Saturday 22 September 2018 | 0 comments | By: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติวัฒน์ วัชญากาญจน์

แผนบริหารการเรียนการสอนประจำบทที่ 3 วิวัฒนาการการพลศึกษาประเทศไทย


แผนบริหารการเรียนการสอนประจำบทที่ 3
วิวัฒนาการการพลศึกษาประเทศไทย (1)

เนื้อหา
         1. การพลศึกษาประเทศไทยในยุคแรก
         2. การพลศึกษาประเทศไทยในระยะเริ่มต้นกีฬาสากล
         3. การพลศึกษาในสมัยกีฬาสากล
         4. การพลศึกษาในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
                                                
จุดประสงค์การเรียนรู้
         1. บอกการพลศึกษาประเทศไทยในยุคแรกได้
         2. บอกการพลศึกษาประเทศไทยในระยะเริ่มต้นกีฬาสากลได้
         3. บอกการพลศึกษาในสมัยกีฬาสากลได้
         4. บอกการพลศึกษาในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้

วิธีสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
          1. บรรยายประกอบสื่อ  PowerPoint  เกี่ยวกับเนื้อหาที่กำหนด
          2. แบ่งกลุ่มผู้เรียนศึกษาวิวัฒนาการของการพลศึกษาประเทศไทยในยุคต่างๆ
          3. อภิปรายวิวัฒนาการของการพลศึกษาประเทศไทยในยุคต่าง
          4. สรุปวิวัฒนาการของการพลศึกษาประเทศไทยในยุคต่างๆ
          5. อภิปราย ซักถาม แสดงความคิดเห็นและร่วมกันสรุปบทเรียน
          6. ทำแบบฝึกหัดท้ายแผนบริหารการสอนประจำบท
          7. แนะนำเอกสารประกอบการสอนรายวิชา ตำราและแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมอื่น

สื่อการเรียนการสอน
          1. เอกสารประกอบการสอนวิชาปรัชญาและหลักการพลศึกษา 
          2. PowerPoint เนื้อหาที่สอน
          3. เอกสาร ตำรา หนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติ ปรัชญาและหลักการพลศึกษา 
          4. แบบฝึกหัดท้ายแผนบริหารการการสอนประจำบท
          5. ข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ
การวัดและประเมินผล
           1. ด้านคุณธรรมจริยธรรม
                  1.1 แบบประเมินพฤติกรรมตนเองด้านคุณธรรมจริยธรรม (สำหรับผู้เรียน)
                  1.2 แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านคุณธรรมจริยธรรม (สำหรับผู้สอน)
           2. ด้านความรู้
                   - คะแนนจากแบบทดสอบท้ายแผนบริหารการสอนประจำบท
           3. ด้านทักษะทางปัญญา
                   - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะทางปัญญา (การทำงานรายบุคคล)
           4. ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
                   - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ (การทำงานกลุ่ม)                  
           5. ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
                  - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
           6. ด้านการจัดการเรียนรู้
                 - แบบประเมินพฤติกรรมนักศึกษาด้านทักษะการจัดการเรียนรู้

 บทที่ 3
วิวัฒนาการการพลศึกษาประเทศไทย

            ในสมัยโบราณจากการศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่าการพลศึกษานั้นมีอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด การเล่นบางอย่าง เช่น กระบี่กระบอง มวย ตระกร้อและเกมการละเล่นต่างๆ ตามประเพณีไทยที่นิยมเล่นในเทศกาลต่างๆนั้น อาจเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นได้ว่าชาวไทยหรือชนเผ่าสยามนิยมเล่นกีฬามาแต่โบราณกาล สิ่งบ่งชี้เหล่านี้ถึงแม้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าจะต้องมีการฝึกหัดพลศึกษากันอยู่บ้างในสังคมไทยสมัยโบราณแต่การสืบทอดศิลปะวิทยาการเหล่านี้ก็มีกันมาจนถึงปัจจุบันและหลักฐานบางอย่างที่กล่าวไว้ในพงศาวดารอาจจะมีสิ่งที่สามารถยืนยันให้เราทราบได้ว่ามีการฝึกหัดพลศึกษากันในหมู่ทหารและประชาชนพลเมืองไทย
           
1. การพลศึกษาประเทศไทยในยุคแรก
       ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพชร (2538: 1-5) ได้กล่าวถึงการพลศึกษาไทยในยุคแรกไว้ว่า เนื่องจากสังคมไทยไม่นิยมบันทึกเรื่องราวรายละเอียดกิจกรรมในระดับประชาชนคนธรรมดา จึงไม่มีหลักฐานชัดเจนในรายละเอียดของกิจกรรมกีฬาและการพลศึกษาในสมัยสุโขทัย อยุธยาหรือแม้กระทั่งในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นแต่หลักฐานของกิจกรรมพลศึกษาและการกีฬาในสมัยโบราณนั้น เราอาจเห็นได้ในการบันทึกเรื่องราวระดับชาติและระดับพระมหากษัตริย์ที่มีบันทึกไว้ในพงศาวดารซึ่งได้กล่าวไว้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระปรีชาสามารถในการกีฬามวย
        1.1 การพลศึกษาก่อนสมัยสุโขทัย
              เนื่องจากไทยในสมัยนั้นอยู่ในระหว่างการสร้างประเทศด้วยการทำสงคราม ประมาณปี พ.ศ. 500 ไทยอยู่ตอนใต้ของจีนและแยกกันอยู่หลายกลุ่ม ช่วงที่การปกครองบ้านเมืองไทยมีความอ่อนแอประเทศก็ตกอยู่ใต้อำนาจของประเทศจีน ช่วงใดที่ประเทศไทยเข้มแข็งก็รวมกันได้เป็นอาณาจักร เช่น อาณาจักรน่านเจ้า จากนั้นไทยก็พ่ายแพ้แก่กษัตริย์กุบไลข่าน ประเทศมองโกลเลีย ชาวไทยก็ถอยร่นลงมาทางทะเลจีนใต้ ในสมัยอาณาจักรน่านเจ้ามีความเจริญรุ่งเรืองมาก การปกครองมีแบบแผนมีการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการโดยตั้งบุคลิกและสมรรถภาพ นอกจากนี้แล้วการศึกษาเล่าเรียนจะเรียนในบ้านและวัด ซึ่งผู้สอนส่วนมากเป็นพระแต่ก็ยังมีฆราวาสบางกลุ่มที่สอนวิชาพวกการต่อสู้ป้องกันตัว เช่น วิชาเจิ๋ง (การต่อสู้คล้ายมวยจีน) การรบ เพลงอาวุธและตำราพิชัยสงคราม เป็นต้น ยังมีสิ่งชักจูงใจบางประการที่ได้เห็นรากฐานทางพลศึกษาของไทย คือการละเล่น แบบฉบับของไทยซึ่งเล่นในวันพิธีต่างๆ เช่น มวยไทย กระบี่กระบอง ตะกร้อ วิ่งเร็ว ว่ายน้ำ พายเรือ กิจกรรมเหล่านี้มีมาแต่สมัยโบราณ 

         1.2 การพลศึกษาในสมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1781–1921 )
              ในสมัยสุโขทัยนี้ไทยยังเป็นอาณาจักรเล็กๆ จึงต้องเตรียมกำลังไว้ต่อสู้กับเมืองอื่นๆ เช่น ขุนสามชลเจ้าเมืองฉอด (ตาก) เป็นต้น เมื่อถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประเทศไทยในสมัยสุโขทัยได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง จึงได้ว่างเว้นจากการทำสงครามและในสมัยสุโขทัยการเรียนจะอยู่ในวงจำกัดเฉพาะลูกเจ้าขุนมูลนาย โดยเฉพาะพระราชโอรสของกษัตริย์จำเป็นต้องเป็นนักรบและนักการปกครอง การเรียนต่างๆ จะต้องรอบรู้ดังนี้
                   1.2.1 วิชาการปกครองบ้านเมือง
                   1.2.2 กฎหมาย ประเพณีและความเป็นอยู่ของประชาชน
                   1.2.3 การทำสงคราม การบริหารทัพและการใช้อาวุธต่าง ๆ
                    1.2.4 การรักษาพยาบาล การพูด การประพันธ์ โหราศาสตร์ ดนตรีและประวัติศาสตร์
                   1.2.5 การฝึกร่างกายให้มีความสามารถอยู่เสมอและการรักษาร่างกายให้เข้มแข็ง                   
         1.3 การพลศึกษาสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1921–2310)
               กรุงศรีอยุธยาก่อตั้งมาเป็นเวลา 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ครองราชย์ 34 พระองค์ ในสมัยนี้มีทั้งรุ่งเรืองและล่มสลายเนื่องจากในช่วงสมัยนี้ประเทศไทยมีศัตรูรอบด้านคือ พม่าและขอมคอยหาโอกาสสู้รบเพื่อแย่งดินแดนกันอยู่เสมอ ประเทศไทยจึงมีการเตรียมพร้อมเรื่องกำลังทหารอยู่เป็นประจำ เช่น การฝึกอาวุธ การรบ การต่อสู้ ป้องกันตัว แต่ก็มีกีฬานันทนาการอยู่บ้าง เช่น การล่าสัตว์ การคล้องช้าง การฟ้อนรำและการเล่นต่างๆจึงพอจะแยกกล่าวเป็นตอนๆ ดังนี้
                1.3.1 สมัยพระเจ้าอู่ทอง กีฬาที่นิยมมากที่สุดคือ การเล่นว่าว จนว่าวของประชาชนตกไปยังพระราชฐาน จึงได้ออกกฎหมายห้ามประชาชนเล่นว่าวในบริเวณพระราชฐาน นอกจากนี้การพลศึกษาก็ยังต้องใช้กันอยู่ในระบบทหาร     
                1.3.2 สมัยพระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยนี้เท่าที่ปรากฏการพลศึกษาอยู่ในด้านการฝึกทหารมากที่สุด ดังจะเห็นได้จากการจัดการทหารของพระองค์มีพลเดินเท้า พลทหารม้า พลทหารช้าง ทหารเหล่านี้จะต้องฝึกตนเองให้มีระเบียบวินัยและมีสมรรถภาพในการทำงานของตนอยู่เสมอ
                1.3.3 สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์เป็นนักรบที่มีความสามารถ การพลศึกษาจึงมีการฝึกเฉพาะในกองทหารเพื่อการรบ การฝึกทั่วไปก็เพื่อการรบราฆ่าฟันและป้องกันตนเองทั้งสิ้น
                1.3.4 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมหาราชก็นำการพลศึกษาเข้าสูกองทหารเช่นกันแต่พระองค์ก็ยังได้มีการส่งเสริมกีฬาต่างๆ เช่น การแข่งเรือและการชกมวย เป็นต้น

         
         1.4 การพลศึกษาในสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2310–2324)
                 ในสมัยนี้การปกครองอยู่ในระหว่างการสร้างกรุงใหม่และการกอบกู้เอกราชตลอดจนการป้องกันข้าศึกศัตรู การละเล่นที่เป็นการกีฬาจึงขาดหายไปแต่การพลศึกษาจะเข้าแทรกอยู่ในการทหาร (ธวัชชัย สุหร่าย. 2523: 13)
         1.5 การพลศึกษาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2324–ปัจจุบัน)
                 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 เป็นยุคแห่งการรุ่งเรืองทางด้านนักปราชญ์ กาพย์ โคลง กลอนและการแต่งวรรณคดี ส่วนการละเล่นกีฬาต่าง ๆ เช่น ว่าวและกีฬาพื้นบ้านนั้นจะเล่นกันเฉพาะในหมู่ข้าราชบริพารในเขตพระราชวังเท่านั้น (ฟอง เกิดแก้ว. 2520: 58)
                    
2. การพลศึกษาในสมัยเริ่มต้นกีฬาสากล (พ.ศ. 2411 - 2453)
         ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพชร (2538: 17-20) ได้กล่าวถึงการพลศึกษาไทยในสมัยเริ่มต้นกีฬาสากลไว้ว่า นับตั้งแต่กิจกรรมกีฬาสากลได้แพร่หลายในประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา กีฬาสากลในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมและเป็นที่สนใจของประชาชนอย่างกว้างขวางควบคู่กับกีฬาพื้นบ้านหรือกีฬาประเพณีมาโดยตลอด ในการดำเนินการกีฬาในสมัยนั้น ได้รับพระราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยการส่งเสริมกีฬาเพื่อเป็นแนวทางการสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาตลอดจนการรับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยเหลือการกีฬาในประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้โดยมีกระทรวงธรรมการ หรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบเป็นผู้ดำเนินการโดยเริ่มต้นจากการนำวิชาพลศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาการทหารในโรงเรียนนายร้อยทหารบก ดังภาพ 3.1

  

ภาพ 3.1 การฝึกวิชาพลศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก
ที่มา: (คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 2557: 25)

