ed.  St.                    Louis: Mosby.
Harol Barrow M.  (1967).  Physical Education syllabus.  Burgess:  n.p.
Jenny J. H. (1961).  Physical Education, Health Education and                             Recreation : Introduction to Professional Preparation for            Leadership.  New York: Macmillion.

Jeseas William F.  (1964).  The principle of Physical Education.                            Philadelphia Saundor’s.
John E. Nixon.  (1985).  Division of health education. Journal of                           Physical  Education, Recreation, and Dance, 56(4).
              .  (1969).  An Introduction to Physical Education.  S.b.                           Saunder’s.
Kirchner. G. (1983). Physical Education for Elementary School                           Children. 6th rev. ed. Iowa: Wm. C. Brown.
Thomson John G. (1971).  Physical Education of the 1970’s.  Printice-                   hall:  Eglewood Cliffs.
Woltmer Edward F. (1976). Organication and Administration of                           Physical  Education. Printice hall: Ice.