Thursday 29 September 2016 | 16 comments | By: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติวัฒน์ วัชญากาญจน์

หลักการพลศึกษา (Principle of Physical Education)


หลักการพลศึกษา (Principle of Physical Education)
เรียบเรียงโดย ดร.เกียรติวัฒน์ วัชญากาญจน์,
 คณะศึกษาศาสตร์ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ,
2559


          วิชาพลศึกษาแม้จะเป็นวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญ  ในการที่จะพัฒนานักเรียนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติการศึกษา  พ.ศ.  2542  และได้มีการบรรจุไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนทุกระดับชั้นทั้งในระดับชั้นเด็กเล็ก  ชั้นประถมศึกษา  และชั้นมัธยมศึกษา  เช่นเดียวกับวิชาอื่น ๆ  ในโรงเรียนตั้งแต่ต้นมาแล้วก็ตาม  แต่โดยที่ลักษณะของวิชาพลศึกษามีความแตกต่างจากวิชาอื่น ๆ  ค่อนข้างจะมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านจุดประสงค์การเรียนรู้  สาระและเนื้อหา  กิจกรรมการเรียนการสอน  ตลอดจนสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ  ที่ใช้ในการเรียนการสอน  ดังนั้น  จึงทำให้วิชาพลศึกษาต้องมีหลักการและปรัชญาการสอนที่เป็นรายละเอียดของตนเองที่แตกต่างจากการเรียนการสอนในวิชาอื่น ๆ ตามไปด้วย

          ดังนั้น  เพื่อให้การเรียนการสอนได้บรรลุผลตามที่ได้วางไว้ด้วยดี  ในโอกาสนี้จึงใคร่จะขอกล่าวถึงหลักการพลศึกษาที่สำคัญเพื่อเป็นแนวทางเสียก่อน  แต่เนื่องจากหลักการพลศึกษาที่เป็นรายละเอียดและสมบูรณ์นั้นมีค่อนข้างจะก้าวขวางและยืดยาว  เพราะว่าการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น  มีปัจจัยสำคัญที่เป็นส่วนประกอบหลายอย่างหลายประการด้วยกัน  คือนอกจากปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวครูผู้สอนเอง  การจัดบทเรียน  การจัดกิจกรรมและประสบการณ์ต่าง ๆ  ในการเรียนการสอน  บรรยากาศในการเรียนการสอนดังได้กล่าวมาแล้ว  สถานที่และอุปกรณ์และวิธีการเรียนการสอน  ก็ยังจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามสภาพการณ์ต่าง ๆ  อีกมากมายกว่าการเรียนการสอนวิชาอื่น ๆ  ในห้องเรียนโดยทั่วไปอีกด้วย  จึงทำให้ไม่สามารถจะนำหลักการและปรัชญาต่าง ๆ  มากล่าวในโอกาสนี้ได้หมด  แต่เพื่อจะได้เป็นแนวทางพอที่จะจัดและดำเนินการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาให้ได้ผลดีตามหลักการและปรัชญาได้พอสมควร  จึงขอนำหลักการและปรัชญาการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาเฉพาะที่สำคัญมาเสนอพอสังเขปดังต่อไปนี้

          หลักการพลศึกษาเบื้องต้นที่จำเป็นและสำคัญที่ครูผู้สอนวิชาพลศึกษาควรจะได้รู้และระลึกไว้เสมอเพื่อจะได้นำมาเป็นแนวทางในการเรียนการสอนมีดังต่อไปนี้

          1. วิชาพลศึกษาเป็นวิชาที่ใช้กิจกรรมพลศึกษาหรือกีฬาเป็นสื่อ  เพื่อให้นักเรียนได้มีการเรียนรู้หรือได้มีพัฒนาการขึ้น  และการที่นักเรียนจะได้มีการเรียนรู้หรือมีพัฒนาการขึ้นตามที่กล่าวนี้ได้นั้น  ก็ด้วยการที่นักเรียนได้มีโอกาสลงมือเล่นหรือปฏิบัติจริงในกิจกรรมพลศึกษาหรือกีฬาต่าง ๆ  ด้วยตนเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือเมื่อนักเรียนได้ลงเล่นกีฬาหรือได้ลงมือปฏิบัติจริงในกิจกรรมพลศึกษาต่าง ๆ  ด้วนตนเองแล้ว  นักเรียนจึงจะเกิดการเรียนรู้หรือพัฒนาการในด้านต่าง ๆ  ขึ้นมาดังนี้  คือ

                   1.1 นักเรียนได้ลงมือเล่นกีฬา  จึงทำให้ได้ออกกำลังกาย  และทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้น

                   1.2 นักเรียนได้ลงมือเล่นกีฬา  จำทำให้มีความรู้  ความเข้าใจในวิธีการเล่นและเข้าใจวีการที่เกี่ยวกับทักษะกีฬาต่าง ๆ  ที่ง่าย    และที่จำเป็นดีขึ้น

                   1.3 นักเรียนได้ลงมือเล่นกีฬา  จึงทำให้มีการใช้ทักษะกีฬาต่าง ๆ  ทำให้ได้ฝึกทักษะกีฬาช่วยทำให้มีทักษะการกีฬาเบื้องต้นที่ง่าย ๆ  ดีขึ้น

                   1.4 นักเรียนได้ลงมือเล่นกีฬา  จึงทำให้นักเรียนได้มีโอกาสปฏิบัติตามกติกาการเล่นกีฬา  และการมีน้ำใจนักกีฬา  เป็นผลให้นักเรียนมีระเบียบวินัย  มีน้ำใจนักกีฬามากขึ้น

                   1.5 นักเรียนได้ลงเล่นกีฬาด้วยความสนุกสนาน  ทำให้นักเรียนได้รู้รสในความสนุกสนานของการมีส่วนร่วมในการเล่นกีฬา  ทำให้มีความรักและชอบการกีฬา  และเห็นคุณค่าและความสำคัญของการกีฬาอยากเล่นกีฬาและออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันต่อไปอีกเรื่อย ๆ

          พัฒนาการในด้านต่าง ๆ  ทั้ง  5  ด้านตามที่กล่าวนี้เป็นพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ  กันในขณะเดียวกับกับที่นักเรียนได้ลงเล่นกีฬาด้วยตนเองทั้งสิ้น  หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า  วิชาพลศึกษาเป็นวิชาที่เป็นไปตามหลักการเรียนรู้ที่ว่า  เป็นการเรียนรู้ด้วยการกระทำหรือการลงมือปฏิบัติจริง  (Learning  by  Doing)  นั่นเอง