          กิจการกีฬาในประเทศไทยได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง กีฬาชนิดต่างๆได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างแพร่หลาย การเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาระหว่างประเทศในขณะนั้นเป็นการดำเนินงานของสมาคมกีฬา ยังไม่มีหน่วยงานกีฬาของรัฐให้การสนับสนุนเช่นเดียวกับนานาประเทศ การเข้าแข่งขันของทีมกีฬาไทยจึงมักจะประสบปัญหาด้านงบประมาณและไม่บรรลุผลเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ บุคคลในวงการกีฬาของไทยในสมัยนั้นประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่สนใจในกีฬาและเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมกีฬาต่างๆ และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศไทยควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบการกีฬาของประเทศในภาครัฐบาลขึ้นโดยเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ด้านนโยบายของประเทศตลอดจนดูแลและประสานงานส่งเสริมกีฬาระดับประชาชนให้ประชาชนได้เล่นกีฬาอย่างกว้างขวางและมีโอกาสคัดเลือกนักกีฬาที่มีศักยภาพไปแข่งขันกับต่างประเทศ ดังลำดับความเป็นมาดังนี้ (http://pc54504pethirat05.blogspot.com.2559: Online)
           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411-2453) ทรงครองราชย์ยาวนานถึง 42 ปี ทรงเป็นที่ยอมรับของคนไทยทั่วไปว่าพระองค์ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอายประเทศ มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในแผ่นดิน ได้แก่ การปกครอง การเมือง การคมนาคม การทหาร การเกษตร การติดต่อกับต่างประเทศ การศาล และการศึกษา เป็นต้น ซึ่งการศึกษานี้พระองค์ทรงเริ่มให้มีการศึกษาแบบมีระบบ โดยมีโรงเรียน ชั้นเรียน หลักสูตร ครู-อาจารย์ จึงทำให้การพลศึกษาได้รับการสนับสนุนส่งเสริมอย่างมีระบบไปด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มยุคต้นกีฬาสากล รัชกาลที่ 5 ทรงส่งเสริมกีฬาไทยและกีฬาสากลไว้ดังนี้
                 2.1 การส่งเสริมกีฬาไทย
                       2.1.1 มวยไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นคุณค่าของกีฬาประจำชาติ จึงจัดให้มีการแข่งขันกีฬาเพื่อให้เกิดการนิยมกีฬาไทยขึ้น เช่น การแข่งขันมวยไทย กระบี่-กระบอง ฟันดาบ แข่งเรือ ว่าว ตะกร้อ เป็นต้น พระองค์ทรงส่งเสริมกีฬาไทยอย่างจริงจังและแพร่หลายไปทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการคัดเลือกคนที่มีร่างกายล่ำสัน แข็งแรง สง่างามมีฝีมือมวยไทยอย่างดีเข้ามาเป็นทหารรักษาพระองค์ สังกัดกรมนักมวยหรือกรมทนายเลือก ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้พระมหากษัตริย์และอยู่เวรยามในพระราชวัง ในหนังสือพจนานุกรมให้ความหมายของคำว่า ทนายเลือกไว้ว่า “นักมวยสำหรับป้องกันพระเจ้าแผ่นดิน ชื่อกรมกรมหนึ่งสำหรับนักมวย” รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสอธิบายถึงหน้าที่กรมทนายเลือกไว้เป็นใจความว่า เป็นทหารรักษาพระองค์ ต้องนอนประจำเวรในพระบรมมหาราชวัง เมื่อมีที่เสด็จพระราชดำเนินทางบก ทางเรือ ในการสงครามหรือในการประพาส ก็เป็นพนักงานที่จะต้องแห่ล้อมประจำการในที่ใกล้เคียงพระองค์ เวลาเสด็จออกท้องพระโรงก็ต้องเข้าเฝ้าก่อนขุนนางอื่น ๆ กรมทนายเลือกเป็นกรมที่คัดเอาแต่คนที่ล่ำสันมั่นคง มีฝีมือชกมวยดีให้เดินแห่ตามเสด็จไปในที่ไกลๆได้ ป้องกันอันตรายโดยไม่ต้องใช้อาวุธ เช่น จับคนลอบทำร้าย จับคนบ้า เป็นต้น การตั้งกรมทนายเลือกขึ้นนั้นเหตุด้วยพระเจ้าแผ่นดินโปรดทรงมวย เลือกหาคนที่มีฝีมือดีไว้เป็นเพื่อนพระองค์ สำหรับเสด็จปลอมแปลงไปในที่ใดที่ไม่ควรจะใช้การป้องกันตัวด้วยอาวุธแต่เมื่อแห่เสด็จโดยปกติก็ถือหอกเหมือนกรมพลพัน (กรมพลพันเป็นตำรวจภายในคล้ายทหารรักษาพระองค์แต่ต้องประจำเวรอยู่ชั้นนอกออกไปเสมอกับกรมพระตำรวจหน้า) ทนายเลือกหรือพวกนักมวยที่จัดเป็นทหารรักษาพระองค์นั้นเห็นจะมีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินที่ขึ้นลือชาว่าชอบกีฬามวยก็คือพระเจ้าเสือ ปรากฎตามพระราชพงศาวดารว่าชอบปลอมแปลงพระองค์เป็นราษฎรสามัญไปชกมวยตามที่ต่างๆ อยู่เสมอ รัชกาลที่ 5 ได้มีการฝึกหัดมวยไทยแพร่หลายตามหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มี “มวยหลวง” ขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อทำการฝึกสอนกีฬามวยไทยจัดการแข่งขันชกมวยและควบคุมการจัดการแข่งขันชกมวยด้วย คำว่า มวยหลวง นี้ รวมถึงกีฬาไทยต่างๆ โดยทั่วไปรวมทั้งกระบี่กระบอง เป็นต้นและทรงให้ผู้ที่มีฝีมือทางด้านนี้เป็นหัวหน้าผู้ที่ได้เป็นมวยหลวงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด เงินปีและไม่ต้องเสียส่วยอากรใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อมีงานหลวง งานพระราชพิธี ต่างๆ เช่น งานกันต์ งานผนวชนาคหลวง งานพระเมรุมาศหรืองานต้อนรับแขกเมืองก็ออกหมายเรียกให้นำคณะมวยไทย คณะกระบี่กระบองมาร่วมแสดงในงาน เช่น หมื่นมวยแม่นหมัด หมื่นชงัดเชิงชกและหมื่นมวยมีชื่อ เป็นต้น การเปรียบคู่มวยสมัยนั้นไม่มีการชั่งน้ำหนัก ไม่กำหนดส่วนสูงและอายุ เมื่อสมัครใจทั้งสองฝ่ายแล้วก็ชกกันได้ (ถวิลวงศ์ บุญหงส์. 2513: 33)
                      2.1.2 กีฬาว่าว รัชกาลที่ 5 ยังทรงโปรดการแข่งขันว่าวเป็นอันมากทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตลอดทั้งประชาชนทั่วไปมีความสนใจนำว่าวเข้าทำการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานเป็นจำนวนมาก กีฬาว่าวไทยในสมัยนั้นจึงเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแข่งขันที่หน้าพระที่นั่ง ขณะการแข่งขันมีแตรวงทหารและพิณพาทย์เล่นกันเป็นที่สนุกสนาน ว่าวจุฬาหรือปักเป้าฝ่ายใดชนะจะได้รับพระราชทานพวงมาลัยให้เป็นเกียรติและยังมีการพระราชทานเลี้ยงให้แก่ผู้ชนะอีก เรียกว่าเป็นงานใหญ่งานหนึ่งในสมัยนั้น                          ได้มีการบันทึกการแข่งขันว่าวไว้ว่าในปี พ.. 2425 ได้จัดการแข่งขันที่สนามวัดโคก (วัดเทพศิรินทร์ในปัจจุบัน) ต่อมาย้ายไปเล่นที่สนามวังนอกหรือวังสระปทุมและได้ย้ายไปอีกหลายแห่ง จนกระทั่ง ปี พ.. 2442 จึงเริ่มย้ายมาแข่งขันกันที่สนามหลวง โดยมีพลโทพระยาสโมสรสรรพการ (ทัต ศิริสัมพันธ์) เป็นนายสนาม (บุญรอดบริวเวอร์รี่กับการกีฬา. 2526: 56) ต่อมาพระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพร่างระเบียบการแข่งขันว่าวขึ้นและตราออกเป็นข้อบังคับเรียกว่า กติกาการเล่นว่าวสนามหลวงสวนดุสิต” ขึ้นในรัตนโกสินทร์ศก 125 (พ.. 2449) กติกาเหล่านี้คงใช้เป็นหลักในการแข่งขันกีฬาว่าวจนตราบเท่าทุกวันนี้ แต่บางแห่งกล่าวว่าทรงได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการแข่งขันและวางกติกาการแข่งขันขึ้นไว้ตั้งแต่ ปี พ.. 2443 กติกาเหล่านี้ก็คงจะใช้เป็นหลักในการแข่งขันกีฬาว่าวจนตราบเท่าทุกวันนี้เช่นกัน การแข่งขันว่าวเป็นศิลปะซึ่งต้องการฝึกหัดอย่างช่ำชอง ต้องใช้ชั้นเชิงความสามารถในการอาศัยทิศทางลมให้ฝ่ายตนได้เปรียบ ผู้กำกับว่าวจะต้องชักสูงขึ้นไปในอากาศ นอกจากนี้ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วโดยอาศัยประสบการณ์ ในรัชกาลของพระองค์มีการตั้ง สมาคมกีฬาสยาม ขึ้นมาดำเนินการเกี่ยวกับกีฬาไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมกีฬาไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก แต่มิได้จดทะเบียนเป็นหลักฐาน(ถวิลวงศ์ บุญหงส์. 2513: 14)
                      2.1.3 กระบี่กระบอง รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้มีการประลองความสามารถด้านกระบี่กระบอง พลองและดาบหน้าที่ประทับอยู่เสมอ ทรงเสด็จทอดพระเนตรและพระราชทานรางวัลแก่ผู้เข้าเล่นตามสโมสรต่างๆ บ่อยครั้งประชาชนจึงได้มีโอกาสชมการแข่งขันนี้โดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชม เพราะอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยตลอด
                2.2 การส่งเสริมกีฬาสากล
                       จากการที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้งและการส่งพระราชโอรสไปทรงศึกษาความรู้ในต่างประเทศ พระองค์และพระราชโอรสทรงนิยมกีฬาสากล ดังปรากฏการบันทึกไว้ในราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยกีฬา พ.. 2440 ทำให้ชาวไทยเริ่มรู้จักและนิยมกีฬาสากลมากขึ้น เช่น มีการแข่งขันกรีฑา ฟุตบอลและจักรยานเป็นต้น ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่างครู นักเรียนและประชาชน ในช่วงนี้ปรากฏว่านายดับบลิว ซี จอห์นสัน (W. C. Johnson) ได้เป็นที่ปรึกษากระทรวงธรรมการ เป็นผู้มีบทบาทในการวางรากฐานกีฬาไทยและกีฬาสากลในโรงเรียนไว้มากมาย โดยได้เริ่มให้มีการแข่งขันกรีฑานักเรียนและครูที่ท้องสนามหลวง พ.. 2440 และยังมีการแข่งขันฟุตบอลนักเรียน ครู เยาวชน และประชาชน รวมทั้งการแข่งขันจักรยาน เกมเบ็ดเตล็ดต่างๆด้วย
                     2.2.1 กีฬาโครเกต์ (Croquet) รัชกาลที่ 5 ทรงสนพระราชหฤทัยและโปรดปรานกีฬาของชาวยุโรป คือ การเล่นโครเกต์ ดังในบันทึกหนังสือราชการ พ.. 2418 (ร..94) ว่าในวันเสาร์ เดือนอ้าย แรม 23 ค่ำ ปีกุน สัปตศกหรือจุลศักราช 1237 “ครั้นเวลาเที่ยงเศษครานั้น รัชกาลที่ 5เสด็จออกจากท้องพระโรง พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ครู่หนึ่งแล้วได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าในสวนข้างพระที่นั่งพร้อมด้วยพระน้องยาเธอประพาสในสวน ทรงตีลูกลอดห่วง (โครเกต์) ประทับอยู่ในนั้นจนบ่ายโมงเศษ (สมบัติ พรายน้อย. 2512: 20)
                     2.2.2 กีฬากรีฑา กระทรวงธรรมการได้จัดการแข่งขันกรีฑานักเรียนที่ท้องสนามหลวงเป็นครั้งแรก รัชกาลที่ 5 และพระราชินีนาถทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแข่งขันกรีฑาครั้งนี้เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.. 2440 ดังปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ (Bangkok Time) ส่วนที่พิมพ์เป็นภาษาไทยในคอลัมภ์เบ็ดเตล็ดมีความว่าเมื่อวันที่ 11 เดือนนี้ เวลาบ่าย 4 โมง พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินประทับที่พลับพลาท้องสนามหลวง นักเรียนตามโรงเรียนทั้งหลายในมณฑลกรุงเทพฯ ได้มาประชุมถวายคำไชยมงคลแล้วนักเรียนได้มีการเล่นแข่งขันต่างๆ หน้าพระที่นั่งและจุดดอกไม้ไฟญี่ปุ่น ครั้นเวลา 5 โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมราชินีนาถ ทรงรถพระที่นั่งเที่ยวทอดพระเนตรบริเวณทุ่งพระเมรุและบริเวณสนามสถิตยุติธรรม ครั้นย่ำค่ำก็เสด็จกลับสู่พระบรมราชวัง” การจัดงานกรีฑานักเรียนเพื่อแสดงความปิติยินดีของประชาชนที่มีต่อพระองค์ในการเสด็จกลับจากยุโรปและพระบรมราชินีนาถได้รักษาราชการแทนพระองค์ด้วยความเรียบร้อยตลอดมา การแข่งขันกรีฑานักเรียนและครูซึ่งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษได้ลงข่าวไว้ดังนี้ “The School Sports. The Student’s Welcome to the King” การแข่งขันครั้นนี้มีของรางวัลมากมาย เช่น นาฬิกาเรือนทอง ถ้วยเงิน ชุดสากล กระเป๋า หีบเงิน สมุดเก็บรูปถ่าย นาฬิกา เหรียญ ฯลฯ รายการแข่งขันมี 14 ประเภท การแข่งขันกีฬานักเรียนครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการแข่งขันประจำปีของกรมศึกษาธิการในปีต่อๆ มาได้จัดการแข่งขันกรีฑาระหว่างนักเรียนและครูเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอและถือเป็นประเพณีจัดการแข่งขันกรีฑาประจำปีจนถึงปัจจุบันนี้ ต่อมามีการแข่งขันชักคะเย่อและให้รางวัลเริ่มแต่ปี พ.ศ. 2443 (The Bangkok Time. 1898: 1-2)
                     2.2.3 กีฬาฟุตบอล การแข่งขันฟุตบอลในงานกรีฑานักเรียนเริ่มเป็นทางการในปี พ.ศ. 2443 จนกติกาการเล่นฟุตบอลได้ตราขึ้นไว้ เรียกชื่อว่า “กติกาฟุตบอลล์ 119” และให้ถือปฏิบัติว่า “ฟุตบอลล์ เป็นการเล่นที่เป็นพลศึกษาส่วนหนึ่ง” ในการแข่งขันฟุตบอลที่สนามหลวง แต่เดิมจะกำหนดไว้จะแข่งขันกันที่สนามโรงเรียนราชวิทยาลัย (King’s College) การแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้เป็นครั้งแรกในเมืองไทยและทีมกรมศึกษาธิการซึ่งได้แก่ชาวอังกฤษที่พำนักอยู่ในพระนครและมีคนไทย 4 - 5 คนผสมอยู่ในทีม ได้ลงทำการแข่งขันกับทีมบางกอก เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเปลี่ยนสนามแข่งขันมาเป็นที่สนามหลวงเพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าควรเล่นกันให้สนุกสนานและเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ชมโล่ห์สำหรับการแข่งขันฟุตบอลในระยะแรกๆ วางเกณฑ์ไว้ว่าถ้าผู้เข้าแข่งขันมีอายุไม่เกิน 20 ปีทั้งหมด โล่ห์นี้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงเรียนที่ชนะเลิศ 3 ปีติดต่อกัน แต่ไม่มีโรงเรียนใดได้โล่ห์เป็นกรรมสิทธิ์มีแต่โรงเรียนที่ได้จารึกชื่อลงไว้ในโล่ห์เท่านั้น
                     2.2.4 การแสดงยุทธกีฬา เป็นการแข่งขันกีฬาอันเกี่ยวกับทหารหน่วยต่างๆ โดยมากเป็นการแข่งขันกีฬาแบบง่ายๆ และแข่งขันเกี่ยวกับทหารโดยตรง ยุทธกีฬาจัดว่าเป็นงานอันยิ่งใหญ่ของทหาร กระทรวงกลาโหมได้กำหนดระเบียบว่าด้วย “ข้อบังคับยุทธกีฬา ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2540) เพื่อส่งไปยังหน่วยต่างๆ ก่อนการแข่งขันและในปีเดียวกันกระทรวงกลาโหมได้เปิดให้มียุทธกีฬาขึ้นที่สนามหลวง ได้มีแขกผู้มีเกียรติตลอดจนทูตานุทูตประเทศต่างๆ ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจำนวนมาก สูจิบัตรการแสดงได้พิมพ์ออกเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ                     เมื่อเสร็จการแข่งขันแล้วพระราชทานรางวัล นอกจากนี้ยังมีชาวต่างประเทศที่เข้ามาพำนักในประเทศไทยได้นำกีฬาสากลเข้ามาเล่นและแข่งขันกันในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกหลายชนิด ทำให้การพลศึกษามีความหมายเด่นชัดขึ้น กีฬาสากลเหล่านี้ ได้แก่ จักรยาน กระทรวงธรรมการได้จัดการแข่งขันจักรยานนักเรียนขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2441 ต่อมาปรากฏว่ามีการแข่งขันจักรยาน 2 ครั้ง เท่านั้น (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. 2510: 15)
                   2.2.5 กีฬายูโด (ญูญิตสู) ได้เริ่มเข้าสู่ประเทศไทย พ.ศ. 2450 โดยพ่อค้าทันตแพทย์ชาวญี่ปุ่นชื่อนายกิโยฟูยีหรือเกี่ยว เข้ามาประกอบอาชีพพ่อค้าในบริษัทมิตซุยนุสเชนไดยาและทันตแพทย์เอนโด ในยามว่างก็เล่นกีฬายูโดที่ตนชอบเป็นการออกกำลังกาย ต่อมามีเพื่อนๆ ชาวไทยมาดูและมาขอฝึกยูโดมากขึ้น
                   2.2.6 กีฬารักบี้ฟุตบอล คงจะเข้ามาเล่นในเมืองไทยพร้อมๆ กับฟุตบอล เพราะในการเล่นฟุตบอล พ.ศ. 2443 ยังกล่าวกันถึงกติกาการเล่นฟุตบอลไม่ใช่รักบี้ฟุตบอล สนามแข่งขันใช้ทุ่งพระเมรุและใน พ.ศ. 2443 กีฬานี้ได้เล่นอย่างจิงจังที่ราชกรีฑาสโมสร มีผู้เล่นเป็นชาวยุโรปและชาวอังกฤษหลายคนได้มอบถ้วยรางวัลรักบี้ฟุตบอลให้ราชกรีฑาสโมสร
                    2.2.7 กีฬาบาสเกตบอล ได้มีการเริ่มเล่นบาสเกตบอลซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า “บัสเกตบอล”  ได้มีการเริ่มเล่นในราว พ.ศ. 2444 ในโรงเรียนมัธยมพิเศษคริสเตียนไฮสคูลมาก่อน (ปัจจุบันคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) แต่เป็นการเล่นภายในโรงเรียนเท่านั้นยังไม่มีการแข่งขันอย่างเป็นทางการแต่ทางภาคใต้มีการเล่นอย่างแพร่หลายจนมีการแข่งขันใน พ.ศ. 2452 ที่โรงเรียนมณฑลภูเก็ต ต่อมากระทรวงธรรมการจัดให้มีการเล่นบาสเกตบอลในโรงเรียนขึ้น
                     2.2.8 กีฬากอล์ฟ เป็นกีฬาของชาวยุโรป ซึ่งชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งได้นำเข้ามาเล่นในรัชกาลของพระองค์ ต่อมาได้มีคนไทยร่วมเล่นด้วยเป็นการร่วมเล่นทางสังคม ความนิยมจึงอยู่ในวงจำกัดและได้พระราชทานพระบรมราชานุญาติเปิดสนามกอล์ฟแห่งแรกในประเทศขึ้นที่ทุ่งพระสุเมรุ (สนามหลวง)
                     2.2.9 กีฬายิมนาสติก เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากเพราะช่วยสร้างเสริมกำลังกายก่อให้เกิดกระฉับกระเฉง ความอ่อนตัว ความคล่องตัวและรักษาร่างกายให้มีทรวดทรงที่เหมาะสม  เป็นกีฬาที่ไม่ต้องการเครื่องมือแต่บางกิจกรรมต้องใช้เครื่องมือเฉพาะอย่าง แต่ก่อนมีชื่อเรียกที่หลากหลายว่า “วิชาการหัดร่างกาย วิชาการฝึกหัดร่างกาย วิชาการฝึกซ้อม วิชาดันตัว วิชากายกรรมและวิชาดัดตนส่วนห้อยโหน” กระทรวงธรรมการได้จัดวิชาดังกล่าวไว้ในหลักสูตรโรงเรียนสามัญ พ.ศ. 2441 ส่วนในหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อยทหารบก เริ่มเรียนใน พ.ศ. 2430 และต่อมาได้ส่งเสริมให้มีการแข่งขันยิมนาสติกระหว่างนักเรียนขึ้น
                     2.2.10 กีฬาฮอกกี้ ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าเข้ามาในประเทศไทยเมื่อไร แต่ปรากฏว่าชาวยุโรปได้เล่นฮอกกี้ที่ราชกรีฑาสโมสรเป็นเวลานานแล้วและมีการแข่งขันครั้งแรกที่ราชกรีฑาสโมสรในปี  พ.ศ. 2447 นอกจากนี้ยังมีชาวอินเดียได้จัดการแข่งขันฮอกกี้ขึ้นเป็นครั้งคราวและบางโอกาสได้แข่งขันกับทีมราชกรีฑาสโมสรด้วย สำหรับคนไทยไม่ค่อยนิยมเล่นฮอกกี้
                      2.2.11 กีฬาโปโล เป็นกีฬาตะวันตกที่นิยมเล่นกันในหมู่เจ้านายและข้าราชการตั้งแต่รัชกาลที่ 5 โปโลได้รับการเล่นเป็นครั้งแรกในเมืองไทยโดยนักกีฬาชาวอังกฤษจากเมืองปีนังเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการพระราชโองการของรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้มีการจัดตั้งสโมสรโปโลแห่งแรกขึ้นภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ ยังคงเป็นที่นิยมของโปโลจำกัดเฉพาะชาวต่างชาติในประเทศไทยและสมาชิกในสังคมไทย
               2.3 วัตถุประสงค์ของพลศึกษา
                         การเรียนการสอนพลศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ ในรัชกาลที่ 5 เพื่อให้นักเรียนมีความแข็งแรง มีน้ำใจเป็นนักกีฬา มีระเบียนวินัย สามารถทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะโดยส่วนรวมได้เพื่อให้วัตถุประสงค์ดังกล่าวบรรลุเป้าหมายจึงให้นักเรียนได้เรียนระเบียบแถว หัดกายบริหาร ดัดกายการทหารและกีฬาประเภทต่างๆ เช่น กรีฑาและยิมนาสติก เป็นต้น                    วิชาพลศึกษาในสมัยนี้เดิมเรียกว่าการหัดร่างกาย การฝึกหัดร่างกายและการฝึกซ้อมร่างกายเป็นลักษณะการบริหารกายตามแบบยุโรป คือ ฝึกหัด (Drill) ต่อมาเรียกวิชาดัดตนจึงมีความหมายกว้าง เช่นเดียวกับคำว่าพลศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและบางทีก็เรียกว่า วิชาการทหาร ทั้งนี้เพราะการดัดตนเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงใช้ตามกรมกองทหารมาก่อน
                         สวัสดิ์ เลขยานนท์ (2514: 15) ได้กล่าวสรุปการแข่งขันกรีฑานักเรียนที่ท้องสนามหลวงเมื่อ พ.ศ. 2440 ไว้ดังนี้ เป็นอันนับว่าการเล่นกีฬาบางประเภทฉบับสากลนิยมได้ก่อกำเนิดขึ้นในราชอาณาจักรเป็นเผดิมเริ่มแรกโดยไม่จำต้องกล่าวว่าการเล่นกีฬาพื้นเมือง เป็นต้นว่า การแข่งเรือพายนั้นเราได้มีกันมาตั้งแต่เดิมอย่างมิต้องสงสัย การเล่นกีฬาของเราไม่เพียงแต่ความสนุกสนานและเพิ่มพูนพละกำลังหากแต่ได้เสริมสร้างวัฒนธรรมควบคู่กันไปด้วย อาทิเช่นการแข่งขันเรือพายของเรานั้นเมื่อแข่งเสร็จถึงแพ้ชนะกันแล้ว ฝ่ายที่แพ้ไม่ว่าหญิงหรือชายฝีพายทั้งรำและร้องเพลงขึ้นก่อนอำนวยอวยชัยให้พรแก่ฝ่ายชนะ ครั้นแล้วฝ่ายที่ชนะก็ร้องเพลงสนองตอบวัฒนธรรมประการนี้เป็นวัฒนธรรมไทยแท้
                         เมื่อ พ.ศ. 2444 นอกจากจากมีการแข่งขันกรีฑาระหว่างนักเรียนแล้วยังมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างนักเรียนเป็นครั้งแรกโดยระบุคติธรรมขึ้น สำหรับบครูและนักเรียนใส่ใจไว้ว่า ในการเล่นของเราเช่นนี้ เราจะขัดเกลาให้เกิดคุณงามความดี 4 อย่าง คือ
                            1. ใจนักเลง (Fair Play) ต่อสู้กันซึ่งหน้า ไม่ลอบกัด ไม่แว้ง ถึงแพ้ก็ไม่อาฆาต ถึงชนะก็ไม่เย้ยเยอะ
                            2. สามัคคี หมายเอาชนะด้วยการรวมกำลังกันทั้งพวก ไม่อวดดีหรือคิดเอาชนะลำพังตน
                            3. อาจหาญ การที่ได้หันหน้าเข้าสู่อันตรายอยู่บ้างย่อมกำจัดเสียซึ่งความขลาด
                            4. ขันติ ความเพลี่ยงพล้ำแต่ต้นมือไม่ควรถือเป็นเหตุให้ท้อใจ
              2.4 หลักสูตรวิชาพลศึกษา
                    2.4.1 หลักสูตรวิชาพลศึกษา ในปี พ.ศ. 2430 มีโรงเรียนเพิ่มมากขึ้นแต่ระเบียบการศึกษายังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยจึงมีการตั้งกรมศึกษาธิการขึ้นโดยรับโอนงานมาจากกรมมหาดเล็กหลวง ซึ่งเป็นผู้ดูแลการศึกษามาตั้งแต่เริ่มต้นตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในปี พ.ศ. 2414 ต่อมากรมศึกษาธิการเปลี่ยนฐานะเป็นกระทรวงธรรมการใน พ.ศ. 2435 การศึกษาจึงเริ่มเข้าสู่ระบบโรงเรียนตั้งแต่นั้นมา สำหรับหลักสูตรวิชาพลศึกษาในประเทศไทย คงได้ดำเนินการเรื่องหลักสูตรและการเรียนการสอนกิจกรรมวิชาพลศึกษามานานแล้ว เพียงไม่มีการอ้างอิงแต่สันนิษฐานว่าต้องมีการฝึกหัดหรือฝึกเล่นกิจกรรมทางกายอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอนเพราะการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่เด็กสนใจมากพร้อมทั้งเป็นความต้องการของธรรมชาติในการเคลื่อนไหวร่างกายอย่าเสมอ โดยเฉพาะกิจกรรมทางกายเกี่ยวกับการวิ่ง การกระโดด เกมเบ็ดเตล็ด วิ่งเปี้ยว ชักคะเย่อ วิ่งกระสอบ วิ่งสามขา เป็นต้น รวมทั้งกายบริหารด้วยเพราะกิจกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์มากนักและเป็นกิจกรรมง่ายๆ เด็กเล่นได้เป็นส่วนใหญ่ (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. ศ.1/35: 105)
                          การเสด็จทอดพระเนตรกรีฑาที่ท้องสนามหลวง พ.ศ. 2430  จัดโดยกระทรวงธรรมการได้มีการจัดแข่งขันระหว่างโรงเรียนและระหว่างครู ได้แก่ วิ่งระยะต่างๆ วิ่งข้ามรั้ว กระโดดไกล กระโดดสูงและเกมเบ็ดเตล็ด นอกจากนี้ยังปรากฏว่าก่อนที่จะมีการชุมนุมกรีฑาครั้งใหญ่ครั้งนี้ ทางโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ได้มีการแข่งขันกีฬาภายในอยู่เป็นประจำแล้ว ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ให้ให้ความสนใจและถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่ง (สวัสดิ์ เลขยานนท์. 2514: 20) จากหลักฐานเหล่านี้พอจะเชื่อได้ว่าการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาจะต้องมีมานานแล้ว จึงจัดการแข่งขันกีฬาขึ้นได้และยิ่งเป็นการจัดแข่งขันหน้าพระที่นั่งจะต้องมีการตระเตรียมเป็นเวลานานและพร้อมที่จะแสดงความสามารถทางการกีฬาได้อย่างดี นักเรียนจะต้องได้รับการอบรมสั่งสอนและฝึกซ้อมมาอย่างดีจึงจะมีความรู้ในกฎระเบียบและกติกาการเล่นและการแข่งขันอย่างดียิ่งและถูกต้องมาก่อนจึงจะสามารถเล่นได้อย่างถูกต้องและพร้อมเพรียงต่อหน้าพระที่นั่ง แต่ตามหลักฐานที่ปรากฏในหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อยทหารบก ปี พ.ศ. 2430 มีวิชาหัดกายกรรม (พลศึกษา) ไว้ในหลักสูตรทั้งหมด 12 วิชา การฝึกหัดกายกรรมมีการนำแถว วิ่งดัดตนท่ามือเปล่า ว่ายน้ำ ฟันดาบสากล (ดาบทหารม้า) และยิมนาสติก ซึ่งมีร้อยโทคิดคาเดียน (Kidkadian, LT) เป็นผู้ฝึกสอน ในปีต่อมาได้เพิ่มวิชาต่างๆ ไว้ในหลักสูตรวิชาพลศึกษาอีก 3 วิชา คือ ฟันดาบ ว่ายน้ำ และยิมนาสติก (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. 2510: 21)
                          พ.ศ. 2437 ทางโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้บรรจุ จ.ส.ต. หยิน พลนิเทศ ในตำแหน่งผู้ฝึกหัดดัดตน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมากและมีวุฒิทางพลศึกษาโดยตรง ทั้งยังเป็นครูฝึกพลศึกษาคนไทยคนแรกของโรงเรียน ท่านมีความชำนาญในวิชายิมนาสติก วิชาฟันดาบสากล ได้รับยศและบรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็นร้อยเอกขุนเจนกระบวนหัด ตามหลักสูตรพลศึกษาที่จัดไว้ในในระบบโรงเรียนของกระทรวงธรรมการได้เริ่มจัดให้มีครั้งแรกเมื่อ วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2441 ตามโครงการศึกษาสำหรับชาติ ร.ศ. 117 ปัจจุบันคือแผนการศึกษาชาติฉบับแรกของไทยว่าด้วยการศึกษาและลำดับชั้นเรียน โดยกำหนดวิชาการหัดร่างกายไว้ในคติการเล่าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาชั้นต่ำ กำหนด 3 ปี (คติการเล่าเรียนเทียบได้กับหลักสูตรปัจจุบัน) และมีวิชาการหัดร่างกายไว้ในคติการเล่าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาชั้นต่ำ กำหนด 3 ปี และวิชาฝึกซ้อมร่างกายไว้ในคติการเล่าเรียนในโรงเรียนไทยเบื้องกลางมัธยมศึกษา มีกำหนด 4 ปี (กระทรวงศึกษาธิการ. 2507: 25)
                            พ.ศ. 2445 กระทรวงธรรมการได้ปรับปรุงโครงการศึกษา พ.ศ. 2441 สำหรับหลักสูตรพลศึกษาได้บรรจุไว้ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาโดยให้สอนวิชากายริหาร(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2524: 55)
                            พ.ศ. 2448 มีหลักสูตรวิชาพลศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ได้แก่ รายวิชากายบริหาร ซึ่งการฝึกหัดวิชานี้ยกเว้นให้นักเรียนที่ถือเพศบรรพชิตและยกเว้นบางสิ่งบางอย่างในตัวนักเรียนที่มีร่างกายอ่อนแอและมีโรคประจำตัว (กระทรวงธรรมการ. 2448: 21)
                            พ.ศ. 2450 มีหลักสูตรพลศึกษาที่ใช้ในโรงเรียนมัธยมศึกษาในระยะนั้น คือหลักสูตรมัธยมศึกษาพิเศษ กำหนดให้เรียนวิชาพลศึกษา คือ หัดระเบียบแถวทั้งเดินแถวและแปรแถว ดัดกาย หัดวิ่ง หัดกระโดดในวิธีต่างๆเพื่อซ้อมกำลังและยิมนาสติก (กระทรวงธรรมการ. 2450: 24)
                            พ.ศ. 2452 มีหลักสูตรวิชาพลศึกษาระดับประถมศึกษา คือ หลักสูตรมูลศึกษาเรียนเป็นเวลา 2 ปี หรือ 3 ปี อายุตั้งแต่ ปีที่ 7 ถึงปีที่ 9 วิชาที่เรียนสมัยนั้นเรียกว่า การทหาร ความมุ่งหมายชั้นต้น คือ การเข้าแถว เดินแถวและดัดกายนั้น ย่อมทำให้เส้นเอ็นยึดและเปลี่ยนอิริยาบถจากการที่นั่งทำงานมากๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเจริญตามปกติอย่างหนึ่ง ทั้งเพื่อประโยชน์ในการฝึกหัดกับทำตามคำสั่งโดยว่องไวและให้รู้จักกระทำกิจกรรมร่วมกันพร้อมเพรียงกันและรู้จักฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งตามหน้าที่ (กระทรวงธรรมการ. 2452: 26)
                            ในปีนี้กระทรวงธรรมการได้เริ่มจัดตั้งสถานศึกษาวิชาพลศึกษาสำหรับครูขึ้นมาเป็นครั้งแรกที่สามัคยาจารย์สมาคม ในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบ เรียกว่า สโมสรบริหารกายเป็นโรงเรียนวิสามัญเทียบชั้นประถมในสมัยนั้น ต่อมา พ.ศ. 2456 ได้ปรับปรุงเป็นโรงเรียนเอกเทศขึ้น เรียกว่า ห้องพลศึกษากลางซึ่งจัดให้มีการสอนวิชาพลศึกษาแก่ครูผู้ที่สนใจในเวลาเย็นเพื่อนำไปสอนนักเรียนอีกทอดหนึ่ง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกส่งร้อยเอกขุนเจนกระบวนหัด และร้อยโทขุนรณอุทรภักดี สับเปลี่ยนกันไปสอน ซึ่งสอนหนักไปทางวิชายิมนาสติกและมวยไทยเท่านั้น (กระทรวงศึกษาธิการ. 2507: 26)           
               2.5 การเรียนการสอนวิชาพลศึกษา
                     การเรียนการสอนของหลักสูตรวิชาพลศึกษา อาจแบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะก่อน พ.ศ. 2441 ซึ่งระบบการศึกษายังไม่เป็นรูปแบบแน่นอน ถึงจะมีโรงเรียนเพิ่มมากขึ้นทั้งในเขตกรุงเทพและหัวเมือง แต่การสอนส่วนใหญ่ต้องอาศัยพระสงฆ์เป็นผู้สอนกันตามวัดเพราะโรงเรียนตั้งอยู่ในเขตวัดนั้นเอง ดังนั้นการสอนวิชาพลศึกษาจึงเป็นไปได้ยาก นอกจากปล่อยให้นักเรียนฝึกหัดเล่นกันเองในเวลาว่าง สำหรับครูที่เป็นคนสามัญก็มีน้อยมากเพราะประเทศขาดเงินงบประมาณและไม่มีสถาบันผลิตครูพลศึกษาโดยตรง แต่สันนิษฐานว่าคงมีการเรียนการสอนโดยครูทั่วๆ ไปบ้างเพราะใน พ.ศ. 2440 ได้มีการแข่งขันกรีฑานักเรียนหน้าพระที่นั่ง ซึ่งต้องใช้เวลาในการเรียนการสอนและฝึกหัดมาเป็นเวลานาน ก่อนที่จะมีหลักสูตรปรากฏเป็นหลักฐานใน พ.. 2441 หลังจาก พ.ศ. 2441 เป็นต้นไปได้มีการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาอย่างกว้างขวางทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและมีสถาบันการผลิตครูพลศึกษาในปลายรัชกาลที่ 5 โดยมีการเรียนการสอนวิชาการดัดตัว วิชากายบริหาร เรียกกว่าวิชาทหาร การเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในสมัยนั้นได้มีพระยาสุนทรพิพิธ ได้เขียนเล่าเหตุการณ์การจัดการระเบียบการศึกษาที่ท่านได้เรียนมาโดยเฉพาะการกีฬา ไว้ดังนี้ (เชย สุนทรพิพิธ. 2514: 24)
                       2.5.1 โรงเรียนวัด เริ่ม พ.ศ. 2441–2442 เด็กอายุ 7-8 ขวบ จะเริ่มเรียนหนังสือกับพระที่วัดบางสะแกนนอก (จังหวัดฉะเชิงเทรา) ครูผู้สอนคือพระภิกษุ ให้เรียนหนังสือมูลบทและมีการท่องหนังสือตอนค่ำก่อนกลับบ้าน ส่วนการเล่นนอกจากจะได้ความรู้จากหนังสือ ความประพฤติเป็นไปในทางธรรมแล้วยังได้ความรู้ในการเล่นอีกหลายอย่างทั้งที่เป็นกีฬาและไม่เป็นกีฬา สิ่งที่ได้เล่นคือ หยอดหลุม (โยนหลุม) ทอยกอง ต้องเต ล้อต๊อก ตี่จับ ไม้หึ่ง ลูกหิน ลูกข่าง และตะกร้อ ในสมัยนั้นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชอบเล่นโยนหลุมและล้อต๊อกมากที่สุด ดังนั้น การเรียนการสอนวิชาพลศึกษายังไม่มีรูปแบบเพราะโรงเรียนวัดทั้งหลายครูผู้สอนเป็นพระจึงไม่อาจสอนวิชาพลศึกษาได้ คงปล่อยให้เล่นกันเองซึ่งกิจกรรมพลศึกษาที่นักเรียนได้เล่นมักเป็นกิจกรรมที่อยู่ในความนิยมขณะนั้นหรือเล่นตามประเพณีนิยม
                        2.5.2 โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข เริ่ม พ.. 2443-2446 เด็กอายุ 9-12 ปี โดยเริ่มเรียนหนังสือมูลบทบรรพกิจจบและเริ่มจินดามณี เลขหลวง หัดร้องเพลง ที่โรงเรียนได้หัดเล่นว่าว มีว่าวดุ๋ยดุ่ย ว่าวอีลุ้ม ว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า
                        2.5.3 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เริ่ม พ.ศ. 2446-2448 เด็กอายุ 12-14 ปี เรียนถึงมัธยม 3 ก็เป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนแล้ว มีโรงยิมนาสติก มีสนามพอจะเล่นเป็นฟุตบอลได้ หัดแถวและหัดกายบริหาร มีหม่องหลวงเล็ก อิศรางกูร (ภายหลังได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงเชษฐพลศิลป์) และครูแฉ่งซึ่งปัจจุบันเรียกว่าครูพลศึกษาเป็นครูฝึกแถว หัดอาทิตย์ละ 2 วัน วิชายิมนาสติกมีเรียนห่วงคู่ด้วย เมื่อถึงวันหัดต้องแต่งเครื่องแบบตามกำหนด กีฬาฟุตบอลเป็นที่นิยมเล่นมาก แม้หยุดพักเที่ยงแดดร้อนจัดก็ยังมีคนเล่นอยู่ กีฬาอื่นๆ ที่เล่นก็มีปิงปองและตะกร้อ การเล่นฟุตบอลในสมัยนั้นใช้ลูกบอลยางเล็กๆ บ้าง ใช้ส้มโอขนาดย่อมมาคลึงให้น่วมเป็นลูกบอลใช้เตะกัน เมื่อครูแฉ่งเห็นก็ซื้อลูกบอลให้ 1 ลูก เป็นที่สนุกสนานและพึงพอใจมากฟุตบอลเริ่มเล่นในโรงเรียนสามัญกันแล้ว                                             
                     2.5.4 โรงเรียนมหาดเล็ก เริ่ม พ.ศ. 2449-2452 เด็กอายุ 15-18 ปี มีบันทึกของกรมศึกษาธิการเกี่ยวกับการสอนวิชาพลศึกษาของครูใน พ.ศ. 2425 ว่าการสอนของครูคือ หัดดัดกายตามวิธีในแบบเรียนกายบริหาร การดัดตนเช่นนี้สำหรับโรงเรียนมูลควรมีบ่อยๆ ในระหว่างเล่าเรียนและหัดได้ในที่เรียนนั่นเอง เพื่อให้เป็นการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถของเด็ก เด็กเล็กๆ ย่อมต้องการมากกว่าเด็กโต การเปลี่ยนอิริยาบถเช่นนี้เพียงบอกให้นั่ง ยืน ชูแขนซ้าย  เปิดหนังสือ ปิดหนังสือ หยิบปากกาฯลฯ ให้นักเรียนทำไวๆ พร้อมๆ กัน สัก 2 - 3 นาที แล้วให้เรียนวิชาต่อไป ความตั้งใจของนักเรียนก็อาจดีขึ้นและลืมความเบื่อหน่ายในการเรียนที่เรียนมาแล้วจนเหนื่อยนั้นได้ แท้จริงการฝึกเพียงที่กล่าวนี้ควรมีได้ไม่ว่าโรงเรียนไหน ด้วยไม่ต้องการที่อื่นนอกจากห้องที่เรียนอยู่นั่นเองและที่สุดจะไม่ต้องมีตำรับตำราก็ได้ เพียงแต่เห็นนักเรียนเรียนเหนื่อย ต้องการเปลี่ยนอิริยาบถเมื่อใดก็บอกให้ทำพร้อมๆ กันให้เป็นการปลุกใจและเปลี่ยนอิริยาบถอื่นนั้น ในสมัยนั้นได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในการพัฒนาการของเด็กเล็กเป็นอย่างดี จึงจัดหลักสูตรให้คำแนะนำในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาได้อย่างเหมาะสมและเป็นรากฐานของการจัดหลักสูตรและกิจกรรมของวิชาพลศึกษาถึงปัจจุบันด้วย (กรมศึกษาธิการ. 2452: 66)                              
               2.6 การจัดการพลศึกษาในระบบการเรียนการสอน
                     ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา นับเป็นช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในสังคมไทยทุกด้านเนื่องจากการหลั่งไหลเข้ามาของอิทธิพลและวัฒนธรรมตะวันตกทำให้ต้องมีการปรับปรุงประเทศในทุกด้าน พระองค์ทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องปรับปรุงเพื่อที่จะก้าวหน้าไปสู่ความทัดเทียมกับนาอารยประเทศ ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือความมั่นคงของประเทศจึงต้องปรับปรุงประเทศอย่างรีบด่วน ทางด้านการทหาร การปกครอง การสื่อสารคมนาคมได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษและสิ่งที่จะทำให้การปรับปรุงกิจการดังกล่าวเกิดขึ้นได้คือ การศึกษา แต่ประเทศยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความคิดใหม่ๆ ดังนั้นการศึกษาในระยะต้นรัชกาลจึงเป็นการศึกษาเพื่อผลิตคนสนองความต้องการทางบุคลากรของรัฐบาล โดยการผลิตคนเข้ารับราชการนั่นเอง เช่น โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก โรงเรียนราชแพทยาลัย โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์  โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นต้น ต่อมาจึงได้มีโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรแห่งแรกได้จัดขึ้นที่วัดมหรรณพาราม ในปี พ.. 2427 โรงเรียนที่ตั้งขึ้นใหม่โดยให้วัดมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพิ่มจำนวนมากขึ้น (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2524: 43)
                     นอกจากนี้ยังมีสามัคยาจารย์สมาคมอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยจัดการอบรมให้ความรู้แก่ครูผู้สนใจการกีฬาหรือต้องการไปสอนวิชาพลศึกษา เรียกว่าสโมสรกายบริหาร พ.ศ. 2452 ดังภาพ 3.2


