Thursday 16 August 2018 | 0 comments | By: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติวัฒน์ วัชญากาญจน์

แผนการเรียนการสอนบทที่ 2 ปรัชญาและหลักการพลศึกษา


[พิมพ์คำอ้างอิงจากเอกสารหรือข้อมูลสรุปของประเด็นที่น่าสนใจ คุณสามารถวางกล่องข้อความไว้ที่ใดก็ได้ในเอกสาร ให้ใช้แท็บ เครื่องมือการวาด เพื่อเปลี่ยนการจัดรูปแบบของกล่องข้อความคำอ้างอิงที่ดึงมา]
แผนบริหารการสอนประจำบทที่ 2
ปรัชญาและหลักการพลศึกษา

เนื้อหา
         1. ความหมายของปรัชญา
         2. ความสำคัญของปรัชญา
         3. ปรัชญาทางพลศึกษา
         4. หลักการพลศึกษา
                                       
จุดประสงค์การเรียนรู้
          1. อธิบายความหมายของปรัชญาได้
          2. อธิบายความสำคัญของปรัชญาได้
          3. อธิบายปรัชญาทางพลศึกษาได้
          4. บอกหลักการพลศึกษาได้

วิธีสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
          1. บรรยายประกอบสื่อ PowerPoint เกี่ยวกับเนื้อหาที่กำหนด
          2. แบ่งกลุ่มผู้เรียนศึกษาความหมาย ความสำคัญของปรัชญาพลศึกษา
          3. สรุปความคิดรวบยอดเกี่ยวกับปรัชญาพลศึกษา
          4. อภิปรายหลักการของการพลศึกษา
          5. อภิปราย ซักถาม แสดงความคิดเห็นและร่วมกันสรุปบทเรียน
          6. ทำแบบฝึกหัดท้ายแผนบริหารการสอนประจำบท
          7. แนะนำเอกสารประกอบการสอนรายวิชา ตำราและแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมอื่น

สื่อการเรียนการสอน
          1. เอกสารประกอบการสอนวิชาปรัชญาและหลักการพลศึกษา 
          2. Power Point เนื้อหาที่สอน
          3. เอกสาร ตำรา หนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติ ปรัชญาและหลักการพลศึกษา 
          4. แบบฝึกหัดท้ายแผนบริหารการสอนประจำบท
          5. ข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ
การวัดและประเมินผล
           1. ด้านคุณธรรมจริยธรรม
                  1.1 แบบประเมินพฤติกรรมตนเองด้านคุณธรรมจริยธรรม (สำหรับผู้เรียน)
                  1.2 แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านคุณธรรมจริยธรรม (สำหรับผู้สอน)
           2. ด้านความรู้
                   - คะแนนจากแบบทดสอบท้ายแผนบริหารการสอนประจำบท
           3. ด้านทักษะทางปัญญา
                   - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะทางปัญญา (การทำงานรายบุคคล)
           4. ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
                   - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ (การทำงานกลุ่ม)                  
           5. ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
                  - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
           6. ด้านการจัดการเรียนรู้
                  - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะการจัดการเรียนรู้

 บทที่ 2
ปรัชญาและหลักการพลศึกษา

         ปรัชญาไมใช่ความรู้เหมือนวิทยาศาสตร์และศาสนา แต่เป็นความรู้ที่ใช้ความรู้อื่นมาประกอบกัน และเป็นความรู้ที่ให้ค่า ให้ความหมายจากความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ จึงกล่าวได้ว่าปรัชญา เป็นวิธีการมองหรือวิธีการพิจารณาความรู้ต่างๆ ปรัชญาจะช่วยให้การประกอบอาชีพ การปฏิบัติงานต่างๆ ชัดเจน เหมาะสมและถูกต้องยิ่งขึ้น เป็นที่เชื่อว่าปรัชญาคือหลักในการที่จะเสาะแสวงหาความรู้และความจริงดังนั้น สิ่งที่ดีงามจึงมีความจำเป็นสำหรับทุกคนเพื่อให้คนเหล่านั้นมีความประพฤติดี บุคลิกดี และมีสังคมที่ดี นักพลศึกษาจะต้องมีความเชื่อในหลักฐานพื้นฐานของปรัชญาในอันที่จะใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต การปฏิบัติงานและการทดลองความรู้ความสามารถเพื่อปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ การเรียนรู้คือการสร้างบุคลิกลักษณะโดยการตัดสินใจและความสนใจเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความอยากทำ การวัดผลจะสนใจในการเปลี่ยนแปลงภายในตัวบุคคล เชื่อว่าการศึกษาสามารถปรับปรุงความสามารถให้ถึงขั้นสูงสุดได้ ผู้เรียนจะเป็นนักเลียนแบบที่ยิ่งใหญ่ วิธีสอนที่ผู้สอนใช้คือสร้างความรู้สึกกระหายอยากรู้ขึ้นแก่ผู้เรียน  กระหายอยากรู้ในการแก้ปัญหาโดยการตัดสินใจ

1. ความหมายของปรัชญา
        คำว่า ปรัชญา มีที่มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึง ความรู้อันประเสริฐ โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า ปฺร ที่แปลว่า ประเสริฐ กับคำว่า ชฺญา ที่แปลว่ารู้
        พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (2556: 668) กล่าวถึงความหมายคำว่าปรัชญา หมายถึง วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง            
        สุจิตรา อ่อนค้อม (2545: 2) กล่าวไว้ว่าเป็นศัพท์ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงบัญญัติขึ้นจากคำภาษาอังกฤษว่า Philosophy มาจากรากศัพท์ภาษากรีกโบราณว่า Philosophia ซึ่งคำคำนี้เมื่อนำมาแยกศัพท์จะได้สองคำคือ Philo มีความหมายว่า Love กับ Sophia มีความหมายว่า Wisdom ดังนั้น Philosophia จึงมีความหมายว่า รักความรู้ รักที่จะมีความรู้ หรือความรักในปรีชาญาณ (Love of Wisdom) 
        สมัคร บุราวาศ. (2544: 3) กล่าวไว้ว่า ปรัชญา หมายถึง วิทยาการที่สืบค้นหาว่าอะไรเป็นความแท้จริง (Ultimate Reality) ด้วยการใช้สติปัญญาของมนุษย์ตามหลักเหตุและผลเพื่อบรรลุถึงความแท้จริงดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็นสามแขนงใหญ่ คือ อะไรคือความจริง (อภิปรัชญา) รู้ความจริงได้อย่างไร (ญาณวิทยา) และเอาอะไรมาตัดสินคุณค่า (คุณวิทยา)
        สุรชาติ ณ หนองคาย (2545: 8) กล่าวว่าปรัชญาเป็นการใช้ปัญญาหรือญาณวิทยา (Epistemology) ไปเป็นฐานในการตั้งคำถามทางปัญญา เพื่อจะได้กำหนดวิธีการทางปัญญาในการตอบคำถามนั้น คำตอบที่ได้จะทำให้ญาณวิทยามีเพิ่มมากขึ้นจนสามารถตั้งคำถามทางปัญญาที่ลึกซึ้งขึ้นในรอบต่อไปได้ 
        ไพฑูรย์ สินลารัตน์ (2524: 2) ให้ความหมายไว้ว่า ปรัชญา หมายถึง ความรู้อันประเสริฐเป็นสิ่งที่เกิดจากการแสวงหาความรู้จนพ้นข้อสงสัยแล้วก็นำไปปฏิบัติเพื่อให้มนุษย์หลุดพ้นจากปัญหาทั้งปวง นำไปสู่ความสุขที่พึงประสงค์
        วิจิตร ศรีสอ้าน (2534: 19) กล่าวว่า ปรัชญาการศึกษา คือจุดมุ่งหมาย ระบบความเชื่อหรือแนวความคิดที่แสดงออกมาในรูปของอุดมการณ์หรืออุดมคติ ทำนองเดียวกันกับที่ใช้ในความหมายของปรัชญาชีวิตซึ่งหมายถึง อุดมการณ์ของชีวิต อุดมคติของชีวิต แนวทางดำเนินชีวิต
        สุมิตร คุณานุกร (2523: 39) กล่าวว่า ปรัชญาการศึกษา คือ อุดมคติ อุดมการณ์อันสูงสุด ซึ่งยึดเป็นหลักในการจัดการศึกษา มีบทบาทในการเป็นแม่บท เป็นต้นกำเนิดความคิดในการกำหนดความมุ่งหมายของการศึกษาและเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา ตลอดจนถึงกระบวนการในการเรียนการสอน
        Kneller (1971: 11) กล่าวว่า ปรัชญาการศึกษา คือ การค้นหาความเข้าใจในเรื่องการศึกษาทั้งหมด การตีความหมายโดยการใช้ความคิดรวบยอดทั่วไปที่จะช่วยแนะแนวทางในการเลือกจุดมุ่งหมายและนโยบายของการศึกษา
        McClellan (1976: 15; อ้างถึงใน อรสา สุขเปรม 2541: 2) กล่าวว่าปรัชญา หมายถึงวิชาแม่บทของวิชาการแขนงอื่นๆ และมีความสัมพันธ์กับวิชาทุกๆ สาขาด้วยการทำหน้าที่สืบค้นเรื่องราวต่างๆ ที่มนุษย์ยังไม่รู้และสงสัย จนกระทั่งรู้ความจริงและมีคำตอบของตนเองอย่างชัดเจน 
        สรุปว่า ปรัชญา หมายถึง แนวความคิด หลักการ และกฎเกณฑ์ ในการกำหนดแนวทางในการ
จัดการศึกษา ซึ่งนักการศึกษาได้ยึดเป็นหลักในการดำเนินการทางการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ปรัชญาการศึกษายังพยายามทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาของการศึกษาได้อย่างชัดเจน ปรัชญาการศึกษาจึงเปรียบเหมือนเข็มทิศนำทางให้นักการศึกษาดำเนินการทางศึกษาอย่างเป็นระบบ ชัดเจนและสมเหตุสมผล 

2. ความสำคัญของปรัชญา
          จิตรกร ตั้งเกษมสุข (2525: 3) ได้กล่าวถึงความสำคัญของปรัชญาไว้ว่า
             1. ปรัชญาช่วยในการตั้งคำถามที่ลึกซึ้ง ตั้งข้อสงสัยต่อแนวคิดและกิจกรรมต่างๆ ว่าทำไม มีเหตุผลใด สิ่งที่ทำอยู่ได้ผลเพียงไร ปัญหามีอะไรบ้างและสาเหตุมาจากอะไร
               2. ปรัชญาช่วยขจัดความไม่สอดคล้องต้องกัน ในวงการศึกษาจะมีความขัดแย้งหรือความไม่สอดคล้องต้องกันอยู่เสมอ
               3. ปรัชญาจะช่วยให้เห็นภาพรวมและความสัมพันธ์ต่อกันของแนวคิดและกิจกรรมต่างๆ
               4. ปรัชญาช่วยเสนอแนวคิดใหม่จากการตั้งคำถาม หาภาพรวม ทำความชัดเจนและขจัดความกำกวมต่างๆ นั้นย่อมเป็นการง่ายที่จะเสนอแนวคิดและแนวทางใหม่และกิจกรรมใหม่ๆ
            มหาวิโรภิกขุ. (2559: ออนไลน์) ได้กล่าวถึงความสำคัญของปรัชญาไว้ว่า ปรัชญาเป็นวิชาที่มีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง ก็เพราะว่าปรัชญามุ่งจะให้คนมีโลกทรรศน์ที่กว้างขวางและสอนคนมีเหตุและผล (Cause and Effect) ในการแสวงหาคำตอบและกล่าวถึงความสำคัญปรัชญา ดังนี้
               1. ปรัชญาสอนให้คนคิดและจินตนาการ (Imagine) ให้ออกนอกกรอบสู่อาณาจักรที่ไร้
พรมแดน
               2. ปรัชญาสอนให้คิดมีเหตุและผลและมุ่งแสวงหาปัญญารอบด้าน
               3. ปรัชญาสอนให้คนรู้หนทางหรือวิธีในการแก้ไขปัญหาชีวิต
               4. ปรัชญาจะประเมินและวิพากษ์วิจารณ์ความรู้ของมนุษย์
               5. มนุษย์ต้องการมากกว่าปัจจัย 4 นั่นก็คือโลกทัศน์ที่ทุกคนต้องมี โดยที่ตัวเขาเองรู้หรือว่าไม่รู้ก็ตาม
            อาทิตตญา ปิติสาร (2559:  ออนไลน์) ได้กล่าวถึงความสำคัญของปรัชญาไว้ว่า            
               1. ทำให้เป็นคนช่างคิด มีเหตุมีผลมากขึ้น
               2. เป็นคนตั้งเงื่อนไขว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วจะได้หลักการ แนวคิดและทฤษฎีอะไรบ้าง
               3. เป็นผู้นำทางความคิด มีจินตนาการแปลกใหม่
               4. ทำให้เกิดเป็นอาชีพได้หลายแขนง เช่น แพทย์ วิศวกร นิติกร นักบัญชี นักกวี จิตรกร นักมายากล นักพนัน เจ้าพ่อ ตำรวจ ทหาร ผู้จัดการ นักบริการหรือนักจิตวิทยา เป็นต้น
               5. เมื่อเกิดอาชีพที่เป็นรูปธรรม วัตถุบนโลกก็เกิดขึ้น นามธรรมที่เป็นความรู้สึกบนโลกก็เกิดขึ้นมากมายเช่นกัน ทั้งความทุกข์และความสุขทางร่างกายและจิตใจ
            ณัฐวิทย์  พรหมศร (2544: 2) ได้กล่าวถึงความสำคัญของปรัชญาไว้ว่า
                1. ปรัชญาช่วยสร้างความเข้าใจ ความสัมพันธ์ประสบการณ์ทั้งหมดของคนกับสิ่งต่างๆ รอบตัว จะเรียกว่าสร้างโลกทัศน์ที่ถูกต้องหรือวาดภาพรวมให้กับวิถีชีวิต (แผนที่ชีวิต)
                2. ปรัชญาช่วยตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางชีวิตหรือการกระทำที่มีคุณค่าต่อชีวิตได้
                3. ปรัชญาช่วยซักไซร้ไล่เลียงวิพากษ์วิจารณ์ความคิดหรือวิชาต่างๆ ให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น

        สรุปได้ว่า ปรัชญามีความสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนหรือมนุษย์ได้รู้จักตรึกตรองเรื่องต่างๆ อย่างสุขุมรอบคอบและได้ไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งเพราะคนทุกวันนี้มีชีวิตที่ค่อนข้างจะสับสนวุ่นวายกับเรื่องราวและสิ่งต่าง ๆ มากมายและการโฆษณาชวนเชื่อที่มีอิทธิพลอย่างมาก ทั้งวงการสื่อสารมวลชน ธุรกิจและการเมืองจนไม่สามารถแยกแยะหรือพิจารณาหาความจริงได้ว่าถูกต้องแท้จริงเพียงใด จึงสรุปความสำคัญได้ดังนี้
               1. ปรัชญาจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
                 2. ปรัชญาฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
                 3. ปรัชญาจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้รู้จักการคิดและทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
                 4. ปรัชญาจัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
                 5. ปรัชญาส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน    และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอน และผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ
                  6. ปรัชญาจัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ 

3. ปรัชญาทางพลศึกษา
            โดยทั่วไปวิชาพลศึกษา เป็นการศึกษาแขนงหนึ่งที่ใช้กิจกรรมทางกายเป็นเครื่องช่วยในการเรียนรู้ ปรัชญาทางพลศึกษาจึงประกอบด้วย 5 สาขาคือ
              1. ปรัชญาจิตนิยม  (Idealism Philosophy)
              2. ปรัชญาสัจจนิยม  (Realism Philosophy)
              3. ปรัชญาปฏิบัติการนิยม  (Pragmatism Philosophy)
              4. ปรัชญาธรรมชาตินิยม (Naturalism Philosophy)
              5. ปรัชญาอัตถิภาวะนิยม  (Existentialism Philosophy)

 
       1. ปรัชญาจิตนิยม  (Idealism Philosophy)
           เป็นปรัชญาที่เก่าแก่ที่สุดตามแนวปรัชญาการศึกษาจิตนิยม (Idealism) ปรัชญาการศึกษาจิตนิยม มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง เช่น อุดมคตินิยม มโนคตินิยมหรือจินตนาการนิยม เป็นต้น นักปราชญ์ผู้ให้กำเนิด คือ Plato นักปรัชญาชาวกรีก ทัศนะด้านปรัชญาของ Plato ยึดทฤษฎีว่าด้วยแบบ (Theory of Forms) ที่ถือว่าความรู้ทั้งปวงมาจากแบบ ลักษณะรูปร่างและคุณสมบัติต่าง ๆ ของสรรพสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏแก่สายตานั้นเป็นเพียงรูปลักษณะที่ได้จากการสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มิใช่เป็นลักษณะที่แท้จริง แบบจึงเป็นเพียงความจริงที่ปรากฎที่รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสเป็นอิสระจากจิต สรรพสิ่งทั้งหลายต่างก็มีแบบด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งทั้งที่เป็นรูปธรรมและคุณสมบัติ เช่น แบบของต้นไม้ แบบของคน แบบของสุนัข เป็นแบบที่เป็นรูปธรรม ส่วนแบบของสี แบบของรส แบบของคุณภาพ เป็นแบบที่เป็นคุณสมบัติ การที่จะเข้าถึงความจริงแท้ของสรรพสิ่งทั้งหลาย จะต้องบรรลุถึงความรู้ใน แบบของสิ่งนั้น ๆ ทั้งทางรูปธรรม หลักการและคุณสมบัติ (วิจิตร ศรีสะอ้าน, 2534 : 242) ทางด้านจริยศาสตร์ Plato เชื่อว่าศีลธรรมคือความดีที่มีค่าในตัวเอง คุณธรรมมี 2 ประการ คือ คุณธรรมทางปรัชญาและคุณธรรมทางสังคม คุณธรรมทางปรัชญาจะต้องอาศัยปัญญาและความเข้าใจในหลักการนั้น ๆ ส่วนคุณธรรมทางสังคม เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามครรลองของขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อ ซึ่งอาจจะนำไปสู่คุณธรรมทางปรัชญาอันเป็นคุณธรรมสูงสุดในทัศนะของ Plato คุณธรรมของมนุษย์มี 4 ประการคือ