          2. ด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้วในข้อ  1  จึงมีสิ่งที่สำคัญ  2  ประการที่ครูพลศึกษาควรจะต้องจำไว้ในเวลาสอนวิชาพลศึกษา  คือ  ประการแรก  ทุกครั้งหรือทุกคาบของการสอน  ครูจะต้องตั้งจุดประสงค์การเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนได้มีพัฒนาการทั้ง  5  ด้านตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ  1  พร้อม ๆ  กัน  คือ  (1)  ด้านสมรรถภาพทางร่างกาย  (2)  ด้านความรู้และความเข้าใจในวิธีการเล่นหรือกติกาการเล่นที่ง่าย ๆ  (3)  ด้านทักษะการเล่นกีฬาที่ง่าย ๆ  พอเป็นพื้นฐานที่จะนำไปใช้เล่นตามอัตภาพของตนเองได้  (4)  ด้านคุณธรรม  เช่น  การมีระเบียบวินัยและการมีน้ำใจนักกีฬา  (5)  ด้านเจตคติที่ดี  คือ  การเห็นคุณค่าและความสำคัญของการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย

          ในประการที่สอง  สิ่งที่ครูพลศึกษาจะต้องจำไว้ก็คือ  ในทุกครั้งหรือทุกคาบของการเรียนการสอนวิชาพลศึกษานั้น  ครูจะต้องจัดกิจกรรมพลศึกษาหรือกีฬาให้นักศึกษาหรือกีฬาให้นักเรียนได้ลงมือเล่นและปฏิบัติด้วยตนเองจริง ๆ  ทุกครั้งหรือทุกคาบเสมอ  เพราะการที่นักเรียนจะมีพัฒนาการตามจุดประสงค์การเรียนรู้ตามที่ได้วางไว้ดังได้กล่าวมาแล้วหรือไม่  จะขึ้นอยู่กับการได้ลงมือเล่นกีฬาหรือปฏิบัติจริงด้วยตนเองเป็นสำคัญ  ดังนั้น  ในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่ดีและถูกต้อง  ครูจึงจำเป็นจะต้องจัดและดำเนินการในการเรียนการสอนให้นักเรียนได้ลงมือเล่นกีฬาหรือปฏิบัติจริงด้วยตนเองให้มากที่สุดที่จะมากได้

          3. เหตุผลที่สำคัญเบื้องต้นอย่างหนึ่งในการจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในโรงเรียนตั้งแต่เริ่มแรกนั้นก็คือ  เพื่อเป็นการสนองความต้องในการออกกำลังกายของนักเรียน  เพื่อช่วยให้นักเรียนได้มีสุขภาพที่แข็งแรง  มีพลานามัยที่สมบูรณ์เป็นสำคัญ  ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่ว่า  ร่างกายของทุกคน  ทุกเพศ  ทุกวัย  ตั้งแต่เกิดจนกระทั้งตายนั้นล้วนต้องการการออกกำลังกาย  เพื่อรักษาไว้ซึ่งสุขภาพและสมรรถภาพของร่างกายให้ดีและสมบูรณ์อยู่เสมอทั้งสิ้น  ดังนั้น  เพื่อให้การเรียนการสอนวิชาพลศึกษาได้เป็นไปตามหลักการที่กล่าวมานี้  ในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาทุกคาบหรือทุกชั่วโมงการเรียนการสอนนั้น  ก่อนอื่นจะต้องมีการเริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนได้ลงเล่นหรือลงมือปฏิบัติจริงในกิจกรรมพลศึกษาต่าง ๆ  ด้วยตนเอง  ทั้งนี้อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเป็นการสนองความต้องการการออกกำลังกายของนักเรียนตามที่กล่าวมาแล้วเป็นเบื้องต้นก่อน

          4. แต่อย่างไรก็ตาม  การสอนวิชาพลศึกษาโดยให้นักเรียนได้ออกกำลังกายเพื่อสนองความต้องการของร่างกายตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ  3  นั้น  แม้ว่าจะเป็นจุดของการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่สำคัญอย่างหนึ่งก็ตาม  แต่ก็ยังเป็นการสอนที่ถือว่ายังไม่ได้ผลที่สมบูรณ์เพียงพอ  เพราะว่าการสอนการเรียนวิชาพลศึกษาแต่ละครั้งนั้น  ถ้าครูได้จัดและดำเนินการเลือกกิจกรรม  และวิธีการเรียนการสอนให้ถูกต้องและเป็นไปตามหลักการพลศึกษาแล้ว  จะทำให้กระบวนการเรียนการสอนนั้นสามารถบรรลุผลได้หลายด้านควบคู่พร้อม ๆ  กันไปได้อีก  คือ  นอกจากนักเรียนจะได้ออกกำลังกายเพื่อสนองความต้องการของร่างกายและทำให้ร่างกายแข็งแรงดังที่ได้กล่าวในข้อ  3  แล้ว  นักเรียนยังจะได้  (1)  มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการเล่นกีฬาและกติกาการเล่นต่าง ๆ  (2)  มีทักษะเบื้องต้นต่าง ๆ  ในการกีฬาสามารถนำไปเล่นในเวลาว่างตามอัตภาพของตนเองได้  (3)  มีระเบียบวินัย  มีน้ำใจนักกีฬา  (4)  เห็นคุณค่า  มีความรัก  และมีเจตคติที่ดีต่อการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายอีกด้วย

          ดังนั้น  ในการสอนวิชาพลศึกษาที่ถูกต้องทุกครั้งและทุกคาบการเรียนการสอนนั้น  ครูจึงควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  ตลอดจนวิธีการสอนต่าง ๆ  เพื่อให้นักเรียนได้รับประโยชน์ในด้านต่าง ๆ  ให้ครบทุก ๆ  ด้านทั้ง  5  ด้านตามที่ได้กล่าวมาแล้วควบคู่กันพร้อม ๆ  กันไปด้วย  จึงจะสามารถกล่าวได้ว่าการเรียนการสอนนั้นเป็นการเรียนการสอนที่มีความเป็นวิชาพลศึกษาที่สมบรูณ์อย่างแท้จริงได้

          กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือว่า  ในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่ดีและถูกต้องตามหลักการของการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในแต่ละคาบ  หรือในแต่ละชั่วโมงที่จะได้ผลสมบรูณ์ที่แท้จริงนั้น  ก็คือจะต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนได้บรรลุผลหรือได้มีพัฒนาการทั้ง  5  ด้านควบคู่กันพร้อม ๆ  กันไปในขณะเดียวกันเสมอในทุกคาบการเรียนด้วยดังต่อไปนี้  คือ