ภาพ 3.2 อาคารสามัคคยาจารย์สมาคม
ที่มา: (คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 2557: 26)

                     ตามหลักฐานหลักสูตรพลศึกษาเริ่มใช้ในโรงเรียนนายร้อยทหารบกเป็นแห่งแรกเพราะประเทศต้องการกำลังคนทางด้านการทหารมากเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากการรุกรานของประเทศมหาอำนาจตะวันตกและการขาดแคลนงบประมาณรวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาด้วย ในสมัยนั้นหลักสูตรวิชาพลศึกษาเรียกว่า วิชาหัดกายกรรม ประกอบด้วยการนำแถว วิ่ง ดัดตนท่ามือเปล่า ว่ายน้ำ ฟันดาบสากลและยิมนาสติก
                      ใน พ.ศ. 2441 กระทรวงธรรมการจึงจัดทำโครงการศึกษาในกรุงสยามขึ้นเป็นฉบับแรก (แผนการศึกษาชาติ) และเริ่มใช้อย่างจิงจัง ดังนั้นการเรียนการสอนทุกวิชาจึงเป็นแบบแผนขึ้นรวมทั้งวิชาพลศึกษา ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า วิชาหัดร่างกาย วิชาการฝึกหัดร่างกายและวิชาฝึกซ้อมร่างกาย ไว้ในคติการเล่าเรียน (หลักสูตร) ในโรงเรียนประถมศึกษาระดับต่ำ โรงเรียนไทยเบื้องต้นระดับสูงและในโรงเรียนเบื้องกลางมัธยมศึกษาตามลำดับและต่อมาได้มีการปรับปรุงวิชาเหล่านี้เป็นวิชากายบริหาร วิชากีฬาต่างๆ และวิชาการทหาร
              2.7 การจัดพลศึกษานอกระบบการศึกษา
                    วิชาพลศึกษามีอยู่ในนอกระบบการศึกษามานานแล้ว เช่นการศึกษาวิชากระบี่กระบอง ดาบ ง้าว พลอง มวยไทย มักจะได้มาจากสำนักต่างๆ ทั้งในวังและสำนักของประชาชน ในสมัยของพระองค์ได้มี มวยหลวงทำหน้าที่ฝึกหัดและสอนกีฬาไทยให้แก่คนไทยทั่วไปทั้งในเมืองและตามหัวเมืองทั่วประเทศ สำหรับในวังก็มีกรมนักมวยหรือกรมทนายเลือกเพื่อทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้พระมหากษัตริย์และอยู่เวรยามในพระราชวัง ผู้ที่จะเข้ามาเป็นทหารรักษาพระองค์สังกัดกรมนักมวยต้องได้รับการคัดเลือกมาอย่างดี คนที่มีร่างกายล่ำสัน แข็งแรง สง่างามและมีฝีมือมวยไทยอย่างดีเยี่ยม เมื่ออยู่ในพระราชวังก็ต้องฝึกหัดมวยไทยอยู่เสมอเพราะกรมนักมวยจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกหัดมวยไทยให้กับทหารและดำเนินการฝึกสอนมวยให้กับพระราชโอรสรวมทั้งข้าราชการด้วย
                    สามัคยาจารย์สมาคม ได้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2445 และประกาศตั้งเป็นสมาคมอย่างถูกต้องเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2447 ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการสามัคยาจารย์สมาคม ซึ่งได้มีส่วนช่วยส่งเสริมการพลศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะมีแผนกสโมสรกายบริหาร ส่วนใหญ่มีครูเป็นสมาชิก ปี พ.ศ. 2452 ได้จัดให้มีการเรียนการสอนวิชาพลศึกษานอกเวลาราชการ ได้แก่ วิชายิมนาสติก ยูโด (ญูญิตสู) และมวยสากล (มวยฝรั่ง) และมีการออกจดหมายเหตุของสมาคมเป็นรายปักษ์ ต่อมากลายเป็นหนังสือพิมพ์รายเดือนเรียกว่าวิทยาจารย์เพื่อเป็นความรู้ทางด้านวิชาการแก่ครู นอกจากนี้ยังจัดการแข่งขันกีฬาประจำปีระหว่างสมาชิกด้วยกัน
                    รอยัลบางกอกสปอร์ตคลับ (Royal Bangkok Sport Club) สระปทุมวัน (ในรัชกาลที่ 6 เปลี่ยนชื่อเป็นสโมสรราชกรีฑาและปัจจุบันเรียกว่า ราชกรีฑาสโมสร) ได้เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่ พ.. 2433 มีกิจกรรมกีฬาเป็นส่วนใหญ่ บริการสมาชิกทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สโมสรได้มีส่วนช่วยการพลศึกษาอย่างมากในการช่วยยกระดับมาตรฐานการกีฬาต่างๆ ก่อนมีการแข่งขันต้องมีการฝึกหัดและเล่นอออกกำลังกายกันก่อนระหว่างสมาชิกทำให้ได้นักกีฬาที่มีความสามารถส่งไปแข่งขันภายนอกได้ สำหรับกีฬาที่ได้จัดแข่งขันในสมัยนั้นได้แก่ การแข่งขันม้า เริ่ม พ.. 2444 รักบี้ฟุตบอลเริ่ม พ.ศ. 2447 ฮอกกี้เริ่ม พ.ศ. 2447 ฟุตบอลเริ่ม พ.ศ. 2448 และเทนนิสเริ่ม พ.ศ. 2451 เป็นต้น
                    นอกจากนี้ยังมีสมาคม วาย เอ็ม ซี เอ (Y.M.C.A., “Young Men’s Christian Association) ชาวอังกฤษได้นำหลักการและวิธีการของค่าย วาย เอ็ม ซี เอ เข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ พ.. 2435 ครั้งแรกสมาคมตั้งอยู่บุญจิตศิลปาคารมีทั้งชาวไทยและต่างประเทศดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมทางพลศึกษาและกิจกรรมนันทนาการแต่ความนิยมในกิจกรรมต่างๆ ในขณะนั้นยังอยู่ในวงแคบ
              2.8 การจัดการแข่งขันกีฬา
                    การจัดการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ มีปรากฏหลักฐานในรัชกาลที่ 5 ซึ่งส่วนใหญ่หน่วยราชการจะเป็นผู้จัดขึ้นโดยให้นักเรียน ประชาชนและข้าราชการเข้าร่วมการแข่งขัน ดังอาศัยหลักฐานและการค้นคว้าของสวัสดิ์ เลขยานนท์ (2515: 25) ผู้เขียนเรื่องศตวรรษแห่งการกีฬาและรายงานประจำปีของกระทรวงธรรมการเป็นสำคัญ
                    การแข่งขันกรีฑาของกรมศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.. 2440 ณ ท้องสนามหลวง ในการถวายการต้อนรับการเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปได้สำเร็จลุล่วงด้วยความเรียบร้อยสมความปรารถนาเพราะก่อนที่จะมีการชุมนุมแข่งขันกรีฑาครั้งใหญ่คราวนี้ทางโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ได้มีการแข่งขันกีฬาภายในอยู่เป็นประจำแล้ว ส่วนโรงเรียนอื่นให้ความสนใจและถือเป็นกิจกรรมอันสำคัญยิ่ง ได้ส่งนักเรียนเข้าแข่งขันทุกประเภท จนไม่สามารถจัดให้แข่งขันเสร็จลงในวันเดียวได้ จึงต้องจัดให้มีการแข่งขันรอบแรกในวันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2440 จนเหลือเพียงรอบสุดท้ายจึงทำให้ผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านรอบแรกได้รู้เข้าใจ ทำให้การแข่งขันดำเนินไปด้วยความรวดเร็วไม่ติดขัด ภายใต้การบังคับบัญชาของท่านที่ปรึกษาคือนายจอห์นสัน (Mr. Johnson) โดยมีบรรดาครูเป็นผู้ช่วย นายสนาม นายทะเบียนสนาม ผู้บันทึก ฯลฯ ผู้ตัดสินได้แก่ นายคาร์เตอร์ (Mr. Carter) นายสปัน (Mr. Span) นายสมิทช์ (Mr. Smith) และนายเทรย์ (Mr. Trays) ล้วนเป็นชาวต่างประเทศทั้งสิ้น กีฬาที่จัดแข่งมี 14 ประเภท
                  การแข่งขันกรีฑา พ.ศ. 2441 และ พ.ศ. 2442 และการแข่งขันกรีฑาระหว่างนักเรียนและระหว่างครู อาจกล่าวได้ว่าเป็นการแข่งขันกีฬาในประเทศไทยที่มีหลักฐานปรากฏการบันทึกไว้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาว่า การเฉลิมพระชนมพรรษา ภาคที่ 2 วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้เชิญพระบรมวงศานุวงศ์ ราชทูต กงสุล ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและชาวต่างประเทศ ไปประชุมที่โรงเรียนเด็กเล็กในการพระราชทานรางวัลนักเรียน เวลาบ่าย 4 โมง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ เสด็จทอดพระเนตรการละเล่นต่างๆ และประทานรางวัลแก่นักเรียนพอสมควรแล้วเสด็จกลับพระบรมมหาราชวังและการเฉลิมพระชนมพรรษา ภาคที่ 2 วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 เป็นวันกำหนดที่จะมีการพระราชทานรางวัลนักเรียนที่โรงเรียนเด็กเล็ก เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้ดำเนินการออกใบเชิญตามธรรมเนียม เวลาบ่าย 3 โมง ท่านผู้ได้รับเชิญไปประชุมพร้อมกันเวลาบ่าย 4 โมงเศษ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสีมา เสด็จออกทรงพระที่นั่งไปประทับที่โรงเรียนเด็กเล็กทอดพระเนตรการละเล่นของนักเรียนพอสมควรแล้วก็เสด็จกลับ สมเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช ได้ประทานรางวัลแก่นักเรียนต่อไป
                  การแข่งขันกรีฑา พ.ศ. 2443 กรมศึกษาธิการได้จัดในวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2443 ณ สนามโรงเรียนเด็กเล็ก ในงานนี้ได้จัดแข่งขันกรีฑาและแจกประกาศนียบัตรครูพร้อมรางวัลประจำปี พ.ศ. 2442 สำหรับการแข่งขันกรีฑาในปีนี้มีกีฬาหลายประเภทได้แก่ ชักคะเย่อ แข่งหนทางสองเส้น แข่งหนทางสิบเส้น กระโดดไกล กระโดดสูง ขว้างไกล แข่งสวมกระสอบ แข่งสามขาและแข่งจักรยาน รางวัลที่แจกไห้ผู้ชนะเลิศสำหรับชักคะเย่อได้แก่ โล่ห์เงินประดับไม้จารึก โรงเรียนที่ชนะรักษาไว้เป็นเกียรติแก่โรงเรียน 1 ปี จนกว่าจะมีการแข่งขันกรีฑานักเรียนกันใหม่ นับได้ว่าเป็นโล่ห์รางวัลการแข่งขันกีฬารางวัลแรกของประเทศไทย
                 ส่วนกีฬาประเภทอื่นๆ รางวัลที่ 1 ได้แก่หนังสือและเหรียญจารึกรูปคนวิ่งหรือกระโดดหรือขว้างหรือรูปจักรยานตามประเภทรูปกีฬานั้นๆ และรางวัลที่ 2 ได้แก่ หนังสือ ส่วนแข่งสวมกระสอบและแข่งสามขา รางวัลที่ 1 ได้แก่ นาฬิกาพกและรางวัลที่ 2 ได้แก่ หนังสือ ในปีนี้ได้มีกติกาเล่นฟุตบอลและถือว่าการเล่นฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขันกรีฑานักเรียนจะมีโล่ห์เงินสำหรับให้เป็นเกียรติกับโรงเรียนที่ชนะเป็นที่ 1 ให้เก็บรักษาไว้หนึ่งปีจนกว่าจะถึงเวลาแข่งขันในปีต่อไป ถ้าโรงเรียนใดชนะที่หนึ่งเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน โล่ห์จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงเรียนนั้นๆ ผู้เข้าแข่งขันอายุไม่เกิน 20 ปี ตามข้อบังคับของกรมศึกษาธิการ โล่ห์นี้ไม่มีโรงเรียนใดได้เป็นกรรมสิทธิ์จึงได้เก็บรักษาไว้ที่สามัคยาจารย์สืบต่อไป
                 นอกจากมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างนักเรียนแล้วยังมีการแข่งขันระหว่างครูด้วย เริ่ม พ.ศ. 2452 รางวัลได้แก่โล่ห์ มีคำจารึกว่า โล่ห์ของพระยาวิสุรยศักดิ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ ให้สำหรับการแข่งขันฟุตบอลครูโดยวางกฎเกณฑ์ไว้ดังนี้ ไม่กำหนดอายุผู้เล่นถ้าโรงเรียนใดชนะที่ 1 ให้เก็บรักษาไว้จนกว่าจะมีการแข่งขันอีกและถ้าโรงเรียนใดชนะเป็นที่ 1 ครบ 3 ครั้งติดต่อกันจะได้โล่ห์นี้เป็นกรรมสิทธิ์ การแข่งขันฟุตบอลระหว่างครูมีเพียง 3 ครั้งเท่านั้นก็ยุติไป
                 พ.ศ. 2445 มีการแข่งขันกรีฑานักเรียนที่สนามโรงเลี้ยงเด็กเล็ก ปีนี้ได้เชิญแต่ครู นักเรียนและบิดามารดาของนักเรียนเพราะกำหนดการแข่งขันต้องเลื่อนถึง 3 ครั้ง มีประเภทกีฬาที่ส่งเข้าแข่งขัน 11 ประเภท คือ วิ่งวัวสองเส้น วิ่งวัวสิบเส้น วิ่งวัวกระโดดข้ามรั้ว วิ่งวัวมีการกีดกั้น วิ่งวัวปิดตา วิ่งวัวสวมกระสอบ วิ่งวัวสามขา วิ่งวัวเก็บส้ม ขว้างไกล กระโดดสูงและกระโดดไกล รางวัลที่ให้ในการแข่งขันครั้งนี้ รางวัลที่ 1 ได้เหรียญทองคำและมีการจับเวลาในการวิ่งประเภทต่างๆ โดยบันทึกสถิติการแข่งขันไว้ด้วย การแข่งขันกรีฑามี 11ประเภท                
                 พ.ศ. 2444 เป็นปีแรกที่กรมศึกษาธิการได้จัดได้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างนักเรียน ได้วางเกณฑ์ผู้เข้าแข่งขันอายุไม่เกิน 20 ปี มีโล่ห์ของกรมศึกษาธิการมอบให้กับโรงเรียนที่ชนะที่ 1 เก็บรักษาไว้หนึ่งปี มีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 9 โรงเรียน คือ โรงเรียมฝึกหัดอาจารย์ โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนสวนกุหลาบ (อังกฤษ) โรงเรียนราชการ โรงเรียนแผนที่ โรงเรียนวัดมหรรณหรือโรงเรียนมหรรณพาราม โรงเรียนกล่อมพิทยากร โรงเรียนสายสวลีและโรงเรียนสวนกุหลาบ โดยจัดการแข่งขันแบบแพ้คัดออก โรงเรียนที่ชนะรางวัลที่ 1 ได้โล่ห์เงินไปครอบครองปีแรกได้แก่ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์            
                  พ.ศ. 2445 และ พ.ศ. 2446 ไม่ได้มีการแข่งขันกีฬาประเภทใดๆ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่สามารถค้นหาได้ว่าทำไมจึงหยุดการแข่งขันกีฬาทุกประเภท
                  พ.ศ. 2447 มีการแข่งขันฟุตบอลและการแข่งขันกรีฑานักเรียน การแข่งขันฟุตบอลสำหรับโล่ห์เงินของกรมศึกษาธิการประจำปี มีโรงเรียนส่งเข้าแข่งขัน 5 โรงเรียน คือโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ฝั่งตะวันตก โรงเรียนมัธยมราชบูรณะ โรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนสุทัศน์และโรงเรียนประถมเทพศิรินทร์ (โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์) การจัดการแข่งขันเป็นแบบแพ้คัดออก ในรอบสุดท้ายโรงเรียนราชบูรณะกับโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ฝั่งตะวันตก กำหนดเล่นที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2447 ซึ่งเป็นวันแรกของการแข่งขันกรีฑานักเรียน ปรากฏว่า โรงเรียนมัธยมราชบูรณะเป็นทีมชนะเลิศ
                สำหรับการแข่งขันกรีฑานักเรียนได้กำหนดแข่งขันในวันที่ 2 มกราคม 2447 ที่สนามโรงเรียนมัธยมราชบูรณะ การแข่งขันกรีฑาครั้งนี้ได้ย้ายจากสนามโรงเลี้ยงเด็กเล็ก ตำบลสวนมะลิ มายังสนามที่โรงเรียนมัธยมราชบูรณะก็คือ สนามโรงเรียนสวนกุหลาบในปัจจุบัน ได้ใช้สนามนี้แข่งขันกรีฑามาตลอดและกีฬาอื่น จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2476 รวมเป็นระยะเวลา 30 ปี การแข่งขันในปี พ.ศ. 2447 มีสูจิบัตรการแข่งขันกรีฑาชื่อว่า “Official Program” สูจิบัตรกีฬาฉบับแรกของประเทศไทยในขณะนั้นเรียกว่า โปรแกรม ได้เรียกมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2451 จึงเปลี่ยนเป็น กำหนดการและจนถึงปี พ.ศ. 2461 จึงใช้คำว่า สูจิบัตร มาจนกระทั่งทุกวันนี้
                พ.ศ. 2448 การแข่งขันกรีฑาประจำปีนี้ นับได้ว่ามีความสำคัญอีกวาระหนึ่ง คือ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2448  นี้ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (รัชกาลที่ 6) ผู้ทรงทำนุบำรุงสามัคยาจารย์สมาคม ตรงกับวันตั้งสามัคยาจารย์สมาคมด้วยและให้ทางโรงเรียนตระเตรียมส่งนักกีฬาโรงเรียนเข้าแข่งขันกรีฑาพร้อมทั้งส่งรายชื่อนักเรียนที่ทำคะนนได้ดีในวิชาใดๆ เช่น วิชาวาดรูป วิชาเลขและวิชาหนังสือ เป็นต้น ของโรงเรียนนั้นๆ ให้ส่งรายชื่อมายังกรมตรวจเพื่อคักเลือกออกแสดงในวันกรีฑารื่นเริงนั้นด้วย (สวัสดิ์ เลขยานน์. 2515: 75-81)        
                สรุปได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีการส่งเสริมกีฬาสากล ทรงส่งเสริมการแข่งขันกรีฑา ฟุตบอล จักรยาน ยิมนาสติก ยูโด บาสเกตบอลและฮอกกี้ เป็นต้น ได้แพร่หลายเข้าไปในโรงเรียนต่างๆ จนมีการแข่งขันกรีฑานักเรียนและครูที่ท้องสนามหลวงและมีการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนเยาวชนและประชาชนขึ้นเป็นประจำทุกปี และยังมีกีฬาที่นิยมเล่นในราชสำนัก เช่น โครเกต์และกอล์ฟ รวมทั้งมีการแข่งขันยุทธกีฬาของทหารอีกด้วย จึงมีสิ่งเด่นชัดที่สุดในสมัยนี้ คือความนิยมกีฬาสากลหรือเป็นการเล่นกีฬาสากลและทรงส่งเสริมกีฬาไทยเป็นผลงานมาจากการศึกษาเล่าเรียนในสมัยเยาว์วัยและตามโบราญราชประเพณี ทำให้พระองค์สนพระทัยและเอาใจใส่สนับสนุนกีฬาไทยส่วนการส่งเสริมกีฬาสากลจนเป็นที่แพร่หลายมาสู่ประชาชนเป็นผลมาจากพระองค์เคยเสด็จประพาสยุโรปถึง 2 ครั้งและการส่งพระราชโอรสไปศึกษาในต่างประเทศ จึงทรงนิยมกีฬาสากลทุกประเภทและมีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายและมาช่วยราชการเป็นที่ปรึกษาที่กระทรวงธรรมการ ได้แก่ นายดับบลิว ซี จอห์นสัน (W. C. Johnson) ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทในการวางรากฐานกีฬาไทยและกีฬาสากลในโรงเรียนไว้อย่างมากมาย
                วัตถุประสงค์ของพลศึกษาในรัชกาลที่ 5 เน้นวัตถุประสงค์การเรียนการสอนและกิจกรรมวิชาพลศึกษาเพื่อให้นักเรียนมีความแข็งแรง มีน้ำใจนักกีฬา มีระเบียนวินัยและสามารถทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะโดยส่วนรวมได้และวัตถุประสงค์ในการแข่งขันกีฬาเพื่อความกล้าหาญ ความสามัคคี ความอดทนและความอดกลั้น
                
                 หลักสูตรวิชาพลศึกษาได้กำหนดให้มีในระบบโรงเรียนเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2441 เป็นผลมาจากที่กระทรวงธรรมการจัดการแข่งขันกรีฑานักเรียนที่ท้องสนามหลวงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 เพื่อแสดงความยินดีในการเสด็จจากประเทศยุโรปและทรงสนับสนุนเพราะนานาอารยประเทศมีการเรียนการสอนวิชานี้กันทั่วไป แต่เดิมเรียกวิชาพลศึกษาว่า วิชาหัดร่างกาย วิชากายบริหาร วิชาการทหารและวิชาลูกเสือ ตามสภาพการณ์ที่สอนกันอยู่โดยมากเป็นกายบริหารดัดตนแบบยิมนาสติก การเข้าแถว ระเบียบแถว แปรแถว เป็นต้นและได้เพิ่มกีฬาประเภทต่างๆ เข้าไว้ในหลักสูตรซึ่งเป็นผลมาจากการไปศึกษาต่อต่างประเทศของเจ้านายไทยและข้าราชการไทยรวมทั้งชาวตะวันตกเข้ามาค้าขายและเข้ามาช่วยราชการในประเทศไทยซึ่งมีนิสัยรักการกีฬาจึงถ่ายทอดกีฬาให้กับคนไทยด้วย แต่ก่อนนั้นเป็นการเรียนการสอนพลศึกษาเป็นแบบให้นักเรียนได้เล่นกันเองเพราะครูส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ การขาดแคลนงบประมาณและการขาดแคลนบุคลากรที่สอนวิชานี้โดยตรง ต่อมามีครูที่ผ่านการอบรมวิชาพลศึกษาจากสโมสรกายบริหารที่สามัคยาจารย์สมาคม ซึ่งต่อมาเป็นโรงเรียนพลศึกษากลาง ทำหน้าที่ผลิตครูพลศึกษาโดยตรง สำหรับการจัดการเรียนการการสอนวิชาพลศึกษาในระบบโรงเรียนทุกระดับเป็นหน้าที่ของกระทรวงธรรมการเพราะเป็นกระทรวงที่จัดเฉพาะเรื่องการศึกษาเท่านั้นและการจัดพลศึกษานอกระบบขึ้นอยู่กับสมาคมและสโมสรต่างๆ ตลอดจนการจัดการแข่งขันกีฬาด้วย
           