               1. คุณธรรมของเหตุผล คือ ปัญญา ผู้ที่มีปัญญาย่อมรู้ว่าอะไรคือความดี รู้ว่าอะไรจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตนและผู้อื่น คุณธรรมของวิญญาณฝ่ายสูง คือ ความกล้าหาญ สามารถรู้ว่าอะไรควรกลัว
อะไรไม่ควรกลัวและรู้ว่าความกลัวที่แท้จริงนั้นคือกลัวความชั่ว
               2. คุณธรรมของความกระหาย คือ ความพอดีกับความข่มใจ หรือการรู้จักควบคุม
ตนเองและรู้จักเสียสละ
            ทัศนะทางการศึกษาของ Plato ถือว่าการศึกษาจะมีการเจริญเติบโตต้องมีการอบรม
จิตใจให้มีระเบียบวินัย รู้จักใช้ความคิดอย่างมีระเบียบ ปรัชญาการศึกษาสาขานี้จึงยึดโลกทัศน์ว่า
โลกนี้เป็นโลกแห่งจิตใจ” (A World of Mind) การพัฒนาความคิดและจิตใจจึงเป็นจุดมุ่งหมายของปรัชญาสาขานี้

        แนวทางเกี่ยวกับการจัดการศึกษา
            ฐิติพงษ์ ธรรมานุสรณ์และคณะ (2527: 59) กล่าวถึงแนวทางเกี่ยวกับการจัดการศึกษาดังนี้
               1. การจัดโรงเรียน โรงเรียนตามแนวทางปรัชญาการศึกษาจิตนิยม จะเน้นการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมทางความคิดให้แก่ผู้เรียน โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพของความคิดและความเจริญงอกงามทางจิตใจ สิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนทางความคิด คือ สัญลักษณ์ โรงเรียนจึงต้องใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เป็นสื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดและการแสดงออกเป็นการพัฒนาจิตใจ โรงเรียนตามแนวทางปรัชญาการศึกษา
จิตนิยมจึงมุ่งสร้างคนให้เป็น นักศิลปะและภาษา”(Man of Art and Letters)
               2. การจัดการหลักสูตร หลักสูตรการศึกษาตามแนวทางปรัชญาการศึกษาจิตนิยม มุ่งเน้นเนื้อหาการพัฒนาความคิดและจิตใจ วิชาที่ได้รับการเน้นเป็นพิเศษ คือ ภาษา วรรณคดี ปรัชญา ศาสนาและศิลปะ คณิตศาสตร์และประวัติศาสตร์ เป็นต้น โดยมีกลุ่มวิชาศิลปะภาษา (Language Arts) เป็นแกนสำคัญของหลักสูตร
               3. การจัดการเรียนการสอน การเรียนการสอนตามแนวทางปรัชญาการศึกษาจิตนิยม
เน้นการใช้สัญลักษณ์เป็นสื่อ กิจกรรมการเรียนการสอนจึงเน้นเรื่องการฟัง การจดจำ การอ่านและการค้นคว้าจากตำรา ส่วนบทบาทของครูจะต้องเป็นแม่พิมพ์ที่ดี ทั้งด้านความรู้และความประพฤติ ต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้โดยใช้สัญลักษณ์
               4. การปลูกฝังค่านิยม การปลูกฝังค่านิยมตามแนวทางปรัชญาการศึกษาจิตนิยม ให้ความสำคัญเรื่องจริยศึกษาเป็นกรณีพิเศษ โดยยึดแบบจริยศึกษาที่ได้มาจากบรรพบุรุษขนบธรรมเนียมประเพณีและคำสอนของผู้ใหญ่ ส่วนด้านสุนทรียภาพเน้นการศึกษาผลงานด้านศิลปกรรมที่สำคัญ โดยฝึกให้จำ ลอกและเลียนแบบสิ่งที่ดี
            ปรัชญาจิตนิยมเน้นในเรื่องของปัญญาและจิตเป็นเป้าหมายสำคัญ ผู้ที่มีความรู้จะต้องเป็นผู้ที่เข้าถึงความจริงที่สมบูรณ์ การศึกษาและวิชาการต่างๆ จะต้องช่วยให้มนุษย์สามารถบรรลุถึงความเป็นจริงที่สมบูรณ์ของมนุษย์ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ปรัชญาจิตนิยมมีความเชื่อและยึดมั่นในการแสวงหาความรู้ด้วยปัญญาและเหตุผล ให้ความสำคัญต่อเรื่องคุณธรรม ดังนั้นเมื่อนำเอาหลักการของปรัชญาจิตนิยมมาใช้ในการพลศึกษา จุดมุ่งหมายที่สำคัญของพลศึกษา คือ การเสริมสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ Plato กล่าวไว้ว่า การมุ่งฝึกฝนแต่กิจกรรมพลศึกษาแต่เพียงอย่างเดียวโดยละเลยต่อสิ่งอื่นเท่ากับเป็นการสร้างคนเพียงด้านเดียว ขาดการเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ ในทำนองเดียวกัน การมุ่งให้ความสำคัญแต่เรื่องวิชาการอย่างเดียวก็เท่ากับเป็นการทำให้บุคคลอ่อนไหวเกินกว่าที่จะเข้าถึงความดีที่สมบูรณ์ได้ ดังนั้นความพอดีและความกลมกลืนของพลศึกษากับวิชาอื่นๆ จะต้องควบคู่กันไป นักพลศึกษาและครูพลศึกษาจะให้ความสำคัญและเน้นความเข้าใจในตัวของมนุษย์โดยส่วนรวมควบคู่กันไปกับการสอนวิชาพื้นฐานทางพลศึกษาและความชำนาญเฉพาะ นักพลศึกษาที่ดีตามแนวปรัชญาจิตนิยมจะต้องเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงสภาวะการกระทำตนเองให้เป็นจริง (Self–Realization) หมายความว่า เป็นผู้ที่สามารถใช้ปัญญาเข้าถึงหลักการของความจริงอันเป็นที่สุด เข้าใจตนเอง เข้าใจเจตจำนงของชีวิต เข้าใจจุดมุ่งหมายของการกระทำและประพฤติปฏิบัติตนในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับความคิดและหลักการของ Socrates ที่ว่าผู้ที่มีความรู้และคุณธรรมย่อมไม่กระทำในสิ่งที่ผิด นอกจากนี้นักพลศึกษาหรือครูพลศึกษาที่ดีจะต้องเข้าใจในวัตถุประสงค์และคุณค่าของพลศึกษาที่ว่าเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่าในตนเอง ยึดมั่นในจรรยาบรรณ มีหลักปรัชญาเป็นของตนเองในการปฏิบัติ การจัดเตรียมหลักสูตรและการสอนต้องคำนึงถึงด้านคุณธรรมควบคู่กันไปกับการฝึกปฏิบัติกิจกรรม จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้พลศึกษา คือ การมีความรู้ความสามารถในทางปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ มีระเบียบวินัย เข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์ รู้จักให้คุณค่าแก่สิ่งต่างๆ และสามารถตัดสินปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยเหตุผล การสอนให้ผู้เรียนได้บรรลุถึงความเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์เป็นแก่นสาระสำคัญ ของปรัชญาพลศึกษาตามแนวจิตนิยม เรื่องสำคัญที่นักพลศึกษาและครูพลศึกษาจะต้องคำนึงถึงก็คือ อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก สำหรับนักศึกษาและสำหรับนักกีฬา การจัดการแข่งขันก็ดีหรือการจัดกิจกรรมอื่นๆ ก็ดี จะมุ่งเน้นด้านการฝึกให้มีความพร้อมทางร่างกาย มีสมรรถภาพในการเคลื่อนไหว ฝึกให้มีการพัฒนาทางปัญญา มีคุณธรรม มีระเบียบวินัย ฉะนั้นความรู้ทางด้านพลศึกษาจะช่วยเสริมสร้างให้มนุษย์ได้เข้าถึงธรรมชาติที่สมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ วิชาการพลศึกษาเป็นสิ่งที่มีจุดจบในตัวเองไม่ได้เป็นวิถีไปสู่สิ่งอื่น เช่น การสอนให้เล่นกีฬาเพื่อให้เป็นนักกีฬาที่ดี ไม่ใช่เพื่อชื่อเสียงเกียรติยศอย่างอื่น ถ้าจะเกิดสิ่งอื่นตามมา เช่น ความสามารถ ชื่อเสียงและเกียรติ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงผลพลอยได้ที่เกิดจากการเป็นนักกีฬาที่ดีและผลพลอยได้เหล่านี้ก็มิใช่เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการเป็นนักกีฬา

        ปรัชญาจิตนิยมกับพลศึกษา
            อุดร รัตนภักดิ์ (2523: 21-22) กล่าวสรุปหลักการปรัชญาพลศึกษาตามแนวจิตนิยม ไว้ดังนี้
               1. ปรัชญาจิตนิยมให้ความสำคัญแก่จิตและปัญญาของมนุษย์เหนือกว่าสิ่งอื่น มนุษย์มี
จิตเป็นส่วนสำคัญในการที่จะสามารถรับรู้ความจริง ร่างกายมีความสำคัญรองมาจากจิตและเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมด้วยจิต ดังนั้นคำว่า พลศึกษา จึงไม่ได้มีความหมายเฉพาะเรื่องทางร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว ความหมายของพลศึกษาที่แท้จริงจะต้องหมายถึงการพัฒนาทางร่างกายควบคู่กันไปกับการพัฒนาจิตใจ คือ พัฒนาปัญญาและเหตุผลของบุคคลด้วยการฝึกกิจกรรม พลศึกษาต้องคำนึงถึงหลักการข้อนี้ ในการฝึกหัดเล่นกีฬา ครูผู้ฝึกจะต้องอธิบายวิธีการเล่นและเทคนิคต่างๆ ให้ผู้เรียนเข้าใจและเกิดทักษะ ส่วนในขณะที่ผู้เรียนปฏิบัติจริงหรือลงเล่นจริง วิธีการต่างๆ ย่อมขึ้นอยู่กับความคิด และการตัดสินใจของผู้เล่นเอง กิจกรรมพลศึกษาที่เลือกมาปฏิบัติจะต้องมีลักษณะที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นแต่ละคนได้ใช้ความคิด ปัญญาและการตัดสินใจด้วยตนเองมากกว่าการเล่นกิจกรรมที่มีผู้ฝึกหรือครูเป็นผู้วางแผนและกำหนดวิธีการเล่นทั้งหมด ถ้าเป็นไปได้บทบาทของครูผู้ฝึกควรลดน้อยลงในขณะที่มีกิจกรรมพลศึกษา
                2. ปรัชญาจิตนิยมถือว่าตัวของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญและมีค่าเหนือกว่าสิ่งอื่นใด จะนำเอา
มนุษย์ไปเป็นวิถีหรือเครื่องมือทดลองนำไปสู่สิ่งใดมิได้ ภาพลักษณ์ของมนุษย์ที่สมบูรณ์ประกอบด้วยความพร้อม ความแข็งแรงทางร่างกายและความสมบูรณ์ทางจิตใจ รวมทั้งความปราดเปรื่องทางปัญญา ดังนั้นกิจกรรมพลศึกษาคือสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง ความพร้อมทางร่างกาย ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพ ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างให้มนุษย์รู้จักชีวิต รู้ว่าอะไรคือเจตจำนงของชีวิต มีหลักในการเลือกนำกิจกรรมพลศึกษามาปฏิบัติ เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปเพื่อเจตจำนงของชีวิต
               3. ปรัชญาจิตนิยมมีหลักการที่สำคัญอยู่ที่ความสำคัญของจิตและปัญญา ความปราดเปรื่องทางปัญญา ความสามารถของจิตคือสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความดี ค่าของมนุษย์อยู่ที่คุณธรรม กิจกรรมพลศึกษาทุกชนิดจะมุ่งพัฒนาตัวผู้เรียนในเรื่องของความซื่อตรง ความกล้าตัดสินใจ ความสร้างสรรค์และความเป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา จุดมุ่งหมายประการที่สำคัญของพลศึกษา คือ การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ดังนั้นครูผู้สอนพลศึกษาจะต้องช่วยให้ผู้เรียนได้รู้ว่าอะไรคือความจริง ช่วยปรับปรุงด้านจริยธรรม มีหลักเกณฑ์การประพฤติอย่างเหมาะสม
               4. การช่วยกันกำหนดข้อตกลง ระเบียบวินัยและกฏเกณฑ์ต่างๆ ในการเล่นกิจกรรมพลศึกษาคือสิ่งที่สำคัญ และเมื่อมีกฏเกณฑ์ต่างๆ แล้วจะต้องฝึกปฏิบัติตามกฏเกณฑ์เหล่านั้นอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดความเคยชินผู้เป็นปราชญ์หรือผู้รู้ตามแนวของปรัชญาจิตนิยม คือ ผู้ที่สามารถเข้าถึงความจริงอันเป็นที่สุด มีความรู้ มีคุณธรรม สามารถดำรงตนเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ครูผู้สอนหรือผู้ฝึกนักกีฬาจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี มีสุขภาพที่สมบูรณ์ มีคุณธรรม สามารถแนะแนวทางให้ผู้เรียนไปสู่ความสำเร็จของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้
               5. ปรัชญาจิตนิยมให้ความสำคัญแก่สิ่งที่มีค่าในตัวเองมากกว่าสิ่งที่มีค่านอกตัวเอง
ดังนั้นประสิทธิภาพของการเรียนการสอนจึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญ การวางโปรแกรมพลศึกษาก็ดี การเลือกนำกิจกรรมพลศึกษามาสอนก็ดี ตลอดจนวิธีการสอนจะต้องเป็นไปอย่างมีหลักการและถูกต้อง



               6. ปรัชญาจิตนิยมมีหลักการว่า การศึกษาคือกระบวนการแห่งชีวิต ฉะนั้นการปรับปรุง
พัฒนาร่างกาย ความรู้ทักษะทางเกมกีฬามีความสำคัญเท่า ๆ กับการฝึกให้เป็นผู้ที่สามารถรู้จักใช้ความคิดแบบไตร่ตรองด้วยปัญญา นักพลศึกษาที่ดี นักกีฬาที่ดีจะต้องรู้และเข้าใจจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของพลศึกษาว่า คือการเสริมสร้างมนุษย์แต่ละคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ จุดมุ่งหมายอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้นเอง
            สรุปได้ว่า ปรัชญาพลศึกษาตามแนวทางปรัชญาการศึกษาจิตนิยมนั้น มุ่งจัดกิจกรรมทางด้านพลศึกษาที่มุ่งพัฒนาตัวผู้เรียนด้านจิตใจ เช่น ความซื่อตรง ความกล้าคิดตัดสินใจ ความเป็นผู้มีน้ำใจนักกีฬา เน้นจริยธรรมเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์    

       2. ปรัชญาสัจจนิยม (Realism Philosophy)
           ปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม (Realism) มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น ประจักษ์นิยม สารัตถนิยม เป็นต้น นักปราชญ์แห่งปรัชญานี้ คือ Aristotle ชาวกรีก เป็นศิษย์เอก ของ Plato ทัศนะทางปรัชญาของ Aristotle แตกต่างไปจาก Plato กล่าวคือ ในขณะที่ Plato เห็นว่าความจริงนั้นอยู่ที่การใคร่ครวญหาเหตุผล ซึ่งเป็นเรื่องจิตมากกว่าวัตถุ แต่ Aristotle เห็นว่าการใคร่ครวญหาเหตุผลด้วยจิตใจอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องมีการพิจารณาหาข้อเท็จจริงตามธรรมชาติด้วยซึ่งเป็นการเริ่มต้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ทัศนะทางการศึกษาของ Aristotle ถือว่าการศึกษาเป็นกระบวนการที่จะช่วยฝึกฝนร่างกาย จิตใจ ความคิดและอุปนิสัยของคน เพื่อให้เป็นพลเมืองดี เป็นการเตรียมบุคคลให้รู้จักแสวงหาความสุขด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ความมุ่งหมายของการศึกษา คือ การมุ่งให้ทุกคนมีคุณงามความดีและมีความสุข คุณธรรมและความสุขเป็นอุดมการณ์ของการศึกษาของ Aristotle ปรัชญาการศึกษาสัจจนิยมจึงยึดโลกทัศน์ที่เรียกว่า โลกนี้เป็นโลกแห่งวัตถุ” (A World of Things) ความรู้ ความจริงเป็นภาวะของธรรมชาติ การให้มนุษย์เข้าถึงความจริงแห่งธรรมชาติโดยวิธีวิทยาศาสตร์ (วิจิตร ศรีสะอ้าน. 2533: 251)