                   4.1 ให้นักเรียนได้มีร่างกายแข็งแรง  มีสมรรถภาพทางร่างกายที่ดี  มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์

                   4.2 ให้นักเรียนได้มีความรู้ความเข้าใจในระเบียบและวิธีการเล่นเบื้องต้นที่ง่าย ๆ  และที่จำเป็น

                   4.3 ให้นักเรียนได้มีทักษะในการเล่นกีฬาที่จำเป็นและที่ง่าย ๆ  สามารถนำไปเล่นในเวลาว่างตามอัตภาพของตนเองได้

                   4.4 ให้นักเรียนได้มีคุณธรรม  เช่น  การมีระเบียบวินัย  การมีน้ำใจเป็นนักกีฬา  เป็นต้น

                   4.5 ให้นักเรียนเห็นคุณค่าและความสำคัญของการเล่นกีฬาตลอดจนการออกกำลังกาย  ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่การมีเจตคติที่ดีต่อการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายต่อไป

          5. มาตรฐานการเรียนรู้ที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละสาระของกลุ่มสาระของกลุ่มวิชาสุขศึกษาและพลศึกษาตามที่ได้วางไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พ.ศ.  2551  นั้นก็คือสิ่งที่หลักสูตรได้คาดหวังไว้ว่า  เมื่อนักเรียนได้เรียนจบตามหลักสูตรแล้ว  นักเรียนควรจะมีพัฒนาการไปในทางด้านไหนอย่างไร  ดังนั้น  มาตรฐานการเรียนรู้นั้น  ก็คือ  จุดมุ่งหมายของหลักสูตรกลุ่มวิชาสุขศึกษาและพลศึกษานั่นเอง

          จากการวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน  พ.ศ.  2551  ใน  พ 3.1  และ    3.2  ของสาระที่  3  และมาตรฐานการเรียนรู้    4.1  ของสาระที่  4  จะเห็นได้ว่า  มาตรฐานการเรียนรู้ดังกล่าวนี้เป็นมาตรฐานหรือจุดหมายของหลักสูตรที่เป็นไปตามหลักการและปรัชญาของการพลศึกษาตามที่ได้กล่าวมาแล้ว  คือ  เป็นจุดหมายที่มุ่งให้นักเรียนได้มีพัฒนาการทั้งใน  (1)  ด้านสมรรถภาพทางกาย  (2)  ด้านทักษะการกีฬา  (3)  ด้านความรู้ความเข้าใจในวิชาพลศึกษา  (4)  ด้านคุณธรรม  เช่น  การมีน้ำใจนักกีฬา  (5)  ด้านเจตคติที่ดีต่อการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย  ดังนั้น  การเรียนการสอนวิชาพลศึกษาตามหลักสูตรของกลุ่มวิชาสุขศึกษาและพลศึกษาเป็นการเรียนการสอนที่มุ่งเพื่อให้นักเรียนได้มีพัฒนาการในทุก ๆ  ด้านพร้อม ๆ กันทั้ง  5  ด้านตามที่กล่าวมาแล้วเช่นเดียวกัน

          6. วิชาพลศึกษาเป็นวิชาที่สอนเพื่อให้นักเรียนได้นำทั้งความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ  ในทุก ๆ  ด้านที่ได้จากการเรียนมาแล้ว  ไปใช้และปฏิบัติเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองในชีวิตประจำวัน  ทั้งในระหว่างที่เรียนอยู่ในโรงเรียน  หรือหลังจากได้เรียนสำเร็จจากโรงเรียนออกไปประกอบอาชีพการงานอย่างอื่นแล้วก็ตามตลอดไปด้วย  มากกว่าที่จะเรียนเพื่อรู้หรือเพื่อสอบและได้คะแนนเพียงอย่างเดียว

          ดังนั้น  ทุกครั้งของการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาครูจึงจะต้องจัดกิจกรรม  จัดบรรยากาศ  และวิธีการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนได้มีทักษะ  มีความรู้ความเข้าใจ  มีเจตคติที่ดีเพียงพอ  ที่จะทำให้นักเรียนได้มีความผูกพันกับวิชาพลศึกษา  และนำผลการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่ได้เรียนไปแล้วนั้นไปใช้ในชีวิตจริง ๆ  ให้ได้ทุกครั้งไปด้วย

          7. หลักการและอุดมคติของการพลศึกษาที่สำคัญอย่างหนึ่งนั้น  คือ  การพัฒนาเพื่อความเป็นคนที่สมบูรณ์ในสังคมที่มีชีวิตอยู่  เช่น  การเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง  มีสุขภาพสมบูรณ์  มีบุคลิกภาพดี  มีน้ำใจนักกีฬา  มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  และมีอารมณ์หนักแน่นมั่นคง  เป็นต้น  ดังนั้น  หลักการสอนวิชาพลศึกษาเบื้องต้นที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งอย่างหนึ่งนั้นก็คือ  ครูผู้สอนวิชาพลศึกษานั้นนอกจากจะเป็นผู้ที่ที่มีความรู้ความเข้าใจในวิชาพลศึกษาเป็นอย่างดีแล้ว  ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีอุดมคติ  มีความรัก  และความศรัทธาในวิชาชีพของตนเองอย่างแท้จริงด้วย  โดยการทำตนและปฏิบัติตนตามอุดมคติของการพลศึกษา  เพื่อเป็นตัวอย่างของการมีอุดมคติให้นักเรียนได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมตลอดเวลาด้วย  ตัวอย่างอุดมคติของการพลศึกษาที่นักเรียนได้พบและเห็นอย่างเป็นรูปธรรมในตัวครูนี้เท่านั้น  จะเป็นสิ่งสำคัญช่วยให้นักเรียนได้มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของวิชาพลศึกษาอย่างแท้จริงได้