3. การพลศึกษาในสมัยกีฬาสากล (พ.ศ. 2453-2468)
         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453 – 2468) ทรงครองราชย์ 15 ปี ได้มีการพัฒนาประเทศทั้งในด้านการทหาร การเมือง การคมนาคม การเศรษฐกิจ การศึกษาศิลปวัฒนธรรมและการลูกเสือ เป็นต้น รัชกาลที่ 6 ทรงส่งเสริมกีฬาไว้ดังนี้
          3.1 การพลศึกษาและกีฬา
                 สำหรับการพลศึกษาและกีฬาในส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานการออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬาต่างๆ เป็นประจำดังปรากฏในพระราชานุกิจดังนี้
                     “17.00 น.  เสด็จลงทรงเล่นต่างๆ มี เทนนิส ราวเดอร์หรือแบดมินตัน เสร็จออกพระกำลังกายแล้วเสวยเครื่องร่าย
                     18.30 น.  เสด็จขึ้นทรงน้ำ ทรงเครื่อง เสด็จเข้าห้องทรงพระอักษร
                       20.30 น.  เสด็จลงประทับโต๊ะเย็นพร้อมด้วยข้าราชบริพารมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งในราชสำนักและนอกราชสำนักบางคน เสวยแล้วบางวันทรงบิลเลียดหรือไพ่บริดจ์บางวันมีซ้อมละคร...” (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2489: 15) 
                 นอกจากนี้พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งกองลูกเสือขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 โดยมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งให้เยาวชนได้รู้จักบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วม โดยใช้กิจกรรมทางพลศึกษาเข้าเพื่อฝึกความอดทน ความแข็งแรง มีความสามัคคีและมีระเบียบวินัย สามารถทำกิจกรรมส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมัยแรกประกอบด้วย การอยู่ค่ายพักแรม ว่ายน้ำ ยิงปืน วิชาลุกเสือ ฟุตบอล บริหารกาย และการรวมพลซ้อมรบ (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. 3.9/9)
         3.2 การส่งเสริมกีฬาไทย
               3.2.1 กระบี่กระบอง การเล่นกระบี่กระบอง การฝึกซ้อมหรือการแสดงในโอกาสต่างๆ ลดน้อยลงไปเพราะความต้องการของบ้านเมืองในการฝึกซ้อมทหารหรือประชาชนได้ใช้อาวุธไว้ยามสงครามน้อยลง ประกอบกับมีอาวุธที่ทันสมัยกว่าเข้ามาแทนที่ พระองค์เสด็จทอดพระเนตรการแสดงกระบี่กระบองในงานกรีฑานักเรียนประจำปีของกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2464 โดยมีท่านอาจารย์นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นผู้เล่นง้าวและพลอง ณ สามัคยาจารย์สมาคม
                 3.2.2 มวยไทย ประเทศไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2457-2461 ทหารไทยได้ชกมวยไทยให้ทหารและประชาชนยุโรปชม สร้างความชื่นชอบและประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง ผู้ควบคุมทหารไทยไปรบและแสดงการชกมวยในครั้งนั้น คือ พลโทพระยาเทพหัสดิน ซึ่งท่านเป็นผู้สนใจกีฬามวยไทยมาก นอกจากนี้ ประมาณปี พ.ศ.2463 ได้มีสนามมวยถาวรที่จัดการชกเป็นประจำ ประชาชนนิยมไปดูกันมากมายโดยเฉพาะสนามมวยสวนกุหลาบ นักมวยไทยหลายคนมีรายได้ดีจากการชกมวยไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้เอง กีฬามวยไทยได้มีการฝึกหัดในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนระดับมัธยมหลายโรงเรียนและโรงเรียนพลศึกษากลาง (ประยุทธ สิทธิพันธ์. 2498: 10)
                         พ.ศ. 2464 ที่สนามมวยสวนกุหลาบในระยะแรกเริ่มมีมวยคู่แรกที่ชกกันคือหมื่นมวยแม่นหมัดเป็นนักมวยที่มีชื่อและผีมือดีมาก่อนแล้วในรัชกาลที่ 5 ขณะขึ้นชกครั้งนั้นอายุ 50 ปี ชกกับนักมวยหนุ่มรูปร่างสูงใหญ่ อายุ 22 ปี เป็นมวยดีมาจากโคราช ชื่อ นายผ่อง ปราบสบถ เพื่อชกแก้แค้นแทนบิดาที่พ่ายแพ้อย่างยับเยินเมื่อครั้งงานเมรุ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ การเปรียบมวยนั้นไม่ถือเอาน้ำหนักเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าสมัครใจทั้งสองฝ่ายก็ชกกันได้ การต่อสู้ของมวยคู่นี้ดุเดือดมากใช้เวลาเพียง 2 นาที นายผ่อง ปราบสบถ ซึ่งหนุ่มและสูงใหญ่กว่าได้รับชัยชนะและได้รับรางวัลหัวเสือและสร้อยเงิน การฝึกหัดมวยไทยในสมัยนี้มีการนำเอาความรู้และวิธีการทางพลศึกษามาใช้ในการฝึกหัดด้วยเช่น การบริหารกาย การสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง การกระโดดเชือก การชกลม นอกจากนี้ในระยะเวลาต่อมานักการศึกษาที่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ได้นำเอาวิธีการและการฝึกต่างๆเข้ามาด้วย เช่น กระสอบทราย เป้าล่อแบบสั้นและแบบยาว นวมซ้อมและนวมจริง (เขตร ศรียาภัย. 2516: 6-7)
              3.2.3 กีฬาว่าว มีการก่อตั้งสมาคมกีฬาสยาม โดยเริ่มจากเมื่อปี พ.ศ. 2469 พระยาภิรมย์ภักดีได้แต่งตำราขึ้นเล่มหนึ่งชื่อ “ตำราว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าวและการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ” เป็นตำราเล่นว่าวเล่มแรกและเล่มเดียวในประเทศไทย หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นทั้งหมด 1,000 เล่ม จำหน่ายในราคาเล่มละ 2 บาท รวม 199 หน้า อีกสามปีต่อมาพระยาภิรมย์ภักดีพิจารณาเห็นว่าการเป็นผู้ตัดสินการแข็งขันว่าวยังคงมีปัญหาอยู่มากทั้งที่กระทำโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้วแต่จะมีกรณีโต้แย้งหรือข้อครหาอยู่เสมอเนื่องจากไม่มีหลักยึด ดังนั้น พระยาภิรมย์ภักดีจึงได้จัดพิมพ์กติกาว่าวขึ้นอีกเล่มหนึ่ง โดยคัดเลือกมาจากกติกาว่าวที่สนามสวนดุสิต พ.ศ. 2453 มีทั้งหมด 41 หน้า (บุญรอดบริวเวอร์รี่กับการกีฬา. 2526: 1)
            3.3 การส่งเสริมกีฬาสากล
                   3.3.1 กรีฑา รัชกาลที่ 6 สนพระราชหฤทัยในกีฬากรีฑามาก จะเห็นได้จากการเสด็จทอดพระเนตรและพระราชทานรางวัล เป็นประจำทุกปีและการแข่งขันในแต่ละปีก็มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น มีการกำหนดรุ่น โดยใช้เกณฑ์ความสูงและอายุเพื่อป้องกันการได้เปรียบเสียเปรียบนอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการจัดการกรีฑาเพื่อจัดดำเนินการแข่งขันให้แล้วเสร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนให้มีแพทย์สนามอยู่ด้วยเพื่อช่วยปฐมพยาบาลได้ทันเวลาอีกด้วย แม้นว่าเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำยังคงจัดการแข่งขันให้นักเรียนอย่างประหยัดและพระองค์ทรงให้กำลังใจและทรงเห็นชอบด้วยถ้าจะมีการเรี่ยไรเงิน พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสนับสนุนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมด้วย จึงทำให้กระทรวงศึกษาธิการสามารถจัดดำเนินการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี พ.ศ. 2467 ได้และในปีนี้พระองค์ทรงเห็นชอบด้วยกับการเปลี่ยนของรางวัลสิ่งของเครื่องใช้เครื่องเรียนที่มีราคาค่อนข้างแพงและไม่เหลือไว้เป็นอนุสรณ์จึงเปลี่ยนเป็นเหรียญรางวัลแทนเป็นครั้งแรก (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. บ.8/10)
                  3.3.2 ฟุตบอล ในรัชกาลที่ 6 การกีฬาที่ได้รับการสนับสนุนและนิยมเล่นกันมากในหมู่นักเรียน ข้าราชการ ทหารและประชาชนอย่างสูงสุดในกรุงเทพฯ และในหัวเมืองต่างๆ ดังที่พระองค์ทรงใช้พระนามว่า นิสิตออกซ์ฟอร์ด เขียนเรื่องความนิยมฟุตบอลในเมืองไทยว่า ในสมัยนี้มีคนพอใจชอบเล่นกันเป็นอันมากและคงจะเล่นฟุตบอลกันต่อไปในกรุงเทพฯ ความจริงคนไทยเพิ่งนิยมเล่นกันมากใน 4 - 5 ปีนี้เอง ตามโรงเรียนต่างๆ ได้เล่นมานานแล้ว แต่ในหมู่ทหารเพิ่งจะเล่นในเมื่อเร็วๆ นี้เองเพราะเราจัดกองทัพแบบเยอรมันเรื่องการพักผ่อนหย่อนใจจึงไม่มี ทหารของเราจึงมิได้เล่นเพื่อหย่อนใจและออกกำลังกายเลย เว้นแต่การฝึกหัดดัดตนและฝึกหัดกำลังกาย ซึ่งทหารของเราถือว่าเป็นการงานมิใช่การเล่น การเล่นฟุตบอลได้แพร่หลายไปยังหัวเมืองต่างๆ เช่น ในมณฑลปักษ์ใต้มีคนนิยมเล่นกันมากเช่น มีทีมฟุตบอลเข้าแข่งขัน 6 ทีม และในวันที่ 22 กรกฎาคม ศกนี้ ได้มีทีมฟุตบอลเข้าแข่งขันอีก 6 ทีมและยังแสดงพระองค์ว่าโปรดและทรงเล็งเห็นคุณประโยชน์ของการเล่นฟุตบอล (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. บ.8/1)
                     พระองค์ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษและโปรดขนบธรรมเนียมของชาวอังกฤษหลายอย่างจึงโปรดให้กุลบุตรและชายไทยเล่นฟุตบอลอย่างแพร่หลาย ที่ไม่ได้ทรงเลือกรักบี้เพราะทรงเห็นว่าฟุตบอลแบบซอกเกอร์ (Soccer) นั้นเหมาะสมกับดินฟ้าอากาศของไทยมากกว่า จากที่เมื่อปี พ.ศ. 2440 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ริเริ่มนำกีฬาฟุตบอล เข้ามาเล่นในไทยเป็นครั้งแรกจนกระทั่งเกิดความนิยมแผ่ขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสโมสรคณะฟุตบอลสยามขึ้นโดยมีพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงลงแข่งขันเป็นผู้เล่นเองและเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 มีการจัดแข่งขันในระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างทีมชาติสยาม (ปัจจุบันคือทีมชาติไทย) กับทีมราชกรีฑาสโมสร ที่สนามราชกรีฑาสโมสร โดยมีนายดักลาส โรเบิร์ตสัน (Mr. Douglas Robertson) เป็นกรรมการผู้ตัดสิน จากนั้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยามขึ้นโดยทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่เริ่มแรก พร้อมทั้งตราข้อบังคับสมาคมฯ และแต่งตั้งสภากรรมการบริหารชุดแรก ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 7 ท่าน โดยมีพระยาประสิทธิ์ศุภการ เป็นนายกสภากรรมการบริหารและพระราชดรุณรักษ์ (เสริญ ปันยารชุน เป็นเลขาธิการ ต่อมาราวปลายปีเดียวกัน จึงเริ่มจัดการแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่ (ถ้วยพระราชทาน ก) และฟุตบอลถ้วยน้อย (ถ้วยพระราชทาน ข) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้โอกาสแก่สโมสรฟุตบอลของกรมทหารและกรมในกระทรวงทบวงการทั้งปวงหรือบริษัทเอกชนได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะฟุตบอลแห่งสยาม มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลเรื่อยมา มีการจัดพิมพ์หนังสือเป็นกฎและข้อบังคับลักษณะปกครองคณะฟุตบอลแห่งสยาม (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ.บ.8/3 และ https://th.wikipedia.org/wiki/สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. 2559: ออนไลน์)
                      ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 ได้มีหนังสือของเจ้ากรมศึกษาธิการแห่งเกาะฟิลิปปินส์ ขอให้คัดนักกีฬาไปเข้าแข่งขันในกีฬากรีฑา ซึ่งเจ้ากรมศึกษาธิการเป็นเหรัญญิกของ “สมาคมกีฬาแห่งบูรพาทิศ” (Eastern Athletic Association) พระองค์พระราชทานว่าเป็นเวลาระหว่างมหาสงคราม ควรให้งดไว้ก่อนและเวลาการแข่งขันกระชั้นชิดเกินไป (แข่งขันเดือนพฤษภาคม) และนักกีฬาดีๆ หลายคนติดราชการ นอกจากนี้สมาคมกีฬาแห่งบูรพาทิศได้กราบทูลว่า รัฐบาลสยามเป็นสมาชิกจึงขอเชิญส่งนักกีฬาไปเข้าแข่งขันที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ปรากฏว่า มีความเข้าใจผิดกันในเรื่องการเป็นสมาชิกของสมาคมนี้ จึงตอบปฏิเสธไปทั้งสองคราว คือ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2463 และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2463 (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. บ.8/7)             
             3.3.3 กีฬาแบดมินตัน (กีฬาราวเดอร์) เริ่มเล่นกันในปี พ.ศ. 2459 โดยพระยาพัทกุลพงษ์ ได้สร้างสนามเล่นแบดมินตันขึ้นในบ้านตำบล บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรีเป็นการเล่นในหมู่ญาติมิตรเพื่อนฝูงและแพร่หลายมายังประชาชนทั่วไปซึ่งมักจะเล่นสนามกลางแจ้งการเล่นประเภทเดี่ยวและประเภทคู่ไม่ค่อยมีเนื่องจากขัดสนเรื่องสนามและเวลาจึงนิยมเล่นข้างละ 3 คน กีฬาแบดมินตันนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดทรงเล่นแบดมินตันตามพระราชานุกิจ เวลา 17.00 น. เกือบทุกวันที่มีเวลาว่าง             
              3.3.4 กีฬายูโด (กีฬาญูญิตสู) และมวยสากล (มวยฝรั่ง)หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์  สวัสดิกุล ได้ทรงนำกีฬายูโดและมวยสากลเข้ามาในประเทศไทยภายหลังจากที่ทรงจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษแล้ว ซึ่งขณะทรงศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วิทยาลัยอีตัน (Eton College) ทรงเป็นนักมวยรุ่นเบา ทรงเล่นฟุตบอลและเรือกรรเชียง (ได้ฝึกหัดยูโดกับครูญี่ปุ่น มีความรู้ดีสามารถนำวิชานี้มาสอนในเมืองไทยเป็นครั้งแรก) ท่านทรงใช้เวลานอกราชการมาช่วยสอนวิชามวยสากลและวิชายูโดแก่นักเรียนครูพลศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยด้วยพระองค์เองอยู่หลายปี ทรงเริ่มงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 และได้ทรงนิพนธ์ตำราวิชามวยสากลเพื่อวางหลักมาตรฐานของวิชานี้ให้เป็นระเบียบและเป็นผู้วางมาตรฐานวิชายูโดในประเทศไทยอีกด้วยโดยมีหลวงพิพัฒน์พลกายร่วมเป็นอาจารย์ผู้สอน ดังภาพ 3.3


ภาพ 3.3 หลวงพิพัฒน์พลกายและหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล อาจารย์ผู้สอนกีฬาสากลประจำห้องพลศึกษากลาง
ที่มา: (คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 2557: 27)