        แนวทางเกี่ยวกับการจัดการศึกษา
            ฐิติพงษ์ ธรรมานุสรณ์และคณะ (2527: 60) กล่าวถึงแนวทางเกี่ยวกับการจัดการศึกษา ดังนี้
               1. การจัดโรงเรียน โรงเรียนตามแนวทางปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม จะต้องจัดให้ผู้เรียน
รู้และคุ้นเคยกับสรรพสิ่งธรรมชาติที่มีอยู่ ให้ผู้เรียนได้เข้าถึงความจริงตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยกฎธรรมชาติเป็นหลักการจัดการหลักสูตร หลักสูตรตามแนวทางปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม จะเน้นวิชาวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ทั้งด้านชีวภาพและกายภาพ เช่น ชีววิทยา สัตววิทยา พฤกษศาสตร์ ธรณีวิทยาและดาราศาสตร์ เป็นต้น
               2. เครื่องมือที่สำคัญในการศึกษาหาความรู้เน้นศิลปะการคำนวณ (Measurement Arts) เพื่อช่วยให้การวิเคราะห์ธรรมชาติการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม เน้นการเรียนจากของจริง สำหรับการสอนใช้วิธีสาธิต การสังเกต การทัศนศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงสภาพความรู้จริงตามธรรมชาติ ครูเป็นสื่อกลางในการสอนที่จะต้องมีความสามารถในการสาธิต การอธิบายและการใช้อุปกรณ์เป็นประการสำคัญ การปลูกฝังค่านิยมและความเชื่อตามแนวทางปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม เน้นการปลูกฝังให้ปฏิบัติตามกฏธรรมชาติ ให้มีความซาบซึ้งในความงามตามธรรมชาติและสร้างสรรค์ศิลปกรรมที่สะท้อนภาพธรรมชาติ
               3. ความเชื่อของปรัชญากลุ่มนี้ คือสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา สัมผัสและจับต้องได้สิ่งที่สามารถเห็น จับต้องได้คือความจริง หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สามารถจะศึกษาได้ติดตามได้เราก็จะได้กฎแห่งคุณธรรมและจริยธรรม ฉะนั้นคุณค่าทางสัจจนิยมจึงสัมพันธ์กับสังคมและอาจเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ในด้านการเรียนการสอนจะเน้นการเรียนรู้จากของจริง ผู้เรียนจะเข้าใจและปฏิบัติได้ก็ด้วยการเห็นและเข้าใจสิ่งนั้นๆ

       ปรัชญาสัจจนิยมกับพลศึกษา
            ผู้ที่ยึดถือตามปรัชญาชนิดนี้จะเชื่อหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นทางในการแก้ปัญหาต่างๆ  คนจะต้องเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและจะต้องปรับตัวให้ข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  ในหลักการทางพลศึกษาจะเน้นหนักในเรื่องสมรรถภาพทางกาย ประสิทธิภาพของประสาท  กล้ามเนื้อของอวัยวะต่างๆ การพัฒนาอวัยวะการสร้างทักษะเป็นสิ่งที่ทำได้ หลักสูตรจะเห็นถึงการมีความหมายในปัจจุบันและความจำเป็นเท่าที่มีอยู่ เช่น การศึกษานอกสถานที่ ใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหว
            พลศึกษาตามแนวปรัชญาสัจจนิยมถือหลักความเป็นจริงตามสภาพธรรมชาติที่ปรากฏและเชื่อว่าสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ พลศึกษาเน้นให้มนุษย์ได้รู้จักสภาพที่แท้จริงของ ร่างกาย การทำงานของระบบกล้ามเนื้อ สภาพความพร้อมทางร่างกาย พลศึกษา คือ กระบวนการที่ช่วยให้มนุษย์ดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชีวิตมนุษย์ไม่ควรมุ่งที่จะไปสู่เป้าหมายโดยละเลยต่อสภาพของร่างกาย การรักษาสุขภาพทั้งทางร่ายกายและจิตใจให้สมบูรณ์ มีอารมณ์มั่นคง มีบุคลิกภาพที่ดี ย่อมเป็นปัจจัยช่วยในการพัฒนาการของมนุษย์ นอกจากนี้พลศึกษายังเป็นส่วนช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสได้บรรลุเป้าหมายโดยส่วนรวมของการศึกษาโดยใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวเป็นสื่อ วิชาพลศึกษามิใช่เป็นเพียงการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาเป็นบางชั่วโมงเท่านั้น แต่พลศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการศึกษาและชีวิตมนุษย์ไปตลอดชีวิต
            อุดร รัตนภักดิ์ (2523: 26-27) กล่าวถึงหลักการปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาสัจจนิยม ไว้ดังนี้
               1. ปรัชญาสัจจนิยมมีความเชื่อว่า การศึกษาคือกระบวนการเพื่อชีวิตและชีวิตของมนุษย์คือความเป็นจริง โลกทางกายภาพที่มนุษย์รับรู้ด้วยผัสสะ คือความเป็นจริง การศึกษาช่วยให้มนุษย์ได้รู้จักความเป็นจริงเหล่านี้ ฉะนั้นการศึกษาก็คือชีวิต พลศึกษาเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่สำคัญของกระบวนการศึกษา พลศึกษาช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมและเรียนรู้ที่จะปรับตนให้สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริงที่ตนอาศัยอยู่ กิจกรรมต่างๆ ทางพลศึกษาเป็นวิถีที่ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้การปรับตัว และมีพฤติกรรมที่ปรากฏออกมาอย่างกลมกลืน ในการเรียนและการฝึกกิจกรรมพลศึกษา ผู้เรียนจะต้องได้รับการสอนวิธีการเล่นอย่างถูกต้อง ฝึกหัดให้มีความสามารถ ความชำนาญ ขณะเดียวกันจะต้องยึดหลักการเล่นอย่างสุจริตและมีน้ำใจเป็นนักกีฬา
               2. ตามความเชื่อของปรัชญาสัจจนิยม ร่างกายของมนุษย์คือความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่ปรากฏในโลกกายภาพจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง (Instrinsic Value) ผู้ที่มีความพร้อมทางร่างกายย่อมเป็นผู้ที่เข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ เป็นบุคคลที่มีความพร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตมีความคล่องตัวอยู่ทุกขณะ ฉะนั้นกิจกรรมทางพลศึกษาจะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมภาวะของมนุษย์ดังกล่าวนี้ให้เกิดขึ้นกับเด็ก

               3. ปรัชญาสัจจนิยม มีแนวคิดไปในทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น การจัดโปรแกรมและกิจกรรมทางพลศึกษาจึงมีพื้นฐานอยู่บนความรู้ในแนววิทยาศาสตร์ การศึกษาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและกับที่เกี่ยวกับร่างกาย เช่น กายวิภาค สรีรวิทยา วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว เป็นวิชาที่ทำให้ผู้เรียนได้รู้จักสภาพร่างกายของมนุษย์ การทำงานของอวัยวะต่างๆ ครูหรือตัวผู้เรียนไม่อาจที่จะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าหากขาดความรู้เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ การทำงานของอวัยวะและหลักการเคลื่อนไหวในแนวของวิทยาศาสตร์
               4. นอกจากตัวมนุษย์แล้ว ปรัชญาสัจจนิยมเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายที่ปรากฎอยู่นอกตัว ก็คือ
ความเป็นจริงด้วย หมายความว่านอกจากตัวเราแล้วผู้อื่นหรือสังคมภายนอกเป็นส่วนที่มีความเป็นจริงด้วย ดังนั้นการรู้จักเข้าสังคมและการทำงานร่วมกับผู้อื่นจึงมีความสำคัญ กิจกรรมพลศึกษา เช่น การแข่งขันกีฬาระหว่างโรงเรียนหรือระหว่างกลุ่ม ช่วยทำให้ผู้เรียน เรียนรู้พฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสม เป็นการฝึกให้ผู้เรียนมีน้ำใจเป็นนักกีฬา อดทน และซื่อตรง รู้จักแพ้ รู้จักชนะและรู้จักการให้อภัย ไม่ใช่มุ่งแต่จะเอาชนะอย่างเดียว
               5. ปรัชญาสัจจนิยมมีหลักการว่า ความรู้ภาคทฤษฎีจะต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงและความรู้ของมนุษย์มีหลายระดับ ดังนั้นการฝึกปฏิบัติแต่ละขั้นตอนเป็นสิ่งสำคัญของกระบวนการเรียนรู้การสอนกิจกรรมพลศึกษาแต่ละประเภท จะต้องเริ่มสอนจากขั้นพื้นฐานทีละขั้น ฝึกปฏิบัติเป็นขั้นตอนจนไปสู่การลงมือปฏิบัติหรือการเล่นจริงๆ และต้องคำนึงถึงความแตกต่างของความสามารถของผู้เรียนแต่ละคนด้วย
               6. การเล่นและการนันทนาการ เป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์เรียนรู้การปรับตัว ปรัชญาทางด้านการพลศึกษาแนวสัจจนิยมเชื่อว่าผู้ที่รู้จักเล่นและการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการต่างๆ จะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีในสังคมเพราะกิจกรรมต่างๆ ที่ตนได้เข้าร่วมนั้นสอนให้ผู้เรียนแต่ละคนได้สัมผัสกับสภาพความเป็นจริงของชีวิตของโลกแห่งความเป็นจริงที่ตนจะต้องเป็นสมาชิกอยู่ ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาออกไปแล้ว
           สรุปได้ว่า แนวการจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาสัจจนิยมนั้น มีพื้นฐานอยู่บนฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ การสอนกิจกรรมพลศึกษาต้องเริ่มจากพื้นฐานทีละขั้นจนถึงลงมือปฏิบัติหรือการเล่นจริง กิจกรรมต้องฝึกให้ผู้เล่นมีน้ำใจนักกีฬา อดทน รู้แพ้รู้ชนะ รู้อภัย ไม่ใช่มุ่งแต่จะแข่งขันเพื่อเป็นฝ่ายชนะเท่านั้นและที่สำคัญกิจกรรมต้องช่วยในการปรับตัวให้อยู่ได้ดีในสังคม

        3. ปรัชญาปฏิบัติการนิยม (Pragmatism Philosophy)
            ปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาปฏิบัติการนิยมมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ประสบการณ์นิยม อุปกรณ์นิยมและทดลองนิยม เป็นต้น ปรัชญาการศึกษานี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของCharles Peirce ซึ่งเป็นผู้ให้แนวคิดของวิธีการหาความรู้ ต่อมา William James และ John Dewey ได้นำเอาหลักการของ Charles Peirce มาพัฒนา ปรัชญาการศึกษาสาขานี้กำเนิดในสหรัฐอเมริกา นับเป็นปรัชญาพื้นฐานของการศึกษาแผนใหม่ทั้งในอเมริกาและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทัศนะทางการศึกษาของ John Dewey ถือว่ามนุษย์ได้รับจากสิ่งต่างๆ จากประสบการณ์เท่านั้น การเรียนที่จะก่อให้เกิดประสบการณ์ต้องใช้วิธีการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยผู้เรียนจะต้องทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการเรียนด้วย ปรัชญานี้จึงยึดโลกทัศน์ที่ว่า โลกนี้เป็นโลกแห่งประสบการณ์” (A World of Experience) ประสบการณ์จึงเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ ความจริงการมุ่งให้มนุษย์เข้าถึงความจริง โดยวิธีแห่งประสบการณ์และปัญญาจึงเป็นจุดมุ่งหมายของปรัชญาการศึกษานี้ (เมธี ปิลันธนานนท์. 2523: 47)
            สาเหตุแห่งการเกิดปรัชญาการศึกษาปฏิบัติการนิยม
               1. ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดแนวคิดใหม่แบบวิทยาศาสตร์เป็นการหักล้างแนวคิดเดิมที่แยกความคิดกับการกระทำออกจากกัน
               2. การค้นพบทฤษฎีใหม่ คือ ทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin’s Theory of Evolution) เป็นการชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่แท้ถาวรนั้นไม่มี แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อม
               3. การแผ่ขยายของระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำให้เห็นความสำคัญและคุณค่าของบุคคลมากขึ้น
               4. การขยายตัวอย่างรวดเร็วทางด้านอุตสาหกรรมทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ควบคู่กันไปด้วย

        แนวทางเกี่ยวกับการจัดการศึกษา
               1. การจัดโรงเรียน โรงเรียนตามแนวทางปรัชญาการศึกษาปฏิบัติการนิยมจะต้องจัดสิ่งแวดล้อมเสมือนเป็นสังคมย่อยที่จำลองจากสังคมใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง และไม่แตกต่างไปจากชีวิตจริง
               2. การจัดหลักสูตร หลักสูตรตามแนวทางปรัชญาการศึกษาปฏิบัติการนิยมเน้นวิชาที่เสริมสร้างประสบการณ์ของสังคม เน้นกระบวนการในการศึกษาหาความรู้มากกว่าเนื้อหาสาระหลักสูตรจะต้องจัดมวลประสบการณ์ให้ผู้เรียนมีโอกาสทำกิจกรรม กลุ่มวิชาที่ต้องบรรจุไว้ในหลักสูตร คือ สังคมศึกษา เป็นต้น
               3. การจัดการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอนตามแนวทางปรัชญาการศึกษาปฏิบัติการนิยม ยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ใช้วิธีการแก้ปัญหาและการทดลองค้นคว้าโดยให้ทำกิจกรรมเป็นหลัก ครูเป็นผู้ช่วยให้ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมและศึกษาค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง การปลูกฝังค่านิยมโดยให้ผู้เรียนรู้จักตัดสินใจและยึดถือความคิดเห็นของคนส่วนรวมเป็นหลักโดยคำนึงถึงผลในทางปฏิบัติที่จะมีต่อส่วนรวม
            สรุปได้ว่า ความเชื่อของปรัชญากลุ่มนี้จะเชื่อในเรื่องของกระบวนการ คือคนที่อยู่ในประสบการณ์นั้นได้เห็น ได้รู้ ได้สัมผัส ความจริงจะเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์กันระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นประสบการณ์ทั้งหมดของมนุษย์  คุณค่าต่างๆ ขึ้นอยู่กับตนและสถานการณ์ต่างๆ ที่คน ๆ นั้นประสบมา ถ้าการกระทำใดเป็นที่ยอมรับของสังคมว่าดี การกระทำนั้นก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ดีและไม่เดือดร้อนต่อสังคม การสอนควรเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง การสอนจะเน้นให้คนคิดเป็นเพื่อจะได้ปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้เหมาะสม โรงเรียนจะเสริมสร้างประสบการณ์ในการดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข  เช่น การให้นักเรียนมีสุขภาพดี มีทักษะทางอาชีพ การรู้จักใช้เวลาว่างและส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย

        ปรัชญาปฏิบัติการนิยมกับพลศึกษา
            ปรัชญาพลศึกษาแนวปฏิบัติการนิยมยึดถือหลักการเรียนโดยการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาหลักการปรัชญาปฏิบัติการนิยมมาใช้ในทางพลศึกษาแล้วจะเน้นในเรื่องของการวัดและประเมินผลเช่นเดียวกับปรัชญาสัจจนิยม ครูผู้ฝึกจะเลือกกีฬาให้กับผู้มีความสามารถโดยดูจากการปฏิบัติ ประสบการณ์หรือหลักเกณฑ์ที่สำคัญเป็นบ่อเกิดของความจริงและความเป็นจริง ประสบการณ์ที่แท้จริงของคนเราจะเกิดขึ้นได้ด้วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในร่างกาย การรู้จักปรับตัว รู้จักใช้ความคิดเข้ามาช่วยพิจารณาแก้ปัญหา ฉะนั้นการสอนพลศึกษาตามแนวประสบการณ์นิยมจึงมุ่งให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนกิจกรรมหลายๆ ประเภทและเลือกกิจกรรมที่ตนสนใจและเหมาะกับตนเองมากที่สุด ในกระบวนการเรียนการสอนนอกจากการฝึกฝนกิจกรรมพลศึกษาแล้ว การเรียนรู้ชีวิตในสังคม การรู้จักปรับตัว การร่วมมือประสานงานกับผู้อื่น การเรียนรู้หลักการดำรงชีวิตตามรูปแบบประชาธิปไตยเป็นส่วนประกอบที่สำคัญควบคู่กันไป กิจกรรมต่างๆ ที่ท้าทายการปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่ม การร่วมกันพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นขณะแข่งขัน ถือเป็นโอกาสอันสำคัญที่จะช่วยให้แต่ละคนได้ใช้พลังความสามารถของตนเอง
            อุดร รัตนภักดิ์ (25239: 41-42) ได้สรุปหลักปรัชญาพลศึกษาตามแนวปฏิบัติการนิยม ไว้ดังนี้
               1. กิจกรรมต่างๆ ทางพลศึกษาช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ที่มีประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์
นักพลศึกษา
ปฏิบัติการนิยมให้ความสำคัญแก่กิจกรรมต่างๆ ทางพลศึกษาในแง่ที่จะช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาด้วยตนเองของผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทดลองปฎิบัติหน้าที่ในสังคมอย่างมีประสิทธิผล กิจกรรมประเภทต่างๆ เช่น การอยู่ค่ายพักแรม กิจกรรมนอกเมืองรวมทั้งกีฬาประเภทอื่นๆ ล้วนแต่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้โดยการปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสฝึกฝนการรู้จักควบคุมตนเอง การทำตนเป็นผู้มีวินัย ตลอดจนการเรียนรู้ถึงการร่วมมือประสานงานกับผู้อื่น
               2. กิจกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่เรียนรู้จากธรรมชาติ วิธีการสำคัญประการหนึ่งของปรัชญาประสบการณ์นิยม คือการผสมผสานตัวเด็กเข้ากับสังคม กิจกรรมใดๆ ที่มีคุณค่าทางสังคมถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญและเป็นที่ยอมรับ การเล่นเกม เล่นกีฬาต่างๆ คือสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่าตามความคิดของปรัชญาปฏิบัติการนิยม การศึกษาคือชีวิต ดังนั้นเกมกีฬาที่ก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจและมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นคือสิ่งที่บุคคลควรจะได้เรียนรู้       
               3. การกำหนดหลักสูตร จะต้องตรงต่อความต้องการและความสนใจของผู้เรียน การเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จตามหลักสูตรปฏิบัติการนิยมดูจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียนซึ่งจะต้องเกิดขึ้นจากความพึงพอใจของผู้เรียนด้วย กิจกรรมที่มีลักษณะท้าทายและสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้เรียนที่จะเลือก ด้วยเหตุนี้ เกม กีฬาต่างๆ และกิจกรรมนันทนาการจึงรวมอยู่ในหลักสูตรเพราะจะช่วยตอบสนองต่อความต้องการและความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน
                4. การเรียนจะประสบผลสำเร็จได้ด้วยวิธีการแก้ปัญหา นักพลศึกษาที่ใช้หลักการตามแนวปฏิบัติการนิยมมีความเชื่อมั่นว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์และวิธีการแก้ปัญหาช่วยทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีวัตถุประสงค์
                5. ครูผู้ฝึกและครูผู้สอนมีฐานะเป็นผู้สร้างพลังจูงใจแก่ผู้เรียนจะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนเข้าร่วมในกิจกรรมที่มีประโยชน์สำหรับตน จะต้องช่วยแนะนำให้ผู้เรียนรู้จักเลือกกิจกรรมได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับตนเอง แต่ไม่ใช่โดยการกำหนดหรือออกคำสั่ง ควรให้ผู้เรียนเป็นผู้ตัดสินใจเอง มีโอกาสเป็นผู้นำกลุ่มของตนเองและมีการผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้นำกลุ่ม
                6. การกำหนดมาตรฐานไม่ใช่ส่วนสำคัญของโปรแกรม การกำหนดมาตรฐานที่แน่นอนไว้จะทำให้โปรแกรมต่างๆ ออกมาในแนวทางเดียวกันหมด แม้ว่าปรัชญาพลศึกษาตามแนวนี้จะถือว่าการวัดและประเมินผลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญก็จริงอยู่ แต่นักปรัชญาพลศึกษาไม่สนใจที่จะวัดผลดูความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อมากไปกว่าการประเมินผลดูว่าผู้เรียนสามารถเผชิญกับความจริงที่เกิดขึ้นในการปฎิบัติอย่างไร
            ฟอง เกิดแก้ว (2542: 12) ได้เสนอแนวคิดไว้ ดังนี้
               1. การฝึกต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียน
               2. ผู้สอนควรพิจารณาจุดมุ่งหมายของผู้เรียน
               3. ต้องนำกิจกรรมที่สอนให้เข้าใกล้กับกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตได้มากที่สุด
               4. ก่อนการเล่นผู้เล่นต้องเข้าใจ  รู้จริงและสามารถที่จะปรับตนเองเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะของเกม
               5. หากจะมีการปรับปรุงสิ่งต่างๆ  นักเรียนควรมีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
               6. การเรียนรู้เน้นที่การกระทำ โดยระลึกว่า ทำอะไร อย่างไร และทำทำไม
               7. การฝึกแต่ละครั้งผู้เข้ารับการฝึกต้องได้รับความพอใจ
               8. การเรียนรู้จะต้องต้องต่อเนื่องและได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ
               9. เน้นอุดมคติทางประชาธิปไตย
              10. การสอนควรจัดในรูปแบบของหน่วยประสบการณ์ เช่น หน่วยกรีฑาหรือหน่วยฟุตบอล เป็นต้น
            สรุปได้ว่า พลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยมนั้น มุ่งให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนกิจกรรมหลายๆ ประเภทและเลือกกิจกรรมที่ตนสนใจและเหมาะกับตนเองมากที่สุด เน้นการเรียนรู้ชีวิตในสังคมตามสภาพจริงเพื่อการปรับตัวตลอดเวลา กล่าวได้ว่า การศึกษา คือ ชีวิต ครูผู้สอนวิชาพลศึกษามีหน้าที่ช่วยแนะนำ