          8. จุดประสงค์การเรียนรู้ทางด้านทักษะกีฬาในชั่วโมงหรือคาบการเรียนวิชาพลศึกษาทั้งในระดับชั้นประถมศึกษาและในระดับชั้นมัธยมศึกษานั้น  เป็นกระบวนการเรียนการสอน  ที่มุ่งเพื่อให้นักเรียนได้มีทักษะทางด้านกีฬาให้สามารถนำไปใช้เล่นได้เวลาว่างตามอัตภาพของตนเองเท่านั้น  ไม่ใช่เพื่อให้เล่นกีฬาเก่งให้มาก ๆ  ตามที่มักเข้าใจกัน  ดังนั้น  การเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในแต่ละครั้ง  ครูจึงควรนำเฉพาะทักษะที่จำเป็นและที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถนำกีฬานั้นไปใช้เล่นในเวลาว่างได้เท่านั้นมาสอน สำหรับนักเรียนที่มีความต้องการที่จะเล่นเก่งในกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งให้มากๆ เป็นพิเศษนั้น ควรจะเป็นการเรียนหรือฝึกนอกเวลาเรียนต่างหาก หรือจัดให้มีการเรียนการสอนภายหลังจากนักเรียนทุกคนในชั้นเรียนได้เรียนและมีทักษะที่จำเป็นต่างๆ และสามารถเล่นกีฬานั้นๆ ได้หมดทุกคนแล้วเท่านั้น

          9. จุดประสงค์การเรียนรู้สำหรับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาทางด้านทักษะ อาจจะมุ่งเน้นการเรียนในด้านทักษะการเคลื่อนไหวเบื้องต้นทั่ว ๆ ไป และทักษะพื้นฐานของการกีฬาเพื่อเตรียมพร้อมให้นักเรียนนำไปใช้ในการเล่นเกมมูลฐาน และเกมที่จะนำไปสู่การเล่นกีฬาใหญ่ตามระดับความสามารถของนักเรียนแต่ละวัยได้ต่อไปเป็นสำคัญ

          ส่วนจุดประสงค์การเรียนรู้สำหรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาในด้านทักษะกีฬานั้น ควรจะเน้นให้นักเรียนได้มีทักษะพื้นฐานที่ง่ายๆ ในกีฬาต่างๆ เพื่อให้สามารถนำไปใช้เล่นกีฬาในเวลาว่างได้ตามอัตภาพของตนเองเป็นสำคัญดังได้กล่าวมาแล้ว มากกว่าที่จะมุ่งเน้นให้นักเรียนมีความสามารถหรือเก่งกีฬาเพื่อเป็นนักกีฬาหรือตัวแทนไปทำการแข่งขันกีฬาในระดับต่างๆ ได้ กีฬาบางชนิดอาจจะมีทักษะหลายๆ อย่าง และทักษะกีฬาบางอย่างก็เป็นทักษะที่ยากๆ ต้องใช้เวลาเรียนและฝึกซ้อมในเวลาเรียนมาก จึงทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำให้นักเรียนสามารถเรียนหรือฝึกทักษะที่ยากๆ เหล่านั้นภายในเวลาที่จำกัดนี้ได้

          10. การเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะต่างๆ ทักษะการเคลื่อนไหวเบื้องต้นและทักษะการกีฬา ควรจะเริ่มให้นักเรียนได้เรียนรู้หรือฝึกหัดตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองนักเรียน และครูล้วนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากในการที่จะพัฒนาทักษะเบื้องต้นให้มีขึ้นในตัวเด็กเหล่านั้น ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายโรงเรียนหรืออื่นๆ ควรจะจัดให้นักเรียนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้มากที่สุด เช่น มีสถานที่ในการเดิน การวิ่ง มีอุปกรณ์ ในการกระโดด การขว้าง การปา การเตะ ไว้อย่างพร้อมมูลและเพียงพอ

          11. การเปิดโอกาสให้เด็กเล็ก ๆ  ได้มีการพัฒนาทักษะเบื้องต้นต่าง ๆ  ในระยะแรก ๆ  ควรให้เป็นไปตามธรรมชาติของเด็กเป็นสำคัญ  การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ  ควรจะให้เป็นไปด้วนความสนุกสนาน  ไม่ควรทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ  มิฉะนั้นแล้วเด็กจะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายหรือต่อต้านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้น ๆ  ได้

          12. ในการเรียนการสอนแต่ละครั้งนั้นครูควรให้นักเรียนมีความเข้าใจในจุดประสงค์การเรียนรู้นั้นโดยชัดเจนด้วย  ทั้งนี้เพื่อจะช่วยให้นักเรียนได้ทราบว่า  ในการเรียนการสอนในครั้งนั้น ๆ  ครูมีความคาดหวังอะไรจากนักเรียน  เป็นการช่วยให้นักเรียนได้ใช้ความคิดพิจารณาไตร่ตรองหาหนทางว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ตามที่ครูคาดหวังไว้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในการเรียนเกี่ยวกับทักษะการกีฬานั้น  การที่นักเรียนได้มีโอกาสคิด  พิจารรา  พร้อมทั้งศึกษาเพื่อจะหาวิธีแก้ไขข้อบกพร่องของการฝึกหัดทักษะนั้นควบคู่กันไปด้วย  จะทำให้การเรียนของนักเรียนได้ผลดีขึ้นอีกมาก

          13. การเรียนรู้ของนักเรียนนั้นจะขึ้นอยู่กับความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจของนักเรียนด้วยคือทางด้านร่างกายของนักเรียนเองก็อยู่ในสภาพที่จะเคลื่อนไหวในกิจกรรมต่าง ๆ  ได้เป็นอย่างดี  เช่น  มีกำลังร่างกายที่แข็งแรง  มีสุขภาพดี  ส่วนทางด้านจิตใจนั้นนักเรียนมีใจจดจ่อรักที่จะเรียน  สามารถจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเคลื่อนไหวหรือการกีฬาต่าง ๆ  ด้วยความเต็มใจการเรียนรู้จึงจะเกิดขึ้น

          14. การเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่จะช่วยให้บรรลุตามจุดประสงค์การเรียนรู้ทั้ง  5  ด้านตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น  ควรจะมุ่งที่การจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ลงมือเล่นและมีส่วนร่วมในสภาพการณ์ของเกมและกีฬานั้นด้วยความสนุกสนานควบคู่กันไปด้วยให้มาก ๆ  คือ  แทนที่จะเน้นการแยกทักษะมาฝึกให้ถูกต้องดีเป็นอย่าง ๆ  เพียงอย่างเดียวหมดทุกอย่างเสียก่อน  แล้วจึงจะเล่นเกมได้  เพราะการกระทำนั้นอาจจะทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย  และในขณะเดียวกันนักเรียนไม่มีโอกาสเรียนรู้ในพฤติกรรมอื่น ๆ  ที่ควรจะมีในระหว่างกระบวนการเรียนการสอนนั้น ๆ  ด้วย  ทักษะกีฬาบางอย่างอาจจะมีความจำเป็นที่นักเรียนควรจะได้มีการฝึกซ้อมก่อนบ้างตามสมควร  แต่เมื่อสามารถปฏิบัติได้ดีพอสมควรแล้ว  ก็ควรจะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เล่นเกมหรือกีฬาประเภทนั้นควบคู่ไปด้วยเลย