              3.3.5 การขี่ม้าและโปโล ในรัชกาลที่ 6 นิยมม้าซึ่งถือว่าการขี่ม้าเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งจึงจัดตั้งสมาคมขี่ม้าและโปโลขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สมาคมเช่าที่ดินส่วนพระองค์แปลงหนึ่งที่ตำบลลุมพินี สมาชิกจะมาขี่ม้าและเล่นโปโลและมีการสอนขี่ม้าให้แก่เด็ก ๆ โดยเก็บเงินค่าบำรุงเล็กน้อย
              3.3.6 กีฬากอล์ฟ ชาวยุโรปซึ่งเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติ จัดตั้งสโมสรกีฬาเรียกว่า “ราชกรีฑาสโมสร” นอกจากจัดให้มีการแข่งม้าแล้วทางสโมสรได้ให้สมาชิกเล่นกอล์ฟด้วย ในขณะที่กอล์ฟกำลังได้รับความนิยมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างสนามกอล์ฟขึ้นที่สวนดุสิตอีกแห่งหนึ่ง
              3.3.7 การแสดงยุทธกีฬา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรงานยุทธกีฬาทหารบก ณ ท้องสนามหลวง วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 และวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 ระหว่างเวลา 15.00-18.00 น.
                        การแสดงยุทธกีฬาทหารบกกำหนดมีอีกครั้ง ในวันที่ 19-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 ในปีนี้สมุดระเบียบการแสดงยุทธกีฬา สมุดการอธิบายการแสดงตำนานของการรบไทยโบราณเพิ่มเติมและการแสดงยุทธกีฬากำหนดให้มีอีกครั้งในวันที่ 5-6 มกราคม พ.ศ. 2466 สำหรับกำหนดการแสดงคล้ายกับเมื่อปี พ.ศ. 2464 (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. บ.8/9)
            3.4 กิจกรรมเยาวชน
               3.4.1 เสือป่า (Wild Tiger Corps) รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งกองลูกเสือป่าขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 เพื่อให้กิจกรรมเสือป่าเป็นกิจกรรมสำหรับเยาวชนเพื่อฝึกตนเองให้เป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง และปลูกฝังนิสัยแห่งความสามัคคี ความรักชาติ รู้จักช่วยเหลือตนเอง ประเทศชาติในยามที่ชาติต้องการ จึงใช้กิจกรรมพลศึกษาเข้าช่วยสร้างคุณลักษณะที่ต้องการคือ ความอดทน แข็งแรง ความเสียสละ ความรับผิดชอบ และความมีน้ำใจเป็นนักกีฬาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมลูกเสือป่าขึ้นหลายกรม อาทิเช่น กรมนักเรียนเสือป่าหลวง กรมเสือป่าเสนากลาง กรมเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์และกรมนักเรียนแพทย์เสือป่า เป็นต้น (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. บ.3.9/13)
                  3.4.2 การลูกเสือไทย ทรงเป็นผู้ตั้งกองลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนได้รู้จักบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยใช้กิจกรรมพลศึกษาเพื่อฝึกความอดทนแข็งแรง มีความสามัคคีและมีระเบียบวินัย สามารถทำกิจกรรมให้ส่วนรวมอย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมลูกเสือในสมัยแรกเริ่มประกอบด้วยการอยู่ค่ายพักแรม ว่ายน้ำ ยิงปืน วิชาลูกเสือ ฟุตบอล บริหารกาย ระเบียบแถวและการรวมพลซ้อมรบ (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. บ.3.9/9)
                           เมื่อรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามลูกเสือไทยขึ้นแล้วก็ได้มีข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือ พ.ศ. 2454 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 ข้อบังคับนี้ได้บัญญัติให้ลูกเสือไทยเป็นองค์กรหนึ่งอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์และศูนย์กลางของการปกครองบังคับบัญชาอยู่ที่ “สภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งสยาม” ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาหรือจะทรงโปรดเกล้าฯ ใครแทนก็ได้และข้อบังคับได้กำหนดให้มีกองลูกเสือขึ้นในโรงเรียนต่างๆ ให้มีกรรมการจัดการลูกเสือในกระทรวงธรรมการเพื่อกำหนดวิชาลูกเสือลงในหลักสูตรในโรงเรียนและกำหนดคะแนนสอบไล่สำหรับวิชานี้ ข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือ พ.ศ.2454 ได้รับการแก้ไขใน พ.ศ. 2476 จึงแก้ไขใหม่ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
          3.5 วัตถุประสงค์ของพลศึกษา
                3.5.1 การเรียนการสอนวิชาพลศึกษา ตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการในรัชกาลที่ 6 เพื่อให้นักเรียนได้ออกกำลังกายอย่างสนุกสนานและด้วยความบันเทิงใจ เพื่อให้นักเรียนมีความแข็งแรง มีน้ำใจเป็นนักกีฬา มีระเบียบวินัย สามารถทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะโดยส่วนรวมได้
เพื่อให้วัตถุประสงค์ดังกล่าวบรรลุเป้าหมายจึงให้นักเรียนได้เรียนวิชาทหาร กายบริหาร ดัดตน ระเบียบแถว การลูกเสือและกีฬาประเภทต่างๆ เช่นกรีฑา ยิมนาสติกและฟุตบอล
                  3.5.2 วัตถุประสงค์ในการผลิตครูพลศึกษา เหมือนกับวัตถุประสงค์การเรียนการสอนข้างต้นแต่เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำความรู้ไปใช้สอนนักเรียนได้และมีความสามารถทำไห้นักเรียนดูเป็นตัวอย่างได้วิชาที่เรียนได้แก่มวยไทยและยิมนาสติกเท่านั้น
                  3.5.3 วิชาพลศึกษาในสมัยของพระองค์เรียกว่า วิชาการทหารและวิชาลูกเสือ ทั้งนี้เพราะได้รากฐานมาจากรัชการที่ 5 คือ วิชาการทหาร ในบางปีจะมีแต่วิชาลูกเสือเท่านั้น แต่ใช้กิจกรรมทางพลศึกษามาประกอบการเรียนวิชาลูกเสือ โดยส่วนที่วิชาที่เป็นวิชาใหม่และพระองค์ได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นซึ่งการเผยแพร่และนำเข้าสู่ระบบโรงเรียนตามข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือ
                   3.5.4 วัตถุประสงค์ในการแข่งขันกีฬา เพื่อพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม โดยเน้นการเล่นแบบแฟร์เพลย์ (Fair Play) แสดงถึงความมีน้ำใจนักกีฬา เล่นอย่างเรียบร้อยตามกฎระเบียบ กติกาและชนะกันด้วยความสามารถ การเล่นไม่เน้นที่การแพ้ชนะแต่เน้นที่ได้มีโอกาสร่วมเล่น ได้ออกกำลังกายอย่างสนุกสนาน การมีมารยาทในการเป็นผู้ดูและผู้เล่นกีฬาที่ดี
            3.6 หลักสูตรวิชาพลศึกษาและการเรียนการสอน
                3.6.1 หลักสูตรวิชาพลศึกษา พ.ศ. 2454 มีหลักสูตรวิชาพลศึกษาสำหรับขั้นมูลอายุศึกษา 7-9 ปี กิจกรรมที่ต้องเรียนได้แก่ “การทหาร โดยมีความมุ่งหมายขั้นต้นคือการเข้าแถว การเดินแถวและดัดกายนั้นย่อมทำให้เส้นเอ็นยืดและเปลี่ยนอิริยาบถจากการที่นั่งทำงานมากๆ เพื่อให้ร่างกายบริบูรณ์และเจริญขึ้นตามปกตินั้นอย่างหนึ่ง ทั้งหวังประโยชน์ให้เป็นการฝึกหัดให้กระทำตามคำสั่งอย่างว่องไวและให้รู้จักกระทำกิจกรรมร่วมกันโดยพร้อมเพรียงกันและรู้จักฟังบังคับกันตามหน้าที่ผู้ใหญ่ผู้น้อยให้จริงด้วย”
                          สำหรับหลักสูตรประถมศึกษา (ชาย) แบ่งเวลาเรียนเป็น 3 ปี อายุ 10-12 ปี กิจกรรมที่ต้องเรียนได้แก่ “การทหาร ความมุ่งหมายในการให้สอนวิชานี้ คือ เพื่อบริหารร่างกายให้สมบูรณ์เป็นปกติ ให้เป็นการฝึกหัดกระทำกระทำตามคำสั่งโดยฉับไวและให้สามารถกระทำกิจกรรมร่วมกันโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งมุ่งต่อผลสำเร็จอันดีด้วยกันทั้งจะได้เป็นปัจจัยให้เป็นผู้มีใจคอมั่นคงองอาจขึ้นด้วย
                           หลักสูตรประถมศึกษา (หญิง) แบ่งเวลาเรียนเป็น 3 ปี อายุ 1012 ปี กิจกรรมที่ต้องเรียนได้แก่ “กายบริหาร เทียบการทหารในหลักสูตรชายชั้นเดียวกันแต่ยกเว้นหัดยิมนาสติกและการวิ่ง การกระโดด ต่าง ๆ ควรเล่นเกมนั้นให้เลือกแต่ที่สมควรแก่ผู้หญิง” (กรมศึกษาธิการ. 2454: 29)
                           หลักสูตรมัธยมศึกษา (ชาย) แบ่งเวลาเรียนเป็น 3 หรือ 4 ปี อายุ 14-15 ปี กิจกรรมที่ต้องเรียนได้แก่ “การทหาร ความมุ่งหมายที่ให้สอนวิชานี้คือเพื่อบริหารร่างกายกับหัดให้สามารถในการพร้องเพรียงกันกระทำกิจร่วมกันซึ่งมุ่งต่อผลสำเร็จอันดีด้วยกันทั้งจะให้เป็นปัจจัยให้เป็นผู้มีใจคอมั่นคงองอาจขึ้นด้วยส่วนร่างกายที่ให้ฝึกสอน
                          หลักสูตรมัธยมศึกษา (หญิง) แบ่งเวลาเรียนเป็น 3 ปี อายุ 16-18 ปี กิจกรรมที่ต้องเรียน คือ “หมวดการทหาร หัดระเบียบแถวและหัดดัดกาย (อย่างที่ทำพร้อมกัน) ยิมนาสติก และการเล่นต่าง ๆ เป็นพิเศษตามแต่จะได้ทำ”
                          ในปีเดียวกันมีหลักสูตรวิชาพลศึกษาสำหรับโรงเรียนฝึกหัดครู ได้แก่ หลักสูตรประโยคครูมูล กิจกรรมที่ต้องเรียน คือหมวดการทหาร ฝึกสอนวิชาชั้นนายหมู่ คือ
                              ก. การเข้าแถว รู้หน้าที่ของลูกแถวตลอดถึงการแปรแถวเดินและดัดกายกับรู้หน้าที่ของนายหมู่บังคับหมู่ได้ด้วย
                              ข. การโลดโผนโจนทะยาน หัดวิ่ง หัดกระโดด กับหัดยิมนาสติกทำง่ายๆ ที่เรียกว่าทำชั้นเดียว ให้ทำได้เองและหัดให้คนอื่นได้ด้วย กับหัดเล่น การเล่นต่างๆ เช่นฟุตบอล ซึ่งเป็นการเล่นที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงและให้ใจคอมั่นคง
                              ค. หลักวิชาจริยวัตร คือ ความประพฤติส่วนตัวทั้งนอกแถวและในแถวตลอดหน้าที่ของนายแถวกับหลักของการฝึกหัดคือให้รู้เหตุผลคุณและโทษประโยชน์และใช้ประโยชน์ในการฝึกหัดทั้งสิ้นที่กล่าวแล้วในข้อ ก. กับ ข.
                              ง. วิชาลูกเสือ รู้วิชาลูกเสือสมควรแก่ชั้นนายหมู่ สามารถทำหน้าที่กำกับและฝึกหัดหมู่ลูกเสือได้ (กรมราชบัณฑิต, ร.ศ. 130)
                           หลักสูตรประโยคครูประถม มีกิจกรรมพลศึกษาที่ต้องเรียนคือ หมวดการทหาร ฝึกสอนวิชาชั้นนายหมวด คือ
                              ก. การเข้าแถว การโลดโผนโจนทะยานและหลักวิชาอย่างเดียวที่กำหนดไว้ สำหรับชั้นนายหมู่ในหลักสูตรครูมงคล แต่ให้ความรู้ในหลักวิชาและความสามารถในท่าฝึกหัดสูงขึ้นถึงเป็นนายหมวดบังคับหมวดได้
                              ข. วิชาลูกเสือ รู้วิชาลูกเสือสมควรแก่ชั้นนายหมวด สามารถบังคับและฝึกสอน หมวดลูกเสือได้ (กรมราชบัณฑิต.  ร.ศ. 130)
                           หลักสูตรประโยคครูมัธยม มีกิจกรรมพลศึกษาที่ต้องเรียน คือ “หมวดทหารชั้นนายกอง สูงกว่านายหมวด ยิมนาสติกท่าซับซ้อนกว่าต้องฝึกหัดทำได้เองและสามารถสอนผู้อื่นได้ด้วย” (กรมราชบัณฑิต. ร.ศ.130)
                           พ.ศ. 2456 กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งสถานฝึกหัดครูพลศึกษาที่โรงเรียนมัธยมราชบูรณะ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยปัจจุบัน) เรียกว่า “ห้องพลศึกษากลาง สังกัดกรมศึกษาธิการ มีวิชาเรียน 2 วิชา คือ มวยไทยและการดัดตนส่วนห้อยโหนหรือยิมนาสติกเท่านั้น” (สำนักงานวิทยาลัยพลศึกษาส่วนภูมิภาค. 2523) ในปีเดียวกันนี้ได้กำหนดให้เรียนวิชาลูกเสือในระดับประถมศึกษาชายตอนต้น ตอนกลางและตอนปลาย ให้หัดวิชาลูกเสือ ยิมนาสติก ยูโด (ญูญิตสู) การเล่นต่างๆ ให้สมควรแก่นักเรียนที่ได้เจริญขึ้นทั้งวัยและการศึกษาในระดับประศึกษาหญิง  มัธยมศึกษาหญิง มัธยมศึกษาตอนต้น ตอนกลางและตอนปลายให้หัดวิชาลูกเสือเช่นกันแต่ให้เพิ่มความรู้ การวิ่งไวไหวพริบยิ่งขึ้นและให้กิจกรรมที่เรียนเหมาะสมกับนักเรียนหญิง (กรมศึกษาธิการ. ม.ป.ป.)
                            พ.ศ. 2462 กรมศึกษาธิการได้แก้ไขหลักสูตรที่ใช้ในสถานฝึกหัดครูพลศึกษาและให้ชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนพลศึกษากลาง” ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันที่โรงเรียนมัธยมราชบูรณะ เรียนเฉพาะภาคค่ำเวลา 16.0019.00น. และกำหนดหลักสูตรใหม่มี 4 ชุดวิชา คือ
                              1. วิชาลูกเสือ
                              2. วิชายิมนาสติก (วิชาดัดตนส่วนห้อยโหน)
                              3. วิชายูโด (วิชาญูญิตสู)
                              4. วิชามวยไทย มวยสากลและฟันดาบ
                            ผู้เรียนส่วนมากเป็นครูสอนวิชาสามัญและอบรมวิชาชุดครูอยู่ ณ สามัคยาจารย์สมาคม (โรงเรียนมัธยมราชบูรณะ) ถ้าผู้ใดสอบได้ 2 ชุด ได้รับประกาศนียบัตรครูผู้สอนพลศึกษาชั้นตรี (พ.ต.) และถ้าสอบได้ 3 ชุด ได้รับประกาศนียบัตรครูผู้สอนพลศึกษาชั้นโท (พ.ท.) และถ้าสอบได้ 4 ชุด จึงจะได้รับประกาศนียบัตรครูผู้สอนพลศึกษาชั้นเอก (พ.อ.) ระยะเวลาที่ศึกษาตามหลักสูตรไม่แน่นอนใน 4 ชุดวิชาอาจเรียนจบได้ในปีเดียวหรือกี่ปีจบก็ได้ตามความสามารถ การสอบไล่มีแค่เพียงการสอบภาคปฏิบัติเท่านั้น ผู้เรียนต้องสอบได้เกินร้อยละ 60 ขึ้นไปทุกวิชา ในบางวิชาต้องสอบให้ได้ถึงร้อยละ 80 ขึ้นไป จึงจะถือว่าสอบได้ (พิพิธพร แก้วมุกดา. 2508: 5)
                             พ.ศ. 2467 กำหนดให้เรียนวิชาลูกเสือในระดับประถมศึกษา (ชาย) กำหนดเวลาเรียน 4-5 ปีเรียนวิชาลูกเสือทุกชั้นปี สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง สำหรับนักเรียนหญิงให้เลือกสอนวิชาลูกเสือแต่เฉพาะที่สมควรแก่หญิงไม่กำหนดเวลาเรียนให้จัดนอกเวลา โดยกำหนดความมุ่งหมายในการที่ให้สอนวิชาลูกเสือเพื่อให้เกิดฝีมือและความรู้ในกิจธุระสามัญซึ่งทุกคนควรรู้สำหรับจะได้รักษาตัวเองให้รอดพ้นจากอันตรายและความยากลำบาก เมื่อถึงคราวเข้าที่กันดาร รายการที่ต้องสอน ได้แก่ หัดวิชาลูกเสือให้เกิดฝีมือและความว่องไวไหวพริบ                             
                              พ.ศ. 2468 กำหนดให้นักเรียนฝึกหัดในโรงเรียนครูมูลให้เรียนวิชาชั้นลูกเสือเอกกับให้รู้จักวิธีฝึกฝนเป็นหมู่เป็นกอง (กรมศึกษาธิการ. ม.ป.ป.)
                3.6.2 การเรียนการสอน กิจกรรมพลศึกษาหรือวิชาพลศึกษาในสมัยนี้ยังเรียกว่า “การทหาร” เหมือนรัชกาลที่ 5 แต่การเล่าเรียนวิชานี้ได้เริ่มตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม แยกกิจกรรมพลศึกษาและลูกเสือตามเพศชายและหญิงส่วนอุดมศึกษาคือ ในระดับผลิตครูมูล ครูประถม ครูมัธยม ซึ่งหลักสูตรของวิชาพลศึกษาที่เหมาะสมและถูกต้อง ตามพัฒนาการของเด็ก ส่วนอุดมศึกษา โดยครูเป็นผู้สาธิตทำให้นักเรียนดูก่อนแล้วให้นักเรียนทำตาม โดยยึดหนังสือแบบเรียนกายบริหารเป็นสำคัญ
                 3.6.3 ตำราทางพลศึกษา ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีตำราทางพลศึกษาและกีฬา ดังนี้
                          3.6.3.1 “ตำราวิชามวยฝรั่งและตำราวิชาญูญิตสู” ของหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล (พ.ศ. 2455)
                          3.6.3.2 “กติกาในเชิงเล่นฟุตบอล (อย่างแอสโซสิเอชั่น)” ของรองอำมาตย์เอกหลวงประมวญวิชาพูล (พ.ศ. 2457)                                                                                   
                          3.6.3.3 “คำแนะนำฟันดาบ”  ของสมเด็จพระองค์เจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ (พ.ศ. 2458)
                          3.6.3.4 “แบบฝึกหัดกายกรรม” ของสมเด็จพระองค์เจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ (พ.ศ. 2459)
                          3.6.3.5 “ตำรากายบริหารมีรูปประกอบ” แบบเรียนของกรมตำรา กระทรวงธรรมการ (พ.ศ. 2460)
                          3.6.3.6 “การเล่นของลูกเสือ” แบบเรียนของกรมตำรา กระทรวงธรรมการ (พ.ศ. 2461)
                          3.6.3.7 “ตำราว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าวและการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ” พระยาภิรมย์ภักดี (พ.ศ. 2464)
                 3.6.4 บทความลงในหนังสือพิมพ์รายเดือน “วิทยาจารย์” ของสามัคยาจารย์สมาคม
                          3.6.4.1 “จรรยาของผู้เล่นและผู้ดูฟุตบอล” ความเห็นโดยเฉพาะของ ”ครูทอง” เจ้าคุณพระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันชิน) เป็นบทความกีฬาเรื่องแรก (พ.ศ. 2457)
                          3.6.4.2 “การเล่นฟุตบอล” ของ “ว(ซ.ศ.)” คุณพระวรเวทย์พิสิฐ (พ.ศ. 2457)
                          3.6.4.3 “อย่า”สำหรับนักเลงฟุตบอลของ“กีฬา” เจ้าคุณพระยาพาณิชยศาสตร์วิธาน (พ.ศ. 2457)
                         3.6.3.4 “งานกับเล่น” และ “งานกับเล่นเนื่องด้วยกายนคร” ของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (พ.ศ. 2463)
                         3.6.3.5 “คำแนะนำสำหรับการเล่นฟุตบอลเพิ่มเติม” ของพระยาประมวญวิชาพูล (พ.ศ. 2467)
                         3.6.3.6 “การกรีฑา” ของ “ป.ว.” (พ.ศ. 2467)
                 3.6.5 เอกสาร
                          “เตือนสติผู้เล่นฟุตบอล” ของนายพลตรี นายพลเสือป่าพระยาประสิทธิ์ ศุภการ นายกสภากรรมการบริหารคณะฟุตบอลแห่งสยาม (พ.ศ. 2457)
        3.7 การจัดพลศึกษาในระบบการศึกษา
                ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีโรงเรียนเพิ่มมากขึ้นนักเรียนและครูผู้สอนก็มีมากขึ้นเพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐบาลทีต้องการให้คนไทยรู้จักหนังสือประกอบกับมีการประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นทำให้นักเรียนเข้าเรียนมากขึ้นรวมทั้งต้องเพิ่มจำนวนครูด้วย หลักสูตรวิชาพลศึกษา เรียกว่า หมวดการทหาร ประกอบด้วยการหัดระเบียบแถว การหัดร่างกาย หัดวิ่ง หัดกระโดด การเล่นเกม ยิมนาสติก การเรียนการสอนจะแยกนักเรียนชายและนักเรียนหญิงตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ โดยให้ทำกิจกรรมเบากว่านักเรียนชายและให้เหมาะสมตามวัยด้วยเพราะการจัดกิจกรรมพลศึกษาถ้าเบาหรือหนักเกินไปจะไม่เกิดประโยชน์แต่จะให้โทษแก่ผู้เรียนอีกด้วย วัยเด็กกำลังเจริญเติบโต ครูพลศึกษาต้องมีความรู้ในการจัดกิจกรรมพลศึกษาให้เหมาะสมตามเพศและตามวัยด้วย
                  ในรัชกาลที่ 6 การพลศึกษาและการกีฬาเจริญก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะในระบบการศึกษาได้รับการสนับสนุนส่งเสริมอย่างมากจากกระทรวงธรรมการซึ่งขณะนั้นเพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ท่านเป็นนักการศึกษาที่ศึกษาวิชาครูมาโดยเฉพา เป็นนักเขียนที่ชื่อเสียง ใช้นามปากกาว่า “ครูเทพ” เป็นผู้เริ่มการกีฬานักเรียนเป็นคนแรกและเป็นครูตัวอย่างที่ดี ในส่วนตัวท่านเป็นนักกีฬาเพราะใช้เวลาว่างตอนเย็นเล่นกีฬาไทย เตะตะกร้อและท่านจะอยู่ในสนามกลางแจ้งจนใกล้ค่ำ ในส่วนที่เกี่ยวกับพลศึกษาและการกีฬา เช่น เริ่มให้โรงเรียนต่างๆ ฝึกหัดฟุตบอลเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการพลศึกษาแล้วให้เริ่มจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนขึ้น ให้มีโล่ห์เป็นรางวัลของกรมศึกษาธิการเป็นครั้งแรก เรื่องนี้ไม่ได้รับความสนับสนุนและร่วมมือไม่เห็นชอบในหมู่ผู้ปกครองของนักเรียนเพราะเห็นว่าการเล่นฟุตบอลมีแต่ผลร้าย  นอกจากเสียเวลาเรียนแล้วจะทำให้เด็กได้รับอันตราย บาดเจ็บแข้งขาหักจากการเล่นฟุตบอลอาจถึงตายได้แต่ท่านก็มิได้ละลด ไม่ยอมเลิกการแข่งขันฟุตบอลเพราะท่านคิดไกลเกินกว่านั้น ท่านเห็นว่าการบาดเจ็บอาจมีบ้างก็เป็นส่วนน้อยควรจะได้เล่นกันโดยความระมัดระวัง การเจ็บป่วยถือว่าเป็นเหตุบังเอิญ การเล่นฟุตบอลจะช่วยทางจิตใจได้เป็นอย่างดี ทำให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักอดทนอดกลั้น รู้จักแพ้ ชนะและให้อภัย ไม่พยาบาท สู้กันซึ่งหน้า มีความสามัคคีในหมู่คณะ ไม่มีการแบ่งแยกหัดให้เล่นฟุตบอลไม่ใช่เล่นคน  (Play the Ball not Play the Man) ท่านได้เชิญครูให้มาประชุมชี้แจงถึงเรื่องนี้โดยตลอดและขอให้ครูใหญ่ได้ชี้แจงผู้ปกครองนักเรียนได้ทราบด้วย ในระยะเวลาต่อมาการแข่งขันฟุตบอลมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่  การแข่งขันฟุตบอลมิได้อยู่ในเฉพาะโรงเรียนเท่านั้น มีการแข่งขันชิงถ้วยน้อย ถ้วยใหญ่ มีชุดฟุตบอลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สามัญชนเรียกว่า “ทีมในหลวง” และยังมีชุดฟุตบอลเรียกว่า “ทีมชาติ” นอกจากนี้ท่านยังแต่งโครงกลอนและคติพจน์เกี่ยวกับพลศึกษาและการกีฬารวมทั้งเพลงอมตคือเพลง “กราวกีฬา” ที่สอนใจนักกีฬาได้อย่างกินใจที่สุดและทันสมัยอยู่เสมอ  เหมาะสมกับกาลเวลาถึงแม้ว่าจะแต่งเพลงนี้ไว้นานนับร้อยปีแล้วก็ตาม โคลงกลอนของครูเทพเกี่ยวกับการพลศึกษาและการกีฬาที่แสดงถึงความรู้ความเข้าใจในการพลศึกษาแผนใหม่อย่างมาก ได้แก่ การฝึกซ้อมและลักษณะของนักกีฬาที่ดี ส่วนคติพจน์ของ  “ครูเทพ” เกี่ยวกับหมวดกีฬาและหมวดน้ำใจนักกีฬาแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพลศึกษาอย่างมาก สามารถสรุปข้อความได้อย่างลึกซึ้งและสอนใจนักกีฬาทั้งหลายได้เป็นอย่างดี “ครูเทพ” ต้องการให้ทุกคนได้เล่นกีฬาโดยเน้นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเล่นกีฬา คือ ความมีน้ำใจนักกีฬาซึ่งประกอบด้วยการรู้แพ้รู้ชนะ การให้อภัย การมีจิตใจสูง รู้จักอดกลั้น ควบคุมอารมณ์ได้และการเรียนกิจกรรมทางพลศึกษาหรือการเล่นกีฬาจำต้องใช้สนามซึ่งถือว่าเป็นห้องปฏิบัติการของวิชาพลศึกษาในปัจจุบันนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดและเป็นที่ก่อให้เกิดศีลธรรม มารยาท ความสามารถ ความสามัคคีและคุณธรรมย่อมเกิดขึ้นในสนามมากกว่าในห้องเรียน (หอสมุดแห่งชาติ. ม.ป.ป.)
          3.8 การจัดพลศึกษานอกระบบการศึกษา
                นอกจากกระทรวงธรรมการจะจัดการพลศึกษาไว้ในระบบโรงเรียนแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นที่ช่วยให้เกิดการพลศึกษาเจริญก้าวหน้าอีกส่วนหนึ่งได้แก่ สามัคยาจารย์สมาคม แผนกสโมสรกรีฑา การจัดการสอนและอบรมครูที่สนใจทางด้านพลศึกษารวมทั้งเปิดสอนกายบริหาร ยูโด (ญูญิตสู)  และยิมนาสติกให้แก่ผู้สนใจและสมาชิกตลอดจนมีการแข่งขันกีฬาประเภทกรีฑา เกมเบ็ดเตล็ด ฟุตบอลและยังจัดการแข่งขันเทนนิสประจำปีอีกด้วย สโมสรราชกรีฑา สระปทุมวันมีสนามไว้สำหรับเล่นกอล์ฟและแข่งม้า มีการสอนเล่นกอล์ฟและขี่ม้าให้แก่สมาชิกสปอร์ตคลับ มีสนามฟุตบอลได้มาตรฐานทำให้เป็นที่จัดการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญๆ อยู่เสมอ
          3.9 การจัดการแข่งขันกีฬา
                รัชกาลที่ 6 มีหลักฐานปรากฏได้เห็นชัดเจนจากหน่วยงานของราชการ สมาคม บริษัท เป็นผู้จัดขึ้นโดยให้นักเรียน ข้าราชการ ประชาชนและทหารได้เข้าร่วมการแข่งขันโดยหลักฐานและการค้นคว้าอ้างอิงจากหนังสือศตวรรษแห่งการกีฬาของสวัสดิ์ เลขยานนท์                              
               พ.ศ. 2454 การแข่งขันกรีฑาประจำปี เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ วันที่ 3 มกราคม ของทุกปี ปีนี้เริ่มมีการแข่งกรีฑานักเรียนที่สนามของโรงเรียนราชบูรณะ เหมือนเช่นเคยทุกปี ส่วนของการแข่งขันฟุตบอลประจำปี พ.ศ. 2454 มีโรงเรียนต่างๆ เข้าร่วมการแข่งขันหลายโรงเรียน แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 รอบ รอบสุดท้ายคงเหลือเพียง 4 โรงเรียนคือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนคริสเตียนไฮสกูล จัดการแข่งขันแบบพบกันหมด โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยชนะที่ 1                
                 พ.ศ. 2455 การแข่งขันกรีฑานักเรียนของกรมศึกษาธิการได้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอดได้มีโรงเรียนต่าง ๆ ส่งนักเรียนเข้าแข่งขันเพิ่มมากขึ้นทั้งจำนวนนักเรียนและโรงเรียนจนไม่สามารถแข่งขันให้เสร็จภายในวันเดียวได้จึงต้องมีการคัดเลือกก่อนในวันที่ 26 และ 27 ธันวาคม ซึ่งนักเป็นปีแรกที่มีคัดเลือกนักกีฬาก่อน ทั้งการคัดเลือกและการแข่งขันมีที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สำหรับการแข่งขันกำหนดวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2455
                  สำหรับสถิติของ ปี พ.ศ. 2455 ได้เริ่มมีการจดบันทึกไว้ทุกประเภทของการแข่งขันและเปรียบเทียบกับสถิติของปีที่แล้วเป็นครั้งแรกปรากฏว่าสถิติดีกว่า 3 ประเภท (ทำลายสถิติ) คือ
                      1. กระโดดสูง สถิติเดิม พ.ศ. 2454 นายเยมเชหรือคุณพระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ทำไว้ 1.52 เมตร สถิติใหม่ พ.ศ. 2455 นายฉิว โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ทำได้ 1.65 เมตร และนายเพ่งกิม โรงเรียนคริสเตียนวิทยาลัย (ปัจจุบันคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) ทำไว้ 1.60 เมตร
                      2. กระโดดไกล สถิติเดิม นายเภา จันทองมีหรือคุณหลวงประทักษ์เวชการ  โรงเรียนราชแพทยาลัย ทำไว้ 4.79 เมตร สถิติใหม่ พ.ศ. 2455 นายพลอย โรงเรียนคริสเตียนวิทยาลัย ทำได้ 5.24 เมตร และนายตุ๋ย โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ทำได้ 5.05 เมตร
                      3. ขว้างไกล สถิติเดิม นายเภา โรงเรียนประถมบรมนิเวช ทำไว้ 66.20 เมตร สถิติใหม่ พ.ศ. 2455 (ร.ศ. 131 ) นายหยี่ โรงเรียนวัดกลางเมืองสมุทรปราการ ทำได้ 85.80 เมตร ทำลายสถิติเกือบ 20 เมตร
                 ปีนี้นับเป็นปีแรกที่มีโรงเรียนต่างจังหวัดส่งนักเรียนเข้ามาแข่งขันยังเมืองหลวงแม้จะเป็นจังหวัดสมุทรปราการ ห่างกันเพียง 20 กิโลเมตร ก็ตามต้องใช้เรือในการเดินทาง ไป–กลับ วันเดียวไม่ได้ มีการสาธิตกีฬามวยฝรั่ง 1 คู่ ระหว่างนายจุณ นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยกับนายอรุณ นักเรียนโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ เป็นการชกมวยสากลคู่แรกของประเทศไทย นอกจากนี้มีการสาธิตกีฬาญูญิตสูหรือยูโด โดยหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล ทรงนำศิษย์ 5 คนออกแสดง คือ นายเต็ก นายหยอง นายเสมียน นายเฟื่องและนายขาย หลังจากการสาธิตในปีนี้แล้ว ต่อมาได้มีการแข่งขันยูโด (ญูญิตสู) ในปี พ.ศ. 2460 และมีการแข่งขันมวยสากลในปี พ.ศ. 2463
                  ในปี พ.ศ. 2455 นี้ มีการแข่งขันฟุตบอลของกรมศึกษาธิการเหมือนเช่นทุกปี แต่ได้มีการแบ่งรุ่นออกเป็น 2 รุ่น เรียกว่า ชุดเล็กและชุดใหญ่ ผู้เข้าแข่งขันในชุดเล็กอายุไม่เกิน 18 ปี ส่วนชุดใหญ่อายุไม่เกิน 20 ปี ชุดเล็กมีโรงเรียนต่างๆ ส่งเข้าแข่งขันมากถึง 25 โรงเรียนส่วนชุดใหญ่มีเพียง 10 โรงเรียนเท่านั้น ได้จัดการแข่งขันในรอบคัดเลือกจนได้รอบชิงชนะเลิศระหว่างโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยกับโรงเรียนเบญจมพิตร ที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2455 ฝ่ายชนะจะได้โล่ห์เงินของดับบลิว ซี จอห์นสัน ที่ปรึกษากระทรวงธรรมการเป็นรางวัล โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยชนะที่ 1 ส่วนการแข่งขันฟุตบอลชิงโล่ห์ของชุดใหญ่ระหว่างโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์กับโรงเรียนราชแพทยาลัยที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2455 ฝ่ายชนะจะได้โล่ห์เงินเป็นรางวัล โรงเรียนราชแพทยาวิทยาลัยเป็นฝ่ายชนะได้ครองโล่ห์เงินเป็นกรรมสิทธิ์เพราะชนะติดต่อกัน 3 ปี และในปีเดียวกันนี้ได้มีพระราชบัญญัติสองฉบับที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา คือ พระราชบัญญัติวิธีนับวันเดือนปี ให้เริ่มใช้พุทธศักราช คือ พุทธศักราช 2456 เป็นต้นไป ดังนั้น การจัดการแข่งขันกีฬาจะเริ่มด้วยพุทธศักราช 2456
                 พ.ศ. 2456 มีการแข่งขันกรีฑานักเรียนของกรมศึกษาธิการเช่นทุกปีที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สำหรับปีนี้นอกจากจะมีการแข่งขันกรีฑาแบ่งตามหมวดอายุที่กำหนดไว้ การแสดงของลูกเสือยังเพิ่มหมวดที่ 4 มีการแข่งขันศิลปะระหว่างนักเรียนอายุ 14 ปีลงมาชุดหนึ่งกับอายุ 18 ปีอีกชุดหนึ่งและมีนักเรียนจากจังหวัดห่างไกลเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้นด้วย เช่น โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า (อยุธยา) โรงเรียนตัวอย่างมณฑลปราจิณ (ปราจีนบุรี) และโรงเรียนตัวอย่างมณฑลพิษณุโลก
                 พ.ศ. 2457 การแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปีคงมีที่สนามโรงเรียนกุหลาบวิทยาลัย  การแข่งขันฟุตบอลชุดเล็กมีโรงเรียนเข้าแข่งขัน 6 โรงเรียน โรงเรียนที่ชนะ คือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ส่วนชุดกลางมีโรงเรียนเข้าแข่งขัน 12 โรงเรียน โรงเรียนที่ชนะ คือ โรงเรียนราชแพทยาลัย
เมื่อใกล้สิ้นฤดูกาลแข่งขันฟุตบอลนักเรียนประจำปี พ.ศ. 2457 กรมศึกษาธิการได้ออกประกาศว่าสำหรับปี พ.ศ. 2458 จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำการแข่งขันฟุตบอล เพื่อดำเนินการให้เป็นที่เรียบร้อย สรุปหน้าที่ต่างๆ ได้ดังนี้ เจ้าหน้าที่แผนกต่างๆ สำหรับการแข่งขันฟุตบอลในปี พ.ศ. 2458 เจ้าของบ้านมีหน้าที่รับรองและช่วยเหลือการทั่วไป ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่รักษาสนามและระเบียบให้เรียบร้อย ระวังเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้ตัดสินมีหน้าที่ดูแลผู้เล่นกันโดยสุจริต ผู้กำกับเส้นมีหน้าที่คอยดูลูกบอลที่จะออกจากเขต ผู้จดรายงานมีหน้าที่จดรายงานการแข่งขัน นอกจากนี้กรมศึกษาธิการได้ออกคำแนะนำเชิงเล่นที่ผิดกติกาต่างๆ
                 พ.ศ. 2458 การแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปีคงจัดที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เช่นเดิม ในปีเดียวกันนี้มีการแข่งขันฟุตบอลหลายครั้งและหลายประเภททั้งในส่วนของฟุตบอลนักเรียนและมีการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน เช่น ถ้วยน้อย ถ้วยใหญ่ ถ้วยทองของหลวง ถ้วยนักรบ ตลอดจนถ้วยกะลาสำหรับพระราชทานแก่ชุดที่มีฝีมืออ่อนที่สุด
                 การแข่งขันฟุตบอลนักเรียนประจำปี ผลการแข่งขันปรากฏ ดังนี้
                     1. รุ่นเล็ก ชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
                     2. รุ่นกลาง ชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
                     3. รุ่นใหญ่ ชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนราชแพทยาลัย
                 การแข่งขันฟุตบอลในปี พ.ศ. 2458  ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก มีการแข่งขันในระหว่างทหาร ตำรวจ เสือป่า และได้แพร่หลายไปยังต่างจังหวัดด้วย นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันแบบทีมเหย้า (Home Team) และทีมเยือน (Visiting Team) โดยมากราชกรีฑาสโมสรจะเป็นชุนเหย้าเพราะมีสนามดีได้มาตรฐาน มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่สะอาดและมีน้ำหวานเลี้ยงอีกด้วยจึงเป็นการแข่งขันฟุตบอลในรูปแบบสโมสร คือ จัดผู้มีวัยวุฒิเป็นทีมขึ้นเริ่มจากชุดทหาร  ชุดตำรวจ ชุดเสือป่าเป็นผู้นำซึ่งมักจะแข่งขันกับราชกรีฑาสโมสรเป็นประจำและการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอลทุกระดับเรียกว่า “ฟุตบอลหน้าพระที่นั่ง” ดังเช่นในวันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2458 มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสมาชิกสปอร์ตคลับ (ฝรั่ง) กับสมาชิกเสือป่ากองพรานหลวงที่สนามหน้าสโมสรเสือป่า สวนดุสิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตร ผลการแข่งขันสปอร์ตคลับชนะ 30 ประตู ในปีนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทหาร ตำรวจและเสือป่าและพระราชทานถ้วยทองเป็นรางวัล การแข่งขันครั้งนี้เรียกว่า “การแข่งขันฟุตบอลสำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง” เรียกโดยย่อว่า “ฟุตบอลหน้าพระที่นั่ง” การแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้เริ่มแต่วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2458 ติดต่อกันแทบทุกวันจนกระทั่งถึงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2458 จึงสิ้นสุดการแข่งขัน
                  การแข่งขันฟุตบอล “ถ้วยทองของหลวง 2458” ได้จัดพิมพ์สมุดระเบียบการต่างๆ ของการแข่งขันโดยแจ้งให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของการแข่งขัน รายชื่อคณะกรรมการ รายชื่อชุดที่เข้าแข่งขัน 12 ชุด ตอนท้ายเล่มได้แก่ กติกาการเล่นและคำแนะนำอื่นๆ การแข่งขันครั้งนี้เป็นการแข่งขันฟุตบอลยุคใหม่เป็นการแข่งขันระหว่างผู้มีวัยวุฒิ คือพ้นจากนักเรียนชั้นประถมและมัธยมไปแล้ว เป็นการแข่งขันในรูปสโมสรมีชุดเข้าแข่งขันเริ่มแรก 12 ชุด คือ นักเรียนนายร้อยทหารบก นักเรียนนายเรือ นักเรียนนายตำรวจภูธร นักเรียนนายสารวัตร กรมนักเรียนเสือป่าหลวง เสือป่าเสนากลาง เสือป่ากองพันพิเศษรักษาพระองค์ กรมเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์  กรมพรานหลวงรักษาพระองค์ กรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์  กรมทหารมหาดเล็กและกรมทหารรักษาวัง การแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้คณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองขอเปลี่ยนคำว่า “โกล์” เป็น “ประตู” และในการแข่งขันเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2458 พระราชเทวีพระพันปีหลวงเสาวภาผ่องศรี ในรัชกาลที่ 5 เสด็จทอดพระเนตรด้วยและทรงซักถามถึงวิธีการเล่นอยู่ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าสนพระราชหฤทัยการเล่นกีฬาแต่มิอาจจะแสดงออกได้ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ได้มีการจัดชุดฟุตบอลผสมจากสโมสรต่างๆ ที่ได้เข้าชิงถ้วยทองของหลวง โดยแบ่งเป็น 2 ชุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรการซ้อมฟุตบอลทีมผสมนี้ด้วยและพระราชทานถ้วยทองของหลวงแก่โรงเรียนนายเรือ ผู้เข้าแข่งขันได้รับพระราชทานแหนบ นาฬิกาทองลงยา ถ้วยทองของหลวงนี้ถือเป็นรางวัลกีฬาถ้วยแรกที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานไว้และเป็นถ้วยแรกที่แข่งขันกันระหว่างสโมสร
                  ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 มีการแข่งขันนัดสำคัญระหว่างทีมชาติสยามกับทีมราชกรีฑาสโมสร ณ สนามราชกรีฑาสโมสร ถนนสนามม้า ปทุมวัน การแข่งขันครั้งนี้ทีมชาติสยามชนะจึงได้ครองถ้วยและเหรียญที่ระลึกของราชกรีฑาสโมสร  หนังสือพิมพ์รายวันกรุงเทพฯเดลิเมล์ได้ลงข่าวโดยละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์แข่งขันฟุตบอลครั้งนี้โดยเฉพาะการเชียร์ของผู้ดูในสมัยนั้นเป็นไปอย่างสุภาพ  เสียงคนดูตบมือแกว่งหมวกและโยนผ้าเช็ดหน้าแสดงความยินดีรอบสนามเสียง โห่ร้องดังกึกก้องการเล่นเป็นแบบฉันท์มิตรและเป็นไปอย่างสุภาพเรียบร้อย การแข่งขันฟุตบอลระหว่างชุดทีมชาติสยามกับชุดราชกรีฑาสโมสร  ครั้งที่ 2 ที่สนามเสือป่า สวนดุสิต เมื่อวันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2458 ผู้แข่งขันทั้งสองชุดเป็นชุดเดิมกับการแข่งขันครั้งแรก แต่ในการแข่งขันครั้งนี้มีการกระทบกระทั่งกันมากจนถึงต้องออกจากการแข่งขันเพราะได้รับบาดเจ็บ
                 ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2458 นี้ มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติสยามกับสปอร์ตคลับที่สนามฟุตบอลสโมสรเสือป่าเพื่อรับรางวัลถ้วยทองของหลวง ผลการแข่งขันเสมอกัน และจะนัดให้มีการแข่งขันอีกครั้งเพื่อความชนะเลิศแต่ปรากฏงดไป
                 พ.ศ. 2549 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยามขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2459 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้มีชื่อเป็นกรรมการคณะฟุตบอลถ้วยทองของหลวงเป็นกรรมการสมาคมฟุตบอลแห่งสยามโดยรัชกาลที่ 6 ทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์อุปถัมภ์และรับเข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ รายชื่อกรรมการสมาคมชุดแรก คือ  (https://th.wikipedia.org/wiki/สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์)
                    1. พระยาประสิทธิ์ศุภการ                                    นายกสมาคม
                    2. หม่อมเจ้าสิทธิพรมฤดากร                                 อุปนายกสมาคม
                    3. พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร     กรรมการ
                    4. หม่อมเจ้าเขจรจรีสฤทธิ์ กฤดากร                         กรรมการ
                    5. พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (รื่น ศยามานนท์)            กรรมการ
                    6. พระยาบริหารราชมานพ (เนียน สาคริก)                 กรรมการ
                    7. พระราชดรุณรักษ์ (เสริญ ปันยารชุน)                     เลขาธิการสมาคม
                 ประกาศนี้นายพลตรี นายพลเสือป่า พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) นายกสมาคมเป็นผู้ลงนาม สมาคมฟุตบอลแห่งสยามได้เจริญมาโดยลำดับจนกระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยและในครั้งนั้นฟุตบอลได้มีการฝึกซ้อมชุดผสมซึ่งได้นักบอลจากชุดทหาร ตำรวจและเสือป่าส่งเข้าแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองของหลวงเป็นการซ้อมเพื่อจัดตั้งเป็นคณะฟุตบอลสปอร์ตแมนสยามเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน ในครั้งนั้นมีนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติ และผู้เล่นสำรองด้วยซึ่งได้รับหมวกสามารถในฐานะเป็นนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติสยามและในเวลาต่อมาได้รับนามสกุลพระราชทานทุกคน
                 พ.ศ. 2459 การแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี ที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2459 และมีการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนเหมือนทุกปีที่ผ่านมา และในปีนี้และได้มีการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองนักรบที่สโมสรเสือป่า สวนดุสิต ระหว่างสโมสรเสือป่าต่างๆ ทีมกรมนักเรียนแพทย์เสือป่าชนะเลิศได้รับถ้วยทองนักรบติดต่อกันถึง 3 ปี ทำให้ชื่อเสียงของโรงเรียนราชแพทยาลัยดีขึ้นเป็นที่รู้จักและมีผู้นิยมมาเรียนแพทย์มากขึ้นด้วย
                 พ.ศ. 2460 การแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปีที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2460 มีการแข่งขันเช่นปีก่อน แต่เพิ่มการแข่งขันยูโด
                 พ.ศ. 2461-2462 การแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปีที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งปีนี้มีการแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียนรวมเป็นงานเดียวกันด้วย
                 พ.ศ. 2462 ได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ แต่ยังคงนิยม เขียนและเรียกว่ากระทรวงธรรมการ จนถึงสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วประมาณ พ.ศ. 2484 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้งและใช้มาจนถึงปัจจุบัน
                 พ.ศ. 2463 ได้จัดการแข่งขันกรีฑาประจำปีที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2463 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระวรกัญญาประทาน เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน เสด็จประทับบนตึกสามัคยาจารย์ ชั้นบนเพื่อทอดพระเนตรกีฬากรีฑา การแสดงวิชาดัดตนส่วนห้อยโหน วิชามวยไทย มวยสากล ยูโดและวิชาลูกเสือ พอเสร็จการแสดงได้ทรงพระราชทานรางวัลแก่ผู้แสดงและผู้ชนะ
         3.10 หมวดพิเศษ
                 3.10.1. การแข่งขันดัดตนส่วนห้อยโหน ถ้วยมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ ได้แก่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเป็นผู้ได้รับรางวัลเฉพาะตัวที่ได้คะแนนมากมี 3 รางวัล
                 3.10.2 การแข่งขันยูโด ถ้วยของจอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุวัต ได้แก่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและเป็นผู้ได้คะแนนเฉพาะที่ได้คะแนนมากมี 3 รางวัล
                 3.10.3 การแข่งขันมวยสากล ผู้ที่ชนะได้รางวัลคือ คู่ที่ 1 น้ำหนักต่ำสุดไม่เกิน 7 สะโตน คู่ที่ 2 น้ำหนักน้อย 7.1  8 สะโตน คู่ที่ 3 น้ำหนักน้อยปานกลาง 8.1-9 สะโตน และคู่ที่ 4 น้ำหนักเบา 9.1-10 สะโตน
                 3.10.4 การแสดงวิชามวย
                              ชุดที่ 1 โล่เงินของจางวาโท พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ ปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
                               ชุดที่ 2 โล่เงินของนายดับบลิว ซี จอห์นสัน ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (สามัคยาจารย์สมาคม. 2463: 56)
                 พ.ศ. 2464 กระทรวงศึกษาธิการจัดการแข่งขันกรีฑาประจำปีที่สนามโรงเรียนกุหลาบวิทยาลัย ในวันที่3 มกราคม พ.ศ. 2464 แต่ปีนี้เพิ่มการแสดงฟันดาบแบบไทยและแบบฝรั่ง สำหรับการแข่งขันทั้ง 2 ชุด มีโรงเรียนส่งเข้าแข่งขัน 15 โรงเรียน ใช้ทั้งสนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ ผู้ทำหน้าที่ตัดสินการแข่งขันครั้งนี้มีจำนวนน้อยเพราะบางท่านติดราชการและคนที่ชำนาญหายากมาก ผู้ตัดสินได้แก่ รองอำมาตย์เอก หลวงเสนอพจน์พากษ์ รองอำมาตย์โทขุนเชี่ยวชาญพิทยาการ รองอำมาตย์โทขุนชาญพิทยกิจ รองอำมาตย์ตรีอุ่น บูรณบุตร์ ในปีนี้กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่ง ลงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2464 ว่าด้วยการแข่งฟุตบอลชิงโล่ห์กระกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับปีนี้และปีต่อไปให้พนักงานตรวจการแขวงนั้นเป็นผู้กำกับการแข่งขันทุกคู่แข่งขันและให้กรมมหาวิทยาลัยจัดแพทย์ศิริราชพยาบาลไปประจำเวลาแข่งขันสนามละ 1 คน ให้มีเครื่องมือเครื่องใช้อย่างพอเพียงในการปฐมพยาบาล ในปีนี้สโมสรกรีฑา แผนกกีฬาลอนเทนนิสของสามัคยาจารย์สมาคมได้จัดการแข่งขันเทนนิสระหว่างสมาชิกประเภทเดี่ยวและคู่ประจำปีที่ 17 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2463 จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2464 เพราะเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเจ้าของรางวัลไม่อยู่ต้องไปราชการต่างหัวเมือง การแข่งขันจึงเลื่อนออกไป รางวัลในสมัยนั้น ได้แก่ ถ้วยรางวัล หีบหนัง เครื่องเขียน หีบบุหรี่มีแถบเงินจารึก เสื้อกุยเฮงแพร เสื้อเชิ้ต เป็นต้น
                 พ.ศ. 2465 กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแข่งขันฟุตบอลประจำปี พ.ศ. 2465 เพื่อให้การแข่งขันฟุตบอลเป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นประโยชน์สมความมุ่งหมาย คณะกรรมการนี้มีหน้าที่จัดทุกอย่างเกี่ยวกับการแข่งขันและกระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้คณะกรรมการสั่งตั้งข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการที่สมควรเป็นผู้ตัดสินได้และสั่งจัดแพทย์ศิริราชมาเป็นแพทย์ประจำสนามการแข่งขันได้และโรงเรียนใดจะส่งนักเรียนเข้าแข่งขันหรือกิจเกี่ยวกับการแข่งขันให้ติดต่อกับคณะกรรมการชุดนี้โดยตรง ในปีนี้เป็นปีแรกที่แบ่งการแข่งขันออกเป็นรุ่น คือ รุ่นเล็ก รุ่นกลางและรุ่นใหญ่ ผลการแข่งขันโรงเรียนที่ได้คะแนนมากเป็นทีมชนะเลิศซึ่งจะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลถ้วยหรือโล่ห์เป็นเกียรติยศ คือรุ่นใหญ่ โรงเรียนอัสสัมชัญ รุ่นกลางโรงเรียนนายร้อยทหารบกและรุ่นเล็กโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร
                 การแข่งขันกรีฑาซึ่งเป็นงานประจำปีของกระทรวงศึกษาธิการ ปีนี้จัดที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2465 เริ่มการแข่งขันกีฬากรีฑา เวลา 16.30 นาฬิกา มีการแสดงวิชาลูกเสือและวิชาดัดตนส่วนห้อยโหน ในปีนี้ผู้มอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศ ได้รับเกียรติจากมาดามเกรก (Madame Grege) ภรรยาเอกอัคราชฑูตอังกฤษ เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีมิได้เสด็จทอดพระเนตรแต่พระองค์ทรงให้ดำเนินการจัดการแข่งขันกรีฑาต่อไป มีการมอบรางวัลเป็นรายบุคคลและเป็นโรงเรียน ซึ่งนักเรียนชนะมากจะได้คะแนนมากในหมวดหนึ่งๆ ให้ถ้วยรางวัลสำหรับหมวดนั้นไปให้โรงเรียนรักษาไว้เป็นเกียรติยศ 1 ปี แล้วส่งคืนกระทรวงศึกษาธิการภายในวันที่ 15 ธันวาคมของปีต่อไป ต่อเมื่อได้ครองถ้วยรางวัลครบ 3 ปี จึงได้เป็นกรรมสิทธิ์
                 ในปีเดียวกันนี้ มณฑลพายัพได้จัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยของคณะนักเรียนในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อการออกกำลังกายและเป็นการบำรุงการพลศึกษาอย่างหนึ่งด้วย โรงเรียนที่เข้าแข่งขันในรุ่นเล็กมี 5 โรงเรียน รุ่นกลางและรุ่นใหญ่มี 3 โรงเรียน และเพิ่มเติมอีกใน 2 สโมสร รวมเป็น 5 คณะ เริ่มแข่งขันวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2465 ณ สนามโรงเรียนประจำมณฑลพายัพ “ยุพราชวิทยาลัย” สนามโรงเรียนปรินซ์รอแยลคอลเลช สนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่และสนามกรมทหารบกกองพลที่ 8 ปรากฏว่าการแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้เกิดประโยชน์ 5 ประการคือ
                    1. ทำให้พลเมืองและนักเรียนได้พบปะกันเป็นประจำในกลางหาว (กลางแจ้ง) ซึ่งเป็นที่อากาศบริสุทธิ์ย่อมคุ้นเคยวิสาสะกัน ซึ่งเป็นการปลูกความสามัคคี
                    2. ทำให้มีความครึกครื้น ทำให้เด็กและพลเมืองได้รับความบันเทิงในโอกาสว่างงาน และเป็นการตัดหนทางเที่ยวเตร่ที่จะเกิดโทษแก่คนได้
                    3. ทำให้พลเมืองและนักเรียนนิยมในการเป็นผู้มีกำลังแข็งแรง
                    4. ทำให้นักเรียนทั่วไปทุกโรงเรียนชอบเล่นการออกกำลังกายยิ่งขึ้น ทำให้ร่างกายสมบูรณ์ก็จะช่วยต้านทานโรคได้ ปรากฏว่านักเรียนลาป่วยน้อยลง โรคที่เป็นมากคือโรคไข้ เมื่อมีการเล่นฟุตบอลการลาป่วยน้อยลงทั้งนี้อาจเป็นเพราะการเล่นฟุตบอลเป็นสิ่งที่เด็กชอบและสนุกสนานมากโรงเรียนจัดการแข่งขันฟุตบอลขึ้น นักเรียนจึงมาเป็นประจำและช่วยทำให้เด็กออกกำลังกายเป็นประจำ
                    5. สนามเป็นที่อบรมอัธยาศัยนักกีฬา มิให้มีการโกรธง่าย ไม่เสียสติและไม่ถอยง่าย ซึ่งห้องเรียนจะอบรมได้ยาก                
                  พ.ศ. 2466 ได้จัดการแข่งขันกรีฑาประจำปีที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2466 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่และพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรและพระราชทานรางวัล กระทรวงศึกษาธิการได้เชิญเจ้านาย ข้าราชการกระทรวงต่างๆ ทั้งฝ่ายในตลอดจนราชทูตกงสุลต่างประเทศและพ่อค้านายห้างมาชุมนุมเผ้าทูลละอองทุลีพระบาทด้วยและยังอนุญาตผู้ที่แต่งกายสุภาพเข้าชมได้รอบสนามอีกด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันกรีฑา การแสดงวิชาลูกเสือและพลศึกษา เสร็จแล้วทรงพระราชทานรางวัล การแข่งขันกรีฑาปีนี้จัดตามข้อบังคับของกระทรวงศึกษาธิการเป็นปีแรกที่ตราข้อบังคับขึ้น คือ
                    1. กรรมการจัดการกรีฑา ประกอบด้วยนายก เลขานุการและกรรมการอีก 5 ท่าน
                    2. การประชุมกรรมการในปีนี้ประชุม 7 ครั้ง หัวข้อที่ตกลงในที่ประชุม มีดังนี้
                        ก. ร่างข้อบังคับสำหรับการกรีฑาขึ้นใหม่ เรียกว่า “ข้อบังคับการกรีฑาของกระทรวงศึกษาธิการ พุทธศักราช 2466” ว่าด้วยการจัดการแข่งขันและกติกาในการแข่งขันกรีฑาทุกประเภท ข้อบังคับนี้ได้เสนอและรับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการแล้วและได้พิมพ์เป็นเล่มแจกโรงเรียนต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2466
                        ข. การแข่งขันจัดเป็น 3 รุ่น
                            1. รุ่นใหญ่ ไม่จำกัดส่วนสูงและอายุ
                            2. รุ่นกลาง สูงไม่เกิน 155 เซนติเมตร อายุนับถึงวันที่ 1 มกราคม ไม่เกิน 16 ปีบริบูรณ์
                            3. รุ่นเล็ก สูงไม่เกิน 145 เซนติเมตร อายุนับถึงวันที่ 1 มกราคม ไม่เกิน 13 ปีบริบูรณ์
                      การวัดส่วนสูงยืนตรงไม่ย่อเข่าส้นเท้าทั้งสองชิดกันหลังและศีรษะติดฝาผนัง ตาทอดตรงไปไม่เงยหน้า วัดพื้นเท้าถึงศีรษะ ส่วนอายุถือตามทะเบียนของโรงเรียน
                        ค. นักเรียนที่เข้าแข่งขันกรีฑา ต้องเป็นนักเรียนที่ไม่เคยแข่งขันหรือลงชื่อแข่งขันในการกรีฑาเพื่อรับสินจ้างเป็นเงินหรือสนามซึ่งจัดให้มีการพนัน เพื่อป้องกันนักเรียนไม่ให้เห็นชอบในการทางพนัน
                   3. ปีนี้มีโรงเรียนส่งเข้าแข่งขัน 24 โรงเรียน ตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาจนถึงประถมศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งรุ่นใหญ่เท่านั้น ราชแพทยาลัย สวนกุหลาบวิทยาลัย มัธยมวัดปทุมคงคา ประถมวัดสามจีน ประถมวัดหัวลำโพงและพร้อมวิทยามูล
                   4. การคัดเลือกนักกีฬาในรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ กำหนดในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2466และรุ่นกลางในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2466 โดยให้วัดส่วนสูงก่อน ถ้าความสูงไม่ถึงรุ่นนั้นๆ ก็เข้าแข่งขันไม่ได้ ในวันคัดเลือกทั้งสองวันกรรมการจะจัดแถบสีของโรงเรียนติดไว้ที่หน้าอกเสื้อของผู้เข้าแข่งขันทุกคนเพื่อให้ผู้ตัดสินเห็นได้สะดวก
                   5. ตำแหน่งหน้าที่ของผู้จัดการแข่งขันกรีฑา ประกอบด้วย ผู้ชี้ขาด ผู้ตัดสิน ผู้จับเวลาผู้ปล่อยตัว ผู้รับผู้แข่งขัน นายสนาม ผู้ส่งตัวผู้แข่งขัน ผู้ประจำฝ่ายสัญญาณบอกผู้ชนะ เลขานุการสนาม
                 ในวันแข่งขันกรีฑาจะมีการแจกรางวัลสำหรับโรงเรียนและผู้แข่งขันฟุตบอล วิชาดัดตนส่วนห้อยโหน วิชายูโดและมวยสากล ซึ่งเป็นการแข่งขันประจำปีตามกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ
การแข่งขันกีฬาฟุตบอลของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2466 ได้ใช้ของบังคับการแข่งขันฟุตบอลของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2466 ตามข้อบังคับ 3 รุ่น คือ รุ่นเล็ก กลางและใหญ่ ภายหลังนายโอ
แกรนมานซ์ (Mr. O Granmance) มีความเอื้อเฟื้อให้ถ้วยเงินแก่กระทรวงศึกษาธิการสำหรับการแข่งขันฟุตบอลอีก 1 ถ้วย กรรมการจึงจัดอีกรุ่นหนึ่งเรียกว่า รุ่นพิเศษ ผู้เล่นในรุ่นนี้ไม่จำกัดส่วนสูงและอายุหรือเคยเล่นที่ใดๆมาแล้วแต่จำเป็นว่าต้องเป็นนักเรียนในโรงเรียนนั้นๆ มาก่อนวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2466 ถ้าโรงเรียนได้ถ้วย 2 ปีติดต่อกันหรือ 3 ปีไม่ติดกันก็จะได้ถ้วยไว้เป็นกรรมสิทธิ์
นักกีฬาฟุตบอลปีนี้เล่นได้ดีขึ้น มีฝีมือในการการเล่นทั้ง 4 รุ่นกว่าปีก่อนๆ ความประพฤติของผู้เล่นก็ดีขึ้นแต่ก็มีบางชุดต้องถูกลงโทษจากกรรมการผู้ตัดสิน ผู้ดูให้ความสนใจมากขึ้น สำหรับความเห็นของคณะกรรมการจัดการแข่งขันกล่าวไว้ว่า การแข่งขันครั้งนี้โรงเรียนที่ส่งนักเรียนเข้าเล่นควรจะคิดถึงเรื่องฝึกเด็กให้เป็นนักกีฬามากขึ้น ไม่ควรคิดที่จะเอาชนะเท่านั้น นักเรียนที่มีฝีมือในเชิงเล่นแต่เล่นเกเรด้วยโรงเรียนไม่ควรจะเอาเข้ามาแข่งขัน โรงเรียนควรจะคิดว่านักเรียนโรงเรียนตัวเองนั้นเล่นเกเรนั้นย่อมขายหน้าและเสื่อมเสียเกียรติยศมากกว่าที่เล่นแพ้เขาโดยไม่มีเชิงนักกีฬาแท้ๆ ข้อนี้ต้องพยายามให้โรงเรียนทั้งหลายเข้าใจให้แจ่มแจ้ง (สามัคยาจารย์สมาคม, 2466: 28) ในปีนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการแข่งขันฟุตบอลขึ้นประกอบด้วยนายกกรรมการ อุปนายก เลขานุการและกรรมการอีก 2 ท่าน นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการยังออกข้อบังคับการแข่งขันฟุตบอล พ.ศ. 2466 โดยกำหนดความมุ่งหมายเพื่อขัดเกลากมลสันดานให้เกิดคุณความดี 4 ประการ คือ ใจนักเลง สามัคคี อาจหาญและขันติ สำหรับข้อบังคับได้กำหนดการแข่งขันจัดเป็น 3 รุ่นคือ รุ่นเล็กส่วนสูงไม่เกิน 150 เซนติเมตรและอายุ 16 ปีบริบูรณ์ นับตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2466 รุ่นกลางส่วนสูงไม่เกิน 160 เซนติเมตรและอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ นับตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2466 ส่วนรุ่นใหญ่ไม่กำหนดส่วนสูงและอายุ นอกจากนี้คุณสมบัติของผู้เล่นรุ่นเล็กและรุ่นกลางไม่ต้องอยู่ในคณะฟุตบอลแห่งสยามหรือคณะฟุตบอลเสือป่าในหลวง ส่วนรุ่นใหญ่ต้องไม่เคยเข้าเล่นในคณะหรือสโมสรในปีที่ได้รับถ้วยของคณะฟุตบอลแห่งสยามหรือฟุตบอลเสือป่าในหลวง การรับสมัคร โทษของการฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบกติกาต่าง ๆ  ซึ่งกำหนดใช้ตามคณะกรรมการฟุตบอลแห่งสยาม พ.ศ. 2459 และการนับคะแนนเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตัดสิน ผู้กำกับเส้น แพทย์ประจำสนาม เป็นต้น
                 พ.ศ. 2467 การจัดกรีฑานักเรียนแห่งปี ประสบปัญหาเรื่องการเงินคับขันมากต้องตัดรายจ่ายลงจึงงดไว้ชั่วคราวแต่การแข่งขันต่างๆ ระหว่างโรงเรียนเพื่อชิงโล่ห์และถ้วยซึ่งไม่ต้องลงทุนหรือใช้จ่ายแต่น้อยมีไปตามปกติ (กองจดหมายแห่งชาติ. ศ1/11 ) เมื่อประกาศงดการแข่งขันกรีฑานักเรียนก็ได้มีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับบางกอกไทม์ ลงถึง 3 ครั้ง กล่าวโดยสรุปว่าไม่ควรงด และต่อมาได้มีหนังสือของนาย จี เฮช อาร์ดรอน  (G. H. Ardron ) ผู้จัดการธนาคารสยามกรรมาจล ขอร้องให้มีการแข่งขันกรีฑาด้วยการเรี่ยไร ซึ่งเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบซึ่งพระองค์เห็นชอบด้วยและมีพระราชประสงค์ที่จะเรี่ยไรพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมด้วย (กองจดหมายแห่งชาติ. ศ1/47) การแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปีจึงจัดขึ้นเหมือนเช่นปีก่อนๆ และในปีนี้เองกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอเปลี่ยนรางวัลนักเรียนผู้ชนะในการแข่งขันกรีฑา โดยปกติเป็นสิ่งของเครื่องใช้ ผู้ที่ได้รับพระราชทานแล้วก็หมดไปไม่เหลือเป็นสิ่งที่ระลึก ทั้งราคาก็ค่อนข้างแพงเพื่อประหยัดและเพื่อผู้ได้รับพระราชทานเป็นที่ระลึกและประดับเป็นเครื่องหมายความสามารถควรเปลี่ยนเป็นเหรียญ ส่วนเครื่องหมายในเหรียญควรเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งกำลัง ได้แก่ รูปพระอินทร์ซึ่งเป็นพระพลบดี จึงทำเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างซึ่งสร้างโดยฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าบรมวงค์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัติวงศ์ พร้อมทั้งมีหนังสือจารึกไว้ข้างบนว่า “การกรีฑาของกระทรวงศึกษาธิการ” ด้านหลังจารึกชื่อผู้ได้รางวัล ชั้นรางวัลของประเภทกีฬาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง แต่การออกแบบยังไม่ดี เพราะทำเป็นเหรียญดังที่ออกแบบได้ค่อนข้างเหมือนพระอินทร์  (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. ศ 1/48)
         3.11 หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพลศึกษา
                 หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับพลศึกษาได้แก่ กระทรวงธรรมการ ซึ่งเป็นผู้ได้จัดดำเนินการให้มีหลักสูตรพลศึกษาในโรงเรียน และจัดดำเนินการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ได้แก่การแข่งขันกีฬานักเรียนประจำปี การแข่งขันกีฬาประชาชนแห่งชาติ การแข่งชักคะเย่อ การแข่งขันฟุตบอลนักเรียน เยาวชน สโมสรต่าง ๆ บริษัท ห้างร้าน และทีมชาติไทย (คณะฟุตบอลแห่งสยาม) และการแข่งขันมวยสากล ยูโด ยิมนาสติกระดับนักเรียน เป็นต้น และได้ปรับปรุงระดับการศึกษาในการผลิตครูพลศึกษา คือ ห้องพลศึกษากลาง มีการสอนวิชามวยไทย และยิมนาสติกเท่านั้น
                 ในสมัยราชการที่ 6 มีสโมสรต่าง ๆ มากมานตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมสโมสรกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลในระดับกรมและกระทรวงต่าง ๆ เพื่อให้ข้าราชการได้ออกกำลังกายและได้รับความบันเทิงใจตามสมควรและทำให้รู้จักรักใคร่กันในหมู่คณะอีกด้วย การแสดงน้ำใจนักกีฬาทั้งผู้ชมและผู้เล่น
สำหรับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับพลศึกษาโดยตรง ทั้งทางด้านการอบรมให้มีความรู้ทั้งทางด้านทฤษฏีและปฏิบัติคือ สามัคยาจารย์สมาคมและยังมีหนังสือพิมพ์รายเดือน “วิทยาจารย์” ให้ความรู้วิชาการแก่ครูพลศึกษาอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันกีฬาประจำปีกด้วย ส่วนสมาคมอื่น ๆ มักจะบริหารแต่สมาชิกเท่านั้นและเป็นการสอนในหมู่คนจำนวนจำกัดและมีสถานที่ใช้สำหรับการแข่งขันตนเอง
               สรุปได้ว่าสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงส่งเสริมทำนุบำรุงกีฬาไทย เช่น กระบี่กระบอง ดาบ มวยไทยและยุทธกีฬาการฝึกทหารที่มีการแสดงและการแข่งขันมวยไทย สำหรับการส่งเสริมกีฬาสากล ทรงสนับสนุนอย่างมาก เช่น กรีฑา ฟุตบอล ยูโด ยิมนาสติก บาสเกตบอล แบดมินตัน ขี่ม้า โปโล กอล์ฟและมวยสากล เป็นต้น การกีฬาไทยและกีฬาสากลได้แพร่หลายเข้าไปในโรงเรียนทั้งในเมืองหลวงและหัวเมืองต่าง ๆ มากขึ้นรวมทั้งยังใช้กิจกรรมพลศึกษาเพื่อฝึกอบรมคุณลักษณะที่ดีของลูกเสือและเสือป่าด้วย การส่งเสริมกีฬาไทยเป็นผลมาจากการไหลหลั่งของวัฒนธรรมตะวันตกทำให้มีความจำเป็นต้องรักษาวัฒนธรรมไทยทางการกีฬาไว้อย่างหนึ่งด้วย ส่วนการส่งเสริมกีฬาสากลเป็นผลมาจากพระองค์ได้เคยศึกษาเล่าเรียนในมหาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษและทรงโปรดกีฬาฟุตบอลมาก ทำให้เป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันมากทั้งในโรงเรียนนายร้อยทหารบกและทหารเรือ สโมสรฟุตบอลของข้าราชการกระทรวงทบวงกรมต่างๆ รวมทั้งพ่อค้า ประชาชนด้วยและทรงโปรดตั้ง “สมาคมฟุตบอลแห่งสยาม” และคณะฟุตบอลแห่งสยามรวมทั้งพิมพ์กติกาฟุตบอลเผยแพร่ด้วยและสมาคมได้เริ่มจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยใหญ่และถ้วยน้อย ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบันนี้
                 วัตถุประสงค์ของพลศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 6 เน้นการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้ออกกำลังกายอย่างสนุกสนานและด้วยความบันเทิงใจและเพื่อให้นักเรียนมีร่างกายที่แข็งแรง มีน้ำใจเป็นนักกีฬา มีระเบียบวินัยสามารถทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะได้และวัตถุประสงค์ในการผลิตครูพลศึกษาก็เหมือนวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นแต่เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำความรู้ไปใช้สอนนักเรียนได้และมีความสามารถทำให้นักเรียนดูเป็นตัวอย่างได้ ส่วนวัตถุประสงค์ในการแข่งขันกีฬาเพื่อเล่นกีฬาอย่างผู้มีน้ำใจนักกีฬาและได้มีโอกาสเข้าร่วมเล่นได้ออกกำลังกายอย่างสนุกสนาน เป็นผู้มีมารยาทในการเล่นและผู้ดูกีฬาที่ดี ในราชกาลที่ 6 การเรียนการสอนวิชาพลศึกษาเริ่มสอนโดยครูทั่วๆ ไปที่สนใจทางกีฬาและผ่านการอบรมจากโรงเรียนพลศึกษากลางมาแล้ว การสอนกิจกรรมพลศึกษาแยกตามความแตกต่างของเพศและวัย ซึ่งเป็นผลมาจากการกำหนดของหลักสูตรครูเป็นผู้สาธิตทำให้นักเรียนดูก่อนแล้วให้นักเรียนทำตามและยึดหนังสือแบบเรียนกายบริหารเป็นสำคัญ จะเป็นการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียนได้มีความรู้และเข้าใจยิ่งขึ้นซึ่งรวมทั้งวิชาลูกเสือด้วย
มีสโมสรกีฬาของกระทรวงทวงกรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะสโมสรฟุตบอลแห่งสยาม ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระเบียบการเล่นและกติกาของฟุตบอลไปยังประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีสโมสรของบริษัทห้างร้านของชาวต่างประเทศอีกมากมาย สามัคยาจารย์สมาคม สโมสรราชกรีฑา สปอร์ตคลับและสมาคมวาย เอ็ม ซี เอ ช่วยเผยแพร่การพลศึกษาและกีฬาอีกด้วย

4. การพลศึกษาในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (2468-2474)
         พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2468–2477) รัชกาลที่ 7 ทรงครองราชย์ 9 ปี  มีการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่นเดียวกับรัชกาลอื่นๆ แต่มีเหตุการณ์สำคัญคือเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและคณะราษฎร์ขอเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบ  ประชาธิปไตย

         4.1 การพลศึกษาและกีฬาในส่วนพระองค์
                พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬาเป็นประจำ ดั่งปรากฏในพระราชานุกิจ ดังนี้  “…..วันใดไม่มีพระราชกิจอันในเวลาบ่าย 17.00 น. ถึง  18.00 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพระกำลังกายด้วยเสด็จไปทรงการเล่นต่างๆ  มีกอล์ฟ สควอช เป็นต้น บางครั้งก็ทรงพายเรือหรือว่ายน้ำในสระ เพราะการออกพระกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระอนามัยทุกวัน...(สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2489: 13)
                 พระองค์ทรงเป็นนักกีฬาโดยทรงเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ เช่น ว่ายน้ำ พายเรือ เทนนิส  และกอล์ฟ โดยเฉพาะกอล์ฟมีเหตุการณ์สำคัญชี้ให้เห็นเด่นชัด เมื่อคณะราษฎร์ได้เข้าถวายงานเรื่องขอการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลา  07.00 น. พระองค์ทรงตีกอล์ฟได้หลุมที่ 7 ดังนั้นพระอิริยาบถสุดท้ายของพระเจ้าอยู่หัวไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือท่าตีกอล์ฟ
         4.2 การส่งเสริมกีฬาไทย
              พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยและให้การสนับสนุนกีฬาไทย  โดยการเสด็จทอดพระเนตรอยู่เสมอ  หรือเป็นครั้งคราวตามคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ
              4.2.1 การแข่งขันเรือ รัชกาลที่ 7 เสด็จทอดพระเนตรกีฬาเรือแข่งขันชิงรางวัลของกระทรวงทหารเรือในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 ณ พลับพลาหน้ากระทรวงทหารเรือ (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, ศ 8/5)
               4.2.2 การแข่งขันว่าว
                        กีฬาว่าวได้เริ่มซบเซาลงตั้งแต่ปลายราชกาลที่ 6 สถานที่แข่งขันได้มาตรฐานเหลือเพียงสนามหลวงแห่งเดียวทั้งนี้เพราะความเจริญของบ้านเมืองมีตึกรามบ้านเรือนมากมายและเพิ่มความสูงขึ้นทำให้สถานที่โล่งเตียนมีน้อยลงกีฬาว่าวต้องการสถานที่กว้างขวางและโล่งแจ้งจึงจะเล่นได้
                         พ.ศ. 2470 มีกลุ่มกีฬาไทยเห็นกีฬาไทยอันเป็นวัฒนธรรมของไทยจะค่อยๆ สูญหายไปอย่างแน่นอนจึงรวมกลุ่มกันจัดตั้ง สมาคมกีฬาสยาม มีวัตถุประสงค์เพื่อบำรุงและส่งเสริมฟื้นฟูกีฬาของไทยโดยมีพระยาภิรมย์ภักดีเป็นนายกสมาคมคนแรกแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนก็ได้มีการประชุมตั้งกฎกติกาและได้ใช้สนามหลวงเป็นสนามแข่งขันว่าวและหมากรุกขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์  มีนาคมและเมษายน ในปีต่อมาได้เปิดการแข่งขันตะกร้อวงเล็ก วงใหญ่และตะกร้อลอดบ่วงขึ้นด้วย
                         พ.ศ. 2475 ได้จดทะเบียนตั้งสมาคมกีฬาสยามและได้เพิ่มกีฬานอกจากแข่งขันว่าว มีตะกร้อลอดห่วง ตะกร้อข้ามตาข่าย ตะกร้อเตะทนวงใหญ่ วงเล็กและตะกร้อชิงธง
(กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. ศ 8/5)

             4.2.3 การแข่งขันชกมวยไทย
                        มีการแข่งขันมวยไทยที่สวนสนุก (ปัจจุบันคือสวนลุมพินี) ได้มีการจัดการแข่งขันชกมวยไทยฝีมือเยี่ยมไว้ทุกวันเสาร์ ถือว่าเป็นรายการกีฬาที่น่าดูมาก พระยาคทาธรบดีได้กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จแต่พระองค์ของดไว้ชั่วคราวเพราะมีพระราชกรณียกิจอื่นที่มีหมายกำหนดการอยู่แล้ว (ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพชร. 2538: 104-105)
          4.3 การส่งเสริมกีฬาสากล
               4.3.1 กรีฑา รัชกาลที่ 7 เสด็จทอดพระเนตรและพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศในการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี ณ สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ประมาณเดือนธันวาคมเป็นประจำและการจัดงานเริ่มประหยัดขึ้นจะลดค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ใช้เงินมากลงไป คือ การเลี้ยงน้ำชาฝรั่ง บางปีก็ยังคงมีเลี้ยงน้ำชา พระองค์และสมเด็จพระบรมราชินีจะเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันกรีฑาและพระราชทานรางวัลแก่โรงเรียนที่ชนะเลิศในการแข่งขันกรีฑาและการแข่งขันกีฬาอื่นๆ ซึ่งจะมารับรางวัลในวันกรีฑานี้ด้วย เช่น การแข่งขันฟุตบอล ดัดตนส่วนห้อยโหน ยูโด (ญญิตสู) มวยสากล  และเทนนิส
                 4.3.2 ฟุตบอล รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับคณะฟุตบอลแห่งสยามไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2468 และในปีนี้มีการแข่งขันฟุตบอลของกระทรวงธรรมการซึ่งถือว่าเป็นพลศึกษาส่วนหนึ่งที่มีประจำในภาคปลายเมื่อหมดภาคเรียนแล้ว ปีนี้ได้จัดการแข่งขันมาแล้วยังไม่เสร็จสิ้นก็มาประจวบความเศร้าโศกคือรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต จึงได้งดการแข่งขันกีฬาทุกอย่างแต่การแข่งขันฟุตบอลยังค้างอยู่นี้ควรงดเสียตลอดศกนี้หรือยังควรมีต่อไป  พระองค์ทรงเห็นว่าควรมีต่อไปเพราะเป็นพลศึกษาและเป็นการบำรุงรักษาร่างกายไม่ใช่เป็นการมหรสพ (ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพชร. 2538: 106-107)
                          ในรัชกาลของพระองค์มีการแข่งขันฟุตบอลแห่งสยามประจำปีชิงถ้วยใหญ่และถ้วยน้อย ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรต่างๆ โดยสมาคมฟุตบอลสยามเป็นผู้จัดดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีการสอบไล่ผู้ตัดสินฟุตบอลด้วยทั้งข้อเขียนและตัดสินจริงๆ พระองค์โปรดสนับสนุนการกีฬามากทั้งที่มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในปี พ.ศ. 2475 พระองค์ก็ยังคงเสด็จทอดพระเนตรและพระราชทานรางวัลตามคำกราบทูลเช่นปีก่อนๆ และคณะฟุตบอลแห่งสยามได้กราบทูลถวายแหนบ กรรมการพิเศษแก่พระองค์ด้วย นอกจากนี้พระองค์ทรงสนับสนุนคณะฟุตบอลแห่งสยามให้เดินทางไปแข่งขันกับคณะฟุตบอลญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่น
               4.3.3 โปโล พระองค์เสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันโปโล ซึ่งนายอี เชป เบิล (E. Chief Ble) เป็นประธาน “Bangkok Riding and Polo Club” จัดให้มีแข่งขันโปโลระหว่างคณะกรุงเทพฯ กับคณะเกาะหมาก (เกาะปีนัง) ในวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2468 (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. ศ 1/3)
                4.3.4 เทนนิส รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันเทนนิสรอบสุดท้ายของสมาคมเทนนิสแห่งสยาม เสวยน้ำชาและพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2472 เวลา 16.40 นาฬิกา ณ สามัคยาจารย์สมาคม
                 4.3.5 กอล์ฟ พระองค์ทรงโปรดการเล่นกอล์ฟและทรงกอล์ฟเป็นประจำ พระองค์สนับสนุนให้จัดสร้างสนามกอล์ฟหลวงสวนจิตลดาและสนามกอล์ฟที่หัวหินซึ่งเป็นสนามที่ได้มาตรฐานชั้นเยี่ยมที่สุดในปัจจุบันนี้ และโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีเข้าเล่นกอล์ฟในสนามกอล์ฟหลวงสวนจิตลดา ดังนั้นกอล์ฟจึงเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันมากในหมู่เจ้านายและข้าราชการ ในรัชกาลที่ 7 มีการจัดตั้งสโมสรกอล์ฟหลายสโมสร เช่นสโมสรกอล์ฟดุสิตและสโมสรกอล์ฟสยาม เป็นต้น
                  4.3.6 กีฬาระหว่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2471 คณะกรรมการกีฬาโอลิมปิกแห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Committee’ Olympic Switzerland) ได้ส่งหนังสือพิมพ์รายเดือนมาทูลถวาย 3 ฉบับ ฉบับแรก กล่าวถึงกติกาทั่วไปสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกและสำหรับการกีฬาออกกำลังกายต่างๆ ฉบับที่ 2 ว่าด้วยการกีฬาออกกำลังกายในฤดูหนาว ค.ศ. 1928 ที่แซงต์ มอวิทส์ และฉบับที่3 ว่าด้วยกฎข้อบังคับการประชุมของกรรมการสภา พระองค์ทรงตอบปฏิเสธว่าประเทศสยามยังเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิก (Olympic Game) ไม่ได้ (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. ศ1/7)
         4.4 วัตถุประสงค์ของพลศึกษา
               วัตถุประสงค์การเรียนการสอนพลศึกษาเพื่อพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม โดยใช้กิจกรรมพลศึกษาเป็นสื่อ ซึ่งในสมัยนั้นเน้นกีฬายิมนาสติก มวยสากล มวยไทย ยูโด กรีฑา ฟุตบอลและเนตบอล ส่วนวัตถุประสงค์ในการแข่งขันกีฬา เพื่อความสนุกสนานหรือเพื่อฉันท์มิตรย่อมมีความมุ่งมั่นเพื่อเป็นการเพาะคุณธรรมทั้ง 4 ประการ ได้แก่ ความองอาจ กล้าหาญ ความสามัคคี ความมีน้ำใจ และความอดทน (อดกลั้น)
        4.5 หลักสูตรวิชาพลศึกษาและการเรียนการสอน
               4.5.1 หลักสูตรวิชาพลศึกษา ในปี พ.ศ. 2471 มีหลักสูตรวิชาพลศึกษาสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย เวลาเรียน 2 ปี แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกกลาง แผนกภาษา และแผนกวิทยาศาสตร์ กำหนดให้เรียนวิชาพลศึกษาทุกแผนก สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง วิชาพลศึกษามีรายการที่ต้องสอน ดังนี้ คือ
                            4.5.1.1 ต้องสอนวิชาลูกเสือโทและเอก ผู้ที่เป็นลูกเสือเอกแล้ว เวลาสอบไล่ไม่ต้องสอบ
                          4.5.1.2 ต้องสอบกายบริหารหรือดัดตนจนจบวิธี
                          4.5.1.3 ต้องสอนดัดตนส่วนห้อยโหนท่าง่ายๆ ที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง
                          4.5.1.4 ต้องสอนให้เล่นกีฬาต่างๆ ให้มากตามแต่จะได้ 
                       หมายเหตุ พลศึกษานี้บางอย่างต้องใช้เวลานอกตารางสอน การสอบไล่จะสอบไล่ทั้งชั้น สำหรับนักเรียนหญิงใช้กายบริหารหรือวิชาอื่นๆ ที่เหมาะสมแก่หญิงได้ตามแต่จะสะดวก(กระทรวงธรรมการ. 2471: 25)
                        พ.ศ. 2471 และ พ.ศ. 2472 การพลศึกษาได้รับการปรับปรุงและเพิ่มครูพลศึกษามากขึ้นในโรงเรียนนายร้อยทหารบก จึงเพิ่มกิจกรรมในวิชาพลศึกษา เช่น ยูโด แทงปืน ยิมนาสติก พุ่งแหลน ขว้างจักร ขว้างลูกน้ำหนักและฟันดาบในสมุดบันทึกมีช่องแสดงการเจริญเติบโตของร่างกายส่วนต่างๆ และความสามารถในทางกีฬา 17 ประเภท คือ ดัดตนมือเปล่า ดัดตนห้อยโหน ดัดตนยืดหยุ่น ดัดตนประกอบปืน ทุ่มน้ำหนัก พุ่งหอก(พุ่งแหลน) ล่อนจาน(ขว้างจักร) ขว้างลูกระเบิด ว่ายน้ำ กระโดดน้ำ ดัดตนสนาม มวยไทย มวยสากล ยูโด ฟันดาบ  มวยปล้ำ และอาวุธโบราณ การฝึกพลศึกษาในระยะนั้นจึงมีการฝึกวิชาพลศึกษาหลายวิชา (โรงเรียนนายร้อยตำรวจพระจุลจอมแกล้า. 2510: 24)
                          พ.ศ. 2472 มีหลักสูตรวิชาพลศึกษาสำหรับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมสามัญชาย กำหนดให้เรียนวิชาพลศึกษา ได้แก่
                            1. ให้เรียนอย่างเดียวกับหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2471
                               2. ให้สามารถไปสอนกายบริหารและดัดตนส่วนห้อยโหนท่าง่ายๆ ได้อย่างถูกต้อง
                             3. ให้รู้จักอบรมและฝึกหัดวิชาลูกเสือในโรงเรียน
                           ในปีเดียวกันนี้มีหลักสูตรวิชาพลศึกษาสำหรับโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมพาณิชยการกิจกรรมที่ต้องเรียน ได้แก่ กิจกรรมทางพลศึกษาและลูกเสือซึ่งต้องเรียนทุกชั้นปี สัปดาห์ 1 ชั่วโมง (กระทรวงธรรมการ. 2472: 21.)
              4.5.2 การเรียนการสอน การเรียนการสอนก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิถุนายน 2475) ได้จัดวิชาพลศึกษาไว้ในหลักสูตรระดับโรงเรียนประถมจนถึงอุดมศึกษา ครูพลศึกษามีมากขึ้นทั้งในระดับครูมูล ครูประถมและครูมัธยม การเรียนการสอนโดยครูพลศึกษาเริ่มเป็นรูปแบบมากขึ้นแต่การสอนจะให้นักเรียนเกิดคุณค่าในการเล่นกีฬาด้วยตนเองมากกว่าจะบอกประโยชน์หรือคุณค่าของการกีฬาแก่ผู้เรียน ส่วนนักเรียนคนใดมีความสามารถทางการกีฬาจะได้รับการสนับสนุน ให้เข้าแข่งกีฬาประจำปีต่อไป นักเรียนหญิงเริ่มสนใจการพลศึกษาอย่างแท้จริงในช่วงรัชกาลนี้เพราะรัชกาลก่อนๆ ไม่ปรากฏว่ามีนักเรียนหญิงเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาประจำปี
          4.6 ตำราทางพลศึกษา ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีตำราทางพลศึกษา ดังนี้
                   4.6.1 หนังสือแบบกีฬาและการฝึกหัดสำหรับลูกเสือของรองอำมาตย์เอกหลวงครุเนติพิศิษฐ์, ราคา 35 สตางค์ (พ.ศ. 2473)
                   4.6.2 บทความในหนังสือพิมพ์รายเดือน “วิทยาจารย์” ของสามัคยาจารย์สมาคม
                   4.6.3 ความเห็นในวิชาพลศึกษารองอำมาตย์ตรีนิยม ทองซิต (พ.ศ. 2470)
                   4.6.4 การอบรมให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬาเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (พ.ศ. 2474)
                   4.6.5 การเล่นของเด็กรองอำมาตย์ตรีเปลื้อง ณ นคร (พ.ศ. 2474)
         4.7 การจัดพลศึกษาในระบบการศึกษา
                  กระทรวงธรรมการเป็นผู้จัดการให้มีหลักสูตรวิชาพลศึกษาจัดการเรียนการสอนทุกระดับการศึกษา อนุบาล ประถม มัธยมต้น มัธยมปลายสายสามัญและสายอาชีพ โรงเรียนฝึกหัด ครูมูล ครูประถมและครูมัธยมต้องเรียนวิชาพลศึกษาซึ่งมีรายวิชาหรือกิจกรรมที่ต้องเรียนได้แก่ วิชาลูกเสือ กายบริหาร ดัดตนท่ามือเปล่ากับใช้เครื่องมือ ดัดตนส่วนห้อยโหน เกม กีฬาต่างๆ มวยสากล มวยไทย ยูโด ฟุตบอล กีฬาและเนตบอล เป็นต้น สำหรับนักเรียนหญิงให้เรียนกายบริหารและเกมกีฬาที่เหมาะกับนักเรียนหญิง
                  การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเช่น การจัดการแข่งขันกีฬาภายในโรงเรียนและระหว่างโรงเรียนใกล้เคียงได้มีมากขึ้นเพื่อเป็นการคัดเลือกและส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถทางกีฬาได้แสดงความสามารถสูงสุดของตนหรือของหมู่คณะ สำหรับการแข่งขันกีฬานักเรียนประจำปีได้จัดขึ้นทุกๆ ปี แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นหรือภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่ปกติก็ตาม แต่การกีฬาถือว่าเป็นการพลศึกษาและเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา สามารถจัดดำเนินการแข่งขันได้โดยไม่เกี่ยวกับการเมืองและสามารถจัดได้อย่างประหยัดโดยไม่กระทบกระเทือนงบประมาณของกระทรวงธรรมการ
         4.8 การจัดพลศึกษานอกระบบการศึกษา
                  ในรัชกาลของพระองค์เริ่มมีสโมสรและสมาคมทางการกีฬาเพิ่มมากขึ้น เช่น สามัคยาจารย์สมาคม ราชกรีฑาสโมสร สปอร์ตคลับ สมาคมกีฬาสยาม สโมสรฟุตบอลแห่งสยาม  ลอนเทนนิสสมาคมแห่งสยาม (ก่อตั้ง พ.ศ. 2469) นอกจากนี้ยังมีสโมสรของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า บริษัท ประชาชน ส่วนใหญ่สโมสรและสมาคมเหล่านี้มักให้บริการเฉพาะบุคคลที่เข้าเป็นสมาชิกทั้งในด้านวิชาการและการเรียนการสอนกีฬาเฉพาะอย่าง การฝึกซ้อมกีฬาเฉพาะอย่าง เป็นต้น ส่วนการบริการให้แก่บุคคลภายนอกก็มีบ้างเป็นครั้งคราว
        4.9 การจัดการแข่งขันกีฬา
                 กระทรวงธรรมการได้ดำเนินการแข่งขันกีฬาประจำปีขึ้นที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ทุกๆ ปีมีการแข่งขันมวยสากล การแข่งขันดัดตนส่วนห้อยโหนและยูโด มีโรงเรียนส่งเข้าแข่งขันน้อยเพราะโรงเรียนขาดเครื่องมือและขาดครูสอนวิชาเหล่านี้ สำหรับฟุตบอลและการกรีฑาเป็นที่นิยมมากทั้งในการเรียนการสอนและการแข่งขันกีฬาประจำปี
                พ.ศ. 2469 ได้มีการจัดการแข่งขันกรีฑาประจำปีขึ้นที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเนื่องในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จทอดพระเนตรและพระราชทานรางวัลเช่นปีก่อนๆ
                 ในปีนี้กระทรวงธรรมการไม่ได้ตั้งกรรมการกรีฑาเช่นเคยเหมือนทุกปี ได้เปลี่ยนเป็นตั้งคณะกรรมการจัดการกีฬาประกอบด้วย นายกกรรมการ อุปนายก เลขานุการและกรรมการอีก 6 ท่าน กรรมการจัดการกีฬาทำหน้าที่ทุกอย่างเกี่ยวกับการแข่งขัน การแต่งตั้งอนุกรรมการจัดการแข่งขันแต่ละแผนก เช่น ฟุตบอลรุ่นเล็ก ดัดตนส่วนห้อยโหน ยูโด มวยฝรั่งและเทนนิส นอกจากนี้ยังมีกรรมการแผนกกรีฑาวัดตัวและการกำหนดตำแหน่งหน้าที่ของผู้จัดการแข่งขันกรีฑา ประกอบด้วยผู้ชี้ขาด ผู้ตัดสิน ผู้จับเวลา ผู้ปล่อยตัว ฯลฯ ให้โรงเรียนที่ส่งนักเรียนเข้าแข่งขันรุ่นเล็กและรุ่นกลางต้องนำตัวนักเรียนมาให้กรรมการวัดส่วนสูงที่สามัคยาจารย์สมาคม
                  การแข่งขันกรีฑาตามข้อบังคับการกรีฑาของกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2467 การแข่งขันจัดเป็น 3 รุ่น คือ 
                    1. รุ่นใหญ่ ไม่จำกัดส่วนสูง
                    2. รุ่นกลาง  สูงไม่เกิน 157 เซนติเมตร
                    3. รุ่นเล็ก สูงไม่เกิน 145 เซนติเมตร
                  ในปีนี้โรงเรียนส่งนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันกรีฑา 23 โรงเรียน ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนมัธยมและประถม การแข่งขันมีดังนี้   
                  รุ่นเล็กมี 6 ประเภท
                      (1) วิ่งเร็วทาง 80 เมตร (2) วิ่งผลัดทางตรง (ชุดละ 6 คน ผู้เข้าแข่งขันยืนระยะห่างกัน 80 เมตร) (3) วิ่งเก็บของ (4) วิ่งสามขา (5) วิ่งสวมกระสอบและ (6)วิ่งเปรี้ยว (ชุดละ 5 คน เสาห่างกัน 10 เมตร)                            
                  รุ่นกลางมี 8 ประเภท
                      (1) วิ่งทางเร็ว100 เมตร (2) วิ่งผลัดทางตรง (3) วิ่งผลัดรอบสนาม (ชุดละ 4 คน ทาง 200 เมตร) (4) วิ่งทนทาง 400 เมตร  (5) วิ่งข้ามรั้ว (80 เมตร, รั้ว 8 รั้ว ) (6) วิ่งเปี้ยว (7) ชักคะเย่อ (ชุดละ 10 คน) และ (8) เขย่งเก็งกอย ก้าวกระโดด 
                  รุ่นใหญ่มี 10 ประเภท
                      (1) วิ่งเร็วทาง 100 เมตร (2) วิ่งผลัดรอบสนาม (3) วิ่งทนทาง 800 เมตร (4) วิ่งข้ามรั้ว (5) กระโดดไกล (6) กระโดดสูง (7) กระโดดค้ำ (8) ขว้างไกล (9) ทิ้งน้ำหนัก (ลูกปืนหนัก 5 กิโลกรัม) และ (10) ชักคะเย่อ (ชุดละ 10 คน)
                 รางวัลที่ให้เป็นรายบุคคลปีนี้เป็นเหรียญรูปพระพลบดี โดยทำเป็นเหรียญทอง เหรียญเงินและเหรียญทองแดง นอกจากนี้ยังมีถ้วยรางวัลสำหรับโรงเรียนที่นักเรียนชนะได้คะแนนมากที่สุดเป็นรุ่นๆ โดยคิดคะแนนการแข่งขันเป็นชุดหรือสำรับ ที่ 1 ให้ 9 คะแนน ที่ 2 ให้ 5 คะแนน ที่ 3 ให้ 3 คะแนน การแข่งขันเป็นรายบุคคลที่ 1 ให้ 5 คะแนน ที่ 2 ให้ 3 คะแนน ที่ 3 ให้ 2 คะแนน แต่การบันทึกยังมีแต่ที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น
                  การแสดงวิชาลูกเสือมีการทำสะพานเชือกข้ามคลอง กายกรรม อินเดียนคลับ (Indian Clubs) การแสดงพลศึกษามีดัดตนส่วนห้อยโหน
                  สำหรับรางวัลการแข่งขันอื่นๆ ซึ่งเป็นการแข่งขันประจำปี ตามกำหนดของกระทรวงธรรมการก็ให้ในวันกรีฑานี้ด้วยคือการแข่งขันฟุตบอล ได้รับรางวัลเป็นโล่ห์ทั้ง 3 รุ่น
                     รุ่นใหญ่ ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญ
                     รุ่นกลาง ได้แก่ โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์
                     รุ่นเล็ก ได้แก่ โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์
                   การแข่งขันดัดตนส่วนห้อยโหน ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย การแข่งขันยูโด ได้แก่ โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์และมีรางวัลเฉพาะบุคคล 2 รางวัล
                   การแข่งขันเทนนิส ประเภทเดี่ยว ได้แก่ โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์และมีรางวัลเฉพาะบุคคล 1 รางวัล
                   การแข่งขันมวยสากล รุ่น ก. ได้แก่ โรงเรียนพาณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง และได้รางวัลเฉพาะบุคคลด้วย รุ่น ข. ได้แก่ โรงเรียนพาณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง และได้รับถ้วยเป็นกรรมสิทธิ์เพราะได้ชนะครบ 3 ปี และได้รางวัลเฉพาะบุคคลด้วย รุ่น ง. ได้แก่ โรงเรียนมัธยมวัดสะพาน
                   นอกจากนี้ยังมีถ้วยพิเศษและรางวัลพิเศษ คือ ถ้วยของนาย อี ฮี โบรดี (E. Hee Brodee) ให้แก่โรงเรียนที่ดีที่สุดและชนะการแข่งขัน ได้แก่ โรงเรียนพาณิชยการวัดแก้วฟ้าล่างและได้เป็นกรรมสิทธิ์เพราะได้ชนะ 3 ปี ติดต่อกัน ถ้วยของนาย เอส เอส ดิกสัน (S. S. Dikson) ให้แก่โรงเรียนที่ส่งนักมวยเข้าชกฝีมือดีเยี่ยมและชกอย่างเรียบร้อยได้แก่ โรงเรียนพาณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง สำหรับรางวัลพิเศษเป็นของพระยาภักดีนรเศรษฐ และนายจี เอช อาร์ดรอน ผู้จัดการธนาคารสยามคัมมาจล ให้แก่ นักเรียนที่เข้าแข่งขันรุ่น ง. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามธรรมแห่งกีฬาได้อย่างดี ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็ตามและไม่จำกัดจำนวน (สามัคยาจารย์สมาคม, 2470: 26-30)
                  พ.ศ. 2471 การแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปีที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นปีแรกที่โรงเรียนส่งนักเรียนหญิงเข้าแข่งขันกรีฑา มีทั้งหมด 12 โรงเรียน ซึ่งการแข่งขันกรีฑาได้ผ่านพ้นมาแล้วถึง 31 ปี นักเรียนหญิงเพิ่งมีความสนใจอย่างจริงจังและลงแข่งขันกรีฑาในปีนี้ มีนักเรียนมหาวิทยาลัยลอยลำ(อเมริกา) 38 คน มาเยี่ยมชมโรงเรียนราชินี นักเรียนหญิงมาเล่นเนตบอล  กับนักเรียนโรงเรียนราชินี ส่วนนักเรียนชายเล่นกับคนไทยที่เคยไปอเมริกา โรงเรียนราชินีจัดเลี้ยงน้ำชาและผลไม้สด
                  พ.ศ. 2472 การแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปีที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้มีประกาศของกรรมการจัดการกรีฑา เรื่องการแข่งขันกรีฑา ดัดตนส่วนห้อยโหน ยูโด มวยสากล ตะกร้อและกรีฑา ให้มีการกำหนดนักเรียนที่เข้าแข่งขันต้องเป็นนักเรียนในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาหรือโรงเรียนที่พอเทียบกันได้และให้ใช้กติกาและระเบียบข้อบังคับฉบับใหม่ที่สุดและข้อเปลี่ยนแปลงใหม่สุดด้วย มีกำหนดวันดำเนินการและเวลาไว้อย่างแน่นอน ตั้งแต่วันส่งรายชื่อนักเรียน วันวัดตัวนักเรียน วันแข่งขันรอบคัดเลือกและวันแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (สามัคยาจารย์สามาคม, 2472; 34) นอกจากนี้ยังกำหนดการติดต่อแต่ละแผนกกีฬาด้วยรวมทั้งมีประกาศของกรรมการจัดกีฬาเรื่องกำหนดรุ่นของมวยสากลและประเภทการแข่งขันกรีฑา มวยสากลเพิ่มอีก 2 รุ่น คือ รุ่น พ.น้ำหนัก 9 สะโตนขึ้นไปไม่จำกัด และรุ่น จ. น้ำหนัก ไม่เกิน 5 สะโตน 12 ปอนด์ ส่วนกรีฑานักเรียนชายรุ่นเล็กมีขนาดความสูงไม่เกิน 1.45 เมตร รุ่นกลางมีขนาดความสูงไม่เกิน 1.57 เมตร รุ่นใหญ่ไม่กำหนดความสูง ประเภทการแข่งขันเหมือนปีที่ผ่านมา กรีฑานักเรียนหญิงรุ่นเล็กมีขนาดความสูงไม่เกิน 1.40 เมตร รุ่นกลางมีขนาดความสูงไม่เกิน 1.50 เมตร ประเภทการแข่งขันเหมือนปีที่ผ่านมา และกำหนดชุดกีฬาของนักเรียนหญิงตามแบบ พ.ศ. 2471 คือ ใช้ชุดเสื้อติดกับกางเกง ( Bloomer) และใช้เสื้อตามเครื่องแบบของโรงเรียน โรงเรียนหนึ่ง ๆ ส่งนักเรียนเข้าแข่งขันได้ประเภทละ 1 คน และนักเรียนคนหนึ่งเข้าแข่งขันได้ไม่เกิน 3 ประเภท ให้มีครูใหญ่และครูควบคุมนักเรียนเข้าแข่งขันและให้อยู่ในระเบียบวินัย นักเรียนที่เข้าดูทำการถ่ายรูปต้องได้รับอนุมัติจากนายกก่อน (สามัคยาจารย์สมาคม, 2472: 38)
                  ในปีเดียวกันนี้สมาคมกีฬาสยามจัดฟื้นฟูกีฬาไทยให้มีการแข่งขันตะกร้อ 6 ประเภท คือ ตะกร้อลอดห่วง ตะกร้อข้ามตาข่าย ตะกร้อวงเล็ก ตะกร้อวงใหญ่ ตะกร้อเตะทนและตะกร้อพลิกแพลง ซึ่งสมาคมกีฬาสยามเป็นผู้จัดมาจนถึง พ.ศ. 2476 กรมพลศึกษาจึงจัดแข่งขันประเภทนักเรียนและประชาชนต่อไป
                  พ.ศ. 2473 การแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปีที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย คงให้รางวัลรายบุคคลและรางวัลสำหรับโรงเรียนที่ชนะการแข่งขันมากที่สุด ในปีนี้เป็นปีแรกเพิ่มรุ่นเล็กที่สุดในการแข่งขันกรีฑาชายด้วยและบันทึกผู้ชนะเลิศการแข่งขันไว้ 3 ลำดับ และแจ้งสถิติเดิมไว้
                  การแข่งขันกรีฑานักเรียนชายมีดังนี้ ชายรุ่นเล็กที่สุด มี 4 ประเภทคือ (1) วิ่งเก็บของ  (2) วิ่งเร็วทาง (3) วิ่งผลัดทางตรง 60 เมตร และ (4) วิ่งสวมกระสอบทางตรง 60 เมตร ชายรุ่นเล็ก มี 6 ประเภทคือ (1) วิ่งเร็วทาง 80 เมตร (2) วิ่งเก็บของ (3) วิ่งสามขาทาง 80 เมตร (4) วิ่งผลลัดทางตรง 80 เมตร (5) วิ่งเปี้ยว และ (6) วิ่งสวมกระสอบทาง 80 เมตร ชายรุ่นกลาง มี 8 ประเภทคือ (1) วิ่งทางเร็ว 100 เมตร (2) วิ่งผลัดทางตรง 80  เมตร (3) วิ่งผลัดรอบสนาม 200 เมตร (4) วิ่งทาง 400 เมตร (5) วิ่งข้ามรั้ว 80 เมตร (6) วิ่งเปี้ยว (7) เขย่งเก็งกอยก้าวกระโดด และ (8) ชักคะเย่อ        ชายรุ่นใหญ่ มี 10 ประเภทคือ (1) วิ่งเร็ว 100 เมตร (2) วิ่งผลัดรอบสนาม 200 เมตร (3) วิ่งทน 800 เมตร (4) วิ่งข้ามรั้ว 80  เมตร (5) กระโดดไกล (6) กระโดดสูง (7) กระโดดค้ำ (8) วิ่งผลัดต่างระยะ (9) ชักคะเย่อ (10) ทิ้งน้ำหนัก
                  การแข่งขันกรีฑานักเรียนหญิงมีดังนี้ รุ่นเล็กมี 5 ประเภทคือ (1) วิ่งเร็วทาง 60 เมตร (2) วิ่งผลัดทางตรง 60 เมตร (3) วิ่งสามขาทาง 60 เมตร (4) วิ่งสวมกระสอบทาง 60 เมตร และ (5) วิ่งกระโดดเชือกทาง 50 เมตร รุ่นกลางมี 5 ประเภทคือ (1) วิ่งเร็วทาง 80 เมตร (2) วิ่งผลัดทางตรง 80 เมตร (3) วิ่งทนทาง 200 เมตร (4) วิ่งกระโดดเชือกทาง 60 เมตร และ (5) วิ่งเก็บของ
                   ผลการแข่งขันคะแนนรวมกรีฑานักเรียนชาย มีดังนี้
                      ชายรุ่นเล็กที่สุด ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
                      ชายรุ่นเล็ก ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
                      ชายรุ่นกลาง ได้แก่ โรงเรียนพาณิชยการวัดสามพระยา
                      ชายรุ่นใหญ่ ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
                   ผลการแข่งขันคะแนนรวมกรีฑานักเรียนหญิง มีดังนี้
                      หญิงรุ่นเล็ก ได้แก่ โรงเรียนขัตติยาณีผดุง
                      หญิงรุ่นกลาง ได้แก่ โรงเรียนสตรีโชติเวช
                   ในปีนี้เช่นเดียวกัน ได้เกิดกิจกรรมสำคัญในมหาวิทยาลัย คือ ประเพณีการเชียร์กีฬาทุกมหาวิทยาลัยเนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดการแข่งขันกีฬาภายในระหว่างคณะต่างๆ ทุกปี  อาจารย์หลวงวาจาวิทยาวัฑฒ์ แนะนำให้จัดการเชียร์และผู้นำเชียร์เองโดยให้นิสิตแพทย์แต่งสีเขียว ร้องเพลงเชียร์ตั้งแต่นั้นมาจึงเกิดประเพณีเชียร์กีฬาในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันนี้
                 พ.ศ. 2474 การแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปีที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กำหนดในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2474 แต่เริ่มมีการแข่งขันรอบคัดเลือกของกีฬาต่างๆ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมแล้ว เช่น การแข่งขันฟุตบอลรุ่นเล็ก รุ่นกลางและรุ่นใหญ่เป็นต้น กรรมการจัดการแข่งขันให้มี 2 รอบ รอบแรกเป็นรอบฝึกซ้อมโรงเรียนที่แพ้ยังไม่ตกรอบ รอบหลังเป็นรอบชิงโล่ห์ แข่งขันแบบแพ้คัดออก เก็บค่าผ่านประตูคนละ 10 สตางค์ ครูและนักเรียนไม่ต้องเสียค่าผ่านประตู ส่วนที่นั่งพิเศษมีราคา 50 สตางค์และ 1 บาท ผู้ที่มีบัตรอนุญาตเข้าดูได้ทุกชั้น (สามัคยาจารย์สมาคม, 2474: 40-44) สำหรับการแข่งขันกรีฑานักเรียนชายบางรุ่นและกำหนดส่วนสูงรวมทั้งประเภทการแข่งขันเหมือนปีที่ผ่านมา สำหรับการแข่งขันกรีฑาหญิงแบ่งรุ่นและกำหนดส่วนสูงเหมือนกัน เพิ่มประเภทการแข่งขันวิ่งกระโดดเชือกทุกรุ่น ส่วนการแข่งขันดัดตนส่วนห้อยโหน ยูโด มวยสากลและตะกร้อ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการกีฬาของกระทรวงธรรมการดำเนินการกำหนดวันแข่งขันกีฬาและมีการจัดตั้งกรรมการสนามและกรรมการตัดสินเฉพาะอีกด้วย ในปีนี้อนุกรรมการจัดการแข่งขันตะกร้อได้จัดระเบียบการแข่งขันตะกร้อให้รัดกุมกว่าเดิม การแข่งขันตะกร้อนักเรียนมีตะกร้อวงใหญ่ วงเล็กและตะกร้อพลิกแพลง
                  การแข่งขันในปีนี้คณะกรรมการจัดการกีฬา ได้ดำเนินการเช่นปีที่ผ่านมาแต่ปีนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างคือยกเลิกการแข่งขันเขย่งเก็งกอย ก้าวกระโดด ชายรุ่นกลางวิ่งผลัดต่างระยะชายรุ่นใหญ่ เปลี่ยนวิ่งผลัดรอบสนามระยะทาง 200 เมตร ชายรุ่นใหญ่ เป็นระยะทาง 400 เมตร เพิ่มวิ่งผลัดเป็นระยะรอบสนาม ระยะละ 50 เมตร หญิงรุ่นเล็ก และเพิ่มชักคะเย่อหญิงรุ่นกลาง นอกจากการแข่งขันกรีฑาประเภทต่าง ๆ แล้วยังได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาใหม่ คือ กีฬาเนตบอลเป็นปีแรกอีกด้วย (สามัคยาจารย์สมาคม, 2474: 45)
        4.10 หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพลศึกษา
                กระทรวงธรรมการจัดหลักสูตรวิชาพลศึกษาไว้ในระบบการศึกษาอย่างเป็นหลักฐานขึ้น มีหลักสูตรวิชาพลศึกษาค่อนข้างชัดเจนขึ้นและมีการผลิตครูพลศึกษาออกไปสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ให้เพียงพอ นอกจากนี้ยังจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนประจำปีและสนับสนุนให้จังหวัดต่างๆ จัดการแข่งขันกีฬาขึ้นด้วยเพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรฐานการกีฬาในดีขึ้นและส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คณะอีกด้วย
                 สมาคมและสโมสรต่าง ๆ เช่น สามัคยาจารย์สมาคมจัดการอบรมวิชาเฉพาะ เช่น ยูโด มวยสากล ยิมนาสติก ให้แก่สมาชิกในเวลาเย็นหลังเลิกทำงานแล้ว การออกหนังสือพิมพ์รายเดือน วิทยาจารย์เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการและการติดตามข่าวกระทรวงธรรมการอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการจัดงานรื่นเริงประจำปีมีการแข่งขันกีฬาและเกมเบ็ดเตล็ดมากมาย
                 สมาคมกีฬาสยามช่วยทำนุบำรุงฟื้นฟูและรักษาวัฒนธรรมทางการเล่นกีฬาไทยเช่น ว่าว ตะกร้อ กระบี่กระบอง มวยไทย หมากรุกและสกา เป็นต้น เป็นผู้เผยแพร่การเล่นกีฬาเหล่านี้ จัดทำกติกาที่เหมาะสมยิ่งขึ้นและจัดการแข่งขันกีฬาไทยประจำปีขึ้นด้วย ปกติจะจัดการแข่งขันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
                  นอกจากนี้สโมสรของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ข้าราชการ พ่อค้า บริษัทและประชาชนยังช่วยสนับสนุนและรับผิดชอบการพลศึกษาในแง่การจัดการแข่งขันกีฬาและการเล่นกีฬาเพื่อออกกำลังกายในหมู่คณะ
              สรุปได้ว่าวัตถุประสงค์ของการพลศึกษาในรัชกาลที่ 7 เน้นวัตถุประสงค์การเรียนการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาเพื่อพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคม ส่วนวัตถุประสงค์ในการแข่งขันกรีฑาเพื่อความสนุกสนานและเพื่อไห้เกิดให้เกิดคุณธรรม 4 ประการ คือ ความองอาจ กล้าหาญ ความสามัคคี ความมีน้ำใจ และความอดกลั้น (ขันติ)
                    หลักสูตรวิชาพลศึกษากำหนดกิจกรรมที่เรียนได้แก่ วิชาลูกเสือ กายบริหาร หรือดัดตนส่วนห้อยโหน กีฬาต่างๆ ทั้งในระดับประถมและมัธยมปลายรวมทั้งหลักสูตรผลิตครู หลักสูตรนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและหลักสูตรพาณิชยการด้วย
                     ส่วนการเรียนการสอน ครูพลศึกษามีมากขึ้นจะสอนโดยให้นักเรียนฝึกหัดตนเอง และนักเรียนที่มีความสามารถทางการกีฬาได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาด้วยและปรากฏว่านักเรียนหญิงมีความสนใจมากขึ้นโดยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเพิ่มขั้น สำหรับการจัดพลศึกษาในระบบการศึกษากระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนดหลักสูตรวิชาพลศึกษาในทุกระดับการศึกษา
                      มีการตั้งคณะกรรมการจัดการกีฬาทำหน้าที่ทุกอย่างเกี่ยวกับการแข่งขันและตั้งอนุกรรมการจัดการแข่งขันเฉพาะอย่าง ในปี พ.ศ. 2471 เป็นปีแรกที่นักเรียนหญิงเข้าแข่งขันกรีฑาประจำปีและในปี พ.ศ. 2474 มีการแข่งขันเนตบอลเป็นปีแรกสำหรับนักเรียนหญิง
                       การแข่งขันกีฬาไม่ว่าจะเป็นกรีฑา ฟุตบอล ยิมนาสติก ยูโด (ญูญิตสู) มวยสากล (มวยฝรั่ง) มวยไทย ฟันดาบ ต่างมีข้อจำกัดในการได้เปรียบเสียเปรียบกันทางด้านร่างกายและความสามารถจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรังปรุงอยู่เสมอ ในการแบ่งหมวดหรือแบ่งรุ่นผู้เข้าแข่งขันรวมทั้งกิจกรรมพลศึกษาที่จัดไว้สำหรับแข่งขัน การจัดการแข่งขันกีฬาเป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าทางวิชาการและทางเทคโนโลยีอย่างหนึ่งเพราะการคำนึงถึงสรีรของร่างกาย เพศ วัย ความแตกต่างระหว่างบุคคล การมีแพทย์ประจำสนามก็เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก การบันทึกเวลาและระยะทางไว้เป็นสถิติในการปรับปรุงมาตรฐานการกีฬาให้ดีขึ้น
                       สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพลศึกษา ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการและมีสมาคมต่างๆ ช่วยในการจัดอบรมวิชาพลศึกษาได้แก่ สามัคยาจารย์สมาคมและออกหนังสือวิทยาจารย์รายเดือน เป็นความรู้ทางวิชาการที่ทันต่อเหตุการณ์เสมอ นอกจากนี้ยังมีสมาคมอื่นๆ อีกที่ช่วยในการฝึกหัดการกีฬาแก่เยาวชนประชาชนและข้าราชการทั่วไปอีกด้วย เช่น ราชกรีฑาสโมสร สมาคม วาย เอ็ม ซี เอ สปอร์ตคลับ สมาคมฟุตบอลแห่งสยาม สมาคมกีฬาสยาม ลอนเทนนิสสมาคมแห่งสยาม เป็นต้น ซึ่งมีทั้งสมาคมหรือสโมสรของหน่วยงาน รัฐบาลและเอกชนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความสนใจของหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับ การพลศึกษาและการกีฬา