        4. ปรัชญาธรรมชาตินิยม (Naturalism Philosophy) เป็นปรัชญาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกตะวันตก มีลักษณะความเชื่อเหมือนกับปรัชญาปฏิบัติการนิยมและสัจนิยมอยู่หลายประการ ตามประวัตินั้นอาจจะมีกำเนิดตั้งแต่สมัยของ Thales แห่งเอเชียไมเนอร์ เมื่อศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล Thales เป็นนักปรัชญาธรรมชาตินิยมที่เชื่อว่า น้ำคือส่วนที่สำคัญของสสารทุกอย่าง เราจะพบเห็นอยู่ทั่วไปแม้แต่ภายในธรรมชาติ (Zeigler. 1964: 26)
              ปรัชญานี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปรัชญาวัตถุนิยม (Materialism Philosophy) เพราะเป็นปรัชญาที่กล่าวว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นจริงและมีรูปร่างคือสิ่งเดียวที่มีคุณค่า นักปรัชญาธรรมชาตินิยมมีความเชื่อว่า ธรรมชาติมีความแน่นอนและเชื่อถือได้และธรรมชาติคือ ขบวนการที่แสดงความต่อเนื่อง อนึ่งนักปรัชญากลุ่มนี้ยังมีความเห็นพ้องกันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากธรรมชาติ รวมทั้งการเรียนรู้ด้วย (Bucher. 1979: 32)
          หลักการที่สำคัญของปรัชญานี้พอสรุปได้ดังนี้
               1. สิ่งต่างๆ จะปรากฏเฉพาะภายในความจริงทางกายภาพของธรรมชาติ นักปรัชญาธรรมชาตินิยมเชื่อว่าโลกของวัตถุคือกุญแจของชีวิต โลกดังกล่าวมีทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามองเห็น ที่เราสังเกตได้และเราคิดถึง รวมทั้งความสวยหรือความน่าเกลียดของต้นไม้และความซับซ้อนของนิวเคลียร์ฟิสิกส์ โลกของวัตถุจะอยู่ในสภาพที่เจริญและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นโลกที่เราสามารถเชื่อถือได้และคาดการณ์ได้ เมื่อโลกของวัตถุคือกุญแจของชีวิต ปรัชญานี้จึงไม่ยอมรับว่ามีพระเจ้าหรือสิ่งที่มีอำนาจอื่นใดปรากฏอีกและปรัชญานี้ยังกล่าวว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์คือ วิธีที่ดีที่สุดในการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับโลกของธรรมชาติ
               2. ธรรมชาติคือแหล่งของค่านิยม ค่านิยมใดๆ ย่อมปรากฏอยู่ในธรรมชาติและกำหนดโดยธรรมชาติ จะไม่มีค่านิยมใดๆ ปรากฏอยู่เหนือธรรมชาติไม่ว่าจะในรูปแบบใด ปรัชญานี้มีลักษณะเหมือนปรัชญาปฏิบัติการนิยมที่กล่าวว่า สิ่งของจะมีค่าถ้าสิ่งนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
               3. บุคคลสำคัญกว่าสังคม ปรัชญาธรรมชาตินิยมเห็นด้วยว่า ประชาธิปไตยมาจากขบวนการของกลุ่ม แต่ปรัชญานี้ยึดถือว่าตัวบุคคลมีความสำคัญกว่าส่วนรวมของกลุ่ม สังคมจะได้ประโยชน์จากการปะทะหรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลกับธรรมชาติ ตัวบุคคลคือฝ่ายที่เข้าหาธรรมชาติ

        นักปรัชญาธรรมชาตินิยมที่สำคัญ
          นักปรัชญากลุ่มนี้ มีดังต่อไปนี้
             1. Jean Jacques Rousseau (1712-1788) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า มนุษย์ควรมีชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ และเป็นไปตามแนวทางของธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ในการเขียนหนังสือชื่อ “EmileRousseau ได้แสดงแนวคิดว่ามนุษย์สามารถพัฒนาได้โดยธรรมชาติและไม่ต้องอาศัยสังคม นั่นก็คือสังคมเป็นของเทียมเลียนแบบธรรมชาติและสิ่งชั่วร้าย แต่ธรรมชาติสามารถเชื่อถือได้แน่นอนและมีอิสระ
              2. Herbert Spencer (1820-1930) เป็นนักปรัชญาธรรมชาตินิยมที่สำคัญที่สุดของยุโรปในศตวรรษที่ 19 และเป็นผู้แสดงแนวคิดทางการศึกษาสมัยใหม่ของปรัชญาธรรมชาตินิยม สเปนเซอร์ เชื่อว่ามนุษย์มีการวิวัฒนาการ และอธิบายพระเจ้าว่าเป็นพลังงานหรือแรง (Zeigler. 1964: 28)

        ปรัชญาธรรมชาตินิยมกับการศึกษา
          อุดม พิมพา (2532: 37-38) ได้กล่าวถึงปรัชญาธรรมชาตินิยมเมื่อนำไปใช้กับการศึกษา ดังนี้
               1. การศึกษาจะต้องสนองความต้องการตามธรรมชาติของผู้เรียน นักปรัชญากลุ่มนี้กล่าวว่า เมื่อเด็กเกิดมานั้นจะมีแรงขับตามธรรมชาติที่กำหนดความต้องการของพวกเขา แรงขับภายในเหล่านี้จะพยายามแสวงหาการตอบสนองให้พึงพอใจ เช่น ความต้องการที่จะร่วมในสังคมและต้องการผลสัมฤทธิ์ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะสนองความต้องการดังกล่าว
               2. การศึกษาจะต้องจัดให้ตรงกับอัตราการพัฒนาการของผู้เรียนแต่ละคน                การศึกษาต้องมีจุดศูนย์กลางที่ผู้เรียน ซึ่งผู้เรียนนั้นจะมีรูปแบบการพัฒนาการเป็นขั้นตอน จึงจำเป็นที่จะต้องจัดการศึกษาให้เหมาะกับการพัฒนาการของผู้เรียน เมื่อเลือกกิจกรรมให้ผู้เรียนก็จะต้องคำนึงถึงวุฒิภาวะของการพัฒนาการของผู้เรียนด้วยและในการจัดทำหลักสูตรก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับหลักของพัฒนาการของเด็กมาเป็นองค์ประกอบด้วย
               3. การศึกษามิใช่เป็นเรื่องของสมองเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของร่างกายและคุณธรรมด้วย การศึกษาตามปรัชญาธรรมชาตินิยมนั้น เน้นทั้งเพื่อพัฒนาจิตใจหรือสมองและพัฒนาร่างกาย โดยไม่มีส่วนใดสำคัญกว่ากัน การศึกษานี้ยังต้องส่งเสริมพัฒนาการคุณธรรมวินัยในตนเองและความเป็นผู้มีสุขภาพดี
               4. ผู้เรียนให้การศึกษาแก่ตัวเอง ปรัชญาธรรมชาตินิยมเน้นในเรื่องการศึกษาที่ต้องปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้กระทำในการพัฒนาการศึกษาของตน ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเองทั้งกายกับจิตใจร่วมกัน จึงสามารถให้การศึกษาแก่ตนเองจนถึงระดับใดระดับหนึ่ง กิจกรรมที่จะให้แก่ผู้เรียนนั้นควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการขวนขวายและเสาะหาสิ่งใหม่ๆ อันจะเป็นการพัฒนาความสามารถตามธรรมชาติและการแสดงออกของผู้เรียน
               5. ครูจะต้องเข้าใจในกฎของธรรมชาติ หน้าที่ของครูคือศึกษาว่าผู้เรียนแต่ละคนเรียนรู้อย่างไร และทำหน้าที่แนะแนวผู้เรียนในการจัดการศึกษา ครูจะต้องรู้จักกฎของธรรมชาติและช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาตามลำดับขั้นของกฎเหล่านั้น ครูจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่าธรรมชาติสร้างให้ผู้เรียนมีความแตกต่างกัน ผู้เรียนแต่ละคนย่อมมีความต้องการในการเรียนรู้แตกต่างกันและต้องการกิจกรรมการเรียนที่เหมาะสมเฉพาะตัวด้วย
               6. ครูคือผู้ให้การแนะแนวในขบวนการศึกษา ครูเป็นผู้แนะแนวผู้เรียนโดยขบวนการสาธิตและตัวอย่าง รวมทั้งขบวนการสำรวจต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถสรุปบทเรียนของตัวเองได้ ครูใช้วิธีการสอนแบบอนุมานคือ สรุปแก่นสำคัญๆ ให้ผู้เรียนเข้าใจ นอกจากนั้นก็ใช้วิธีการอย่างง่าย ไม่เป็นรูปแบบจนเกินไปในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตามธรรมชาติจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้เรียนและให้สอดคล้องกับความต้องการกับความสนใจของผู้เรียน

        ปรัชญาธรรมชาตินิยมกับพลศึกษา
            อุดม พิมพา (2532: 39-40) ได้กล่าวถึงการนำหลักการของปรัชญาธรรมชาตินิยมไปใช้ในทางพลศึกษานั้น สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
               1. กิจกรรมพลศึกษานั้นมีลักษณะของผลผลิตในด้านอื่นๆ ด้วย นอกจากมีผลทางด้านร่างกายแล้วปรัชญาธรรมชาตินิยมเห็นว่ากิจกรรมพลศึกษาสามารถพัฒนาผู้เรียนหลายอย่าง นอกจากจะเสริมสร้างความแข็งแรงและสมรรถภาพทางกายแล้ว กิจกรรมคือแหล่งที่สำคัญในการพัฒนาผู้เรียน พวกเขาเหล่านี้สามารถเรียนรู้วิธีการเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ดี พัฒนามาตรฐานของศีลธรรมให้สูงขึ้น เรียนรู้วิธีการแสดงตนในทางที่ดีงามและสามารถพัฒนาด้านอื่นๆ จนบรรลุถึงขีดสูงสุดของสมรรถวิสัยของตนเอง
               2. การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็โดยการปฏิบัติด้วยตนเอง กิจกรรมต่างๆ คือแหล่งของพัฒนาการความสามารถตามธรรมชาติของผู้เรียนซึ่งพวกเขาจะสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ และเกิดความมั่นใจได้โดยปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง ฉะนั้นตามหลักของปรัชญานี้ครูพลศึกษาจึงต้องจัดกิจกรรมนานาชนิดให้แก่ผู้เรียนเพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี กิจกรรมพลศึกษาที่ดี เช่น กีฬาประเภททีม  กีฬาประเภทบุคคลและกิจกรรมกลางแจ้ง ครูพลศึกษาจะเพิ่มกิจกรรมใหม่ๆ ให้แก่ผู้เรียน เมื่อพวกเขามีความพร้อม มีความต้องการและสนใจที่จะเรียนกิจกรรมใหม่ๆ นั้น ตามหลักของปรัชญาธรรมชาตินิยม ผู้เรียนจะเรียนได้ดีเมื่อพวกเขามีความพร้อมในด้านต่างๆ คือ ด้านสรีรวิทยา ด้านจิตใจและด้านสังคม
               3. การละเล่น (Play) คือกิจกรรมที่สำคัญในขบวนการศึกษา การละเล่นที่เกิดจากความสนใจของผู้เรียน คือ จุดเริ่มต้นในการสอน พฤติกรรมทางสังคมที่เราต้องการสอนจากการละเล่น ผู้เรียนจะเกิดความเข้าใจในโลกกว้างหรือสิ่งแวดล้อมของพวกเขา ซึ่งครูสามารถนำลักษณะอื่นๆ ของการอยู่ร่วมกันในสังคมมาสอนเพิ่มเติมได้ด้วย ในการเรียนพลศึกษานั้น ผู้เรียนจะเกิดการ “ปะทะ” หรือ “สัมพันธ์”  กับบุคคลอื่นๆ โดยการเล่นกิจกรรมต่างๆ แล้วพัฒนานิสัยทางสังคมที่มีประโยชน์ต่อพวกเขาเมื่อจบการเรียนจากโรงเรียนแล้ว
               4. ปรัชญาธรรมชาตินิยมไม่สนับสนุนการแข่งขันกีฬาที่ใช้ทักษะระดับสูง การจัดโปรแกรมพลศึกษาให้แก่ผู้เรียนนั้นมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการปรับปรุงตัวเองและจะถูกประเมินอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินผลที่ความสามารถของแต่ละบุคคล การแข่งขันอย่างหนักหน่วงระหว่างกลุ่มนั้นไม่ควรจะจัดให้มี การแข่งขันควรจะเป็นการแข่งขันเพื่อทดสอบความสามารถของตัวเองซึ่งจะเป็นการปรับปรุงข้อบกพร่องและทำให้ดีกว่าครั้งก่อนๆ
               5. พลศึกษาจะต้องจัดให้บุคคลอย่างครบองค์ คือ สอนบุคคลทั้งตัว พลศึกษาในแง่ธรรมชาตินิยมนั้นสามารถพัฒนาทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้เรียนด้วย ฉะนั้น จะต้องจัดการเรียนการสอนที่สร้างสมดุลระหว่างพัฒนาการทางกายกับพัฒนาการทางสติปัญญา ดังนั้นกิจกรรมพลศึกษาที่ดีนั้นจะต้องพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกายและด้านสมองเพื่อเตรียมตัวพวกเขาให้ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Bucher, 1979: 34)

       5. ปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism Philosophy)
            ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวะนิยมเป็นปรัชญาแนวใหม่ที่แพร่หลายในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักปราชญ์ผู้ให้กำเนิดปรัชญานี้ คือ Soren Kierkegaard ชาวเดนมาร์ก จุดเน้นที่สำคัญของปรัชญาสาขานี้ คือ เสรีภาพของปัจเจกบุคคลและการใช้เสรีภาพในการดำเนินชีวิต เน้นเอกัตบุคคลมากกว่าสังคมส่วนรวม ปรัชญานี้ยึดโลกทัศน์ที่ว่า โลกนี้เป็นโลกแห่งเสรีภาพมนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกและการกำหนดความจริง (วิจิตร ศรีสะอ้าน. 2533: 260)


           แนวทางเกี่ยวกับการจัดการศึกษา
               1. การจัดโรงเรียน ไม่ยึดรูปแบบที่แน่นอน โรงเรียนต้องจัดสิ่งแวดล้อมหลายๆ แบบ เพื่อให้ผู้เรียนเลือกตามเสรีภาพของแต่ละบุคคล
               2. หลักสูตรไม่กำหนดตายตัว มีวิชาเลือกให้เลือกกว้างขวางเพื่อส่งเสริมเสรีภาพ หลักสูตรส่วนใหญ่เน้นวิชาศิลปะและปรัชญา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงออกอย่างเสรีภาพ
               3. การจัดการเรียนการสอน จะฝึกให้ผู้เรียนรู้จักเลือกวิชาที่เรียนอย่างมีความรับผิดชอบ ครูจะเป็นผู้กระตุ้นให้ผู้เรียนแต่ละคนใช้เสรีภาพในการเลือกเรียนอย่างถูกต้องและเหมาะสม การจัดการเรียนการสอนนิยมจัดหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความถนัดและความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก การปลูกฝังค่านิยมเน้นการฝึกให้ผู้เรียนมีความสำนึกในเสรีภาพ รู้จักเลือกจริยธรรมอย่างมีความรับผิดชอบ ฝึกฝนให้สร้างงานศิลปะตามแนวคิดของตนเองอย่างมีเสรีภาพโดยไม่ต้องยึดถือจารีตและสังคมขึ้นในกลุ่มของปรัชญาอัตถิภาวะนิยมเอง นักปรัชญาอัตถิภาวะนิยมแต่ละคนถือว่าตนมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ มีความคิดของตนที่อิสระ ไม่จำเป็นว่าต้องเหมือนกับของผู้ใด            
              