          15. การเล่นเกมและกีฬาด้วยความสนุกสนานในสภาพจริงในเวลาเรียนนั้น  จะมีผลประโยชน์เกิดขึ้นแก่นักเรียนทันทีทันใดโดยตรงพร้อม ๆ  กันหลายประการด้วยกัน  โดยจะขอกล่าวแต่พอสังเขปดังต่อไปนี้

                   15.1 นักเรียนได้เล่นเกมหรือกีฬาด้วยความสนุกสนานตามธรรมชาติและความรู้สึกที่แท้จริงทำให้ได้มีการแสดงออกทั้งทางด้านร่างกาย  และทางด้านอารมณ์หรือความรู้สึกได้อย่างเต็มที่  นักเรียนจะมีความสนุกสนานในการเรียน  และวิธีการนี้จะช่วยให้นักเรียนได้มีความรัก  เห็นความสำคัญและคุณค่าของการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย

                   15.2 นักเรียนได้มีโอกาสเล่น  มีโอกาสเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ  ของร่างกายตามธรรมชาติและตามลักษณะของเกมหรือกีฬานั้น ๆ  ได้อย่างแท้จริง  ทำให้ได้ออกกำลังกาย  ร่างกายมีความแข็งแรงและมีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่

                   15.3 นักเรียนได้มีโอกาสนำความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ  ที่ได้เรียนมาใช้เพื่อความสนุกสนานในสภาพการณ์ของการเล่นเกมและกีฬาจริง ๆ  ทำให้มีความรู้  ความเข้าใจ  และมีประสบการณ์ต่าง ๆ  ยิ่งขึ้นและในขณะเดียวกันสิ่งที่ได้เรียนรู้เหล่านั้นก็ได้มีความหมายต่อนักเรียนมากยิ่งขึ้น

                   15.4 นักเรียนได้มีโอกาสปฏิบัติตามกติกาการเล่น  ตามระเบียบข้อบังคับที่วางไว้  นักเรียนได้มีการปะทะสัมพันธ์กันในระหว่างเพื่อน ๆ  ร่วมเล่นด้วยกัน  มีการกระทบกระทั่ง  มีการรู้จักยับยั้งชั่งใจต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นในระหว่างผู้เล่นด้วยกัน  และอื่น ๆ  อีกมาก  ซึ่งสภาพและเหตุการณ์ต่าง ๆ  เหล่านี้จะเป็นเครื่องช่วยกล่อมเกลาอุปนิสัยใจคอนักเรียนให้เป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยและมีน้ำใจนักกีฬาต่อไป

                   15.5 นักเรียนได้มีโอกาสทักษะการเล่นเกมและกีฬามาใช้ในสภาพการณ์จริง  ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการฝึกให้นักเรียนมีความชำนาญในทักษะเกมหรือกีฬานั้น ๆ  ดียิ่งขึ้นไปในตัวด้วย

                   15.6 การที่นักเรียนได้มีโอกาสเล่นด้วยความสนุกสนาน  ได้แสดงความรู้ความสามารถและทักษะในการเล่นกีฬาของตนเองในขณะเล่นได้อย่างเต็มที่  ได้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ  ออกมาตามความรู้ที่เป็นจริงเช่นนี้  เป็นวิธีการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาโดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง  ทำให้นักเรียนได้มีพัฒนาการตามศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่

                   15.7 นักเรียนมีมีความสนุกสนานในการเล่น  ได้มีการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ  ออกมาอย่างเต็มที่ตามความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง  ดังนั้น  การที่ให้นักเรียนได้แสดงความรู้สึกจริง ๆ  ของตนเองออกมาเช่นนี้ทำให้ครูสามารถพฤติกรรมที่แท้จริงของเด็กแต่ละคนได้เป็นอย่างดี  ถ้านักเรียนคนไหนที่มีพฤติกรรมที่ดีครูก็สามารถส่งเสริมและสนับสนุนพฤติกรรมของเด็กนั้น ๆ  ให้ดียิ่งขึ้นต่อไปอีก  และถ้านักเรียนคนไหนมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสังคมก็สามารถแก้ไขได้โดยทันที  มิฉะนั้นก็อาจจะสายเกินแก้ก็ได้  ด้วยเหตุนี้ในหมู่นักสังคมวิทยา  นักการศึกษา  และการพลศึกษาจึงได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า  ห้องพลศึกษาคือห้องปฏิบัติการที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของโรงเรียน

                   15.8 ผลดีที่ได้จากการที่จัดให้นักเรียนได้มีโอกาสเล่นในสภาพของการเล่นเกมหรือกีฬาจริง ๆ  ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ  ความผูกพันที่นักเรียนจะมีต่อการเรียนวิชาพลศึกษา  จะทำให้นักเรียนมีความประทับใจอยากจะมาเรียนหรืออยากจะมาเล่นอีก  ถึงแม้ว่านักเรียนได้ออกจากโรงเรียนไปแล้วก็ตาม  ความสำเร็จและประสบการณ์ที่ดี ๆ  ต่าง ๆ  จากการเรียนและการเล่นก็จะฝังอยู่ในใจตลอดเวลา  ทำให้นักเรียนรักและอยากออกกำลังหรือเล่นกีฬาอีกต่อไปเรื่อย ๆ

          สรุปแล้วก็หมายความว่า  ในขณะที่นักเรียนได้เล่นเกมหรือกีฬานั้นไป  ก็จะทำให้นักเรียนได้มีการเรียนรู้และมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ  พร้อม ๆ  กันในหลาย ๆ  ประการ  ดังนั้น  การเรียนการสอนวิชาพลศึกษาครูจึงเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยการให้นักเรียนมีส่วนร่วมในสภาพการณ์ของการเล่นเกมหรือกีฬานั้นจริง ๆ  มากกว่าที่จะเน้นด้วยแบบฝึกทักษะเพียงอย่างเดียว