            สรุป
                  การพลศึกษาในประเทศไทยจะเห็นได้จากพื้นฐานที่มาจากเจ้าขุนมูลนาย ถ้าเจ้านายสนับสนุนกีฬานั้นก็จะเจริญรุ่งเรืองมาก แทบจะกล่าวได้ว่าการกีฬาทุกประเภทในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นกีฬาไทยและกีฬาสากลจะเกิดมาจากเจ้านายทั้งสิ้น เป็นที่น่าเสียดายว่ากีฬาที่เป็นพระเพณี วัฒนธรรมของประเทศไทยซึ่งในสมัยก่อนได้รับความสนใจจากประชาชนและพระมหากษัตริย์เป็นอันมาก เช่น มวยไทย กระบี่กระบอง ว่าวและเกมพื้นบ้านของไทย ปัจจุบันกำลังได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้มีอำนาจทางการกีฬาและการพลศึกษาจึงจะเจริญรุ่งเรืองต่อไป สโมสรของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ข้าราชการ พ่อค้า บริษัทและประชาชนยังช่วยสนับสนุนและรับผิดชอบการพลศึกษาในแง่การจัดการแข่งขันกีฬาและการเล่นกีฬาเพื่อออกกำลังกายในหมู่คณะ สมาคมและสโมสรต่าง ๆ เช่น สามัคยาจารย์สมาคมจัดการอบรมวิชาเฉพาะ เช่น ยูโด มวยสากล ยิมนาสติก ให้แก่สมาชิกในเวลาเย็นหลังเลิกทำงานแล้ว การออกหนังสือพิมพ์รายเดือน วิทยาจารย์เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการและการติดตามข่าวกระทรวงธรรมการอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการจัดงานรื่นเริงประจำปีมีการแข่งขันกีฬาและเกมเบ็ดเตล็ดมากมาย
  
เอกสารอ้างอิง
กรมพลศึกษา.  (2529).  โครงการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาและโรงเรียนประจำปี
           การศึกษา 2529.  กรุงเทพฯ: สำนักกีฬา (อัดสำเนาเย็บเล่ม).
             .  (2423).  การแข่งขันกีฬา.   ..ท.: สำนักงานวิทยาลัยพลศึกษาส่วนภูมิภาค วิทยาลัย               
            พลศึกษา. (อัดสำเนาเย็บเล่ม)
กระทรวงศึกษาธิการ.  (2529).  แผนพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ระยะที่ 5
           (พ.ศ. 2525-2529). กรุงเทพฯ: จงเจริญการพิมพ์.
             .  (2487).  หลักสูตรฝึกหัดครูตอนปลาย พ.. 2487.  พระนคร: อำนวยศิลป์.
             .  (2507).  ประวัติกระทรวงศึกษาธิการ 2435-2507. พระนคร: คุรุสภา.
กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. (ม.ป.ป.). เอกสารรัชกาลที่ 6 หมวดการกีฬา. บ.8/1-10. พระนคร: มปท.
            .  (ม.ป.ป.).  เอกสารรัชกาลที่ 6 หมวดการกีฬา.  บ.8/3. พระนคร: มปท.
            .  (ม.ป.ป.).  เอกสารรัชกาลที่ 6 หมวดการกีฬา.  ศ.8/5. พระนคร: มปท.
            .  (ม.ป.ป.).  เอกสารรัชกาลที่ 6 หมวดการกีฬา.  ศ.1/7 เล่ม  1. พระนคร: มปท.
กอง  วิสุทธารมณ์.  (2521,เมษายน).  แผนการกีฬาแห่งชาติ.  วารสารสุขศึกษา พลศึกษาและ
           นันทนาการ. 2(3): 37-38.
การกีฬาแห่งประเทศไทย. ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา.  (2531, มกราคม).  กรณีศึกษาสำหรับผู้ฝึกสอน
            กีฬาและนักกีฬา. วารสารกีฬา.  22(12): 12.
กาฬวรรณ  ดิศกุล, พล...หม่อมเจ้า.  (2514).  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับเยาวชน.  ข่าวสาร       
           กรมพลศึกษา. 3 (5) เมษายน.
การเล่นกีฬาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช.  (2559).  สืบค้นเมื่อ
           25 เมษายน 2559 จาก https://th.wikipedia.org/wiki.
              .  (2535).  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2535–2539.
           กรุงเทพฯ: ยูไนเต็ดโปรดักชั่น.
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.  (2524).  นโยบายการศึกษาของประเทศไทย.  กรุงเทพฯ: มปท.  
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. คณะพลศึกษา.  (2557).  ประวัติ 100 ปี การพลศึกษาไทย.
           นครนายก: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์.
คณะรัฐมนตรี.  (2559).  คณะรัฐมนตรีไทย. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2559, จาก
จุฬา-ธรรมศาสตร์.  (2515).  สูจิบัตรการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 32
             .. 2515. กรุงเทพฯ: มปท.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา.  (2489).  พระราชานุกิจ.  พระนคร:
               ท่าพระจันทร์.
ถนอมวงศ์  กฤษณ์เพ็ชร์.  (2538).  ประวัติการพลศึกษาไทย.  กรุงเทพฯ: : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.ถวิลวงศ์  บุญหงส์.  (2513, ตุลาคม).  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพลศึกษา.              
            ข่าวสารกรมพลศึกษา.  2(10): 6.
ธวัชชัย  สุหร่าย.  (2529).  หลักพื้นฐานพลศึกษา.  สุรินทร์: ภาควิชาพลศึกษาและนันทนาการ                 
             คณะครุศาสตร์ สหวิทยาลัยอีสานใต้.
บุญรอดบริวเวอร์รี่.  (2523).  ว่าวไทยกับบุญรอด.  กรุงเทพฯ: บุญรอดบริวเวอร์รี่.
ประยุทธ  สิทธิพันธ.  (2498).  ราชสำนักพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.  พระนคร: ส.พยุงพงศ์.
พเยาว์  พูนธรัตน์.  (2559).  เหรียญแรก...ไม่เคยลืม.  สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2559, จาก
ฟอง เกิดแก้ว. (2520). ประวัติพลศึกษา. กรุงเทพฯ: วัฒนาพานิช.
พิพิธพร  แก้วมุกดา.  (2508, มกราคม).  ประวัติการฝึกหัดครูพลศึกษาในประเทศไทย. วารสารสุข 
            ศึกษา พลศึกษาและนันทนาการ. 1 (1): 47.
วรวิทย์  วศินสรากร.  (2519).  การศึกษาไทยฉบับปรับปรุง.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพฯ: สารมวลชน.โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า.  (2510).  ประวัติโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า.  พระนคร:                   
             โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า.
สถาบันการพลศึกษา.  (2548). พระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา พ.ศ. 2548. กรุงเทพฯ: องค์การ
             รับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
              .  (2557).  หลักสูตรสถาบันการพลศึกษา.  ชลบุรี: บัณฑิตวิทยาลัย.
              .  (2557).  รายงานประจำปีการศึกษา 2550 (Institute of Physical Education
            Annual Report 2007).  กรุงเทพฯ: สำนักงานอธิการบดี.
สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย.  (2559).  ประวัติกีฬาฟุตบอล.  สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2559, จาก             https://th.wikipedia.org/wiki.
สวัสดิ์  เลขยานนท์.  (2520, พฤศจิกายน).  ศตวรรษแห่งการกีฬา.  วารสารกีฬา. 5 (5): 9-10.
              .  ศตวรรษแห่งการกีฬา.  วารสารกีฬา.  5 ธันวาคม  2514 : 24.
สามัคยาจารย์สมาคม. (2472). ประกาศกรรมการจัดการกีฬา. วิทยาจารย์. 32 (13). พระนคร: มปท.
สำนักงานวิทยาลัยพลศึกษาส่วนภูมิภาค.  (2532).  วิทยาลัยพลศึกษา.  ม.ป.ท. (อัดสำเนาเย็บเล่ม).
สำนักนายกรัฐมนตรี.  (2524).  นโยบายและแผนพัฒนาเยาวชนระยะยาว.  กรุงเทพฯ:
             รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์.