       
ปรัชญาอัตถิภาวะนิยมกับพลศึกษา
             อุดม พิมพา (2533: 45-46) ได้สรุปหลักปรัชญาพลศึกษาตามแนวความคิดของปรัชญาอัตถิภาวะนิยม ไว้ว่า โครงการพลศึกษาจะประกอบด้วยกิจกรรมหลายอย่างมากมาย โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกตามความชอบแตกต่างกันออกไป จึงถือว่าเป็นสิทธิของผู้เรียนแต่ละคนที่เลือกกิจกรรมตามความต้องการได้ ผู้เรียนต้องยอมรับผลทีเกิดขึ้นไม่ว่าจะสำเร็จหรือผิดพลาด ประสบการณ์ทางพลศึกษาจะส่งเสริมความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเองของผู้เรียนและส่งเสริมบุคลิกภาพของผู้เรียนให้ผู้เรียนเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดเกณฑ์ต่างๆ โดยตนเอง ครูจะไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดวิชาหรือเป็นตัวอย่างให้ผู้เรียนเลียนแบบ ครูคือผู้ที่ช่วยให้เกิดความคิด ครูจึงมีบทบาทในการให้คำปรึกษาและแนะนำสร้างความสัมพันธ์กับเด็กให้เกิดความอยากที่จะเสาะแสวงหาความจริง             
            ความเชื่อของนักปรัชญากลุ่มนี้ คือ ประสบการณ์ที่คนรู้จักและเข้าใจอย่างแท้จริงถึงความคงอยู่ ความจริงที่พบคือการตัดสินใจของแต่ละคนว่าอะไรจริงอะไรมีค่าต่อตนเอง อาจกล่าวได้ว่าคุณค่าเกิดจากการเลือกและตัดสินใจของแต่ละบุคคล การศึกษาเกี่ยวกับปรัชญานี้คือ ส่งเสริมมนุษย์แต่ละคนให้รู้จักพิจารณาตัดสินใจตามหลักการของการดำรงชีวิตของตัวเขาเอง รู้จักรับผิดชอบต่อข้อผูกพันที่เขามีอยู่ การเรียนจะเน้นการเรียนกิจกรรมจริงๆ นักเรียนวางแผนการเรียนเอง ครูและเด็กมีสิทธิเท่ากัน 
            อุดร รัตนภักดิ์ (2523: 47-49) ได้กล่าวถึงการนำหลักการของปรัชญาอัตถิภาวะนิยมไปใช้ในทางพลศึกษานั้น สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
               1. โปรแกรมพลศึกษาจะต้องให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเลือกกิจกรรม โดยจัดกิจกรรม
ไว้หลายประเภทให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในทางปฏิบัติอาจเกิดปัญหาขึ้น เพราะเหตุว่า ถ้าฝ่ายผู้สอนพลศึกษาให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่โดยการจัดกิจกรรมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อุปกรณ์ สถานที่ ผู้สอนอาจจะไม่เพียงพอ แต่ก็เป็นเจตนารมณ์และหลักการของปรัชญาอัตถิภาวะนิยมในการที่จะให้ความสำคัญแก่เสรีภาพของบุคคล จึงควรจัดโปรแกรมพลศึกษาให้มีหลายประเภทเพื่อให้ผู้เรียนเลือกตามความสนใจ
               2. การเข้าร่วมกิจกรรมที่ตนเองเลือก เป็นโอกาสที่ผู้เรียนจะได้ประเมินคุณค่าของตนเองรวมทั้งทักษะความสามารถ กิจกรรมที่ตนเลือก ผู้สอนมีบทบาทช่วยเสริมสร้างบรรยากาศที่จะช่วยให้ผู้เรียนรู้ถึงความรับผิดชอบไปด้วยในขณะเดียวกันการเล่นมีผลต่อการพัฒนาทางการสร้างสรรค์
               3. นักพลศึกษาตามแนวปรัชญาอัตถิภาวะนิยม มีความเชื่อมั่นว่าขณะที่ผู้เรียนเล่นกีฬาหรือกิจกรรมต่างๆ นั้น เป็นโอกาสของพัฒนาทางการสร้างสรรค์ การเล่นกีฬาประเภทเดี่ยวและประเภททีมให้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน แต่กีฬาที่เล่นเป็นทีมโดยมุ่งการได้รับชัยชนะเป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญน้อยกว่ากิจกรรมการบริหารร่างกาย ซึ่งถือเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการสร้างสรรค์ทางด้านตัวบุคคลแต่ละคน
               4. กิจกรรมพลศึกษามุ่งให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง การเข้าร่วมกิจกรรมทั้งประเภทเดี่ยวและประเภททีม ทำให้ผู้เรียนได้รู้จักตนเอง ความสามารถ ความชำนาญของตนเอง ผลจากการแข่งขันที่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน คือ สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา กิจกรรมประเภทที่ช่วยเกิดการทดสอบตนเองเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยพัฒนาความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเองและช่วยให้ผู้เรียน
รู้จักตนเอง ผู้สอนมีบทบาทเป็นที่ปรึกษา
               5. นักปรัชญาพลศึกษาแนวอัตถิภาวะนิยม ถือหลักการว่าผู้สอนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทดลอง ตัดสินใจและเลือกกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดไว้ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแนวทางที่จะเลือกและการเลือกวิธีต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนไม่ลังเลหรือวิตกว่าตนควรจะเลือกอย่างไรดี จึงเห็นได้ว่าการจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวะนิยมมุ่งให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่ จึงจัดโปรแกรมกิจกรรมพลศึกษาหลากหลายให้เลือก ทำให้ผู้เรียนได้รู้จักตนเองและพัฒนาการสร้างสรรค์ตัวเอง    
            สรุปได้ว่า ปรัชญาพลศึกษาทั้ง 5 อย่างนี้เป็นการยากที่จะกล่าวว่าอย่างไหนดีหรือเหมาะสมที่สุด นักกีฬาต้องการมีสมรรถภาพในการเล่นกีฬาก็จะพยายามฝึกฝนตนเองจนสามารถเล่นได้ดี   นักกีฬาก็ใช้ปรัชญาสัจจนิยม การจะสอนศีลธรรมและการมีน้ำใจเป็นนักกีฬาก็ควรเลือกปรัชญาจิตนิยม สอนแบบรวมทักษะเก่าและปรับปรุงเป็นทักษะใหม่ก็เป็นปรัชญาวัตถุนิยม ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เล่นเลือกกิจกรรมก็เป็นแบบปรัชญาปฏิบัติการนิยม ความเป็นตัวของตัวเองอย่างอิสระ การเลือก ความรับผิดชอบเป็นสาระสำคัญของปรัชญาอัตถิภาวะนิยม ปัญหาเกิดขึ้นว่า เมื่อบุคคลแต่ละคนมุ่งเน้นความเป็นอิสระของตัวเองแล้ว ข้อกำหนดหรือกฏเกณฑ์ใดๆ ที่มีลักษณะสากลสำหรับทุกคน ย่อมจะมีขึ้นไม่ได้เพราะทุกคนต่างก็มีความเป็นตัวของตัวเอง มีเสรีภาพที่จะเลือกและตัดสินใจเองทั้งสิ้น ปัญหาประการนี้ทำให้เกิดความคิดปรัชญาทางพลศึกษาสามารถสร้างขึ้นจากส่วนที่เหมาะสมหลาย ๆ อย่างหรือนำเอาส่วนที่เหมาะสมมาปรับปรุงเพื่อที่จะได้สิ่งที่ดีที่สุด ให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์มากที่สุดตามวัตถุประสงค์ของวิชาพลศึกษาทั้ง 5 ด้าน กล่าวคือ
                1. ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)
                2. ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)
                3. ด้านเจตพิสัย (Affective Domain)
                4. ด้านสมรรถภาพทางการวิสัย (Physical Fitness Domain)
                5. ด้านสังคมวิสัย (Social Domain)
4. หลักการพลศึกษา
           วิชาพลศึกษาแม้จะเป็นวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญในการที่จะพัฒนานักเรียนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติการศึกษา ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2542 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2545 และ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553 และได้มีการบรรจุไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนทุกระดับชั้นทั้งในระดับชั้นเด็กเล็ก ชั้นประถมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษาเช่นเดียวกับวิชาอื่นๆ ในสถาบันการศึกษาตั้งแต่ต้นมาแล้วก็ตาม แต่โดยที่ลักษณะของวิชาพลศึกษามีความแตกต่างจากวิชาอื่น ๆ ค่อนข้างจะมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านจุดประสงค์การเรียนรู้ สาระและเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล ตลอดจนสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอน ดังนั้น จึงทำให้วิชาพลศึกษาต้องมีหลักการและปรัชญาการสอนที่เป็นรายละเอียดของตนเองที่แตกต่างจากการเรียนการสอนในวิชาอื่นๆ ตามไปด้วย
          ดังนั้น เพื่อให้การเรียนการสอนได้บรรลุผลตามที่ได้กำหนดตัวชี้วัดและวัตถุประสงค์ไว้แล้ว จึงขอกล่าวถึงแนวทางและหลักการพลศึกษาที่สำคัญๆ แต่เนื่องจากหลักการพลศึกษาที่เป็นรายละเอียดและสมบูรณ์นั้นมีค่อนข้างมากเพราะว่าการเรียนการสอนสาระการเรียนรู้วิชาพลศึกษาที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้นมีปัจจัยสำคัญที่เป็นส่วนประกอบหลายอย่างหลายประการด้วยกัน คือนอกจากปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวผู้สอนเอง การจัดบทเรียน การจัดกิจกรรม ประสบการณ์ต่างๆ ในการเรียนการสอนและบรรยากาศในการเรียนการสอนดังได้กล่าวมาแล้วสถานที่และอุปกรณ์และวิธีการเรียนการสอนก็ยังจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามสภาพการณ์ต่างๆ อีกมากมายกว่าการเรียนการสอนวิชาอื่นๆ ในห้องเรียนโดยทั่วไปอีกด้วย จึงทำให้ไม่สามารถจะนำหลักการและปรัชญาต่าง ๆ มากล่าวในโอกาสนี้ได้หมด แต่เพื่อเป็นแนวทางที่จะจัดและดำเนินการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาให้ได้ผลดีตามหลักการและปรัชญาได้พอสมควร จึงนำรากฐานทางพลศึกษามาสรุปได้ ดังนี้
          4.1 รากฐานของพลศึกษา
                  จิราพัฒน์ สิทธิศักดิ์ (2559: ออนไลน์) ได้กล่าวว่า จากการศึกษาปรัชญาทางพลศึกษา วิชาพลศึกษาจึงเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาทางการศึกษาในรูปแบบการออกกำลังกาย ตลอดการเรียนรู้ วิชาพลศึกษาจึงมีรากฐานมาจาก 3 สาขา คือ
                    4.1.1 รากฐานด้านสรีรวิทยา
                    4.1.2 รากฐานทางด้านจิตวิทยา
                    4.1.3 รากฐานทางด้านสังคมวิทยา
                 4.1.1 รากฐานทางด้านสรีรวิทยา (Physiology Foundation) ซึ่งกล่าวถึงระบบร่างกาย วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว ทักษะและสมรรถภาพทางกายพอสรุปได้ดังนี้
                           1) มนุษย์เป็นหน่วยรวมของอวัยวะต่างๆ
                         2) การประกอบกิจกรรมทำให้เกิดการพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อใหญ่และงานหนักจะเกิดการพัฒนามากที่สุด
                         3) ถ้าต้องการยกระดับความสามารถให้สูงขึ้นต้องพยายามปรับปรุงท่าทางของตนเองในการประกอบกิจกรรม
                         4) กิจกรรมในชีวิตประจำวันไม่อาจทำให้บุคคลพัฒนาได้ทุกส่วน ฉะนั้นควรออกกำลังกายในหลายกิจกรรมจึงจะเพียงพอกับความต้องการตามธรรมชาติของร่างกาย
                         5) เด็กหญิงและเด็กชายต้องการการออกกำลังกายเท่าเทียมกัน กิจกรรมที่ต้องใช้ความแข็งแรงและอดทนไม่ควรให้เด็กหญิงและเด็กชายแข่งขันกันและระยะวัยรุ่นความแตกต่างระหว่างเพศมีมากขึ้น
                          6) ความต้องการในการออกกำลังกายสูงสุดของคนอยู่ระหว่าง 3-12 ปี ประมาณวันละ 4–8 ชั่วโมง
                          7) เด็กหญิงจะเรียนทักษะได้ดีเมื่ออายุประมาณ 14 ปีและเด็กชายเมื่ออายุประมาณ 17 ปี ความแข็งแรงสูงสุดของมนุษย์อยู่ระหว่าง 25-30 ปี จากนั้นจะลดลง
                4.1.2 รากฐานทางด้านจิตวิทยา (Psychology Foundation) ซึ่งกล่าวถึงการนำหลักการเรียนรู้มาใช้ในแง่ปฏิบัติ อันได้แก่ทฤษฎี การเรียนรู้ จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาสังคม พอสรุปได้ดังนี้
                           1) การเรียนรู้เกิดจากการฝึกหัดที่ถูกวิธี ซึ่งที่ถูกวิธีมีมากกว่าที่ผิดวิธี
                         2) หากต้องการพัฒนามากขึ้นต้องฝึกกิจกรรมหลายๆ อย่างและความสามารถทางด้านกลไกของร่างกายก็มีหลายอย่าง
                       3)องค์ประกอบในการเรียนรู้ต้องประกอบด้วยผู้เรียน ผู้สอน กิจกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุดและผู้เรียนจะต้องตอบสนองต่อสภาวะการเรียนรู้ทั้งมวล
                         4) มนุษย์จะทำได้ดีและฝึกหัดบ่อยๆ ในสิ่งที่ตนเองสนใจ ในสิ่งที่มีเหตุผลและมีโอกาสสำเร็จ ซึ่งเขาจะต้องทราบความสามารถของตนเองด้วย
                         5) มนุษย์จะสนใจก่อนจะปฏิบัติ
                         6) กิจกรรมทั้งหลายที่มนุษย์เข้าร่วมจะพัฒนาทางด้านสติปัญญา
                         7) ความสัมพันธ์ระหว่างทักษะและสติปัญญามีน้อย
                         8) การแข่งขันเป็นแรงจูงใจที่สำคัญของผู้เรียน
                         9) การถ่ายทอดการเรียนรู้จะกระทำได้ดีในสถานการณ์ที่คล้ายกัน
               4.1.3 รากฐานทางด้านสังคมวิทยา (Sociology Foundation) ซึ่งกล่าวถึงหลักการในสังคมที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้ดีมีความหมายทั้งในปัจจุบันและอนาคต พอสรุปได้ดังนี้
                        1) ประชาชนควรได้รับการศึกษาเพื่อมีชีวิตตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งให้สิทธิและหน้าที่ดังนี้คือ รู้สัจจะแห่งตน มีมนุษย์สัมพันธ์ มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและมีความรับผิดชอบในฐานะเป็นพลเมืองดี
                        2) ค่านิยมของสังคมจะเป็นไปตามสภาพรสนิยมของบุคคล การจะทำสิ่งใดจึงต้องศึกษาแนวโน้มของสังคม
                          3) การศึกษาทุกชนิดมีจุดหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียน การจัดการศึกษาควรคำนึงถึงสวัสดิภาพแก่ผู้เรียน โดยมุ่งไปที่เหตุผลด้านต่างๆ
                        4) การให้การพลศึกษาแก่ประชาชนต้องคำนึงถึงหลักการเป็นผู้นำผู้ตาม ความเสมอภาคและคุณค่าทางสังคมแก่ผู้เรียนทุกคน
                        5) การศึกษาจะให้บังเกิดผลทั้งเป้าหมายขั้นต้นและขั้นสุดท้ายแก่ผู้เรียน