          16. การสอนวิชาพลศึกษาที่ดีและที่จะบรรลุผลตามที่ได้วางไว้นั้น  จะต้องเป็นการสอนที่มีการใช้หลักการทางด้ายวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นแนวทางในการสอนด้วยเสมอ  ทั้งนี้เพราะว่าวิทยาศาสตร์การกีฬาจะช่วยบอกให้เรารู้ว่า  การเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่จะทำให้บรรลุผลดีนั้นควรจะมีหลักการในการสอนนักเรียนในแต่ละระดับนั้นอย่างไร  เช่น  วิชาสรีรวิทยาการกีฬาจะช่วยบอกให้รู้ว่า  ควรจะเลือกกิจกรรมกีฬาหรือกิจกรรมการออกกำลังกายอะไร  จึงจะเหมาะสมกับเพศและวัย  และหลักการสำคัญที่ทำให้นักเรียนได้มีความแข็งแรงนั้นมีว่าอย่างไร  แล้ววิชาพลศึกษาก็จะเป็นผู้นำกิจกรรมและวิธีการที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงเหล่านี้มาเป็นแนวทางในการสอนนักเรียนในแต่ละระดับชั้นให้เหมาะสมและเป็นผลดีในแต่ละเพศและวัยต่อไป

          17. สำหรับวิชาจิตวิทยาการกีฬา  จะช่วยบอกให้รู้ว่าควรจะใช้วิธีการเรียนการสอนอะไรและมีหลักการในการเรียนการสอนอย่างไร  จึงจะทำให้นักเรียนได้มีความเข้าใจ  มีทักษะในการเล่นเกมหรือกีฬาได้ง่าย  และในขณะเดียวกันนักเรียนก็มีความสนใจ  มีความรักในการเล่นกีฬา  และไม่มีความเบื่อหน่าย  แล้ววิชาพลศึกษาก็จะนำหลักการทางจิตรวิทยาการกีฬามาใช้เป็นหลักและแนวทางในการเรียนการสอนกิจกรรมกีฬาและการออกกำลังกายเหล่านั้นต่อไป  และก็เช่นเดียวกัน  เพื่อให้การเรียนการสอนนั้นได้ผลทางด้านการมีน้ำใจนักกีฬาดีขึ้นเพิ่มเติมขึ้นมาอีก  ผู้สอนวิชาพลศึกษาก็จะนำหลักการทางวิชาสังคมวิทยาการกีฬามาเป็นหลักการและแนวทางในการเรียนการสอนด้วย  ดังนั้น  วิชาพลศึกษาที่แท้จริงก็คือ  เป็นวิชาที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์การกีฬามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียนอีกทอดหนึ่งนั่นเอง  หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า  วิชาพลศึกษาเป็นการนำศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์การกีฬามาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่นักเรียนอีกต่อหนึ่งก็ได้  ดังนั้น  วิทยาศาสตร์การกีฬาจึงเป็นหลักวิชาการที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาเป็นอย่างมาก  การสอนวิชาพลศึกษาที่ดีและเป็นประโยชน์แก่นักเรียนอย่างแท้จริงนั้น  จึงจำเป็นจะต้องนำหลักการทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาดังได้กล่าวมาแล้วเป็นแนวทางในการเรียนการสอนด้วยเสมอ

          18. ในปัจจุบันนี้ได้มีการศึกษาค้นคว้าทำให้มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาในด้านต่าง ๆ  ที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาได้อย่างมากมาย  เช่น  ในด้านสรีรการกีฬา  จิตวิทยาการกีฬา  สังคมวิทยาการกีฬา  เวชศาสตร์การกีฬา  โภชนาการการกีฬา  กลศาสตร์ทางการกีฬา  และอื่น ๆ  อีกเป็นอันมากครูผู้สอนวิชาพลศึกษาทุกคนควรจะได้ศึกษาหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์การกีฬาต่าง ๆ  เหล่านี้มาใช้เป็นแนวทางในการเรียนการสอนด้วยทุกครั้ง

          19. ทำนองและเนื้อร้องเพลงกราวกีฬาที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี  หรือที่รู้จักกันในนามของ  ครูเทพ  ได้ร้อยกรองไว้เป็นเวลานานมาเกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้วนั้น  นับว่าเป็นทำนองที่มีความเร้าใจ  พร้อมทั้งได้สรุปคุณค่าของการเล่นกีฬาหรือการพลศึกษาไว้ในเนื้อร้องได้อย่างรวบรัด  ชัดเจน  มีความหมายลึกซึ้ง  แต่ง่ายต่อการเข้าใจของนักเรียน  ครูผู้สอนวิชาพลศึกษา  ผู้เล่นกีฬา  หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง  ดังนั้นครูผู้สอนวิชาพลศึกษาจึงควรจะได้ใช้ประโยชน์และคุณค่าของทำนองและเนื้อร้องดังกล่าวนี้ช่วยให้การเรียนการสอนได้มีความครึกครื้น  สนุกสนาน  ไม่เบื่อหน่าย  และในขณะเดียวกันก็ช่วยให้นักเรียนเข้าใจในความหมายและคุณค่าของการเล่นกีฬาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

          20. การเรียนการสอนที่จะได้ผลดีนั้น  คือการที่ผู้เรียนมีความสุขและความพอใจในประสบการณ์และผลที่เกิดขึ้นจากการเรียน  ทั้งนี้โดยหลักของจิตวิทยาการกีฬาที่ว่า  นักเรียนจะชอบเรียนหรือชอบเล่นกีฬาหรือฝึกหัดในกีฬาที่ตนเองมีประสบการณ์ที่ดี  เช่น  สามารถทำได้ดี  มีความสำเร็จในกีฬานั้น ๆ  เสมอ  ในขณะเดียวกันก็ขาดความสนใจหรืออยากที่จะเรียนหรือเล่นในกิจกรรมหรือกีฬาที่ตนเองมีหรือได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีนั้นมาก่อน  ดังนั้น  เพื่อให้การเรียนการสอนนั้นได้ผลดียิ่งขึ้น  ครูผู้สอยวิชาพลศึกษาควรจะนำหลักจิตวิทยาการกีฬามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนด้วย  คือ  ในการเรียนการสอนทุกครั้ง  ครูควรจะจัดกิจกรรมให้นักเรียนสามารถเรียนได้  ทำได้  มีความสำเร็จในการเรียนและมีความสนุกสนานในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือกีฬาที่สอนนั้นอย่างทั่วถึงกันตามอัตภาพของตนเองเสมอ