                  สรุปได้ว่า สถานศึกษาจึงต้องจัดสภาพแวดล้อม ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าสิ่งที่ต้องการรู้ ตามความสนใจของแต่ละบุคคล ผู้สอนมีหน้าที่คอยกระตุ้นและ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ค้นพบความจริงในสิ่งที่ต้องการรู้อย่างมีเหตุผลและต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองตัดสินใจ พลศึกษาต้องเกี่ยวโยงทั้งสองด้านคือ ร่างกายและจิตใจ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ทั้งคู่ต้องทำงานไปพร้อมๆ กันและที่สำคัญต้องบังคับร่างกายให้ได้ตามที่ต้องการและควบคุมจิตใจตนเองให้นิ่ง           
            4.2 ความสัมพันธ์ของพลศึกษากับมนุษย์
                  4.2.1 พลศึกษาในเชิงร่างกาย การทำให้ร่างกายมีพลังที่เป็นรูปธรรม ซึ่งการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ เนื่องจากผู้ที่มีสุขภาพ แข็งแรงจะมีความสามารถทางด้านร่างกาย จิตใจและมีอายุยืนยาวมากกว่าคนที่ไม่แข็งแรงซึ่งเกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ในด้านต่างๆ ดังนี้
                            1) ด้านร่างกาย การออกกำลังกายจะทำให้อวัยวะและระบบต่างๆ ของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
                            2) ด้านจิตใจ ทำให้เป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่มั่นคง สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีสามารถปรับตัวเมื่อได้รับความเครียดได้ดี มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient) ในระดับดีขึ้น
                             3) ด้านสติปัญญา นอกจากการออกกำลังกายมีผลด้านจิตใจแล้ว ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะมีความสามารถในการแก้ปัญหา มีความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ มีความสามารถในการเรียนรู้และมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์ต่างๆ ได้
                            4) ด้านสังคม การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความมีวุฒิภาวะทางสังคมและมีความฉลาดทางสังคม เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น จนนำไปสู่การพัฒนาทักษะทางสังคมที่ดี
                  4.2.2 พลศึกษาในเชิงจิตใจ ก็คือ พละ 5 แปลว่าธรรมอันเป็นกำลังที่สถิตย์ในจิตใจคน มีพลังเป็นนามธรรมประกอบด้วย
                           1) ความศรัทธา ความเชื่อ คือเชื่อว่าจิตของคนมีพลังแฝงทุกขณะ
                           2) วิริยะ คือความเพียร คือคนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ฝึกฝน ฝึกซ้อม ให้สำเร็จได้
                             3) สติ คือ ความระลึกได้ รู้ตัวทุกขณะว่ากำลังเคลื่อนไหว
                           4) สมาธิ คือ ความตั้งจิตมั่น คือ การนำจิตไปจดจ่อกับการเคลื่อนไหวในขณะนั้น
                           5) ปัญญา คือ ความรู้ชัดแจ้ง คือ น้อมนำความคิด วิธีคิดว่าขณะที่เคลื่อนไหวต้องแก้ปัญหาขณะนั้นและคิดคาดการณ์ล่วงหน้าเสมอ
                  4.2.3 พลศึกษาในเชิงการศึกษา พลศึกษาเป็นหนึ่งในสี่องค์ประกอบของการศึกษา คือ
                           1) พุทธิศึกษา การพัฒนาด้านสติปัญญา
                           2) จริยศึกษา การพัฒนาด้านคุณธรรม
                           3) หัตถศึกษา การพัฒนาทักษะ
                           4) พลศึกษา การพัฒนาด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ
            4.3 ความสำคัญของการพลศึกษา
                  ในปัจจุบันพลศึกษาได้เข้ามามีบทบาทในหลายๆ ด้านมากยิ่งขึ้น จึงจะขอกล่าวถึงความสำคัญทางพลศึกษาในด้านต่างๆ ดังนี้
                     4.3.1 การพัฒนาทางด้านร่างกายคือ การได้เรียนวิชาพลศึกษาจะทำให้เกิดการพัฒนาร่างกายให้แข็งแรง มีไหวพริบ มีภูมิต้านทางที่ดีและรับรู้กฎกติกาการเล่นกีฬาชนิดนั้นๆ
                     4.3.2 การพัฒนาทางด้านจิตใจจะทำให้ผู้เรียนรู้จักความมีน้ำใจนักกีฬา ให้เกียรติคู่แข่งขัน
                     4.3.3 การพัฒนาทางด้านอารมณ์คือ พลศึกษาช่วยให้มีสมาธิ เกิดความยับยั้งชั่งใจ อีกทั้งยังเป็นการระบายอารมณ์และความเครียด
                     4.3.4 ความสำคัญของพลศึกษาด้านการแพทย์ ปัจจุบันนี้ความต้องการนักวิชาการทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มีมากพอๆ กับผู้ที่มีความสามารถทางเทคนิค การฝึกสอนกีฬาเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งส่งผลเร็วกว่าการสอนธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนี้ การให้ความสนใจเป็นพิเศษสำหรับศาสตร์แขนงต่างๆ จึงเกิดเป็นความสำคัญและความเข้าใจในการสร้างหลักการและบทบาททางพลศึกษา ยกตัวอย่างเช่น สรีรวิทยา (Physiology) ชีววิทยา (Biology) การเคลื่อนไหวและกายวิภาค (Kinesiology and Anatomy) เป็นต้น
                     4.3.6 ความสำคัญของพลศึกษาด้านสังคม  ในศตวรรษที่ 21 พลศึกษาเข้ามามีบทบาทด้านสังคม โดยเข้ามาเป็นตัวส่งเสริมการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายของประชาชนในประเทศ เพื่อให้ประชาชนในประเทศมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีสรรถภาพทางกายดี มีสุขภาพจิตที่ดี มีน้ำใจนักกีฬาและมีนิสัยในการออกกำลังกายและเล่นกีฬาโดยใช้พลศึกษาเป็นสื่อกลาง นอกจากนี้พลศึกษายังเข้ามามีส่วนในการส่งเสริมกีฬาในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ตามความต้องการของท้องถิ่นโดยเฉพาะคนในชนบท โดยดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมกีฬาเพื่อให้ประชาชนหันมาออกกำลังกาย สังคมของมนุษย์เกิดจากกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจร่วมกันไม่ว่าจะในด้านใด เช่น ประเทศ จังหวัดและอื่นๆ และมักจะมีวัฒนธรรมหรือประเพณีรวมถึงภาษา การละเล่นและอาหารการกินของตนเองในแต่ละสังคม การที่มนุษย์รวมกันเป็นสังคมนั้นช่วยให้มนุษย์สามารถสร้างและพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งอาจเป็นไปไม่ได้ถ้าต้องทำสิ่งนั้นโดยลำพัง
                      4.3.6 ความสำคัญพลศึกษาด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ในศตวรรษที่ 21 วิชาการพลศึกษาได้เข้ามามีบทบาทในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยรัฐบาลมีนโยบายในการอนุรักษ์และฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรมทางกีฬาไทยอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในท้องถิ่นในการส่งเสริมกีฬาพื้นบ้านด้วยการจัดนิทรรศการเผยแพร่กีฬาพื้นบ้าน นอกจากนี้กรมพลศึกษาก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของภาครัฐที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยกรมพลศึกษาได้มีการจัดเวทีกลางแจ้งไว้ให้มีการสาธิตกีฬาไทยและการละเล่นพื้นเมืองไว้ในบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อให้กรมพลศึกษาเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมด้านนี้อย่างแท้จริง
                     4.3.7 ความสำคัญของพลศึกษาทางด้านอาชีพ ในแต่ละชุมชนจะมีอาชีพที่แตกต่างกัน กีฬาบางชนิดสามารถประกอบอาชีพที่มั่นคงได้ ชุมชนมีโอกาสสนับสนุนเยาวชนในการเล่นกีฬาได้มากโดยจะสามารถสนับสนุนอุปกรณ์กีฬาที่ราคาแพงได้เช่น เทนนิส กอล์ฟ แบดมินตัน ทำให้มีโอกาสก้าวหน้าทางด้านพลศึกษาและสังคมกีฬาได้มากกว่าคนที่มีรายได้น้อย
                     4.3.8 ความสำคัญของพลศึกษาทางด้านการเมือง การเมืองก็มีส่วนช่วยในด้านการจัดการพลศึกษาด้วยเช่นกันเพราะระบบการปกครองและการเมืองของประเทศจะเป็นผู้นำทุนที่ได้จากทรัพยากรทางเศรษฐกิจนำมาเป็นทุนในการใช้พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รวมถึงด้านกีฬาด้วย ซึ่งจะต้องได้รับการช่วยเหลือจากงบประมาณแผ่นดินประจำปีและกองทุนต่างๆ ของรัฐบาล                                    
                     4.3.10 ความสำคัญของพลศึกษาด้านศาสนา ศาสนามีบทบาททางด้านพลศึกษาช่วยการฝึกจิตใจ ในการพลศึกษานอกจากจะต้องมีกำลังกายที่แข็งแรงอดทนแล้วยังต้องมีสมาธิในการเล่น จิตใจสงบไม่รบกวนสิ่งรอบข้าง สามารถเห็นได้จากการแข่งขันต่างๆ ถ้าคะแนนการแข่งขันไล่เลี่ยกัน ผู้ที่มีสมาธิควบคุมจิตใจได้ดีกว่ามักจะเป็นผู้มีชัยชนะ ดังนั้นการฝึกจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในการแข่งขันผู้แข่งจะกดดันตนเองหรือถูกกดดันจากคนรอบข้างเพื่อที่ให้ชนะจะทำให้จิตใจนั้นกระวนกระวาย การควบคุมจิตใจจะทำให้เรื่องเหล่านี้ทุเลาลงได้          
       4.4 หลักการพลศึกษา (Principle of Physical Education)
                หลักการพลศึกษาเบื้องต้นที่จำเป็นและสำคัญที่ครูผู้สอนวิชาพลศึกษาควรจะได้รู้และระลึกไว้เสมอเพื่อจะได้นำมาเป็นแนวทางในการเรียนการสอนมีดังต่อไปนี้
                   1. วิชาพลศึกษาเป็นวิชาที่ใช้กิจกรรมพลศึกษาหรือกีฬาเป็นสื่อเพื่อให้ผู้เรียนได้มีการเรียนรู้หรือได้มีพัฒนาการขึ้นและการที่ผู้เรียนจะได้มีการเรียนรู้หรือมีพัฒนาการขึ้นตามที่กล่าวนี้ได้นั้นก็ด้วยการที่ผู้เรียนได้มีโอกาสลงมือเล่นหรือปฏิบัติจริงในกิจกรรมพลศึกษาหรือกีฬาต่างๆ ด้วยตนเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือเมื่อผู้เรียนได้ลงเล่นกีฬาหรือได้ลงมือปฏิบัติจริงในกิจกรรมพลศึกษาต่างๆ ด้วนตนเองแล้ว ผู้เรียนจึงจะเกิดการเรียนรู้หรือพัฒนาการในด้านต่างๆ ขึ้นมาดังนี้
                       1.1 ทำให้ได้ออกกำลังกายและทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้น
                       1.2 ทำให้มีความรู้ ความเข้าใจในวิธีการเล่นและเข้าใจวีธีการที่เกี่ยวกับทักษะกีฬาต่างๆ ที่ง่ายๆ และที่จำเป็นดีขึ้น
                       1.3 ทำให้มีการใช้ทักษะกีฬาต่างๆ ทำให้ได้ฝึกทักษะกีฬาช่วยทำให้มีทักษะการกีฬาเบื้องต้นที่ง่ายๆ ดีขึ้น
                       1.4 ทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสปฏิบัติตามกติกาการเล่นกีฬาและการมีน้ำใจนักกีฬา เป็นผลให้มีระเบียบวินัย มีน้ำใจนักกีฬามากขึ้น
                       1.5 ทำให้ได้รู้รสในความสนุกสนานของการมีส่วนร่วมในการเล่นกีฬา ทำให้มีความรักและชอบการกีฬา เห็นคุณค่าและความสำคัญของการกีฬาอยากเล่นกีฬาและออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันต่อไปอีกเรื่อยๆ
                พัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้ง 5 ด้านตามที่กล่าวนี้เป็นพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในขณะเดียวกับกับที่ผู้เรียนได้ลงเล่นกีฬาด้วยตนเองทั้งสิ้นหรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า ศาสตร์ทางพลศึกษาเป็นวิชาที่เป็นไปตามหลักการเรียนรู้ที่ว่า เป็นการเรียนรู้ด้วยการกระทำหรือการลงมือปฏิบัติจริง (Learning by Doing) นั่นเอง
                   2. ด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้วในข้อ 1 จึงมีสิ่งที่สำคัญ 2 ประการที่ครูพลศึกษาควรจะต้องจำไว้ในเวลาสอนวิชาพลศึกษา คือ
                        2.1 ทุกครั้งหรือทุกคาบของการสอน ครูจะต้องตั้งจุดประสงค์การเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนได้มีพัฒนาการทั้ง 5 ด้านตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ 1 พร้อมๆ กัน คือ
                               2.1.1  ด้านสมรรถภาพทางร่างกาย
                               2.2.2 ด้านความรู้และความเข้าใจในวิธีการเล่นหรือกติกาการเล่นที่ง่ายๆ               
                               2.1.3 ด้านทักษะการเล่นกีฬาที่ง่ายๆ พอเป็นพื้นฐานที่จะนำไปใช้เล่นตามอัตภาพของตนเองได้
                               2.1.4 ด้านคุณธรรม เช่น การมีระเบียบวินัยและการมีน้ำใจนักกีฬา
                               2.1.5 ด้านเจตคติที่ดี คือการเห็นคุณค่าและความสำคัญของการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย
                        2.2 สิ่งที่ครูพลศึกษาจะต้องจำไว้ก็คือในการเรียนทุกครั้งหรือทุกคาบของการเรียนการสอนวิชาพลศึกษานั้น ครูจะต้องจัดกิจกรรมพลศึกษาหรือกีฬาให้ผู้เรียนได้ลงมือเล่นและปฏิบัติด้วยตนเองจริงๆ ทุกครั้งหรือทุกคาบเสมอเพราะการที่ผู้เรียนจะมีพัฒนาการตามจุดประสงค์การเรียนรู้ตามที่ได้วางไว้ดังได้กล่าวมาแล้วหรือไม่จะขึ้นอยู่กับการได้ลงมือเล่นกีฬาหรือปฏิบัติจริงด้วยตนเองเป็นสำคัญ ดังนั้นในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่ดีและถูกต้องครูจึงจำเป็นจะต้องจัดและดำเนินการในการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้ลงมือเล่นกีฬาหรือปฏิบัติจริงด้วยตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
                   3. เหตุผลที่สำคัญเบื้องต้นอย่างหนึ่งในการจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในโรงเรียนตั้งแต่เริ่มแรกนั้นก็คือเพื่อเป็นการสนองความต้องในการออกกำลังกายของนักเรียน เพื่อช่วยให้นักเรียนได้มีสุขภาพที่แข็งแรง มีพลานามัยที่สมบูรณ์เป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่ว่า  ร่างกายของทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายนั้นล้วนต้องการการออกกำลังกายเพื่อรักษาไว้ซึ่งสุขภาพและสมรรถภาพของร่างกายให้ดีและสมบูรณ์อยู่เสมอทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อให้การเรียนการสอนวิชาพลศึกษาได้เป็นไปตามหลักการที่กล่าวมานี้ ในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาทุกคาบหรือทุกชั่วโมงการเรียนการสอนนั้นก่อนอื่นจะต้องมีการเริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนได้ลงเล่นหรือลงมือปฏิบัติจริงในกิจกรรมพลศึกษาต่างๆ ด้วยตนเอง ทั้งนี้อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเป็นการสนองความต้องการการออกกำลังกายของนักเรียนตามที่กล่าวมาแล้วเป็นเบื้องต้นก่อน
                  4. แต่อย่างไรก็ตาม การสอนวิชาพลศึกษาโดยให้นักเรียนได้ออกกำลังกายเพื่อสนองความต้องการของร่างกายตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ 3 นั้น แม้ว่าจะเป็นจุดของการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่สำคัญอย่างหนึ่งก็ตามแต่ก็ยังเป็นการสอนที่ถือว่ายังไม่ได้ผลที่สมบูรณ์เพียงพอเพราะว่าการสอนการเรียนวิชาพลศึกษาแต่ละครั้งนั้นถ้าครูได้จัดและดำเนินการเลือกกิจกรรมและวิธีการเรียนการสอนให้ถูกต้องและเป็นไปตามหลักการพลศึกษาแล้วจะทำให้กระบวนการเรียนการสอนนั้นสามารถบรรลุผลได้หลายด้านควบคู่พร้อมๆ กันไปได้อีก คือนอกจากนักเรียนจะได้ออกกำลังกายเพื่อสนองความต้องการของร่างกายและทำให้ร่างกายแข็งแรงดังที่ได้กล่าวในข้อ 3 แล้ว นักเรียนยังจะได้เกิดการเรียนรู้และผลพลอยได้อื่นๆ ตามมา คือ
                        4.1  มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการเล่นกีฬาและกติกาการเล่นต่างๆ
                        4.2 มีทักษะเบื้องต้นต่างๆ ในการกีฬาสามารถนำไปเล่นในเวลาว่างตามอัตภาพของตนเองได้
                        4.3 มีระเบียบวินัย มีน้ำใจนักกีฬา
                        4.4 เห็นคุณค่า มีความรักและมีเจตคติที่ดีต่อการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายอีกด้วย
            ดังนั้น ในการสอนวิชาพลศึกษาที่ถูกต้องทุกครั้งและทุกคาบการเรียนการสอนนั้น ครูจึงควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตลอดจนวิธีการสอนต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้รับประโยชน์ให้ครบทุกๆ ด้านทั้ง 5 ด้านตามที่ได้กล่าวมาแล้วควบคู่กันพร้อมๆ กันไปด้วย จึงจะสามารถกล่าวได้ว่าการเรียนการสอนนั้นเป็นการเรียนการสอนที่มีความเป็นวิชาพลศึกษาที่สมบรูณ์อย่างแท้จริงได้
            กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือว่าในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่ดีและถูกต้องตามหลักการของการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในแต่ละคาบหรือในแต่ละชั่วโมงที่จะได้ผลสมบรูณ์ที่แท้จริงนั้นก็คือจะต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนได้บรรลุผลหรือได้มีพัฒนาการทั้ง 5 ด้านควบคู่กันพร้อมๆ กันไปในขณะเดียวกันเสมอในทุกคาบการเรียนด้วยดังต่อไปนี้ คือ
                1. ให้นักเรียนได้มีร่างกายแข็งแรง มีสมรรถภาพทางร่างกายที่ดี มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์
                2. ให้นักเรียนได้มีความรู้ความเข้าใจในระเบียบและวิธีการเล่นเบื้องต้นที่ง่ายๆ และที่จำเป็น
                3. ให้นักเรียนได้มีทักษะในการเล่นกีฬาที่จำเป็นและที่ง่ายๆ สามารถนำไปเล่นในเวลาว่างตามอัตภาพของตนเองได้
                4. ให้นักเรียนได้มีคุณธรรมจริยธรรม เช่น การมีระเบียบวินัย การมีน้ำใจเป็นนักกีฬา  เป็นต้น
                5. ให้นักเรียนเห็นคุณค่าและความสำคัญของการเล่นกีฬาตลอดจนการออกกำลังกาย  ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่การมีเจตคติที่ดีต่อการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายต่อไป
           5. วิชาพลศึกษาเป็นวิชาที่สอนเพื่อให้นักเรียนได้นำทั้งความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ในทุก ๆ ด้านที่ได้จากการเรียนมาแล้วไปใช้และปฏิบัติเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองในชีวิตประจำวันทั้งในระหว่างที่เรียนอยู่ในโรงเรียนหรือหลังจากได้เรียนสำเร็จจากโรงเรียนออกไปประกอบอาชีพการงานอย่างอื่นแล้วก็ตามตลอดไปด้วยมากกว่าที่จะเรียนเพื่อรู้หรือเพื่อสอบและได้คะแนนเพียงอย่างเดียว
               ดังนั้น ทุกครั้งของการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาครูจึงจะต้องจัดกิจกรรม จัดบรรยากาศ  และวิธีการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนได้มีทักษะ มีความรู้ความเข้าใจ มีเจตคติที่ดีเพียงพอที่จะทำให้นักเรียนได้มีความผูกพันกับวิชาพลศึกษาและนำผลการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่ได้เรียนไปแล้วนั้นไปใช้ในชีวิตจริงๆ ให้ได้ทุกครั้งไปด้วย
           6. หลักการและอุดมคติของการพลศึกษาที่สำคัญอย่างหนึ่งนั้น คือการพัฒนาเพื่อความเป็นคนที่สมบูรณ์ในสังคมที่มีชีวิตอยู่ เช่น การเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพสมบูรณ์ มีบุคลิกภาพดี  มีน้ำใจนักกีฬา มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีอารมณ์หนักแน่นมั่นคง เป็นต้น ดังนั้นหลักการสอนวิชาพลศึกษาเบื้องต้นที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งอย่างหนึ่งนั้นก็คือ ครูผู้สอนวิชาพลศึกษานั้นนอกจากจะเป็นผู้ที่ที่มีความรู้ความเข้าใจในวิชาพลศึกษาเป็นอย่างดีแล้วก็จะต้องเป็นผู้ที่มีอุดมคติ มีความรัก  และความศรัทธาในวิชาชีพของตนเองอย่างแท้จริงด้วย โดยการทำตนและปฏิบัติตนตามอุดมคติของการพลศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างของการมีอุดมคติให้ผู้เรียนได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมตลอดเวลาด้วย  ตัวอย่างอุดมคติของการพลศึกษาที่ได้พบและเห็นอย่างเป็นรูปธรรมในตัวครูนี้เท่านั้นจะเป็นสิ่งสำคัญช่วยให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของวิชาพลศึกษาอย่างแท้จริงได้
           7. จุดประสงค์การเรียนรู้ทางด้านทักษะกีฬาในชั่วโมงหรือคาบการเรียนวิชาพลศึกษาทั้งในระดับชั้นประถมศึกษาและในระดับชั้นมัธยมศึกษานั้นเป็นกระบวนการเรียนการสอนที่มุ่งเพื่อให้นักเรียนได้มีทักษะทางด้านกีฬาให้สามารถนำไปใช้เล่นในเวลาว่างตามอัตภาพของตนเองเท่านั้น  ไม่ใช่เพื่อให้เล่นกีฬาเก่งให้มากๆ ตามที่มักเข้าใจกัน ดังนั้น การเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในแต่ละครั้งครูจึงควรนำเฉพาะทักษะที่จำเป็นและที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถนำกีฬานั้นไปใช้เล่นในเวลาว่างได้เท่านั้นมาสอน สำหรับนักเรียนที่มีความต้องการที่จะเล่นเก่งในกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งให้มากๆ เป็นพิเศษนั้นควรจะเป็นการเรียนหรือฝึกนอกเวลาเรียนต่างหากหรือจัดให้มีการเรียนการสอนภายหลังจากนักเรียนทุกคนในชั้นเรียนได้เรียนและมีทักษะที่จำเป็นต่างๆ และสามารถเล่นกีฬานั้นๆ ได้หมดทุกคนแล้วเท่านั้น
           8. จุดประสงค์การเรียนรู้สำหรับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาทางด้านทักษะ อาจจะมุ่งเน้นการเรียนในด้านทักษะการเคลื่อนไหวเบื้องต้นทั่วๆ ไปและทักษะพื้นฐานของการกีฬาเพื่อเตรียมพร้อมให้นักเรียนนำไปใช้ในการเล่นเกมมูลฐานและเกมที่จะนำไปสู่การเล่นกีฬาใหญ่ตามระดับความสามารถของนักเรียนแต่ละวัยได้ต่อไปเป็นสำคัญ ส่วนจุดประสงค์การเรียนรู้สำหรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาในด้านทักษะกีฬานั้น ควรจะเน้นให้นักเรียนได้มีทักษะพื้นฐานที่ง่ายๆ ในกีฬาต่างๆ เพื่อให้สามารถนำไปใช้เล่นกีฬาในเวลาว่างได้ตามอัตภาพของตนเองเป็นสำคัญดังได้กล่าวมาแล้วมากกว่าที่จะมุ่งเน้นให้นักเรียนมีความสามารถหรือเก่งกีฬาเพื่อเป็นนักกีฬาหรือตัวแทนไปทำการแข่งขันกีฬาในระดับต่างๆ ได้ กีฬาบางชนิดอาจจะมีทักษะหลายๆ อย่างและทักษะกีฬาบางอย่างก็เป็นทักษะที่ยากๆ ต้องใช้เวลาเรียนและฝึกซ้อมในเวลาเรียนมาก จึงทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำให้นักเรียนสามารถเรียนหรือฝึกทักษะที่ยากๆ เหล่านั้นภายในเวลาที่จำกัดนี้ได้