          21. วิธีการสอนวิชาพลศึกษามีหลายแบบและหลายวิธีด้วยกัน  และแต่ละวิธีก็อาจจะเป็นวิธีการสอนที่จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้เพียงอย่างหนึ่งอย่างใด  หรือเพียงสองหรือสามจุดประสงค์เท่านั้น  และเนื่องจากการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในแต่ละครั้งนั้นเป็นการเรียนการสอนที่มุ่งให้นักเรียนได้มีพัฒนาการในหลาย ๆ  ด้านไปพร้อม ๆ  กัน  ดังได้กล่าวมาแล้ว  ดังนั้น  ในการเรียนการสอนนักเรียนในแต่ละครั้งนั้นได้บรรลุผลอย่างแท้จริง  ครูจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการสอนหลาย ๆ วิธีเพื่อช่วยให้การสอนนั้นสามารถบรรลุจุดประสงค์ในหลาย ๆ  ด้านเหล่านั้นไปพร้อม ๆ  กันด้วย

          22. การเรียนการสอนวิชาพลศึกษานั้นครูควรกำหนดเวลาการเรียนการสอนและมีการกระจายเวลาในการเรียนการสอนให้มีความพอเหมาะพอดีด้วย  ตามหลักของจิตวิทยาการกีฬาแล้ว  การเรียนรู้ของนักเรียนจะได้ผลดีขึ้น  เมื่อนักเรียนได้มีโอกาสได้เรียนบ่อย ๆ  ครั้งในระยะเวลาสั้น ๆ  จะทำให้มีการเรียนรู้ดีกว่าการเรียนเป็นระยะเวลายาวนาน  แต่เป็นการเรียนที่นาน ๆ  จะมีครั้งหนึ่ง  ตัวอย่างเช่น  การเรียนสัปดาห์ละ  3  ครั้ง ๆ  ละ  50  นาที  จะมีการเรียนรู้ดีกว่าสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ๆ  ละ  150  นาทีติดต่อกัน  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าการที่นักเรียนใช้ระยะเวลาในการเรียนเพียงสั้น ๆ  นั้นเป็นระยะเวลาที่ร่างกายและจิตใจยังไม่เหนื่อยอ่อนจึงสามารถเรียนรู้ได้ดีตลอดเวลาที่สั้น ๆ นั้น  และการที่ได้มีโอกาสได้มาเรียนบ่อย ๆ ครั้งคือสัปดาห์ละ  3  ครั้ง  ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสใกล้จะลืม  และรื้อฟื้นความลืมได้บ่อยและเร็วขึ้น  ก่อนที่จะลืมจนหลุดหายไป  ซึ่งกลับตรงกันข้ามกับการเรียนเป็นระยะเวลานานนั้นนอกจากนักเรียนจะเหนื่อยอ่อนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  และเรียนไม่ได้ผลดีแล้ว  อาจจะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ผิด ๆ  และในขณะเดียวกันกว่าจะได้มาเรียนและรื้อฟื้นความทรงจำการเรียนรู้อีกครั้ง  บางที่การเรียนรู้เหล่านั้นอาจจะลืมไปอย่างถาวรแล้วก็ได้ทำให้จำเป็นต้องมาเรียนซ้ำอีกครั้ง

          23. ในการสอนนักเรียน  ครูควรคำนึงถึงความแตกต่างของอัตราการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนด้วย  อัตราความเร็วของการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนนั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในความสามารถของการเรียนรู้ทางด้านทักษะของนักเรียนนั้น  มักจะมีความแตกต่างกันในระหว่างบุคคลเป็นอันมาก  คือจะมีความแตกต่างกันในด้านระยะเวลาการเรียนและในระดับความยากง่ายของทักษะต่าง ๆ  ตลอดทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจด้วย  นักเรียนบางคนอาจจะเรียนได้ดีในระยะแรก ๆ  แต่พอมาในระยะหลัง ๆ  อาจจะเรียนได้ช้าลง ๆ  และในที่สุดก็ไม่มีความคืบหน้าเลย  แต่ในทางกลับกัน  นักเรียนบางคนอาจจะเรียนได้ช้ามากในระยะแรก ๆ  แต่ต่อมาในตอนหลังอาจจะได้เร็วขึ้น ๆ  ปรากฏการณ์ต่าง ๆ  เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ  ดังนั้น  ครูจึงควรจะได้ศึกษาหาสาเหตุของความช้าหรือเร็วของอัตราความเร็วของการเรียนรู้เหล่านี้ว่าสืบเนื่องมาจากสาเหตุอะไร  ซึ่งบางครั้งอาจจะเนื่องจากวิธีการสอนของครู  หรือบางครั้งอาจจะเนื่องจากความยากง่ายของทักษะหรือกิจกรรมที่นำมาสอน  ความชัดเจนของจุดประสงค์การเรียนรู้  ความล้าหรือเหนื่อยจากทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  หรือเหนื่อยจากการจำกัดของลักษณะของร่างกายและจิตใจของนักเรียนก็ได้  เป็นต้น  ดังนั้น  เพื่อช่วยให้การเรียนการสอนได้บรรลุผลตามที่วางไว้  ครูจึงควรจะรีบศึกษาและแก้สาเหตุต่าง ๆ  ที่มาขัดขวางการเรียนรู้เหล่านี้ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ

          24. ในการสอนทักษะให้ได้ผลดีนั้น  ครูควรอธิบายและสาธิตให้นักเรียนเห็นทักษะที่จะสอนนั้นในภาพรวมเสียก่อน  เมื่อนักเรียนได้เห็นภาพรวมของทักษะนั้นแล้ว  จึงทำการแยกแยะให้นักเรียนได้เห็นในสิ่งปลีกย่อยเป็นส่วน ๆ  ต่อไป  เช่น  ในการสอนทักษะเกี่ยวกับการตีลูกกระดอนจากพื้นด้วยวิธีการตีแบบหน้ามือในกีฬาเทนนิส  ครูควรอธิบายและสาธิตการตีลูกหน้ามือให้นักเรียนได้เห็นเป็นภาพรวมก่อนเสร็จแล้วจึงค่อนมาแยกแยะให้เห็นตำแหน่งของเท้า  ตำแหน่งของหัวไม้แรกเกต  ตำแหน่งของมือ  ตำแหน่งของลำตัว  และตำแหน่งของข้อศอก  เป็นต้น  การกระทำและเริ่มต้นด้วยวิธีนี้จะทำให้นกเรียนได้มีความเข้าใจดีขึ้น

          25. วิธีการเรียนที่ถูกต้องนั้นผู้เรียนควรจะได้ฝึกหัดหรือปฏิบัติในวิธีที่ถูกต้อง  ควบคู่ไปกลับความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนนั้นด้วย  การที่นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วนตนเองนั้นก็เท่ากับว่านักเรียนได้นำสิ่งที่เรียนนั้นไปทดลองดูด้วยการฝึก  หรือด้วยการนำไปใช้ในสภาพการณ์จริง  ได้ผลดีหรือไม่ได้  มากน้อยแค่ไหนก็จะไดนำมาศึกษา  วิเคราะห์เพื่อแก้ไขใหม่ให้ดีขึ้นต่อไป  ด้วยเหตุนี้การลงมือเล่นและการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองในวิชาพลศึกษา  จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญควบคู่กันไปกับการเรียนการสอนเสมอ

          26. ในการลงมือเล่นหรือในการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองนั้น  เพื่อให้นักเรียนได้ทราบสถานภาพของตนเอง  ครูควรจะแจ้งให้นักเรียนได้ทราบเป็นระยะ ๆ  ถึงผลของการเรียนของนักเรียนแต่ละคนด้วย  การที่นักเรียนได้ทราบผลการเรียนของตนเองนั้น  อาจจะช่วยให้นักเรียนได้มีความพยายามและกำลังใจในการที่จะตั้งใจเรียนให้มากขึ้นและผลการเรียนดีก็จะตามมา  เช่น  ผลการพัฒนาการของสมรรถภาพทางร่างกาย  ในด้านความเร็ว  ในด้านความทนทานของกล้ามเนื้อ  ในด้านการทรงตัว  ในด้านการดีดตัวอย่างเร็วและแรงของกล้ามเนื้อ  เป็นต้น  ผลพัฒนาการทางสมรรถภาพของร่างกายด้านต่าง ๆ  เหล่านี้  นักเรียนแต่ละคนอาจจะเป็นผู้บันทึกด้วยตนเองเพื่อตรวจสอบตัวเองเป็นระยะ ๆ  ไปด้วยก็ได้

          27. เพื่อให้สอดคล้องกับร่างกายและจิตใจของนักเรียนในแต่ละระดับชั้นหรือในแต่ละวัย  และเพื่อให้การเรียนการสอนได้ผลดียิ่งขึ้นในการเลือกและจัดกิจกรรมหรือชนิดของกีฬาเพื่อมาสอนนักเรียนนั้น  ครูควรจะใช้หลักการของสรีรวิทยาการกีฬา  เป็นแนวทางในเลือกและจัดกิจกรรมทุกครั้งที่มีการเรียนการสอน  เพราะกิจกรรมหรือกีฬาแต่ละอย่างนั้นมีผลต่อร่างกายและจิตใจของนักเรียนแต่ละวัยแตกต่างกันไป

          28. แรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจมีความสำคัญต่อการเรียนการสอนวิชาพลศึกษามาก  ในการเรียนวิชาพลศึกษา  ถ้านักเรียนมีแรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจมาก  ผลการเรียนจะดีขึ้นตามด้วย  แต่อย่างไรก็ตามแรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจที่เกิดขึ้นจากภายในหรือความรู้สึกของนักเรียนเองนั้น  จะเป็นแรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจที่มีผลดีเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าแรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก  แรงกระตุ้นที่เกิดจากภายในหรือความรู้สึกของตัวนักเรียนเอง  ได้แก่  การเห็นประโยชน์และคุณค่าของการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย  ความต้องการในการที่จะรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา  เป็นต้น  แรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจที่มาจากปัจจัยภายนอก  ได้แก่  สินจ้างรางวัลจากการเล่นกีฬา  ชัยชนะจากการเล่นเพื่อผลประโยชน์หรือประชาสัมพันธ์ตนเอง  เป็นต้น

          29. ในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษานั้น  ครูผู้สอนควรจะระลึกไว้เสมอว่า  ความสำเร็จในการเรียนของนักเรียนนั้นมีความสัมพันธ์กันกับความพึงพอใจในการเรียนของนักเรียนมาก  คือ  ถ้านักเรียนมีความพึงพอใจในการเรียนมาก  ความสำเร็จในการเรียนของนักเรียนก็จะตามมาด้วย  ดังนั้น  เพื่อให้การเรียนการสอนได้บรรลุผลดีตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่วางไว้  ก่อนอื่นครูผู้สอนควรจัดสภาพการณ์ของการเรียนการสอนให้มีบรรยากาศที่นักเรียนมีความตื่นตัว  มีความสนุกสนานอยากที่จะเรียนหรืออยากที่จะมีส่วนร่วมตลอดเวลาด้วย  เช่น  เริ่มตั้งแต่การจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการ  ความสามารถ  และความสนใจของนักเรียน  มีการเตรียมสถานที่และอุปกรณ์การเรียนการสอน  ทำให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมด้วยความสนุกสนานได้อย่างทั่วถึงกัน  ครูก็สามารถที่จะช่วยเหลือแนะนำนักเรียนได้อย่างทั่วถึงกันและด้วยความเป็นกันเอง  เป็นต้น

          30. หลักการที่สำคัญในตอนสุดท้ายที่ครูผู้สอนวิชาพลศึกษาจะลืมไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ  ในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาที่ดีนั้น  จะต้องมีการวัดผลเพื่อประเมินดูว่า  การเรียนการสอนั้นได้บรรลุผลตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่วางไว้หรือไม่มากน้อยเพียงใดด้วยเสมอ  ดังนั้น  ในการที่ครูจะวัดเพื่อประเมินผลการเรียน  หรือในการวัดเพื่อให้คะแนนนักเรียน  ครูก็ควรจะทำการวัดผลและประเมินผลการเรียนนั้นด้วนวิธีที่ถูกต้องตามหลักการของวิชาพลศึกษาและมีความยุติธรรมแก่นักเรียนทุก ๆ  คนด้วย  เช่น  ในการวัดครูควรจะวัดตามจุดประสงค์การเรียนรู้ทั้ง  5  ด้าน  คือ  ด้านสมรรถภาพทางกาย  ด้านความรู้  ด้านทักษะ  ด้านคุณธรรม  และด้านเจตคติที่ได้สอนไปในแต่ละคาบแล้ว  และถ้าการวัดนั้นเป็นการวัดผลเพื่อให้คะแนนนักเรียน  คะแนนที่ให้ควรจะเป็นคะแนนที่ได้จากการวัดผลตามจุดประสงค์การเรียนรู้ทั้ง  5  ด้าน ๆ  ละเท่า ๆ  กันด้วย

(อ้างอิงจาก ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ เพียรชอบ. (2548). รวมบทความเกี่ยวกับปรัชญา หลักการ วิธีสอน และการวัดเพื่อประเมินผลทางพลศึกษา. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.