           9. การเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะต่างๆ ทั้งทักษะการเคลื่อนไหวเบื้องต้นและทักษะทางกีฬา ควรจะเริ่มให้นักเรียนได้เรียนรู้หรือฝึกหัดตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองนักเรียนและครูล้วนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากในการที่จะพัฒนาทักษะเบื้องต้นให้มีขึ้นในตัวเด็กเหล่านั้น ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายโรงเรียนหรืออื่นๆ ควรจะจัดให้นักเรียนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้มากที่สุด เช่น มีสถานที่ในการเดิน การวิ่ง มีอุปกรณ์ในการกระโดด การขว้าง การทุ่มไว้อย่างพร้อมมูลและเพียงพอ การเปิดโอกาสให้เด็กเล็กๆ ได้มีการพัฒนาทักษะเบื้องต้นต่างๆ ในระยะแรกๆ ควรให้เป็นไปตามธรรมชาติของเด็กเป็นสำคัญ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ควรจะให้เป็นไปด้วนความสนุกสนาน ไม่ควรทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ มิฉะนั้นแล้วเด็กจะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายหรือต่อต้านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นๆ ได้
          10. การเรียนรู้ของนักเรียนนั้นจะขึ้นอยู่กับความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจของนักเรียนด้วยคือทางด้านร่างกายของนักเรียนเองก็อยู่ในสภาพที่จะเคลื่อนไหวในกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี  เช่น มีกำลังร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพดี ส่วนทางด้านจิตใจนั้นนักเรียนมีใจจดจ่อรักที่จะเรียน  สามารถจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเคลื่อนไหวหรือการกีฬาต่างๆ ด้วยความเต็มใจการเรียนรู้จึงจะเกิดขึ้น
          11. การเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่จะช่วยให้บรรลุตามจุดประสงค์การเรียนรู้ทั้ง 5 ด้านตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ควรจะมุ่งที่การจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ลงมือเล่นและมีส่วนร่วมในสภาพการณ์ของเกมและกีฬานั้นด้วยความสนุกสนานควบคู่กันไปด้วยให้มากๆ คือแทนที่จะเน้นการแยกทักษะมาฝึกให้ถูกต้องดีเป็นอย่างๆ เพียงอย่างเดียวแล้วจึงจะเล่นเกมได้เพราะการกระทำนั้นอาจจะทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายและในขณะเดียวกันนักเรียนไม่มีโอกาสเรียนรู้ในพฤติกรรมอื่นๆ ที่ควรจะมีในระหว่างกระบวนการเรียนการสอนนั้นๆ ด้วยทักษะกีฬาบางอย่างอาจจะมีความจำเป็นที่นักเรียนควรจะได้มีการฝึกซ้อมก่อนบ้างตามสมควรแต่เมื่อสามารถปฏิบัติได้ดีพอสมควรแล้วก็ควรจะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เล่นเกมหรือกีฬาประเภทนั้นควบคู่ไปด้วยเลย
          12. การเล่นเกมและกีฬาด้วยความสนุกสนานในสภาพจริงในเวลาเรียนนั้นจะมีผลประโยชน์เกิดขึ้นแก่นักเรียนทันทีทันใดโดยตรงพร้อมๆ กันหลายประการด้วยกัน โดยจะขอกล่าวแต่พอสังเขปดังต่อไปนี้
                 12.1 นักเรียนได้เล่นเกมหรือกีฬาด้วยความสนุกสนานตามธรรมชาติและความรู้สึกที่แท้จริงทำให้ได้มีการแสดงออกทั้งทางด้านร่างกายและทางด้านอารมณ์หรือความรู้สึกได้อย่างเต็มที่  นักเรียนจะมีความสนุกสนานในการเรียนและวิธีการนี้จะช่วยให้นักเรียนได้มีความรัก เห็นความสำคัญและคุณค่าของการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย
                 12.2 นักเรียนได้มีโอกาสเล่น มีโอกาสเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายตามธรรมชาติและตามลักษณะของเกมหรือกีฬานั้นๆ ได้อย่างแท้จริง ทำให้ได้ออกกำลังกาย ร่างกายมีความแข็งแรงและมีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
                 12.3 นักเรียนได้มีโอกาสนำความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้เรียนมาใช้เพื่อความสนุกสนานในสภาพการณ์ของการเล่นเกมและกีฬาจริงๆ ทำให้มีความรู้ ความเข้าใจและมีประสบการณ์ต่างๆ ยิ่งขึ้น
                 12.4 นักเรียนได้มีโอกาสปฏิบัติตามกติกาการเล่น ตามระเบียบข้อบังคับที่วางไว้  นักเรียนได้มีการปะทะสัมพันธ์กันในระหว่างเพื่อนๆ ร่วมเล่นด้วยกัน มีการกระทบกระทั่ง มีการรู้จักยับยั้งชั่งใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างผู้เล่นด้วยกันและอื่นๆ อีกมาก ซึ่งสภาพและเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้จะเป็นเครื่องช่วยกล่อมเกลาอุปนิสัยใจคอนักเรียนให้เป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยและมีน้ำใจนักกีฬาต่อไป
                12.5 นักเรียนได้มีโอกาสนำทักษะการเล่นเกมและกีฬามาใช้ในสภาพการณ์จริง ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการฝึกให้นักเรียนมีความชำนาญในทักษะเกมหรือกีฬานั้นๆ  ดียิ่งขึ้นไปในตัวด้วย
                12.6 การที่นักเรียนได้มีโอกาสเล่นด้วยความสนุกสนาน ได้แสดงความรู้ความสามารถและทักษะในการเล่นกีฬาของตนเองในขณะเล่นได้อย่างเต็มที่ ได้แสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาตามความรู้ที่เป็นจริงเช่นนี้เป็นวิธีการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาโดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง  ทำให้นักเรียนได้มีพัฒนาการตามศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่
                12.7 นักเรียนมีความสนุกสนานในการเล่น ได้มีการแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาอย่างเต็มที่ตามความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง ดังนั้นการที่ให้นักเรียนได้แสดงความรู้สึกจริงๆ ของตนเองออกมาเช่นนี้ทำให้ครูสามารถสังเกตพฤติกรรมที่แท้จริงของเด็กแต่ละคนได้เป็นอย่างดี ถ้านักเรียนคนไหนที่มีพฤติกรรมที่ดีครูก็สามารถส่งเสริมและสนับสนุนพฤติกรรมของเด็กนั้นๆ ให้ดียิ่งขึ้นต่อไปอีกและถ้านักเรียนคนไหนมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสังคมก็สามารถแก้ไขได้โดยทันที  มิฉะนั้นก็อาจจะสายเกินแก้ก็ได้ ด้วยเหตุนี้ในหมู่นักสังคมวิทยา นักการศึกษาและการพลศึกษาจึงได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ห้องพลศึกษาคือห้องปฏิบัติการที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของโรงเรียน
                 12.8 ผลดีที่ได้จากการที่จัดให้นักเรียนได้มีโอกาสเล่นในสภาพของการเล่นเกมหรือกีฬาจริงๆ ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือความผูกพันที่นักเรียนจะมีต่อการเรียนวิชาพลศึกษา จะทำให้นักเรียนมีความประทับใจอยากจะมาเรียนหรืออยากจะมาเล่นอีก ถึงแม้ว่านักเรียนได้ออกจากโรงเรียนไปแล้วก็ตาม ความสำเร็จและประสบการณ์ที่ดีๆ ต่างๆ จากการเรียนและการเล่นก็จะฝังอยู่ในใจตลอดเวลา  ทำให้นักเรียนรักและอยากออกกำลังหรือเล่นกีฬาอีกต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่นักเรียนได้เล่นเกมหรือกีฬานั้นไปก็จะทำให้นักเรียนได้มีการเรียนรู้และมีพัฒนาการในด้านต่างๆ พร้อมๆ กันในหลายๆ  ประการ ดังนั้นการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาครูจึงเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยการให้นักเรียนมีส่วนร่วมในสภาพการณ์ของการเล่นเกมหรือกีฬานั้นจริงๆ มากกว่าที่จะเน้นด้วยแบบฝึกทักษะเพียงอย่างเดียว
          13. การสอนวิชาพลศึกษาที่ดีและที่จะบรรลุผลตามที่ได้วางไว้นั้นจะต้องเป็นการสอนที่มีการใช้หลักการทางด้ายวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นแนวทางในการสอนด้วยเสมอ ทั้งนี้เพราะว่าวิทยาศาสตร์การกีฬาจะช่วยบอกให้เรารู้ว่าการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่จะทำให้บรรลุผลดีนั้นควรจะมีหลักการในการสอนนักเรียนในแต่ละระดับนั้นอย่างไร เช่นวิชาสรีรวิทยาการกีฬาจะช่วยบอกให้รู้ว่า  ควรจะเลือกกิจกรรมกีฬาหรือกิจกรรมการออกกำลังกายอะไรจึงจะเหมาะสมกับเพศและวัยและหลักการสำคัญที่ทำให้นักเรียนได้มีความแข็งแรงนั้นมีว่าอย่างไรแล้ววิชาพลศึกษาก็จะเป็นผู้นำกิจกรรมและวิธีการที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงเหล่านี้มาเป็นแนวทางในการสอนนักเรียนในแต่ละระดับชั้นให้เหมาะสมและเป็นผลดีในแต่ละเพศและวัยต่อไป
          14. สำหรับวิชาจิตวิทยาการกีฬา จะช่วยบอกให้รู้ว่าควรจะใช้วิธีการเรียนการสอนอะไรและมีหลักการในการเรียนการสอนอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนได้มีความเข้าใจ  มีทักษะในการเล่นเกมหรือกีฬาได้ง่ายและในขณะเดียวกันนักเรียนก็มีความสนใจ มีความรักในการเล่นกีฬาและไม่มีความเบื่อหน่าย แล้ววิชาพลศึกษาก็จะนำหลักการทางจิตวิทยาการกีฬามาใช้เป็นหลักและแนวทางในการเรียนการสอนกิจกรรมกีฬาและการออกกำลังกายเหล่านั้นต่อไป เช่นเดียวกันเพื่อให้การเรียนการสอนนั้นได้ผลทางด้านการมีน้ำใจนักกีฬาดีขึ้นเพิ่มเติมขึ้นมาอีกผู้สอนวิชาพลศึกษาก็จะนำหลักการทางวิชาสังคมวิทยาการกีฬามาเป็นหลักการและแนวทางในการเรียนการสอนด้วย ดังนั้นวิชาพลศึกษาที่แท้จริงก็คือเป็นวิชาที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์การกีฬามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียนอีกทอดหนึ่งนั่นเองหรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าวิชาพลศึกษาเป็นการนำศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์การกีฬามาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่นักเรียนอีกต่อหนึ่งก็ได้ ดังนั้นวิทยาศาสตร์การกีฬาจึงเป็นหลักวิชาการที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาเป็นอย่างมาก
          15. ในปัจจุบันนี้ได้มีการศึกษาค้นคว้าทำให้มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาในด้านต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาได้อย่างมากมาย เช่น ในด้านสรีรวิทยาการกีฬา จิตวิทยาการกีฬา สังคมวิทยาการกีฬา เวชศาสตร์การกีฬา โภชนาการการกีฬา กลศาสตร์ทางการกีฬาและอื่นๆ อีกเป็นอันมาก ครูผู้สอนวิชาพลศึกษาทุกคนควรจะได้ศึกษาหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์การกีฬาต่างๆ เหล่านี้มาใช้เป็นแนวทางในการเรียนการสอนด้วยทุกครั้ง
          16. วิธีการสอนวิชาพลศึกษามีหลายแบบและหลายวิธีด้วยกันและแต่ละวิธีก็อาจจะเป็นวิธีการสอนที่จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้เพียงอย่างหนึ่งอย่างใดหรือเพียงสองหรือสามจุดประสงค์เท่านั้นและเนื่องจากการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในแต่ละครั้งนั้นเป็นการเรียนการสอนที่มุ่งให้นักเรียนได้มีพัฒนาการในหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กันดังได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นในการเรียนการสอนนักเรียนในแต่ละครั้งนั้นได้บรรลุผลอย่างแท้จริงครูจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการสอนหลาย ๆ วิธีเพื่อช่วยให้การสอนนั้นสามารถบรรลุจุดประสงค์ในหลายๆ ด้านเหล่านั้นไปพร้อมๆ กันด้วย
          17. การเรียนการสอนวิชาพลศึกษานั้นครูควรกำหนดเวลาการเรียนการสอนและมีการกระจายเวลาในการเรียนการสอนให้มีความพอเหมาะพอดีด้วย ตามหลักของจิตวิทยาการกีฬาแล้ว  การเรียนรู้ของนักเรียนจะได้ผลดีขึ้นเมื่อนักเรียนได้มีโอกาสได้เรียนบ่อยๆ ครั้งในระยะเวลาสั้นๆ จะทำให้มีการเรียนรู้ดีกว่าการเรียนเป็นระยะเวลายาวนานแต่เป็นการเรียนที่นานๆ จะมีครั้งหนึ่ง  ตัวอย่างเช่น การเรียนสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 50 นาที จะมีการเรียนรู้ดีกว่าสัปดาห์ละหนึ่งครั้งๆ ละ  150 นาทีติดต่อกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าการที่นักเรียนใช้ระยะเวลาในการเรียนเพียงสั้นๆ นั้นเป็นระยะเวลาที่ร่างกายและจิตใจยังไม่เหนื่อยอ่อนจึงสามารถเรียนรู้ได้ดีตลอดเวลาที่สั้นๆ นั้น และการที่ได้มีโอกาสได้มาเรียนบ่อยๆ ครั้งคือสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสใกล้จะลืมและรื้อฟื้นความลืมได้บ่อยและเร็วขึ้น
          18. ในการสอนนักเรียน ครูควรคำนึงถึงความแตกต่างของอัตราการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนด้วย อัตราความเร็วของการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสามารถของการเรียนรู้ทางด้านทักษะของนักเรียนนั้นมักจะมีความแตกต่างกันในระหว่างบุคคลเป็นอันมาก คือจะมีความแตกต่างกันในด้านระยะเวลาการเรียนและในระดับความยากง่ายของทักษะต่างๆ ตลอดทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจด้วย นักเรียนบางคนอาจจะเรียนได้ดีในระยะแรกๆ แต่พอมาในระยะหลัง ๆ อาจจะเรียนได้ช้าลงๆ และในที่สุดก็ไม่มีความคืบหน้าเลย แต่ในทางกลับกัน นักเรียนบางคนอาจจะเรียนได้ช้ามากในระยะแรกๆ แต่ต่อมาในตอนหลังอาจจะได้เร็วขึ้นๆ ปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นครูจึงควรจะได้ศึกษาหาสาเหตุของความช้าหรือเร็วของอัตราความเร็วของการเรียนรู้เหล่านี้ว่าสืบเนื่องมาจากสาเหตุอะไร ซึ่งบางครั้งอาจจะเนื่องจากวิธีการสอนของครูหรือบางครั้งอาจจะเนื่องจากความยากง่ายของทักษะหรือกิจกรรมที่นำมาสอน ความชัดเจนของจุดประสงค์การเรียนรู้ ความล้าหรือเหนื่อยจากทั้งด้านร่างกายและจิตใจหรือเหนื่อยจากการจำกัดของลักษณะของร่างกายและจิตใจของนักเรียนก็ได้ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อช่วยให้การเรียนการสอนได้บรรลุผลตามที่วางไว้  ครูจึงควรจะรีบศึกษาและแก้ไขสาเหตุต่างๆ ที่มาขัดขวางการเรียนรู้เหล่านี้ตั้งแต่ในระยะแรกๆ
          19. ในการลงมือเล่นหรือในการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองนั้นเพื่อให้นักเรียนได้ทราบสถานภาพของตนเอง ครูควรจะแจ้งให้นักเรียนได้ทราบเป็นระยะๆ ถึงผลของการเรียนของนักเรียนแต่ละคนด้วย การที่นักเรียนได้ทราบผลการเรียนของตนเองนั้นอาจจะช่วยให้นักเรียนได้มีความพยายามและกำลังใจในการที่จะตั้งใจเรียนให้มากขึ้นและผลการเรียนดีก็จะตามมา เช่น ผลการพัฒนาการของสมรรถภาพทางร่างกายในด้านความเร็ว ความทนทานของกล้ามเนื้อ การทรงตัว การดีดตัวอย่างเร็วและแรงของกล้ามเนื้อ เป็นต้น ผลพัฒนาการทางสมรรถภาพของร่างกายด้านต่างๆ  เหล่านี้ นักเรียนแต่ละคนอาจจะเป็นผู้บันทึกด้วยตนเองเพื่อตรวจสอบตัวเองเป็นระยะๆ ไปด้วยก็ได้
          20. แรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจมีความสำคัญต่อการเรียนการสอนวิชาพลศึกษามาก ในการเรียนวิชาพลศึกษา ถ้านักเรียนมีแรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจมากผลการเรียนจะดีขึ้นตามด้วย แต่อย่างไรก็ตามแรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจที่เกิดขึ้นจากภายในหรือความรู้สึกของนักเรียนเองนั้นจะเป็นแรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจที่มีผลดีเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าแรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก แรงกระตุ้นที่เกิดจากภายในหรือความรู้สึกของตัวนักเรียนเอง ได้แก่การเห็นประโยชน์และคุณค่าของการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย ความต้องการในการที่จะรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เป็นต้น แรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจที่มาจากปัจจัยภายนอก ได้แก่  สินจ้างรางวัลจากการเล่นกีฬา ชัยชนะจากการเล่นเพื่อผลประโยชน์หรือประชาสัมพันธ์ตนเอง เป็นต้น
          21. ในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษานั้น ครูผู้สอนควรจะระลึกไว้เสมอว่าความสำเร็จในการเรียนของนักเรียนนั้นมีความสัมพันธ์กันกับความพึงพอใจในการเรียนของนักเรียนมาก คือถ้านักเรียนมีความพึงพอใจในการเรียนมากความสำเร็จในการเรียนของนักเรียนก็จะตามมาด้วย ดังนั้นเพื่อให้การเรียนการสอนได้บรรลุผลดีตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่วางไว้ก่อนอื่นครูผู้สอนควรจัดสภาพการณ์ของการเรียนการสอนให้มีบรรยากาศที่นักเรียนมีความตื่นตัวมีความสนุกสนานอยากที่จะเรียนหรืออยากที่จะมีส่วนร่วมตลอดเวลาด้วย เช่น เริ่มตั้งแต่การจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการ  ความสามารถและความสนใจของนักเรียน มีการเตรียมสถานที่และอุปกรณ์การเรียนการสอนทำให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมด้วยความสนุกสนานได้อย่างทั่วถึงกัน ครูก็สามารถที่จะช่วยเหลือแนะนำนักเรียนได้อย่างทั่วถึงกันและด้วยความเป็นกันเอง เป็นต้น
           22. หลักการที่สำคัญในตอนสุดท้ายที่ครูผู้สอนวิชาพลศึกษาจะลืมไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ  ในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่ดีนั้นจะต้องมีการวัดผลเพื่อประเมินดูว่าการเรียนการสอนนั้นได้บรรลุผลตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่วางไว้หรือไม่มากน้อยเพียงใดด้วยเสมอ ดังนั้นในการที่ครูจะวัดเพื่อประเมินผลการเรียนหรือในการวัดเพื่อให้คะแนนนักเรียน ครูก็ควรจะทำการวัดผลและประเมินผลการเรียนนั้นด้วนวิธีที่ถูกต้องตามหลักการของวิชาพลศึกษาและมีความยุติธรรมแก่นักเรียนทุกๆ คนด้วย เช่น ในการวัดครูควรจะวัดตามจุดประสงค์การเรียนรู้ทั้ง 5 ด้าน คือ ด้านสมรรถภาพทางกาย ด้านความรู้ ด้านทักษะ ด้านคุณธรรมจริยธรมและด้านเจตคติที่ได้สอนไปในแต่ละคาบแล้ว  และถ้าการวัดนั้นเป็นการวัดผลเพื่อให้คะแนนนักเรียน คะแนนที่ให้ควรจะเป็นคะแนนที่ได้จากการวัดผลตามจุดประสงค์การเรียนรู้ทั้ง 5 ด้านๆ ละเท่าๆ กันด้วย (วรศักดิ์ เพียรชอบ. 2548:  248 – 259)
       สรุป
            การเรียนการสอนปรัชญาพลศึกษาก็ดำเนินการโดยให้สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษา ซึ่งเลือกใช้ได้ให้เหมาะสมกับกิจกรรมพลศึกษาได้แก่
               1. ปรัชญาจิตนิยม (Idealism Philosophy) กล่าวถึงความจริงเกิดจากจิตใจ ความจริงเป็นนามธรรม ในแง่พลศึกษาคือผู้เรียนต้องทำให้ได้เหมือนผู้สอนใช้ครูเป็นศูนย์กลาง ในด้านพลศึกษาสามารถนำไปใช้ได้คือการสาธิตทักษะที่ถูกต้อง
               2. ปรัชญาสัจจนิยม (Realism Philosophy) กล่าวถึงความจริงที่เกิดจากการสัมผัส ความจริงเป็นรูปธรรม สัมผัสเตะต้องได้ ในแง่ของพลศึกษาคือผู้เรียนต้องเห็น เข้าใกล้ชิดและสัมผัสอย่างซ้ำๆ ซากๆ จนเกิดความชำนาญ
               3. ปรัชญาปฏิบัติการนิยม (Pragmatism  Philosophy) กล่าวถึงความจริงเกิดจากเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งและนำความรู้ที่ได้ไปใช้กับชีวิตหรือปรับปรุงชีวิตให้สมบูรณ์ ในแง่พลศึกษาคือความสามารถนำกิจกรรมพลศึกษาไปใช้ในชีวิต
               4. ปรัชญาธรรมชาตินิยม (Naturalism Philosophy) พลศึกษาจะต้องจัดให้บุคคลอย่างครบองค์ คือ สอนบุคคลทั้งตัว พลศึกษาในแง่ธรรมชาตินิยมนั้น สามารถพัฒนาทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้เรียนด้วย ฉะนั้น จะต้องจัดการเรียนการสอนที่สร้างสมดุลระหว่างพัฒนาการทางกายกับพัฒนาการทางสติปัญญา ดังนั้นกิจกรรมพลศึกษาที่ดีนั้นจะต้องพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกายและด้านสมอง เพื่อเตรียมตัวพวกเขาให้ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
               5. ปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism Philosophy) กล่าวถึงความจริงเกิดจากความต้องการและความสนใจและคนเราจะทำอะไรได้ก็เกิดจากความต้องการทำนั้นเอง ในแง่พลศึกษาคือคนเราจะเรียนได้ดีต้องให้เขาสนใจก่อนหรือต้องทำให้กิจกรรมพลศึกษากว้าขวางเพื่อให้ผู้เรียนได้เลือกตามที่เขาสนใจ
            ในด้านรากฐานของวิชาพลศึกษา  วิชาพลศึกษาที่มีรากฐานมาจากหลักการทางด้านร่างกาย ทางด้านจิตวิทยาและสังคมวิทยา ในด้านร่างกายกล่าวถึงความสมบูรณ์ของระบบต่างๆ ในร่างกาย การใช้แรงเพื่อให้ได้งาน การฝึกหัดจนเป็นทักษะและการสร้างสมรรถภาพทางกายเพื่อให้ทำงานได้นาน ในด้านจิตวิทยากล่าวถึงกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนสนใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพจากการทำงาน ในด้านสังคมวิทยากล่าวถึงการใช้กิจกรรมพลศึกษาเพื่อประโยชน์ในการปรับตัวและการเข้าร่วมในสังคมที่ดีในปัจจุบันและอนาคต วิชาพลศึกษาเป็นวิชาที่ว่าด้วยกิจกรรมพัฒนาทางด้านร่างกาย ความหมายของพลศึกษาส่วนใหญ่คือการออกกำลังกายในลักษณะต่างๆ ในอันจะสร้างให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ กล้ามเพื่อและประสาททำงานสัมพันธ์กันมากขึ้น นอกจากนี้แล้วลักษณะเฉพาะของวิชาพลศึกษาคือการออกกำลังกายแล้วต้องเกิดผลตามมานั้นคือ ความสนุกสนานและการผักผ่อน
            หลักการพลศึกษามีดังต่อไปนี้
               วิชาพลศึกษาเป็นวิชาที่ใช้กิจกรรมพลศึกษาหรือกีฬาเป็นสื่อ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีการเรียนรู้หรือได้มีพัฒนาการขึ้นและการที่ผู้เรียนจะได้มีการเรียนรู้หรือมีพัฒนาการขึ้นตามที่กล่าวนี้ได้นั้น ก็ด้วยการที่ผู้เรียนได้มีโอกาสลงมือเล่นหรือปฏิบัติจริงในกิจกรรมพลศึกษาหรือกีฬาต่างๆ ด้วยตนเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือเมื่อผู้เรียนได้ลงเล่นกีฬาหรือได้ลงมือปฏิบัติจริงในกิจกรรมพลศึกษาต่างๆ ด้วนตนเองแล้ว ผู้เรียนจึงจะเกิดการเรียนรู้หรือพัฒนาการในด้านต่างๆ ขึ้นมาดังนี้
                 1. ทำให้ได้ออกกำลังกายและทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้น
                 2. ทำให้มีความรู้ ความเข้าใจในวิธีการเล่นและเข้าใจวีธีการที่เกี่ยวกับทักษะกีฬาต่างๆ ที่ง่ายๆ และที่จำเป็นดีขึ้น
                 3. ทำให้มีการใช้ทักษะกีฬาต่างๆ ทำให้ได้ฝึกทักษะกีฬาช่วยทำให้มีทักษะการกีฬาเบื้องต้นที่ง่ายๆ ดีขึ้น
                 4. ทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสปฏิบัติตามกติกาการเล่นกีฬาและการมีน้ำใจนักกีฬา เป็นผลให้มีระเบียบวินัย มีน้ำใจนักกีฬามากขึ้น
                 5. ทำให้ได้รู้รสในความสนุกสนานของการมีส่วนร่วมในการเล่นกีฬา ทำให้มีความรักและชอบการกีฬา เห็นคุณค่าและความสำคัญของการกีฬาอยากเล่นกีฬาและออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันต่อไปอีกเรื่อยๆ 





แบบทดสอบท้ายแผนบริหารการสอนประจำบทที่ 2

คำสั่ง แบบทดสอบมี 2 ข้อ ให้ทำทุกข้อ
        ข้อ 1 ปรัชญาปฏิบัติการนิยม  (Pragmatism Philosophy) นำไปใช้กับพลศึกษาอย่างไร                    
        ข้อ 2 จงบอกรากฐานทางพลศึกษามาให้เข้าใจ                  
         




 เอกสารอ้างอิง

จิตรกร ตั้งเกษมสุข.(2525).  พุทธปรัชญากับการศึกษา.  กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย.
จิราพัฒน์  สิทธิศักดิ์.  (2559).  รากฐานทางพลศึกษา.  สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2559,  จาก
           https://prezi.com/zlcxq9o5raq1/presentation.
ฐิติพงษ์  ธรรมานุสรณ์และคณะ.  (2527).  จิตวิทยาสังคม.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ณัฐวิทย์  พรหมศร.  (2544).  เอกสารประกอบการเรียนวิชาทฤษฎีพื้นฐานการศึกษา  
           (Theoretical  Foundation of Education). สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2559,      
           จาก  https://www.gotoknow.org/posts/492335 .
มหาวิโรภิกขุ.  (2559).  ประโยชน์ของการศึกษาปรัชญา.  สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2559, จาก    
เมธี  ปิลันธนานนท์.  (2550).  ความเป็นครู.  กรุงเทพฯ: วาย.เค.เอช กราฟิค แอนด์ เพรส.
ราชบัณฑิตยสถาน.  (2556).  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554.  พิมพ์ครั้งที่ 2. 
          กรุงเทพฯ: นานมีบุคสพับลิเคชั่นส.
วรศักดิ์  เพียรชอบ.  (2548).  รวมบทความเกี่ยวกับปรัชญา หลักการ วิธีสอนและการวัดเพื่อ
          ประเมินผลทางพลศึกษา.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  
วิจิตร  ศรีสอ้าน.  (2534).  ปรัชญาและพัฒนาการของการศึกษาทางไกลในเอกสารการสอนชุด
          วิชา การศึกษาทางไกล หน่วยที่1.  นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชา
          ศึกษาศาสตร์.
สมัคร  บุราวาศ.  (2544).  ปัญญาวิวัฒน์.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: ศยาม.
สุจริตรา  อ่อนค้อม.  (2545).  ปรัชญา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏธนบุรี.
สุรชาติ  ณ หนองคาย.  (2545).  ปรัชญาไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 6.  กรุงเทพฯ: อักษราพิพัฒน์. 
อรสา  สุขเปรม.  (2549).  การศึกษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏ
          บ้านสมเด็จเจ้าพระยา.
อาทิตตญา  ปิติสาร.  (2559).  ประโยชน์ของปรัชญา.  สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2559, จาก
อุดร  รัตนภักดิ์.  (2559).  หลักปรัชญาพลศึกษา.  สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2559, จาก
           http://opor23.blogspot.com.
อุดม  พิมพา.  (2533).  ปรัชญาพลศึกษา. กรุงเทพฯ: คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
Bucher C. A.  (1964).  Foundations of physical education.  4th ed. St. Louis: Mosby.
George  F. Kneller.  (1971).  Introduction to the Philosophy of Education.  
          4th.  Toronto: John Wiley & Sons. 
James  E. McClellan.  (1976).  Philosophy of Education.  Englewood Cliffs, N.J.: 
            Prentice-Hall.
Roger  Berge.  (1949).  Introduction to community Recreation.  New York:
            McGraw-Hill.
Zeigler  E. F.  (1964).  Philosophical Foundations of Health, Physical Education
           and Recreation.  Eglewood Cliffs:  Prentice-Hall.
.